Thai / English

มท.สวนศก.เคาะจ่ายค่าครองชีพกฟน. 2,000 เงินเดือน5หมื่นลงมายังได้ กฟภ.เอาด้วย กปน.รอหารือสหภาพ



25 .. 52
เครือมติชน

มท.เคาะ จ่ายเงินค่าครองชีพชั่วคราว พนักงานกฟน. 2,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี จ่ายคนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 5 หมื่นลงมา รวม 6,071 คน กฟน.ต้องควักกระเป๋าเพิ่ม 12 ล้านบาทต่อเดือน กฟภ.เอาด้วยเตรียมชงมท.ขอเงิน 2,000บาท ผู้ว่ากปน. รอหารือสหภาพ 25 มิ.ย.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มิถุนายน นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และผู้แทนจากกปน. ประมาณ 15 คน เข้าพบกับ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่ากฟน. นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะประธานบอร์ดกฟน. เพื่อหารือถึงกรอบแนวทางในการ จ่ายเงินค่าครองชีพให้กับพนักงานกฟน. รายละ 2,000 บาท โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้น นายบุญจง แถลงผลการหารือโดยได้ข้อสรุปว่า กฟน.จะจ่ายเงินให้กับพนักงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทลงมา จนถึงพนักงานที่มีเงินเดือนต่ำที่สุด คนละ 2,000 บาท ซึ่งจะมีพนักงาน 6,071 คน ที่จะได้รับเงินดังกล่าว โดยหลักเกณฑ์ในการจ่างเงิน จะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยเงินที่จะนำมาจ่ายนั้น ตนยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อประชาชนในการใช้ไฟฟ้า และไม่เกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาล โดยการไฟฟ้าจะไม่มีการขึ้นเงินค่าไฟแต่อย่างใด เพราะเงินที่จะนำมาใช้เป็นรายได้ของกฟน. ซึ่งเป็นกำไรจากการประกอบการ ที่จะนำมาช่วยค่าครองชีพ และไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระใดๆหรือเป็นเงื่อนไขในการปรับขึ้นค่าไฟใดๆทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า การกำหนดเพดานเงินเดือนไว้ที่ 50,000 บาท ถือว่าสูงเกินไปหรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า พนักงานของกฟน. มีเงินเดือนตั้งแต่ 6,000 บาท ถึง 200,000 บาท ดังนั้นจึงต้องหาค่าในการปรับเพด้านขั้นสูงแล้วจึงได้กำหนดตัวเลขดังกล่าว

นายบุญจง กล่าวว่า หลังจากนี้ ตนจะนำข้อสรุปเสนอต่อ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกฯมอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอต่อครม.ในสัปดาห์หน้า ส่วนการขอรับค่าครองชีพในส่วนของกระประปานครหลวง(กปน.)นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าจะหารือกับกปน. อย่างไรส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆที่ต้องการที่จะขอความช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว หากต้องการที่จะใช้สิทธิ์ก็สามารถขอไปยังต้นสังกัดได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานสถานการณ์เงินของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ซึ่งขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เสนอขอความช่วยเหลือเพียง 2 แห่ง

เมื่อถามว่าเมื่อกฟน. มีกำไรเป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่นำรายได้ไปพัฒนาปรับปรุงองค์กร นายบุญจง กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนา กฟน. จะต้องมีการปรับปรุงองค์กร รวมถึงการปรับปรุงการให้บริการประชาชนให้ดีที่สุด การที่ใช้งบประมาณในส่วนนี้ถือเป็นการช่วยเหลือพนักงานของกฟน. ที่กฟน.จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเดือนละ ประมาณ 12 ล้านบาท ซึ่งจะตกปีละ 100 กว่าล้านบาท

ด้านนายเพียร กล่าวว่า ขอสรุปที่ตกลงกันถือว่าเป็นที่พอใจ หากไม่พอใจคงไม่ยอมรับ และไม่ใช่อยู่มาขอ เพราะพนักงานทุกคนร่วมกันทำงานจนเกิดผลกำไร และเมื่อประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ จึงต้องการความช่วยเหลือ และหาทางออกร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือพนักงานส่วนใหญ่ ที่มีปัญหาหนี้สิน เมื่อถามว่า หากนายกฯ ไม่เห็นด้วย สหภาพฯกฟน. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายเพียร กล่าวว่า นายกฯจะต้องชี้แจงว่าที่ไม่เห็นด้วยเป็นเพราะอะไร เพราะจะต้องพูดด้วยเหตุด้วยผล ว่าที่ไม่ให้นั้นเพราะอะไร เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าหากครม. ประชาชนจะไม่เดือดร้อน นายเพียร กล่าวว่า ตนยืนยันมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นสหภาพแรงงาน ในการชุมนุม สหภาพฯกฟน ไม่เคยทำให้ประชาชนเดือดร้อน

