นักวิจัยแรงงานชี้ เช็คช่วยชาติ 2,000 ยังไม่ถึงมือผู้เดือดร้อนตัวจริง03 .. 52 ประชาไท (2 เม.ย.) นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า นโยบายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทที่แจกจ่ายแก่ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทนั้น มีเสียงสะท้อนออกมาจากลูกจ้างในหลายหน่วยงานและกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำว่าเป็นผู้เดือดร้อนจำเป็น แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งประกอบด้วยคน 3 กลุ่มใหญ่
กลุ่มแรกคือ ลูกจ้างรับเหมาบริการในหน่วยงานราชการ หรือลูกจ้างที่มีสัญญาแบบจ้างทำของ โดยคนกลุ่มนี้ทำงานเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา แต่จ้างงานโดยการบิดเบือนกฎหมาย หรือหาช่องว่างเพื่อจ้างงานรูปแบบอื่น กล่าวคือ หน่วยงานราชการอ้างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบพัสดุฯ และการปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ นำมาปรับใช้เพื่อว่าจ้างลูกจ้างในลักษณะการว่าจ้างสัญญาจ้างทำของ
ลูกจ้างกลุ่มนี้เป็นลูกจ้างรายได้ต่ำและไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ มีการปรับขึ้นเงินเดือนน้อยมาก ขาดสวัสดิการ และไม่มีการจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้าง ทั้งๆ ที่ภาระหน้าที่ในการทำงานไม่แตกต่างจากข้าราชการหรือพนักงานของหน่วยราชการ โดยหน่วยงานจะว่าจ้างตามงบประมาณรายปี หากปีใดหน่วยงานมีงบประมาณมาก ก็จะว่าจ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้น หากงบประมาณน้อยก็จะลดจำนวนลูกจ้างลง
ลูกจ้างรับเหมาบริการเหล่านี้ มีรายได้ต่ำ ซึ่งทำงานอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ รวมถึงในสำนักงานในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ แม้แต่ในกระทรวงแรงงาน และในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิจัยแรงงาน กล่าว
กลุ่มที่สอง กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในครัวเรือนของคนชั้นกลาง ลูกจ้างทำงานบ้านไม่ถือเป็นลูกจ้างตามนิยามของกฎหมายประกันสังคม จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเช็คช่วยชาติ แม้พวกเขาจะมีรายได้เดือนละไม่กี่พันบาท และทำงานโดยไม่มีวันหยุดก็ตาม
สาม กลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งมีจำนวนกว่า 20 ล้านคน คิดเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานผู้มีงานทำทั้งประเทศจำนวนกว่า 30 ล้านคน แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ไม่ถือว่ามีฐานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคม เช่น คนขับรถสามล้อ คนขับมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผลลอย ช่างทำผม ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นต้น ในจำนวนนี้มีเกษตรกรอยู่ราว 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด
ผู้ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเช็คช่วยชาติเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่ำ มีความจำเป็นมากกว่าหรือเท่ากันกับผู้ได้รับเช็คที่มีเงินเดือนประจำหรืออย่างน้อยมีงานทำ ซึ่งมีหลักประกันและความมั่นคงในอาชีพมากกว่าแรงงานนอกระบบ สำหรับคนกลุ่มนี้ แม้รัฐบาลอาจบอกว่ามีนโยบายอื่นช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เพียงพอและทั่วถึง นายบัณฑิต กล่าว |