Thai / English

วิกฤตเลิกจ้างแรงงานลำพูนเริ่มนิ่ง อุตฯญี่ปุ่นส่งสัญญาณฟื้น-อัญมณียังอ่วม



18 .. 52
ผู้จัดการ

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่– วิกฤตเลิกจ้างแรงงานลำพูนเริ่มนิ่ง เชื่อวันนี้ ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว กลุ่มทุนญี่ปุ่นส่งสัญญาณฟื้นตัวตามบริษัทแม่ ยกเว้นกลุ่มอัญมณีที่ยังหาทางรอดไม่เจอ – ไร้ออเดอร์เพิ่ม ขณะที่ภาค SMEs ยังน่าเป็นห่วง วอนแบงก์ผ่อนปรนเงื่อนไข หาทางอุ้มก่อน แทนตัดเป็น NPL ทันทีเมื่อขาดส่ง 3 เดือน

นายสันติสุข วีระพันธุ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงาน ที่จากฐานข้อมูลทะเบียนผู้ประกันตนเองทั้งหมด 84,000 คน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้นนั้น เริ่มนิ่งแล้ว หลังจาก ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนประมาณ 10,000 คน

“ตอนนี้เท่าที่ทราบ ตัวเลขเริ่มนิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานอิเล็กรอทรอนิกส์ ที่ดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า จะเริ่มเดินเครื่องการผลิตเพิ่มเต็มที่ได้เมื่อใด”

เขาบอกว่า แต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเจียระไนอัญมณี ยอมรับว่า ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว หลังจากที่เลย์ออฟพนักงานไปจำนวนมากในช่วงก่อนหน้านี้ เพียงแต่กลุ่มนี้เป็นทั้งหมดล้วนเป็นแรงงานฝีมือ จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก นายจ้างเดิมต่างก็บันทึกชื่อ – ที่อยู่ไว้หมด หากมีออเดอร์เข้ามาเมื่อใด ก็จะเรียกตัวเข้าทำงานทันที เพราะไม่ต้องการจ้างแรงงานใหม่ ที่ต้องเสียงบประมาณ – เวลา ในการพัฒนาฝีมืออีกมาก

นายสันติสุข กล่าวอีกว่า เพียงแต่ในภาพรวม แม้การเลิกจ้างจะนิ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า การจ้างงานใหม่จะเกิดขึ้นทันที อาจต้องดูอีกระยะหนึ่ง จึงจะมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจของลำพูนจะเริ่มฟื้นตัวได้จริงหรือไม่

ส่วนการฟื้นฟูกลุ่ม SMEs ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่นั้น ที่ผ่านมาภาคเอกชนในลำพูน ทั้งในส่วนของหอการค้า – สภาอุตสาหกรรม – ชมรมธนาคาร ต่างพยายามหาทางออกร่วมกัน โดยพยายามร้องขอให้สถาบันการเงิน เข้าไปให้การเหลือ – อุ้มผู้ประกอบการรายย่อยที่เริ่มมีปัญหาการเงิน หาทางผ่อนปรนให้ได้มากที่สุด แทนที่จะตัดเป็น NPL ทันทีเมื่อขาดส่งค่างวด หรือขาดการชำระหนี้ 3 เดือน ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ไม่สามารถจ่ายค่าแรง หรือเพิ่มกำลังการผลิตได้ ซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ เพราะถ้าภาคธนาคาร สถาบันการเงิน ไม่ให้ความช่วยเหลือ SME เท่าที่ควร ซึ่งดูได้จากมาตรการด้านดอกเบี้ยที่ประกาศออกมา รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากกว่าเดิมอีก 2 เท่า ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นไปได้ยาก หากไม่มีการแก้ไขมาตรการดังกล่าว หรือร่วมมือกับ SME เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าอย่างแน่นอน