นายกฯ แถลงผลงาน 6 เดือน ระบุพ้นจุดวิกฤติ เตรียมขยายประกันสังคม07 .. 52 ประชาไท วานนี้ (6 ส.ค.) เวลา 10.15 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงานต่างๆ ของรัฐบาลในโอกาสบริหารงานมาครบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2552) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกกระทรวง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการแถลงในครั้งนี้ "สวัสดีครับพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนที่เคารพรักทุกท่าน วันนี้ผมขอใช้เวลาไม่มากนักในการพูดถึงการทำงานในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากที่เข้ามารับหน้าที่และบริหารราชการแผ่นดิน และในช่วงท้ายจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สอบถามซักถามเกี่ยวกับงานที่เราได้ทำมา และที่กำลังจะเดินหน้าต่อไป ผมอยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ครับว่า อยากให้ทุกคนได้นึกย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้วเดือนธันวาคม 2551 เป็นช่วงเวลาที่ผมเชื่อว่าทุกคนในสังคมมีความทุกข์ มีความทุกข์ มีความวิตกกังวล ทั้งในเรื่องของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งได้ลุกลามมาจากต่างประเทศอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งเคยเติบโตมาโดยตลอด ก็เริ่มเห็นเป็นตัวเลขที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และที่สำคัญคือว่าวิกฤตทางการเมืองและความขัดแย้งของผู้คนในสังคมทวีความรุนแรง และเป็นวิกฤตที่ต่อเนื่องยาวนานมาเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ผมคิดว่าที่แย่ที่สุดในขณะนั้นคือว่านอกเหนือจากที่พี่น้องประชาชนมีความทุกข์กับวิกฤต 2 วิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว เรามองไม่เห็นทางออกในวันนั้น ไม่มีใครกล้าแม้ที่จะตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจไทย การเมืองไทย ประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ผมและรัฐบาลเข้ามารับภาระหน้าที่ในสถานการณ์อย่างนั้น และผมรู้ตั้งแต่วันแรกว่าวิกฤตที่จะต้องคลี่คลายที่จะต้องแก้ไขไม่ง่าย ความรุนแรงทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ต้องถือว่ารุนแรงมาก เมื่อเทียบกับวิกฤตครั้งอื่น ๆ ที่เราเคยประสบมาในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมได้ให้คำมั่นสัญญาตั้งแต่วันแรกก็คือ ผมและรัฐบาลจะทุ่มเททำงานอย่างหนัก และไม่มีอะไรดีไปกว่าการยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ ตั้งในการทำงาน และถ้าจะสรุปต้องบอกว่าเป้าหมายของรัฐบาลคือความสุขของพี่น้องประชาชนคนไทย ในการทำงานในการกำหนดนโยบายนั้น ผมได้ยึดถือเอานโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งกลั่นกรองมาจากนโยบายของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทุกพรรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเคยมีเรื่องของแผน ปฏิบัติการเร่งด่วน 99 วันอยู่ด้วย ก็ได้ถือเอาตรงนั้นมาเป็นหลักในการกำหนดทิศทางนโยบาย พร้อม ๆ ไปกับการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากวันที่พรรคการเมืองทั้งหลายได้เคยกำหนดนโยบายไว้ใน ช่วงของการเลือกตั้ง 6 เดือนแรกหรือครึ่งปีแรกผ่านไป นโยบายเหล่านั้นถูกแปรสภาพมาเป็นกว่า 100 มาตรการ และผมมั่นใจว่าได้นำไปสู่อีกหลายล้านความสุขที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนคนไทย ทั้งประเทศ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ที่พวกเราเข้ามาทำงานนั้น ผมเปรียบเทียบอยู่เสมอว่าเสมือนกับเข้ามาแก้ไขปัญหาอาคารที่กำลังถูกไฟไหม้ งานแรกที่เราต้องทำคือต้องช่วยเหลือคนที่อยู่ในอาคาร นั่นหมายถึงคนที่อ่อนแอที่สุด คนที่มีความเสี่ยงที่สุด ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น งานที่ 2 คือ ดับไฟ นั่นคือต้องหามาตรการในการที่จะมาแก้ปัญหาให้ตรงจุดกับวิกฤตเศรษฐกิจและ การเมืองที่เกิดขึ้น และแน่นอนที่สุด งานที่ 3 ไม่ได้มีความสำคัญยิ่งหย่อนไปกว่า 2 งานแรกคือการสร้างความแข็งแกร่งออกแบบอาคารใหม่ ให้สามารถที่จะเป็นที่อยู่อาศัยที่ทุกคนมีความสุข มีความมั่นคง และมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต ทุกนโยบายทุกมาตรการ ผมได้จัดลำดับและทำให้เกิดความสม่ำเสมอต่อเนื่อง ก็คือว่าทำข้อที่ 1 ก็เล็งเอาไว้เลยว่าข้อที่ 2 จะต้องเกิดขึ้นด้วย ทำข้อที่ 2 ก็จะต้องแก้ข้อที่ 3 ไปพร้อม ๆกันด้วย ไม่มีลักษณะของการทำงานที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว หรือหรือแก้ปัญหาว่าวันนี้เป็นอย่างไร ขอให้ปัญหาพ้นไป ไม่ใช่แนวทางที่รัฐบาลได้ทำงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยการสรุปงานสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จแล้วใน 6 เดือนแรก หลายเรื่องผมถือเป็นคำมั่นสัญญา จะเป็นจากการหาเสียง จะเป็นจากการกำหนดนโยบายของพรรค ของรัฐบาล หรือการแสดงวิสัยทัศน์ในที่ต่าง ๆ ผมอยากจะยืนยันว่าคำมั่นสัญญาหลายอย่าง ซึ่งพี่น้องประชาชนคนไทยได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพิ่งมาเป็นจริง และเราได้ทำแล้วในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มต้นจากการช่วยเหลือคน กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เราได้ช่วยเหลือชัดเจนที่สุดคือเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง เป็นการบรรเทาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในเรื่องของค่าใช้จ่าย พร้อมๆ ไปกับการวางรากฐานที่สำคัญที่สุดที่ผมยืนยันมาตลอดก็คือเรื่องของการลงทุนใน ด้านการศึกษา ต้องขอขอบคุณว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่เด็กของเราได้รับประโยชน์ 12 ล้านคน คือนโยบายที่สามารถผลักดันออกมาได้เป็นรูปธรรม โดยมีการส่งเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของเครื่องแบบ ในเรื่องของอุปกรณ์การเรียน และสนับสนุนเรื่องของตำราเรียนให้กับผู้ปกครองทั้งหมด พร้อมๆ กับการลดรายการที่มีการเรียกเก็บ โดยไม่ให้เก็บในรายการที่เป็นเรื่องของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ถือเป็นบริการ พื้นฐานที่เป็นสิทธิที่ลูกหลานเราจะต้องได้รับ งานนี้เป็นงานซึ่งควรจะทำมาตั้งนานแล้ว กฎหมายบังคับมาให้ทำตั้งแต่ปี 2545 แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ผมต้องขอบคุณทางกระทรวงศึกษาธิการ ที่การกำหนดนโยบายอาจจะคิดง่ายครับ ประโยคสั้น ๆ เรียนฟรี แต่ในแง่ของการปฏิบัติผมรู้ว่ามีเรื่องที่เป็นรายละเอียดยุ่งยากมากมาย แต่ก็ได้ทำสำเร็จภายในการเริ่มต้นของปีการศึกษาคือเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มคนกลุ่มที่ 2 คือ ผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันในขณะที่เราบอกว่าผู้สูงอายุของเราควรจะได้รับการตอบแทนจากสังคมนี้ แต่นโยบายเพียงแค่จะมีเบี้ยยังชีพไม่ได้มากมายอะไรเลยครับ 500 บาทต่อเดือน เราก็ยังมีผู้สูงอายุหลายล้านคน ซึ่งไม่เคยได้รับโอกาสตรงนี้ ภายใน 6 เดือนเช่นเดียวกันครับ เราได้จัดระบบให้มีการขึ้นทะเบียนสำหรับผู้สูงอายุ อายุเกิน 60 ปีทุกคน ยกเว้นผู้ที่มีบำนาญอยู่แล้ว ที่สุดก็มีคนที่มาใช้สิทธิ 3,500,000 คน เพิ่มเติมจากที่รับอยู่ในปัจจุบัน เงินเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุบัดนี้ก็จ่ายเป็นรายเดือน และจะมีการเดินหน้าตลอดไป รวมทั้งจะมีการขึ้นทะเบียนรอบใหม่ในเดือนกันยายนสำหรับคนที่มีอายุถึง 60 หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถัดมาเราต้องดูแล พี่น้องประชาชนที่ยากจนที่สุด คือ กลุ่มเกษตรกร จริงอยู่นโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น เราไม่สามารถที่จะเริ่มต้นใหม่ได้ เพราะว่าคาบเกี่ยวกับฤดูกาลการเพาะปลูก แต่เราเจอกับปัญหาที่ว่าโครงการการแทรกแซงราคาพืชผลนั้น โควตาที่กำหนดไว้ไม่พอเพียง และมีปัญหาอีกหลายปัญหา