“ทุกครั้งที่มีการชุมนุมปิดถนน ไม่ต้องมาเชิญพวกผมไป ผมไม่ไป เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นถ้านายกฯมีเหตุผล พวกผมก็มีเหตุผล ขอให้สบายใจได้ว่าจะไม่มีการปิดถนนเหมือนการปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์ และผมจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างแน่นอน ส่วนการขู่ตัดไฟ กระทรวงการคลังนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังค้างค่าไฟ กฟน.เป็นจำนวนมาก ดังนั้นทุกคนต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อประชาชนค้างค่าไฟ เพียงไม่กี่วันก็ถูกตั้ดไฟ แล้วทำไมหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่มีเงินเป็นจำนวนมาก ทำไมจึงไม่จ่ายค่าไฟ เมื่อไม่จ่ายก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการตัดไฟ แต่หากกระทรวงการคลังจ่ายค่าไฟ ก็ถือเป็นเรื่องดี กฟน.จะได้มีเงินมาใช้จ่ายในองค์กร นี่ไม่ได้ขู่” นายเพียร กล่าว

เมื่อถามว่า ได้มีการหารือกรอบในการขอเงินชั่วคราวกับ กปน. หรือไม่ นายเพียร กล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือ เพราะเป็นคนละหน่วยงาน ไม่ก้าวก่ายกัน เพราะทุกหน่วยงานทำงานเป็นเอกภาพ เมื่อถามว่า พนักงานกฟน. ใช้ไฟฟ้าฟรีหรือไม่ นายเพียร กล่าวว่า ใช้ฟรีแต่ไม่ทั้งหมด ซึ่งก็ถือเป็นสวัสดิการของแต่ละหน่วยงาน เมื่อถามว่าการขอเงินในครั้งนี้ ได้มีการคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนอื่นๆหรือไม่ นายเพียร กล่าวว่า พวกตนเห็นความสำคัญของประชาชน แต่พวกตนก็ได้รับความลำบาก จึงจำเป็นที่จะต้องมองตัวเองเหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

เมื่อถามว่า จะรับได้หรือไม่ หากครม.ปรับลดเงิน หรือกรอบระยะเวลาที่จะให้เงินดังกล่าว นายเพียร กล่าวว่า หากครม.เห็นแบบนั้น จะหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับไม่ได้ เพราะหากผู้มีอำนาจบอกว่าไม่ให้ก็จบ แต่หากจะให้ เมื่อครบกำหนด 1 ปี เราก็จะไม่ขอต่อเวลาเพิ่ม และที่ผ่านมาเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท เราก็ไม่ได้รับ และรัฐบาลที่ผ่านมามีการใช้นโยบายประชานิยม โดยขึ้นค่าครองชีพให้หน่วยงานทุกหน่วยงานจนส่งผลกระทบ และพวกตนแบกรับภาระมานาน เพราะพวกรัฐวิสาหกิจ เป็นเหมือนลูกเมียน้อย อยากได้อะไรก็ได้ทีหลัง และต้องขอต้องเรียกร้อง ดังนั้นเมื่อเราทำกำไรให้กับองค์กรเราก็ควรจะได้บ้าง

ด้านผู้ว่ากฟน. กล่าวว่า ในปีนี้ กฟน.มีกำไร ประมาณ 4,000 ล้านบาท เมื่อจะต้องจ่ายให้พนักงานเพิ่มเดือนละ 12 ล้านบาท ไม่ส่งผลกระทบกับหน่วยงาน เพียงแต่พนักงานจะต้องช่วยกันร่วมมือกันทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า อย่างเด็ดขาด แต่จะต้องมีการหารายได้เพิ่มเพื่อชดเชยกับรายจ่าย โดยจะต้องบอกกับพนักงานที่จะต้องทำงานให้หนักขึ้น จะต้องรักษารายได้กับรายจ่ายให้คงที่ หรืออาจจะต้องลดรายจ่ายในส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นการประหยัดทรัพยากรในหน่วยงาน เพราะกฟน. ไม่เหมือนกับข้าราชการ ที่มีรายได้จากภาษีประชาชน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการประปานครหลวง (กปน.) 2 รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย เสนอให้เพิ่มค่าครองชีพพนักงานทุกคนเดือนละ 2 พันบาทนั้น ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นว่าการให้ขึ้นเป็นบางแห่งไม่ยุติธรรมกับอีก 55 รัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ถ้าจะพิจารณาก็ต้องพิจารณาให้ครบทั้งหมด รวมถึงพิจารณารัฐวิสาหกิจที่มีกำไรและขาดทุน ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรอาจไม่มีเหตุผลที่ดีพอ จึงมอบให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณา

