"กระจกเงา"เผยสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข 21 .. 52 ประชาไท มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีบทบาทในภาคส่วนของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีหน่วยงานปฏิบัติการ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ และ ศูนย์ข้อมูลคนหาย เป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดยในระยะเวลาช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิกระจกเงา ได้ลงพื้นที่ทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายกรณี จึงได้จัดทำสรุปรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีข้อเท็จจริงและข้อค้นพบ แยกออกเป็นปรากฏการณ์ ดังต่อไปนี้
1.การค้ามนุษย์แรงงานประมง ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา รับแจ้งเหตุแรงงานภาคประมงขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ ตลอดจนถูกละเมิดสิทธิ กว่า 80 กรณี (สถิติระหว่าง พ.ค. 51-มิ.ย.52) โดยผู้เสียหายร้อยละ 80 มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จากจังหวัดทางอีสานใต้ ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการล่อลวงแรงงานประมง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงจำนวนมาก จึงทำให้มีขบวนการนายหน้าคอยหาแรงงานป้อนเข้าสู่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ มีพื้นที่เสี่ยงในการล่อลวงแรงงานประมงในกรุงเทพ 5 จุดใหญ่ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต บริเวณสนามหลวง บริเวณวงเวียนใหญ่ และบริเวณสวนรมณีนาถ
จากการลงพื้นที่และสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ทำให้ทราบว่าชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการย้ายถิ่นในการทำงานอย่างไม่ปลอดภัย กล่าวคือ เป็นลักษณะการเคลื่อนย้ายตัวเองเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่มีงานรองรับ เข้ามาในลักษณะแบบตายเอาดาบหน้า ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่ มักต้องใช้สถานีขนส่งและสวนสาธารณะเป็นที่พัก หรือ รอหางานทำ จึงมักตกเป็นเหยื่อของขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์
นอกจากนี้ การให้ความรู้ และ สร้างเสริมความเข้าใจในการระมัดระวังภัยในการหางานทำ ยังเป็นเรื่องที่ขาดกระบวนการทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง ที่ขาดโอกาสและการศึกษาซึ่งมักตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
ทั้งนี้ มีผู้เสียหายจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มิได้เข้าไปแจ้งความ หรือให้ข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นผลให้หน่วยงานในพื้นที่ไม่ทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขาดกระบวนการทางนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
2.การค้าประเวณีเด็ก ปัญหาการค้าประเวณีเด็ก กลายเป็นประเด็นใหญ่ในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถานะเป็นทางผ่านและปลายทาง ในการค้าประเวณีเด็ก โดยแบ่งสภาพปัญหาเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การค้าประเวณีเด็กต่างชาติ ปัญหาเรื่องการค้าประเวณีเด็กต่างชาติ ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลายเป็นพื้นที่ทางผ่านและพื้นที่ปลายทางของการค้ามนุษย์ ลักษณะของสภาพปัญหาคือมีการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศลาวเข้ามาค้าประเวณีบริเวณชายแดนและจังหวัดใกล้เคียงในรูปแบบของซ่องและร้านคาราโอเกะ
พื้นที่ใจกลางเมืองอุดรธานี ถือเป็นแหล่งขายบริการทางเพศเด็กต่างชาติ ที่รุนแรงที่สุด มีการจับกุมโดยหน่วยงานภาครัฐ และถูกนำเสนอข่าวต่อสื่อมวลชนหลายครั้ง แต่ก็ยังมีการเปิดให้บริการอย่างโจ่งแจ้งจนถึงทุกวันนี้
ขณะที่เว็บไซต์ของนักเที่ยวกลางคืนแห่งหนึ่ง มีการนำเสนอข้อมูลของซ่องในจังหวัดอุดรธานีอย่างแพร่หลาย ผู้เข้าใช้บริการในเว็บไซต์ดังกล่าวมีการรวมตัวกัน เพื่อเดินทางมายังจังหวัดอุดรธานี เพื่อซื้อบริการทางเพศเด็กลาวโดยเฉพาะ