แต่ได้มีการดำเนินการแก้ไขทั้งในส่วนที่เป็นพืชหลัก ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์ม ยาง ไปจนถึงเรื่องของผลไม้ที่ออกมาตามฤดูกาลต่าง ๆ จนในที่สุดเกษตรกรกว่า 1,500,000 ครัวเรือนหรือครอบครัวได้ประโยชน์จากตรงนี้ ถัดจากเกษตรกร เราต้องไปช่วยคนว่างงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายวิตกกังวลและเป็นห่วงที่สุดที่จะเป็นผลกระทบจากวิกฤต เศรษฐกิจ โครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการคือ ต้นกล้าอาชีพ ซึ่งจนถึงขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ และได้สร้างงานกว่า 140,000 คน รวมทั้งอีก 20,000 คนที่เป็นโครงการที่เป็นการชะลอการเลิกจ้าง อันนี้คือในส่วนของต้นกล้าอาชีพ และถ้ารวมกับที่กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม ก็มีการสร้างงานอยู่หลายแสนอัตรา รวมไปถึงการชะลอการจ้างงานในส่วนของโครงการของกระทรวงแรงงานอีกจำนวนหนึ่ง เช่นเดียวกัน และสำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป ก็ได้มีการดำเนินการมาตรการลดภาระค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน 5 มาตรการด้วยกัน เรื่องของก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีการตรึงราคาไว้ เพราะเรารู้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกือบทุกครัวเรือน ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรื่องของการลดและให้ใช้น้ำ ไฟ ฟรี สำหรับคนที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นจำนวนน้อย ได้ช่วยเหลือในการลดภาระพี่น้องประชาชนไปประมาณ 8 ล้านครัวเรือน กว่า 8 ล้านสำหรับไฟ และต่ำกว่า 8 ล้านสำหรับน้ำ แต่ก็ถือว่าครอบคลุมคนจำนวนมากในบ้านเมืองของเรา ขณะเดียวกันในส่วนของรถเมล์ รถไฟ กระทรวงคมนาคมก็เดินหน้าในการสานต่อในเรื่องของโครงการที่ให้บริการฟรี สำหรับผู้มีรายได้น้อย ก็มีการประมาณการกันว่า มีผู้ได้มาใช้ประโยชน์จากตรงนี้ รถเมล์อาจจะเดือนละ 13 ล้านเที่ยว รถไฟอาจจะ 3 ล้านเที่ยวต่อเดือน ก็เป็นการลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน ส่วนคนที่มีรายได้อยู่ แต่เป็นรายได้น้อยนั้น เราได้มีการแบ่งเบาภาระโดยการเพิ่มรายได้ในโครงการ เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท และมีคนได้รับเช็คตรงนี้ไปแล้วอีก 9 ล้านคน และเสริมด้วยโครงการที่เข้าไปดูแลเศรษฐกิจของชุมชน ก็คือในส่วนของชุมชนพอเพียง ซึ่งขณะนี้มีโครงการลงไปประมาณ 30,000 โครงการแล้ว นี่คือกลุ่มคนต่าง ๆ ที่เราช่วยเหลือ แต่ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนในภาพรวม ผมจะไม่ขอใช้เวลามาเล่าถึงมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว จะเป็นภาคการค้า การลงทุน ซึ่งกระทรวงทางเศรษฐกิจทั้งหลายได้ร่วมกันทำงานอย่างเป็นทีม และมีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอยู่ทุกสัปดาห์ใน ครม.เศรษฐกิจ แต่ว่าผมยกเพียงตัวอย่างเดียวว่าในส่วนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ซึ่งมีปัญหาในเรื่องสืนเชื่อ เราก็ต้องใช้หลายมาตรการ และสามารถทำให้มีการปล่อยสินเชื่อรวมไปได้ในช่วงแรก 22,800 กว่าล้านบาท และในปัจจุบันหลังจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยในโครงการต่าง ๆ เหล่านี้มีการเร่งในอัตราที่สูงขึ้นทุกเดือน ๆ นอกจากโครงการเหล่านี้ กลุ่มคนเหล่านี้แล้ว ยังมีนโยบายบางเรื่องซึ่งเราเคยพูดเราเคยสัญญากันมา และวันนี้เราก็ได้ทำจริงแล้ว ก็คือกรณีของ อสม. ทั่วประเทศเกือบ 1 ล้านคนที่ได้ค่าตอบแทนคนละ 600 บาทต่อเดือน ดังนั้น จะเห็นว่ามาตรการในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในช่วงที่ยากลำบากนั้น เราได้ทำเพื่อคนไทยทุกภาคทุกคน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60-80 ปี และอีกสักครู่ผมจะชี้ให้เห็นว่าแม้ว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ ซึ่งเราก็คาดการณ์ตั้งแต่แรกว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกจะต้องเป็นในช่วงปลาย ปี แต่ได้ส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ตรงนี้อย่างที่ผมบอกครับคือการช่วยเหลือคนพร้อม ๆ ไปกับการบรรเทาและมีส่วนในการแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง เพราะว่ามาตรการเหล่านี้ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เราไม่ได้หยุดเท่านั้น เราเดินหน้าต่อทันทีว่าเราจะต้องแก้และกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมๆ ไปกับเพิ่มความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยของเรา ลงทุนเพื่อคนไทยทั้งประเทศ และในช่วงระยะเวลา 6 เดือนเช่นเดียวกัน เราก็ได้จัดทำแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง แล้วก็ได้มีการจัดแผนในเรื่องของการระดมทุนเข้ามา ซึ่งก็คือเงินที่เป็นเงินฝากของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในระบบธนาคารส่วนหนึ่ง และขณะนี้ก็ได้มาซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งไปแล้ว ที่เหลือจะเป็นการกู้เงินจากภายในประเทศ เพราะว่าเงินในระบบธนาคาร สภาพคล่องของเรายังมีมาก ไม่ได้เป็นเรื่องของการไปก่อหนี้โดยการไปกู้เงินจากต่างประเทศแต่อย่างใด ในปฏิบัติการไทยเข้มแข็งนั้น สิ่งที่เรากำลังทำคือเรากำลังวางรากฐานสำหรับประเทศไทย หลังจากที่เราต้องยอมรับครับว่าหลายปีที่ผ่านมานั้น โครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นเสื่อมโทรมลงไปมาก ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ไทยเข้มแข็งก็ครอบคลุม 7 ด้านนะครับ ด้านแรกก็คือในส่วนของการดูแลภาคการเกษตรของเรา ที่จะมีการสร้างและปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วประเทศ เกือบ 1,500 แห่งครับ และจะมีประมาณ 1,000,000 ครัวเรือนที่ได้ประโยชน์จากระบบชลประทานและการกระจายน้ำที่จะเกิดขึ้นจากการ ลงทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้ ด้านที่ 2 คือเรื่องของการขนส่ง คมนาคม โลจิสติกส์ ซึ่งอันนี้ก็มีตั้งแต่ระบบราง ที่จะมีการดำเนินการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในส่วนของรถไฟ ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็เดินหน้าเต็มที่ ทั้งในภูมิภาค และในกรุงเทพมหานคร ในภูมิภาคนั้นก็จะเป็นการปรับปรุงรางเดิม วางระบบรางคู่ มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและเชื่อมโยงกับประเทศจีนที่จะ เกิดขึ้นต่อไป เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนไปมาหาสู่ และเป็นการเปิดเส้นทางเพื่อเอาสินค้าออกมาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เคยอยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ส่วนระบบถนนนั้นก็จะมีถนนไร้ฝุ่น ถนนปลอดภัย ทุกชุมชนนะครับในส่วนของกรม ในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้นก็จะดำเนินการให้เสร็จภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้ม แข็ง นี่คือด้านที่ 2 ด้านที่ 3 เดินหน้าในส่วนของการศึกษา ว่านอกจากเรื่องเรียนฟรีที่ได้ทำไปแล้ว เราก็กำลังจะยกระดับคุณภาพของโรงเรียนอีกกว่า 8,000 แห่ง มีการปรับปรุงห้องสมุดกว่า 1,700 แห่ง แล้วก็จะไปเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากที่เราจะทำ ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่องระบบการสอบคัดเลือกหรืออะไรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้คุณภาพการศึกษาเราดีขึ้น ด้านที่ 4 เป็นเรื่องของการสาธารณสุข ซึ่งจะมีการยกระดับสถานีอนามัย มาเป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบลทั่วประเทศ ที่จริงเริ่มต้นก่อนไทยเข้มแข็งไป 1,000 แห่งครับ จะเสร็จในปีนี้ แล้วก็จะดำเนินการที่เหลือในโครงการไทยเข้มแข็งนี้พร้อม ๆ กับการลงทุนในโรงพยาบาลระดับอำเภอ ระดับจังหวัดกว่า 800 แห่ง และก็มีเรื่องของการพัฒนาสถานพยาบาล รักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยต้องเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยอยู่ มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับทางด้านของการวิจัย ที่จะเชื่อมโยงกับทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ก็คือห้องแล็ปแห่งชาติเพื่อคนไทย อันนี้ทั้งสร้างงานและลดการนำเข้า เช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นอีกด้านหนึ่ง นอกนั้นก็เป็นเรื่องของการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว เป็นเรื่องของการที่จะส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งผมจะได้พูดต่อไป และด้านสุดท้ายที่สำคัญในปฏิบัติการไทยเข้ม แข็งก็คือ เป็นส่วนหนึ่ง ความจริงก็ถือเป็นหัวใจก็ได้ของการที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบ 400 โครงการซึ่งต่อไปนี้ประชาชนในพื้นที่จะสัมผัสได้ เพราะมีเรื่องของการสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร มีการส่งเสริมในเรื่องของการปลูกปาล์มน้ำมัน และที่สำคัญคือว่ามีเป้าหมายว่าจะมีการเพิ่มรายได้ต่อหัว สำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ให้ได้ประมาณ 60,000 บาทต่อคน ในช่วงของการเดินหน้าปฏิบัติการไทยเข้มแข็งนี้ ผมเลยถือโอกาสเรียนนะครับว่าในส่วนของปัญหาภาคใต้ 6 เดือนแรกได้มีการปรับทิศทางปรับนโยบายอย่างชัดเจน เอาเรื่องของความยุติธรรมและการพัฒนารวมไปถึงการเมือง มานำในเรื่องของการทหาร แล้วก็เรื่องเดียวที่ผมได้พูดตั้งแต่ต้นว่าจะไม่สามารถทำได้ภายใน 99 วันก็คือเรื่องของกฎหมายในการตั้งสำนักงาน เราก็ได้ใช้วิธีการตั้งคณะรัฐมนตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และจะผลักดันกฎหมายในสมัยประชุมที่จะเริ่มต้นขึ้น ที่จริงเริ่มต้นขึ้นในเดือนนี้ เพื่อที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไป เพราะฉะนั้น 6 เดือนอย่างที่ผมบอกครับว่า เราทั้งช่วยคน เราดับไฟ และเราก็ได้วางรากฐานสำหรับอนาคตที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น ผมได้ให้เห็นภาพว่าแต่ละกลุ่มคนนั้น ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการทำงาน 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ว่าผมอยากจะให้เห็นด้วยว่า ในภาพรวมวันนี้ หลังจากที่ทำงานไปแล้ว 6 เดือน ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นครับผมอยากจะบอกว่าการรายงานตัวเลขทาง เศรษฐกิจในอดีตเรามักจะดูตัวเลขเปรียบเทียบปีต่อปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปกติ เข้าใจได้ แต่ในภาวะวิกฤตที่มีความเปลี่ยนแปลงความผันผวนมากนี้ การจะดูแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะต้องดูตัวเลขไตรมาสต่อไตรมาส และเดือนต่อเดือน พอเรามาดูตัวเลขตรงนี้ผมคิดว่าเราจะเห็นภาพ ชัดเจนขึ้นครับว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลก กำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร นี่คืออัตราการเติบโตของ GDP เทียบไตรมาสต่อไตรมาส ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่นิตยสารทางด้านเศรษฐกิจธุรกิจได้ใช้คำนวณกับประเทศ อื่น ๆ มาบ้างแล้ว ผมก็เลยให้ทำดูกับประเทศในเอเชียที่สำคัญอย่างเช่น จีน เวียดนาม เกาหลี และของไทยคือเส้นสีเขียวครับ อยากจะชี้ให้เห็นว่าถ้าดูจากตัวเลขอย่างนี้น่าจะบ่งบอกชัดเจนว่าเราได้ผ่าน จุดต่ำสุดไปแล้วจริง ๆ แล้วขณะนี้กำลังมีแนวโน้มของการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างเร่งตัวขึ้นมาพอ สมควร ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาก็จะพูดว่าเป็นการฟื้นฟูแบบตัววี คือลงเร็วแล้วก็ขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่ไม่ใช่เฉพาะตัวเลขตัวนี้ครับ ถ้าเราไล่ดูตัวเลขอื่น ๆ ที่ตามมา มันจะบ่งบอกสัญญาณในลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ถ้าเทียบในลักษณะของไตรมาสต่อไตรมาสก็จะเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตัวอื่น