Thai / English

สปส.ชงบอร์ดเพิ่มสิทธิเจ็บป่วย-ชราภาพแรงงานนอกระบบ

แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนมีลุ้น สำนักงานประกันสังคมเตรียมชงบอร์ดเพิ่มสิทธิประโยชน์ เจ็บป่วย-ชราภาพ

22 .. 52
กรุงเทพธุรกิจ

นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล กรรมการฝ่ายนายจ้าง ในฐานะโฆษกบอร์ด สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมได้พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินสมทบและเงื่อนไขในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (บุคคลอื่นที่มิใช่ลูกจ้างในมาตรา 33 ซึ่งมีรายได้จากการประกอบอาชีพซึ่งต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตน)

โดยที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในมาตรานี้ จากเดิมที่ให้สิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ ทุพพลภาพ เสียชีวิตและคลอดบุตร เพิ่มอีกเป็นกรณีชราภาพในรูปแบบของบำเหน็จและค่าทดแทนจากการขาดรายได้

นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทาง สปส.ได้คำนวณความเป็นไปได้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งหากมีผู้ประกันตนมาสมัครตามมาตรานี้ 1 หมื่นคน จะทำให้อยู่ได้ แต่หากเพิ่มขึ้นอีกเป็นแสนหรือล้านคน สปส.ก็จะต้องเตรียมการรองรับอีกมาก เช่น ด้านคอมพิวเตอร์ที่ใช้จัดเก็บข้อมูล ส่วนการที่ไม่จ่ายกรณีเจ็บป่วยนั้น เนื่องจากคนงานกลุ่มนี้ใช้โครงการบัตรทองอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเพิ่มบำเหน็จในลักษณะนี้จะซ้ำซ้อนกับที่กระทรวงการคลังกำลังเสนอเกี่ยวกับเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติหรือไม่ นายประสิทธิ์กล่าวว่า บอร์ดมีหน้าที่ทำตามนโยบายที่รัฐมนตรีมอบหมายไว้ และได้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันไปแล้ว ดังนั้นบอร์ดจึงต้องดำเนินการต่อ และเสนอไปยังรัฐมนตรี ส่วนรัฐบาลจะเอาอย่างไรนั้นเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของ สปส.

ด้านนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังคงจ่ายเงินสมทบเท่าเดิมคือ 3,360 บาทต่อคนต่อปี แต่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น 2 กรณี โดยในส่วนของการขาดรายได้จากการเจ็บป่วยและรักษาตัวระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลนั้น ต้องอยู่โรงพยาบาลติดต่อกัน 3 วัน

โดย สปส.จะจ่ายเงินให้ครั้งละ 1,000 บาท ต่อคน และใน 1 ปีสามารถใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง ส่วนชราภาพในรูปแบบเงินบำเหน็จนั้น คาดว่านจะเหลือเงินจากการหักค่าใช้จ่ายต่างๆประมาณ 1,000 บาท

ทั้งนี้ได้พูดคุยกับแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนแล้วเห็นว่าทุกคนพอใจที่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใน 2 กรณีดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงการเสนอทางเลือกให้ โดยขั้นต่อไปจะต้องจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้บอร์ดพิจารณา ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลซึ่งจะมีการพิจารณารวมไปถึงไม่ให้เกิดซ้ำซ้อนกับเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.)