Thai / English

สหภาพแรงงาน หวังเปลี่ยนที่มาบอร์ดคุมที่ดินรถไฟ

สหภาพแรงงานรถไฟฯ หวังเปลี่ยนที่มา บอร์ด รฟท. คุมที่ดินขุมทรัพย์ทำเลทอง “จตุจัตร พหลโยธิน รัชดา มักกะสัน”

25 .. 52
กรุงเทพธุรกิจ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงผลการหารือร่วมกับพล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า สาเหตุที่การเจรจาเป็นไปได้เร็วเป็นเพราะได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่ารัฐบาลจะยุติการดำเนินการตามมติครม. 3 มิ.ย. ที่เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของร.ฟ.ท. เพราะไม่ได้ผ่านการรับรู้ หรือการมีส่วนร่วมของสหภาพฯ ถือว่าผิดขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งพล.ต.สนั่น รับปากว่าจะนำเรื่องนี้กลับไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอน โดยให้สหภาพฯเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ได้มีเรื่องการเมือง หรือมีเบื้องหน้าเบื้องแต่อย่างใด

นายสาวิทย์ กล่าวว่า แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแปรรูปการรถไฟ หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯก็ตาม แต่ในรายระเอียดในแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวระบุชัดว่า ให้บริษัทลูก 2 บริษัท คือ บริษัทการเดินรถไฟ ที่ให้บริการเดินรถไฟเพื่อการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟ ซึ่งให้เข้าบริหารใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินของการรถไฟ ดำเนินการจดทะเบียนโดยใช้ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน และหลังจากนั้นอีก 180 วัน จะต้องโอนทรัพย์สินของการรถไฟทั้งหมดเข้ามาอยู่ในความดูแลของทั้ง 2 บริษัท โดยไม่ต้องเสียภาษี สามารถควบคุมกำหนดเวลาเดินรถ และหลังจากนั้นจะเพิ่มบทบาทให้บริษัทเอกชนเข้ามาดูแลกำหนดอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าระวางสินค้า

“ไม่รู้ว่าที่นายกฯบอกว่า ไม่มีการแปรรูปการรถไฟ ไม่รู้ หรือว่าไม่ได้ทำการบ้าน หรือพูดเพื่อต้องการลดแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น เพราะลักษณะเช่นนี้ไม่เรียกว่าแปรรูป แล้วจะเรียกว่าอะไร เพราะในแผนฟื้นฟูฯกำหนดให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 500 ล้านบาท มาดูแลทรัพย์สินของการรถไฟ ที่มีทั้งหัวรถจักร เครื่องจักร ทางเดินรถไฟ ที่ดินของการรถไฟ อสังหาริมทรัพย์ รวมมูลค่าหลายหมื่นล้าน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ 2 บริษัท แม้รัฐบาลจะบอกว่าบริษัททั้ง 2 รัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็น แต่ก็เป็นเพียงแค่คำลอยๆ เท่านั้น ไม่ได้มีระบุไว้ในแผนแต่อย่างใด”

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า สหภาพฯเห็นด้วยกับการปฏิรูปการรถไฟ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูป ซึ่งการปฎิรูปสามารถทำได้ทันที เริ่มจากการยกเลิกที่มาของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย จากเดิมที่มาจากรัฐบาลแต่ตั้ง ให้มาเป็นการคัดเลือกจากสมาชิก เพื่อให้ได้บอร์ดที่มีความรู้ความสามารถ มาบริหาร เพราะที่ผ่านมาการรถไฟต้องขาดทุน เพราะขาดการเอาใจใส่จากผู้บริหาร ทั้งในเรื่องที่ไม่มีการปรับปรุงอัตราค่าเช่าที่ดินของการรถไฟ เช่นในเขต กทม.จำนวน 8 พันไร่ อาทิ ย่าน จตุจัตร พหลโยธิน รัชดา มักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเลทอง แต่มีการเรียกเก็บค่าเช่าในอัตราต่ำมาก ขณะที่พื้นที่ของการรถไฟที่ให้มีการเช่าทั่วประเทศ รวม 3.6 หมื่นไร่ แต่สามารถเก็บค่าเช่าได้เพียงปีละ 1 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งที่ดินเหล่านี้มีนักธุกิจ นักการเมือง เข้ามาแสวงหาประโยชน์ รวมทั้งกรณีของการครอบครองที่ดินของการรถไฟบริเวณเขากระโดงของนายชัย ชิดชอบ ที่มีการเรียกร้องให้เพิกถอนสิทธิ์การถือครองที่ดินดังกล่าว

นายสาวิทย์ ยังกล่าวต่อว่า การขาดทุน 70,000 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวเพราะในจำนวนนี้มีประมาณ 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าชดเชย ที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับการรถไฟ จากการจำหน่ายตั๋วค่าโดยสารราคาต่ำ เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวที่รัฐบาลไม่เคยจ่ายตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 40,000 กว่าล้านนั้น เป็นการใช้งบประมาณจากการลงทุน เช่น โครงการทำรางรถไฟสายแอร์พอร์ตลิ้งค์ และ การลงทุนในเรื่องต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้สามารถได้ผลประกอบการคืนในอนาคต

รายงานข่าวยังระบุว่า มีความพยายามจากรัฐบาลทุกชุดในการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะในอนาคตบรรดาธุรกิจต่างๆ จะใช้วิธีขนส่งสินค้าทางรางรถไฟ ตามแผนการดำเนินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2550 - 2554 โดยในยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งโลจิสติกส์ โดยเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางบกมาเป็นขนส่งทางรถไฟ ส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และยุโรป จึงต้องมีการดำเนินการปรับปรุงระบบรางรถไฟใหม่เพื่อรองรับแผนดังกล่าว