นอกจากนี้แล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่ติดกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร จนกระทั่งถึงอุบลราชธานี ก็ประสบปัญหามีเด็กลาวถูกนำมาค้าบริการทางเพศแอบแฝงตามสถานบริการต่างๆ
ในขณะเดียวกัน จังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง ยังเป็นทางผ่านให้ นักล่าประเวณีเด็กจำนวนมาก ข้ามแดนเข้าไปซื้อบริการทางเพศเด็กในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะด้านจังหวัดหนองคายและมุกดาหาร
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ติดกันสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่าย ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทำให้มีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่การขายบริการทางเพศอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายเข้ามาขายบริการบริเวณชายแดนฝั่งไทยมากขึ้น
2.2 การค้าประเวณีเด็กไทย สภาพปัญหาทางสังคมและปัญหาเรื่องค่านิยมที่เด็กและเยาวชนซึมซับได้จากสิ่งแวดล้อมรอบกาย ทำให้มีเด็กจำนวนมาก เข้าสู่การขายบริการทางเพศโดยความสมัครใจ แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ปัญหาการขายบริการทางเพศของเด็ก กลายเป็นการค้ามนุษย์ เนื่องจากส่วนใหญ่ การขายบริการทางเพศของเด็กมักอยู่ภายใต้ผู้ดูแลในรูปแบบของเอเย่นต์ คอยทำหน้าที่เป็นธุระจัดหาแขก
ทั้งนี้ เด็กส่วนใหญ่ อยู่ในสถานศึกษาทั้งในสายสามัญและอาชีวะ พบมากในจังหวัดขนาดใหญ่และมีสถานศึกษาจำนวนมาก เช่น จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม เป็นต้น
เอเย่นต์หรือผู้เป็นธุระจัดหาเพื่อการประเวณีเด็ก มักหาลูกค้าตามสถานบันเทิงต่างๆ หรือให้พนักงานยกกระเป๋า/บริกรตามโรงแรมต่างๆ คอยติดต่อหาลูกค้าให้ กลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการนี้มักจะทราบว่าต้องติดต่อกับใครในการหาซื้อประเวณี
แนวโน้มที่น่าสนใจของปัญหานี้ คือ เด็กที่เข้าสู่การขายบริการทางเพศ โดยผ่านผู้เป็นธุระจัดหามีอายุน้อยลง เพราะตัวเด็กไม่จำเป็นต้องออกไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง การขายบริการทางเพศจึงเป็นความลับรู้กันเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ยังเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเห็นว่าเพื่อนมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เป็นธุระจัดหายังเป็นเยาวชนอีกด้วย
3.ขอทานเด็ก การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน พบปัญหามากในแถบอีสานใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ โดยลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่ครอบครัวของเด็ก นำเด็กมาขอทานในกรุงเทพฯ โดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบการขอทาน กระทั่งเริ่มมีบางครอบครัวตั้งตัวเองเป็นนายหน้าในการพาเด็กคนอื่นๆ เข้ามาเป่าแคนในกรุงเทพฯ โดยหักเปอร์เซ็นต์จากการขอทานเป็นค่านำพาเข้ามาขอทาน
โรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสุรินทร์ มีเด็กมาเป่าแคนทั้งสิ้น เกือบ 40 คน จากนักเรียนทั้งโรงเรียน 140 คน เทียบได้กับนักเรียน 1 ใน 4 ของโรงเรียนถูกนำพามาขอทานที่กรุงเทพฯ
ช่วงเย็นวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ กลุ่มเด็กเป่าแคนจะเดินทางออกจากจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเข้ากรุงเทพฯ และจะกระจายตัวออกไปเป่าแคนในพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ สวนจตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บางกะปิ และลาดพร้าว โดยเด็กจะต้องเป่าแคนขอทานตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ถึงเวลาประมาณ 23.00 น. ในวันเสาร์อาทิตย์ และจะเดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์ในเย็น วันอาทิตย์