กฟภ.เอาด้วยเตรียมชงมท.ขอเงิน 2,000บาท

นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกฟภ. ได้มีการเสนอเรื่องขอเงินค่าครองชีพชั่วคราวให้กับพนักงานกฟภ. ซึ่งผ่านบอร์ดกฟภ.แล้ว ซึ่งเรื่องอยู่ในขั้นตอนของสำนักแรงงาน ก่อนที่จะเสนอผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม กฟภ.จะขอในลักษณะเดียวกับ กฟน. โดยใช้เงินของกฟภ.เอง ไม่ได้ของเงินจากรัฐบาล และกฟภ.ก็มีกำไรอยู่บ้าง ส่วนกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินขั้น ขึ้นอยู่กับมติของกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้ในลักษณะใดบ้าง ซึ่งกฟภ.จะยึดเป็นหลักเดียวกัน ส่วนผู้บริหารองค์กรสมควรที่จะได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็จะต้องพิจารณาให้ดี ให้เหมาะสม คำนึงถึงเหตุผลสำหรับตนนั้นไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆสมควรที่จะได้รับหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละหน่วยงาน เพราะแต่ละแห่งมีผลกำไรที่ไม่เท่ากัน

นายอดิศร กล่าวว่า กฟภ. มีพนักงานอยู่ประมาณ 27,000 คน หากจ่ายให้พนักงานทุกคน คนละ 2,000 บาท กฟภ.จะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึงเดือนละ 55 ล้านบาท แต่ก็ยังอยู่ในระยะที่สามารถดำเนินการได้ ไม่มีปัญหาหรือผลกระทบ แต่พนักงานจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และจะต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในองค์กรด้วย

ผู้ว่ากปน. รอหารือสหภาพ 25 มิ.ย.

นายเจริญ ชัยกิตติศิลป์ ผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.) กล่าวว่าตนได้รับมอบหมายจาก นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวมหาดไทย ในฐานะที่ดูแลกปน. ให้หารือกับสหภาพแรงงานกปน. เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับกรอบของผู้ที่จะได้รับเงินค่าครองชีพชั่วคราวของกปน. ซึ่งในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะจึงจะหารือกับสหภาพกปน. เพื่อนำข้อสรุปไปรายงานให้ นายถาวร ได้ทราบ แต่อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการที่ กฟน.ได้ว่ากรอบร่วมกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็ควรที่จะยึดหลักเดียวกัน เพราะกฟน. และกปน. มีแนวทางปฏิบัติที่ใกล้เคียงกันจึงควรที่จะอยู่บนพื้นฐานะเดียวกัน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าการตั้งเพด้านเงินเดือนไว้ที่ 50,000 บาทที่จะได้รับเงินค่าครองชีพชั่วคราวนั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปที่แน่ชัด เพราะหากนำเรื่องเข้าครม.แล้ว อาจจะมีการปรับเปลี่ยนลดจำนวนลงอีก อย่างไรก็ตามกปน. ได้คำนวณตัวเลขในการที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้กับพนักงานทั้งหมด ประมาณ 4,000 กว่าคนนั้น จะต้องจ่ายเดือนละเกือบ 9 ล้านบาท แต่หากกำหนดกรอบจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท จะมีเพียง 2,000 คน ซึ่งจะต้องจ่ายเดือนละ 5 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ตนจะต่อรองกับสหาภาพกปน.อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงการคลังไม่ควรที่จะให้พิจารณาการให้เงินเดือนพนักงานเฉพาะในหน่วยงานที่มีกำไร เพราะบางหน่วยงานไม่สามารถทำกำไรได้มาเนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะตรึงการขึ้นราคาของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน ทำให้รัฐวิสาหกิจนั้นอยู่ในภาวะขาดทุน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของพนักงาน จึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ ถือว่าไม่ยุติธรรมต่อพนักงาน ทั้งที่พนักงานของแต่ละหน่วยงานทำงานเพื่อองค์กรโดยบตลอด ดังนั้นรัฐบาลจึงควรที่จะมีส่วนเข้สมารับผิดชอบในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าองค์กรขาดทุน แล้วพนักงานไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงิน เพราะหากมีการช่วยเหลือก็ควรที่จะให้รัฐวิสาหกิจทั้งหมด