ๆ ก็เหมือนกันครับ อัตราการใช้กำลังการผลิตก็กำลังผงกหัวขึ้นมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ดัชนีการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งอันนี้คือเป้าหมายหลักของบรรดามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกนะครับ ว่าจะสามารถหยุดยั้งการทรุดลงของสถานการณ์และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่ม ขึ้น ขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีเช่นเดียวกัน รายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะสัมพันธ์กับเรื่องการบริโภค ก็เป็นภาพเหมือนกันหมดครับ ว่าขณะนี้การฟื้นตัวกำลังเริ่มขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องของการส่งออก ถ้าดูตัวเลขไตรมาสต่อไตรมาส เดือนต่อเดือน รวมไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้นครับในรายอุตสาหกรรมเอง ดูอัตราการเติบโตของยอดขายรถยนต์ จักรยานยนต์ ก็เป็นแนวโน้มเดียวกันหมด และขณะเดียวกันการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสมาคมบริษัทจดทะเบียน ถ้าถามถึงว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวภาคการลงทุน มองไปข้างหน้า แล้วก็มองผลงานของรัฐบาลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการยืนยันครับว่า 6 เดือนที่ผ่านมาผมทราบดีว่าเป็นช่วงที่ทุกคนยากลำบากที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งนี้ แต่ผมมั่นใจว่าจุดเลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วขณะนี้จากการวางแผนที่ต่อเนื่องในเรื่องมาตรการของเศรษฐกิจนั้น จะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้น และเราได้เตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวแล้วด้วย นี่คือภาพรวมเศรษฐกิจครับ สำหรับภาพรวมของประเทศในด้านอื่น ๆ ผมก็อยากจะเรียนว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ผมก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการไปสื่อสารกับต่างประเทศ ที่เห็นแต่ข่าวร้ายจากประเทศไทยมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปี และก็สามารถดำเนินการหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะประธานของอาเซียน ที่จะมีบทบาทในภูมิภาค ที่จะมีบทบาทในฐานะตัวแทนของภูมิภาคในเวทีโลกด้วย แน่นอนครับมีช่วงเหตุการณ์เดือนเมษายน ที่ยังคงเป็นปัญหา แล้วก็ในส่วนของปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในกว่า 100 ประเทศในขณะนี้ ก็ยังเป็นจุดที่เราจะต้องเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ในส่วนนี้ต่อไป แต่อยากจะสรุปให้เห็นว่าภาพที่ได้ฉายออกมา 6 เดือน คือการทำงานที่มุ่งไปสู่ประชาชนด้วย และทำงานให้กับภาพรวมของประเทศ ของสังคม อย่างมีแผน อย่างมีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ผมมั่นใจว่าจะทำให้เรามองเห็นว่าในอนาคตข้างหน้านั้น เราได้ก้าวผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุด และกำลังกลับเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างแท้จริง แต่ผมอยากจะเรียนต่อไปครับว่า สิ่งที่สัญญาแล้ว ทำได้แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราสัญญาและจะสัญญาจะทำ แล้วก็จะทำให้เห็นให้เป็นผลอีก จะเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เรื่องแรกคือระบบสวัสดิการของประชาชนครับ เราได้เริ่มต้นแล้วในเรื่องของการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน เรากำลังจะขยายระบบประกันสังคม เพื่อให้คนไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส บุตร ได้สิทธิมากขึ้น ขยายไปสู่แรงงานนอกระบบ เรากำลังจะทำระบบการออมสำหรับชราภาพ เพื่อให้คนไทยทุกคนเหมือนกับมีสิทธิที่จะมีประกันสังคมของตัวเองบ้าง 3 - 4 เรื่องนี้จะถูกนำมารวมกันเป็นระบบสวัสดิการของชาติอย่างชัดเจน