Thai / English

ไทรอัมพ์เลิกจ้าง พนง. 1,930 คน คนงานจี้ชี้แจงขาดทุนจริงหรือไม่



30 .. 52
ประชาไท

หลังมีข่าวลือว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สลอคกี้ AMO ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (29 มิ.ย.52) บริษัทฯ ได้เรียกพนักงานทั้งหมดกว่า 4,000 คนไปรวมตัวกันที่ไบเทค บางนา เพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีการเลิกจ้างพนักงาน 1,930 คน หรือเกือบกึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมด

นางวันเพ็ญ วงษ์สมบัติ ประธานสหภาพไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า หลังบริษัทชี้แจงเรื่องการเลิกจ้าง ก็เชิญให้พนักงานรับซองขาว โดยไม่เปิดเวทีให้ซักถามโดยมีซอง 2 ประเภทคือ ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง จะมีเอกสารแจ้งเลิกจ้างและเอกสารระบุรายละเอียดค่าชดเชยที่จะได้รับ ขณะที่พนักงานที่ไม่ถูกเลิกจ้างจะได้บัตรพนักงานใหม่ ซึ่งถูกโยกย้ายตำแหน่งงาน ซึ่งเธอแสดงความเห็นว่า เหมือนเป็นการจัดแถวใหม่

ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เล่าว่า สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น เป็นพนักงานในแผนกผลิตชุดว่ายน้ำทั้งหมดและแผนกชุดชั้นในจำนวนหนึ่ง โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา บริษัทให้เหตุผลว่า จะไม่ผลิตชุดว่ายน้ำในประเทศไทยอีก จึงต้องเลิกจ้างแผนกผลิตว่ายน้ำ และเป็นการปรับโครงสร้างของบริษัท ขณะที่ไม่มีการชี้แจงว่า เลิกจ้างพนักงานแผนกชุดชั้นในด้วยสาเหตุใด อย่างไรก็ตาม เธอตั้งข้อสังเกตว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นกรรมการสหภาพทั้งหมด ในส่วนของแผนกชุดชั้นใน ก็เหลือตนเองซึ่งเป็นประธานสหภาพฯ และพนักงานที่ตั้งครรภ์อีก 1 คนเท่านั้น

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า ได้เคยตั้งคำถามกับบริษัทว่าขาดทุนจริงหรือไม่ ซึ่งบริษัทไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนและอ้างว่า ไม่มีออเดอร์เข้ามา แต่เมื่อขอดูเอกสารการสั่งออเดอร์ บริษัทก็ไม่เปิดเผย โดยให้เหตุผลว่าเป็นความลับ ทั้งนี้ สหภาพฯ ได้ขอร้องว่า เมื่อบริษัทไม่สามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ ก็ขอให้ระงับคำสั่งก่อน จนกว่าจะมีการชี้แจง แต่บริษัทก็ให้เหตุผลว่า เป็นคำสั่งจากทางยุโรป และคนงานไม่มีสิทธิต่อรอง

สำหรับค่าชดเชยนั้น นางวันเพ็ญ ตั้งข้อสังเกตว่า พนักงานที่อายุงานนาน 20-30 ปี ได้ค่าชดเชยเพียง 100,000 กว่าบาท ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด ขณะที่พนักงานที่มีอายุงาน 3-4 ปี ได้ค่าชดเชย 180,000-200,000 บาท จึงมีการตั้งคำถามในหมู่พนักงานว่า บริษัทใช้อะไรเป็นเกณฑ์ อีกทั้งในซองขาวที่พนักงานได้รับก็ไม่มีรายละเอียดว่าจะได้รับค่าชดเชยที่ไหน เมื่อใด ทำให้พนักงานกังวลว่า จะได้รับค่าชดเชยตามที่บริษัทระบุหรือไม่

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า หลังจากนี้ พนักงานทั้งหมดจะกลับไปที่บริเวณหน้าโรงงาน เพื่อกำหนดท่าทีกันต่อไป

ด้านนางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น จะได้รับคำสั่งไม่ต้องมาทำงานตั้งแต่วันนี้ (29 มิ.ย.) จนถึงวันที่ 26 ส.ค. แต่จะได้รับค่าจ้างตามปกติ จากนั้น จะได้รับค่าชดเชยตามกฏหมาย บวกกับอีกหนึ่งเดือน และสิทธิลาพักร้อน

อย่างไรก็ตาม นางสาวจิตรา คิดว่า คนงานไม่ควรตกงาน เพราะบริษัทไม่สามารถชี้แจงเรื่องขาดทุนได้ ทั้งนี้ วานนี้ (28 มิ.ย.) สหภาพฯ ก็ได้ยื่นหนังสือขอให้นายจ้างเปิดเผยข้อมูลว่าขาดทุนจริงไม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD

นางสาวจิตรา กล่าวว่า บริษัทต้องชี้แจงเรื่องการขาดทุนให้ได้ก่อน ถ้าเป็นที่ยอมรับได้ก็คงไม่เรียกร้อง ส่วนกรณีที่บริษัทบอกว่า ให้ค่าชดเชยมากกว่ากฏหมายแล้วนั้น เธอมองว่า กฏหมายนั้นเป็นเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำ อีกทั้งในกรณีนี้บริษัทก็ไม่ได้ขาดทุนจริง ดูเหมือนเป็นความต้องการทำลายสหภาพฯ และปลดคนงานที่อายุงานเยอะ และค่าจ้างสูงออกมากกว่า ดังนั้น บริษัทจึงต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำด้วย โดยจะเสนอขอค่าชดเชยเพิ่มขึ้นและขอให้บริษัทฝึกอาชีพอาชีพให้กับพนักงานด้วย

ด้านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งผู้ตรวจแรงงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปร่วมรับฟังการประชุมชี้แจงของบริษัทฯ กรณีเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,900 คน ซึ่งขณะนี้นายจ้างยอมจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกนายจ้างบอกเลิกจ้างทั้งหมด ตามกฎหมายกำหนด พร้อมทั้งยอมเพิ่มค่าเชยให้อีก 1 เดือน และจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด โดยไม่ต้องมาทำงานตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีพนักงานคนใดไม่ยอมรับเงินค่าชดเชย ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วนกรณีที่ลูกจ้างที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีข้อสงสัยว่า นายจ้างไม่ได้ขาดสภาพคล่อง ตามที่ชี้แจงนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องเจรจากัน ทั้งนี้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อพัฒนาองค์กร หรือรักษาสภาพการจ้างของบริษัทไว้

นางอัมพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้รับการยืนยันจากนายจ้างบริษัทไทรอัมพ์ฯ ว่าจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีก เนื่องจากต้องการทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยต่อ เพราะคนงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นคนงานที่ดีและมีฝีมือ