แรงงานโลจิสติกส์มีสิทธิ์หยุดยาว29 .. 52 กรุงเทพธุรกิจ "ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจโลจิสติกส์มากนัก พูดถึงแต่ผู้ส่งออก ลืมนึกไปว่ากลุ่มโลจิสติกส์ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง" เป็นคำกล่าวของ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แล้วกล่าวต่ออีกว่า "บริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดเล็กต้องปิดตัวเป็น 100 บริษัท หรือไม่ก็ควบรวมกิจการ ขณะที่มีจำนวนแรงงานในธุรกิจนี้มากถึง 1.2 ล้านคน ซึ่งหลังสงกรานต์รอบนี้จะมีแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้าง กลับบ้านแล้วไม่ต้องกลับมาทำงานอีก" ทั้งนี้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สร้างเม็ดเงินเฉลี่ยสูงถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ยอดการขนส่งทางเรือปรับลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดการขนส่งทางรถบรรทุกก็ลดลงไปประมาณ 25% และส่งผลกระทบไปยังกลุ่มชิปปิงที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มโลจิสติกส์ที่มีผลการดำเนินงานลดลงไปราวๆ 20-25% ไม่เท่านั้นยังลามไปยังกลุ่มคลังสินค้าที่ปรับตัวลดลงเช่นกันราวๆ 30% ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทำได้ตอนนี้คือ การพลิกกลยุทธ์ด้านบริหารจัดการขึ้นสู้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การหาตลาดใหม่และช่องทางการให้บริการลูกค้าใหม่ๆ เช่น พัฒนาการให้บริการด้านโลจิสติกส์ตามแนวเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) หรือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ North-South Economic Corridor (NSEC) หรือ โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ รวมถึงการให้บริการด้านธุรกิจคลังสินค้า และเขตปลอดภาษีอากรน่าจะเป็นช่องทางหารายได้ที่ดีภายใต้ภาวะเช่นนี้ ขณะเดียวกัน ก็ควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เช่น ควบคุมค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ดำเนินงาน และรักษาฐานลูกค้าเก่า ซึ่งจะช่วยให้องค์กรอยู่รอด รอรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง เขายังระบุว่า ปัญหาใหญ่ของกลุ่มโลจิสติกส์ในขณะนี้คือ ความสามารถทางด้านการแข่งขันที่มีสายป่านยาวไม่พอ ทำให้หลายบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต้องตัดใจขายทิ้งกิจการให้กับบริษัทต่างชาติทุนหนา หรือต้องเลือกควบรวมกิจการกัน ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ ข้อมูลของธนาคารโลกที่ศึกษาจัดทำดัชนีโลจิสติกส์และตัวชี้วัด (Logistics Performance Index) ซึ่งวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปี 2551 พบว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 31 มีคะแนนเท่ากับ 3.31 จากคะแนนเต็ม 5.00 ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 คะแนน 4.19 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 27 มีคะแนน 3.34 และเวียดนามอยู่อันดับที่ 53 นอกจากนี้ ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยในปี 2549 ไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีเท่ากับ 23.9% หรือ 2.36 ล้านล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป มีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไม่เกิน 11% สาเหตุมาจากระบบโลจิสติกส์ของไทยยังขาดการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ ประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานในการกระจายสินค้าและคุณภาพบริการขนส่งทาง น้ำและทางอากาศ ด้าน ชเนศร์ เพ็ญชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จุฑานาวี ผู้ดำเนินธุรกิจด้านพาณิชย์นาวี และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพาณิชย์นาวี บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งบริการให้เช่าเรือเป็นรายเที่ยว และเป็นระยะเวลา บริการนายหน้าซื้อขายเรือ บริการนายหน้าจัดหาสินค้า และเช่าเรือ บอกว่า... ปริมาณการเดินเรือในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาลดลงไปมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อุตสาหกรรมเหล็กที่ชะลอตัว รวมทั้งวิกฤติการเงินในสหรัฐและลามไปทั่วโลก ทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลง "บริษัทได้พยายามลดต้นทุนทุกอย่างให้ได้มากที่สุด โชคดีที่ก่อนหน้านี้เราได้ทำสัญญาปล่อยเรือเช่าไป 6 ลำไปจนถึงช่วงกลางปี 2552 แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มลดลงบ้าง" ชเนศร์กล่าว |