และจะเกิดขึ้นภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ต่อไปนี้เราจะได้พูดได้เต็มปากคำครับว่าไม่ใช่เฉพาะข้าราชการ ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ในประกันสังคมเท่านั้นที่มีหลักประกันในชีวิต ที่จะมีบำนาญต่อไปในอนาคต ประชาชนคนไทยทุกคนจะได้สิทธินี้ ในช่วงระยะเวลาอันใกล้ที่รัฐบาลกำลังจะเร่งรัดจัดทำกฎหมาย และวางระบบตรงนี้ทั้งหมด และไม่เพียงแต่สวัสดิการเท่านั้นนะครับ ปัญหาที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ในเชิงพื้นฐาน ในเชิงความไม่เป็นธรรม ที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่เป็นปัญหาเรื้อรังนั้นก็จะได้รับการสะสางด้วย เช่น ปัญหาที่ทำกิน ที่ขณะนี้จากการทำงานกับภาคประชาชน เราก็กำลังจะเอาระบบโฉนดชุมชนมาใช้เป็นทางแก้ ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เราจะขยายเรื่องของบ้านมั่นคงในระบบของที่อยู่อาศัย" รับประเมินเหตุการณ์เดือนเมษาพลาด นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงปัญหาการเมืองว่า ตนพยายามใช้แนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา แต่ก็มีความผิดพลาดอย่างเหตุการณ์ในเดือนเมษายนนั้นยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด เพราะไปคิดว่าตบมือข้างเดียวจะไม่ดัง นึกว่าถ้ารัฐบาลไม่ทะเลาะ แล้วเดินหน้าในแนวทางของสมานฉันท์ จะไม่มีการใช้ความรุนแรง หรือไปทำความเสียหายให้กับประเทศชาติถึงขั้นที่เสียหายไปถึงต่างประเทศ ยังยึดมั่นแนวทางเดิม แต่ต้องปรับปรุงระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวหลายอย่างยังมีในสังคม "ผมไม่สบายใจ เพียงแต่ว่าคนที่ไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วย อาจมองต่างเท่านั้นเองว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับปัญหาคืออะไร แต่ยืนยันครับว่าไม่ละเลยเรื่องเหล่านี้ แต่ถามว่าพอใจในสภาพหลายอย่างที่เป็นอยู่ไหม ก็ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุง" นายอภิสิทธ์กล่าว เมื่อถามถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องของอดีตนายกฯ เป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเสมอภาค แต่หากย้อนประวัติไปดูจะพบว่า เวลาคนทำผิดและหลบหนีไปต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเอากลับมา ต้องดูข้อกฎหมายและประสานงานกับองค์กรระดับสากล ระยะหลังบุคคลดังกล่าวมักจะเดินทางไปในที่ที่ไม่มีสนธิสัญญา และเริ่มเดินทางไปประเทศที่เราไม่มีสถานทูตมากขึ้นๆ เราก็จะทำบนความพอดีที่จะรักษากฎหมายให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ยันให้สภาเป็นเจ้าภาพแก้ รธน. เมื่อถามว่า มีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีรายงานของคณะกรรมการที่สภาตั้งขึ้นเสนอเบื้องต้น 6 ประเด็น ตนได้หารือกับประธานสภา ระบุว่าจะรอรายงานของอีกชุดหนึ่งก่อนแล้วจะเอาทั้ง 2 ชุด เสนอที่ประชุมสภา เพื่อหาคำตอบว่าจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญอย่างไร เบื้องต้นได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว อยากให้เป็นกระบวนการของพรรคการเมืองและสภา มากกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่งตนจะขอให้ประธานสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ส่วนรายละเอียดคงต้องดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์นี้ต้องมาจากกระบวนการที่ไม่สร้างความขัดแย้ง ถ้าฝ่ายหนึ่งเห็นว่าฉบับนี้สมานฉันท์ แต่มีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย มันก็ไม่สมานฉันท์อย่างแท้จริง ตนจึงกำลังประเมินจากเสียงที่ได้ฟังในสภา อีกรอบว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร โดยจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อสร้างการยอมรับ "เพื่อไทย" สวนรัฐบาล ไร้ผลงาน แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ วันเดียวกัน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ที่นายกฯ แถลงผลงานรอบ 