ขณะที่ในมิติของครอบครัวเด็ก มองว่า การที่เด็กเข้าไปเป่าแคนเป็นการแสดงดนตรีมิใช่การขอทาน แต่ในขณะที่งานวิจัยสภาพปัญหาในพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ พบว่า เด็กไม่สมัครใจในการไปเป่าแคนที่กรุงเทพฯ ประกอบกับเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถเป่าแคนเป็นเพลงได้ ลักษณะท่าทางที่ปรากฏจึงเป็นการเป่าลมเข้าไปในแคนให้มีเสียงออกมาเท่านั้น และครอบครัวเด็กยังให้เด็กสวมชุดนักเรียนขณะขอทาน เพื่อเรียกร้องความน่าสงสารอีกด้วย
ปัญหาเด็กจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไปขอทานที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้วจะขยายตัวมาขึ้น เพราะเด็กคนนึงสามารถมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,000-30,000 บาทต่อเดือน เป็นผลให้หลายครอบครัวเริ่มที่จะนำบุตรของตนเองเข้ามาขอทานที่กรุงเทพฯ ทั้งมาด้วยตนเองและฝากบุตรหลานมากับนายหน้า
4.การลักพาตัวเด็ก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกระแสข่าวลือเรื่องการลักพาตัวเด็ก และแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กจำนวนมาก แต่ข้อเท็จจริงนับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีการลักพาตัวเด็กที่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเกิดขึ้นจริงเพียง 1 กรณีเท่านั้น โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่จังหวัดอุดรธานี
โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นลักษณะของบุคคลที่มีอาการทางจิตและลักร่วมเพศ ล่อลวงเด็กชายอายุ 9 ปี ไปกระทำทางเพศและบังคับใช้แรงงานในจังหวัดต่างๆ จนถูกจับกุมตัวได้ที่จังหวัดชุมพร
จากสถิติการรับแจ้งเหตุเด็กถูกลักพาตัวของมูลนิธิกระจกเงามีจำนวนทั้งสิ้น 34 กรณี ไม่มีกรณีใดที่ใช้รถตู้เป็นยานพาหนะในการลักพาตัวเด็ก ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มิใช่ขบวนการค้ามนุษย์ที่ชัดเจน แต่เป็นในลักษณะบุคคลธรรมดา ที่นำพาเด็กไปบังคับใช้แรงงานหรือกระทำทางเพศ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของข่าวลือ พบว่า มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักให้ข่าวกับสื่อมวลชนผิดๆ ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอ จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและตื่นตระหนก กลายเป็นข่าวลือเรื่องแก๊งค์รถตู้ หรือกระทั่งแก๊งค์ตัดอวัยวะเด็ก ซึ่งไม่ปรากฏตัวผู้เสียหายในพื้นที่แต่อย่างใด
5.การถูกบังคับค้าประเวณีในต่างแดน มีหญิงไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก ถูกหลอกเพื่อบังคับให้ค้าประเวณีในต่างแดนทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกาใต้ โดยหญิงไทยที่ถูกหลอกส่วนหนึ่งประกอบอาชีพค้าประเวณีในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการติดต่อจากนายหน้าให้ไปทำงานในต่างประเทศ แต่กลับถูกกดขี่ให้ต้องทำงานอย่างหนักกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ และเป็นหนี้ค่าเดินทางจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีหญิงไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มักใช้บริการบริษัทจัดหาคู่หรือนายหน้าหาคู่กับชายชาวต่างชาติ ซึ่งมีหลายกรณีที่เมื่อแต่งงานไปแล้ว หญิงไทยถูกนำไปบังคับให้ขายบริการทางเพศในต่างแดน หรือบังคับใช้แรงงานบ้านอย่างหนัก
ด้วยค่านิยม และความต้องการยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้การตัดสินใจของหญิงไทยหลายคนขาดความรอบคอบ ตลอดจนในพื้นที่ไม่มีมาตรการให้ความรู้แก่ประชาชนที่กำลังจะเดินทางไปทำงานหรือแต่งงานยังต่างประเทศ จึงทำให้แนวโน้มจะยังมีหญิงไทยตกเป็นผู้เสียหายจำนวนมากขึ้นในอนาคต
ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ใน 3 สถานะ ทั้งเป็นพื้นต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของปัญหา ด้วยสภาพภูมิประเทศและปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ได้โดยง่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทำงานเชิงรุกเพื่อสกัดกั้นมิให้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวจนเกินจะเยียวยา... |