Thai / English

มูลนิธิเพื่อนหญิง ตำหนิรัฐไม่จริงจังดูแลหญิงถูกเลิกจ้าง



12 .. 52
ผู้จัดการ

“มูลนิธิเพื่อนหญิง” ติงรัฐบาลให้การดูแลผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การถูกเลิกจ้างไม่จริงจัง มีความไม่ทัดเทียมระหว่างหญิงชาย พบวิกฤตที่เกิดขึ้นทำหญิงแห่ขายบริการทางเพศ แต่งงานหนุ่มต่างชาติ ด้านผู้ประสานงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เผย ผู้หญิงถูกกระทำจากสามีมากขึ้น หลังถูกเลิกจ้าง ทั้งถูกชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน วอนรัฐอย่าปล่อยปละละเลย เข้าตรวจสอบการเลิกจ้างงานเกรงนายจ้างอ้างวิกฤตเศรษฐกิจ เร่งดูแลสาวท้องหลักถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

วันนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน พญาไท กรุงเทพฯ มูลนิธิผู้หญิงและเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ จัดเสวนาเรื่อง “กรณีหญิงอุ้มท้องวิ่งราวร้านทองกับทางเลือกของเพศแม่ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ” โดย นางศิริพร สะโครบาเน็ค ประธานมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า จากกรณีของน้องน้ำ หญิงสาวตั้งท้องที่วิ่งราวสร้อยจากร้านทองใน จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ผู้หญิงจะตกอยู่ในความลำบากเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้หญิงจะต้องแบกรับภาระทั้งหมดของครอบครัวไว้เอง โดยที่ผู้ชายซึ่งเป็นสามีสามารถแยกออกไปจากชีวิตได้

ทั้งนี้ ทางออกของผู้หญิงที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนั้น จะเห็นได้ว่ามีอยู่ไม่กี่ทาง ทางหนึ่งคือ การเข้าสู่ภาคของการขายบริการทางเพศ การย้ายถิ่นข้ามชาติ จนถึงการเลือกที่จะใช้ชีวิตคู่กับชาวต่างชาติ ซึ่งทางเลือกดังกล่าวนี้ยังเป้นวงจรที่เสี่ยงกับการตกอยู่กับการกระทำ การค้ามนุษย์ การแต่งงานกับคนต่างชาติก็ใช่ว่าจะรับประกันได้ว่าเขาจะดูแลเป็นอย่างดี เพราะต่างฝ่ายต่างก็จ้องหาประโยชน์ซึ่งกันและกัน

นางศิริพร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถสะท้อนได้ว่าสังคมไทย ผู้บริหารประเทศ ผู้เกี่ยวข้องกำลังทำอะไรกันอยู่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ยังเปิดเชิงรุกที่ไม่เพียงพอในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาถูกเลือกปฏิบัติในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องมีการปฏิบัติการในเชิงรุกที่มากขึ้น ให้ผู้ประสบปัญหารู้ว่ามีหน่วยงานไหนที่สามารถให้การช่วยเหลือ ป้องกัน และเป็นที่ปรึกษาเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดทางกฎหมาย

“สังคมไทยยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสม กับการเป็นสังคมเอื้ออาทรในการดูแลคนเหล่านี้ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นชีวัดได้ว่าไทยยังไม่เห็นความสำคัญเรื่องความเสมอภาคอย่างแท้จริง” ปธ.มูลนิธิผู้หญิง กล่าว

น.ส.วาสนา ลำดี ผู้ประสานงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า สิ่งที่ผู้หญิงได้รับจากวิกฤตเศรษฐกิจแบ่งได้เป็นหลายประเด็นทั้งผลกระทบต่อการขายแรงงาน และเมื่อออกจากภาคงานแรงงานจะได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ก็ตกอยู่กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีภาระมากขึ้นผู้หญิงพยายามพูดคุยกับสามี แต่กลับไม่เข้าใจกันจนนำไปสู่การทะเลาะวิวาท สามีเบื่อปัญหาหนีไปดื่มเหล้าเพราะไม่อยากรับรู้เรื่องราว ซึ่งปัญหาเรื่องการตกงานทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็มีสัดส่วนที่เท่ากัน แต่หากมองดูในครอบครัวเดียวกันแล้วเมื่อตกงานทั้งคู่กลับเป็นผู้หญิงที่จะโดนสามีชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และถูกข่มขืนมากขึ้น มีผู้หญิงหลายคนตั้งท้องและต้องไปทำแท้ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัวหรือไม่ ซึ่งตรงนี้เป็นวิกฤตที่มีเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 อีกทั้งยอดของผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายในระยะหลังๆ มานี้ก็มีมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจยังกระทบไปถึงเพื่อนบ้าน โดยจะเห็นว่า ผู้หญิงลาว เขมร จะหนีเข้ามาเป็นแรงงานในไทยมากขึ้น ผู้หญิงพม่ามีการค้าบริการทางเพศมากขึ้น โดยเป้าหมายอยู่ที่ประเทศไทยและจีน ทั้งนี้ ผู้หญิงอิสลามในภาคใต้ ที่ตามความจริงต้องอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูก แต่ก็ต้องตัดสินใจออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น

น.ส.วาสนา กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการเลิกจ้างแรงงานหญิงนั้น รัฐต้องเข้ามาดูแลต่อด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างแล้วก็ปล่อยเลยตามเลย การจ้างงานมีการเลือกปฏิบัติมากขึ้นสำหรับผู้หญิงซึ่งกระบวนการแรงงานนั้นก็ได้มีข้อเสนอมาโดยตลอดสำหรับการเลิกจ้างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะผู้หญิงเหล่านั้นต่างก็มีภาระหนักในการดูแลครอบครัว รัฐต้องเข้ามาดูแลและตรวจสอบนายจ้างว่ามีการเลิกจากวิกฤตเศรษฐกิจจริงหรือไม่ หรือเลิกจ้างเพราะเห็นว่าผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นภาระ ต้องควบคุมการเลิกจ้างให้เป็นธรรมกว่านี้

“การที่รัฐตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนั้นเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยังไม่เห็นถึงผลกระทบอย่างจริงจัง ต้องมีการนำนักวิชาการที่มีความรู้ นำตัวแทนภาคแรงงาน องค์กรภาคประชาชน มาร่วมกันแก้ปัญหาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะบางครั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่มีสิทธิในการออกเสียงใดๆ”

ด้านนางเสาวณีย์ โขมพัตร ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้หญิง หรือแรงงานทั่วไปได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจนั้น ต้องมีการทำงานเชิงรุกในมิติของหน่วยงานท้องถิ่น อปท.เข้าให้คำแนะนำ เพราะ อปท.มีความใกล้ชิดกับประชาชน และต้องเพิ่มบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา ซึ่งตอนนี้ทุกภาคส่วนก็เร่งดำเนินการมาโดยตลอด อย่างในทุกจังหวัด จะมีบ้านพักฉุกเฉิน สำหรับครอบครัว และประชาชนที่ประสบปัญหา ที่จะคอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขั้นต้น ซึ่งหากต้องการจะประกอบอาชีพ ก็จะมีนักสหวิชาชีพเข้ามาให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือต่อไป