6 เดือนว่า เท่าที่ดูแล้วไม่ได้มีผลงานหรือมีอะไรดีขึ้น เพราะไม่ได้แก้ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชนยังมีอยู่ แม้รัฐบาลจัดทำรูปเล่มผลงานให้ดูดีแค่ไหน ก็เหมือนเอาแป้งมาประแต่งใบหน้าให้ดูดี และนายกฯ ยอมรับว่าแก้เรื่องความสมานฉันท์ไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเสนออะไร รัฐบาลก็มักออกมาคัดค้านทุกเรื่อง แล้วความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ด้านนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรค พท. กล่าวว่า จากการประเมินผลงานของรัฐบาล 6 เดือนแล้วบอกว่ามีล้านความสุข แต่ลืมไปว่า 60 ล้านคนไทยมีความทุกข์จากการขึ้นภาษีน้ำมัน อยากบอกว่า 6 เดือนของรัฐบาลได้ ขออนุมัติสองอย่างสำคัญคือ 1.ขอกู้เงินเพิ่มกลางปีงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท อยากทราบว่ามีผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง 2.การขอกู้เงิน 8 แสนล้านบาทจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างไร และเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร รวมทั้งโครงการชุมชนพอเพียง ที่ยังมีความคลางแคลงใจอยู่
เปิดเว็บประจำตำแหน่ง www.pm.go.th วันเดียวกัน มีการเปิดตัว www.pm.go.th เว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นช่องทางหนึ่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนสามารถส่งคำถามเพื่อสอบถามนายกรัฐมนตรีได้ จากนั้นก็จะมีการโหวตว่าคำถามไหนยอดฮิต แล้วจะเลือก 3 คำถามยอดนิยม โดยนายกรัฐมนตรีจะตอบคำถามโดยทำมาเป็นคลิปวิดีโอ และออกอากาศหลังที่รายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ จบ ก็จะเป็นการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี และจะนำคำตอบดังกล่าวลงไว้ในเว็บไซต์ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคำถามจะได้รับคำตอบ ผู้สื่อข่าวถามว่า คำถามที่ไม่ได้รับคำตอบจะทำอย่างไร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงมีช่องทางในการสื่อมาก ในส่วนของนายกรัฐมนตรีอีเมล์ มีเว็บไซต์นี้เป็นการเพิ่มช่องทาง มีวัตถุประสงค์คือ 1. ประเทศไทยไม่เคยมีเว็บไซต์เฉพาะของนายกรัฐมนตรี 2. เว็บไซต์นี้จะเป็นลักษณะที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนและ 3.เว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลมีจำนวนมาก เว็บไซต์ใหม่นี้จะเป็นการรวมและสามารถเข้าสู่เว็บไซต์อื่นได้ทุกตัว ส่วนเว็บไซต์ www.thaigov.go.th นั้น จะทำหน้าที่เป็นเว็บให้ข้อมูลข่าวสารภาคราชการอย่างเดียว อนาคตหากต้องการดูข้อมูลของนายกรัฐมนตรีก็จะดูที่เว็บไซต์ใหม่นี้อย่างเดียว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันดังกล่าว account twitter ในชื่อ PM_abhisit ก็ได้รับการยืนยันตัวตน (verified) จากเว็บไซต์ทวิตเตอร์แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อความต่างๆ ที่ส่งไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว ระบุว่าดำเนินการโดยทีมงาน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวภายหลังการแถลงผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล ว่า การแถลงผลงานเกือบไม่ได้ใช้งบประมาณเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ของทางราชการ ยกเว้นการจัดพิมพ์หนังสือใช้งบประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ส่วนของการประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลนั้นทำต่างหาก อย่างไรก็ตาม สปอร์ตโฆษณาจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 13 สิงหาคม ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท โดยขอความร่วมมือจากสถานีช่วยเพิ่มความถี่ในการเผยแพร่ ระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม-30 กันยายนนี้ ส่วนของบิลบอร์ดต่างๆ ที่ขึ้นทั่วประเทศก็เสียค่าใช้จ่ายไม่มากในลักษณะที่รัฐบาลขอความร่วมมือ
|