สมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยตัวเลขจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ29 .. 52 ประชาไท 28 เม.ย. 52 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นิคมรถไฟมักกะสัน ราชเทวี กรุงเทพฯคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและ เครือข่ายสหภาพแรงงานสากล ในประเทศไทย (UNI-TLC) ได้จัดเวทีแถลงข่าวเรื่อง ปฏิบัติการขบวนการแรงงานไทย ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า จากสถานการณ์การเลิกจ้างที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องในรอบปี 2551 พบว่ามีสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไปแล้วอย่างน้อย 597 แห่ง มีแรงงานถูกเลิกจ้างไปแล้วอย่างน้อย 50,000 คน จึงทำให้กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานจากวิกฤติครั้งนี้จะสูงถึง 2 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานในปี 2540-43 ที่มีเพียง 1 ล้าน 5 แสนคน ทั้งนี้เนื่องจากภาคชนบทซึ่งเป็นฐานที่รองรับส่วนของภาคแรงงานในอดีตนั้น ไม่สามารถรองรับสถานการณ์นี้ได้แล้วในปัจจุบัน แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการรับมือกับวิกฤติผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานหลายประการ แต่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายองค์กรพันธมิตรเห็นร่วมกันว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่ใช่มาตรการที่มีประสิทธิภาพยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานได้จริง ดังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และถูกรายงานโดยสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องถึงสภาพปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้จากข้อมูลของ คสรท. ที่ได้เปิดศูนย์โดยร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรฯ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงาน โดยเปิดเป็นศูนย์ในระดับชาติและในระดับเขตพื้นที่ย่านอุตสาหกรรม รวม 20 ศูนย์ ครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานหญิง ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2552 ร่วมระยะเวลาเต็ม 3 เดือน พบตัวเลขผู้ใช้แรงงานที่มาขอคำปรึกษากับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นกลุ่มแรงงานในระบบ 11,988 คน (ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่มีตัวเลข ซึ่งประเมินว่าเป็นเรื่องการไม่เข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมมากกว่า) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ อย่างน้อย 500 คน กลุ่มแรงงานหญิง 77 คน ซึ่งรวมแรงงานทั้ง 4 กลุ่มทั้งสิ้น 12,565 คน โดยรูปแบบของปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในกลุ่มต่าง ๆ มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันไปตามสภาพการจ้างงานและเพศสภาพ โดยภาพรวมพบว่าแรงงานทั้ง 4 กลุ่ม คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานหญิง ต่างต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง บางคนถูกลดเวลาทำงาน ลดค่าจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชย นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ปัญหาสำคัญที่เด่นชัดกว่า คือ การที่นายจ้างใช้ข้ออ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจมาเลิกจ้างผู้ใช้แรงงาน ในส่วนนี้พบมากในกลุ่มแรงงานในระบบ อีกประการหนึ่ง คือ การไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทั้งการไม่มีสวัสดิการ และการเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง ส่วนนี้พบในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ สุดท้ายในฐานะการเป็นเพศหญิง กลับยิ่งต้องมีภาระความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น หลังจากตกงาน โดยเฉพาะการแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายของบุตรหลานในบ้าน ที่ยังไม่สามารถทำงานได้ เช่น ค่าการศึกษา ค่านมบุตร เป็นต้น ทั้งนี้สรุปปัญหาทั้ง 6 เรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย (1) ผู้ใช้แรงงานในระบบ ถูกนายจ้างฉวยโอกาสใช้ข้ออ้างเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจมาเลิกจ้างผู้ใช้แรงงาน (2) ผู้ใช้แรงงานในระบบ ถูกนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น การถูกลดเวลาทำงาน ลดค่าจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชย (3) ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ (4) ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ เข้าไม่ถึงการคุ้มครอง (5) ผู้ใช้แรงงานหญิง ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของสมาชิกในบ้านที่ยังไม่สามารถทำงานได้เพิ่มขึ้น (6) ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม ขาดการรับรู้ข้อมูลส่วนราชการ และเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐ
โดย คสรท. ได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาด้านแรงงานในระยะสั้นและระยะยาวดังนี้ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะสั้น 1. ให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการ ที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ที่ไม่ใช่เพียงองค์กรแรงงานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างผู้ใช้แรงงานและปิดกิจการ ว่าประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงวิธีการหนึ่งในการเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต และปิดสถานประกอบการเพื่อย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อื่น 2. การผลักดันแก้ไขการประกันการว่างงานของประกันสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานสูงอายุ ที่มีการตัดสิทธิผู้ได้รับประโยชน์เนื่องจากอายุเกิน 55 ปี 3. การตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชย 4. จัดทำโครงการเงินกู้ยืมแก่ลูกจ้าง เพื่อให้มีการสร้างอาชีพใหม่ โดยการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน
5. มีมาตรการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือลดอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลง
6.กำหนดให้สถานประกอบการเปิดเผยข้อเท็จจริงในการประกอบการกิจการให้ผู้ใช้แรงงานและสาธารณะได้รับทราบ
ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะยาว 1. รัฐต้องเร่งการสร้างงานในชนบทที่ยั่งยืน จัดทำนโยบายการกระจายรายได้สู่ชนบท ในรูปแบบการสร้างอาชีพในชนบทที่ยั่งยืน ไม่ใช่เป็นการกระจายเงินลงไปอัดฉีดเท่านั้น
2. จัดตั้งสถาบันฝึกคนตกงาน (re-training) เพิ่มศักยภาพให้ผู้ใช้แรงงานพร้อมกลับสู่ตลาดแรงงาน
3. กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดให้นายจ้างปฏิบัติตามกรอบ OECD และจรรยาบรรณการค้าระหว่างประเทศ หรือ Code of Conduct ของแต่ละบริษัท หรือแต่ละสายอุตสาหกรรม |