สิ่งทอวุ่น! ออเดอร์เพิ่ม คนงานขาดแคลนอุตสาหกรรมสิ่งทอวุ่นหนักหลังปลดคนงานระนาวต้นปี เมื่อออเดอร์เริ่มหวนกลับ แต่คนงานไม่ไหลกลับ หากรวมกลุ่มซื้อเครื่องจักรตัดเย็บป้อนโบ๊เบ๊26 .. 52 กรุงเทพธุรกิจ อุตสาหกรรมสิ่งทอกลายเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่น่าเป็นห่วง ว่า ในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาจริงๆ การขาดแคลนคนงานทักษะในอุตสาหกรรมนี้ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ สมบูรณ์ เจือเสถียรรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุ หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ต่างปลดคนงานไป แม้ว่าจะพยายามแล้วที่จะรักษาคนงานไว้ให้นานที่สุด แต่คำสั่งซื้อขณะนั้นเข้ามาไม่เพียงพอกับกำลังการผลิต ทำให้จำเป็นต้องปลดคนงานไปส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าคำสั่งซื้อในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเริ่มกลับเข้ามาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นออเดอร์จากโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีคนงานประมาณ 1,000 คน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าเด็ก ซึ่งเป็นแมสโปรดักท์ ทำให้บรรดาโรงงานเหล่านี้ต้องเพิ่มการทำงานล่วงเวลา (over time) "บางโรงงานต้องการรักษาตลาดและคนงานไว้จึงยอมรับออเดอร์ แม้ว่าลูกค้าจะขอลดราคาสินค้ามากถึง 5-10% หากไม่ถึงกับขาดทุนก็ต้องยอมรับคำสั่งซื้อไปก่อน" สมบูรณ์ เผยและว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เริ่มกังวล เพราะเกรงว่าหากคำสั่งซื้อกลับมามากขึ้นเรื่อยๆ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถึงเวลานั้นโรงงานจะไม่สามารถหาแรงงานมาเสริมได้ทันท่วงที โดยเฉพาะคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องใช้ทักษะสูง ผ่านการฝึกฝนยาวนานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ที่สามารถหาคนงานได้โดยไปดึงมาจากบริษัทรับช่วงผลิต (sub-contract) สมบูรณ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โรงงานเครื่องนุ่งห่มจำเป็นต้องปลดคนงานกลุ่มที่มีประสบการณ์นานกว่า 10 ปี คนงานเหล่านี้ก็จะได้ค่ารับเงินชดเชยที่มากพอสมควร จึงไปลงทุนทำธุรกิจด้านอื่น แทนที่จะกลับไปอุตสาหกรรมนี้ "บริษัทยอมที่จะปลดคนงานในช่วงที่ไม่มีออเดอร์ เพราะคิดว่าแรงงานไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากออเดอร์กลับมา เพราะคนว่างงานในระบบมีเป็นแสนคน แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เราลองเปิดรับคนงานอีกครั้ง ปรากฏว่า มาเพียงไม่กี่สิบคน แถมยังไม่สามารถหาคนงานที่มีทักษะตามที่ต้องการได้ จึงกังวลว่าหากเศรษฐกิจฟื้นและออเดอร์กลับมาเต็มที่ ผู้ประกอบการจะหาแรงงานจากที่ไหน ถ้าหาไม่ได้ ก็ต้องเสียออเดอร์ให้คนอื่น หรือต่างประเทศที่มีศักยภาพรองรับออเดอร์ได้มากกว่า" เขากล่าว สมบูรณ์ ยังยกตัวอย่างโรงงานที่เขาบริหารอยู่ (ไทยการ์เมนท์เอ็กซปอร์ต) ว่า เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เพิ่งปลดคนงานที่มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ออกไปประมาณ 500 คน พร้อมให้เงินชดเชยไปกว่า 13 เดือน ไม่นับเงินประกันการว่างงานจากภาครัฐอีกประมาณ 6-8 เดือน คนเหล่านี้สามารถอยู่อย่างสบายพร้อมกับนำเงินไปลงทุนทำกิจการเล็กๆ โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาเป็นคนงานอีก เขายังเคยตามไปดูคนงานของเขาหลังถูกเลิกจ้าง ซึ่งพบว่า คนงานเหล่านี้ได้รวมกลุ่มกัน โดยนำเงินชดเชยมาร่วมทุนไปซื้อเครื่องจักรเก่ามารับงานเย็บเสื้อผ้า เพื่อรับคำสั่งซื้อจากตลาดโบ๊เบ๊ ซึ่งมีรายได้ดีกว่า และยังเป็นงานอิสระ สบายกว่าที่จะกลับไปเป็นคนงานโรงงาน บางรายไปลงทุนขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ สะท้อนให้เห็นว่า คนงานในอุตสาหกรรมเริ่มขาดแคลน เพราะคนงานที่ถูกปลดไปแล้วส่วนใหญ่ไม่ต้องการจะกลับมาทำงานในโรงงานอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มผู้ประกอบการจึงต้องคิดแนวทางใหม่ เพื่อรักษาคนงานในระบบไว้ให้นานที่สุด โดยจูงใจด้วยรายได้ และสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ภายใต้จำนวนคนงานที่ลดลง โดยคนงานหนึ่งคนอาจจะต้องเพิ่มทักษะให้ผลิตสินค้าได้มากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เคยตัดเย็บอยู่ส่วนเดียว ก็ต้องเพิ่มให้สามารถตัดเย็บได้หลายส่วน เพื่อลดต้นทุนแรงงาน และเครื่องจักร แต่ก็ต้องเพิ่มรายได้ให้คนงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ด้าน วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า แนวโน้มคำสั่งซื้อในกลุ่มสินค้าอาหารเริ่มกลับมามากขึ้น ตั้งแต่เดือนเม.ย. เนื่องจากลูกค้าทยอยใช้สินค้าที่ค้างสต็อกจนหมด ทำให้เกิดการผลิตใหม่ ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา จึงเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีออเดอร์เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และธุรกิจจะกลับมาเป็นบวกราวไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้ตัวเลขการส่งออกอาหารทั้งปีน่าจะขยายตัวที่ 5-6% "ผมเชื่อว่าเมื่อออเดอร์กลับมา อุตสาหกรรมอาหารจะไม่มีปัญหาเรื่องคนงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ปรับลดคนงานไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการลดชั่วโมงการทำงาน ดังนั้น เมื่อออเดอร์เข้ามาจึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปที่ 80% และเพิ่มชั่วโมงทำงาน จากเดิมที่เคยลดลงเหลือเพียง 50% เท่านั้น |