Thai / English

เสวนา : การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ กับบทบาทของ NGO



26 .. 52
ประชาไท

เมื่อวันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 14.45 – 17.00 น. ณ ห้องริมสวน โรงแรม

อมารีออคิด รีสอร์ทแอนด์ทาวเวอร์ พัทยา จังหวัดชลบุรี สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศและโครงการจัดการแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ได้จัดอภิปรายและแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาการเข้าถึงสิทธิ การละเมิดสิทธิ การตรวจแรงงาน บทบาทของ NGO และการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ"

บุญโชค มณีโชติ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ตัวเมืองชลบุรีในตอนภาคเช้า ได้แง่คิดประการหนึ่งที่อยากมาร่วมแลกเปลี่ยน คือ ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขแล้ว เนื่องจากแรงงานหลายคนได้บัตรประชาชนไทยแทบทั้งนั้น ฉะนั้นไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาไปทำไม

ประการต่อมาซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่า คือ ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนประชากรใดๆทั้งสิ้น ซึ่งจะกระทบต่ออนาคตประเทศไทยอย่างมาก อัตราการเพิ่มของประชากรขณะนี้พบว่าประมาณ 0.5% อัตราการอุ้มท้องเฉลี่ยน้อยลง หมายความว่าต่อไปจะไม่มีคนกลุ่มข้างล่างมาทดแทนคนรุ่นปัจจุบัน จะมีแต่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อก่อนอัตราการเพิ่มประชากรประมาณ 2 % ซึ่งจะแตกต่างกับแรงงานต่างด้าวพม่าอย่างมาก ที่จะเห็นภาพกะเตงลูก อุ้มท้อง อย่างน้อยแม่คนหนึ่งมีลูก 3-4 คน ฉะนั้นถ้ารัฐบาลยังไม่ตระหนักถึงสถานการณ์เช่นนี้ จะมีปัญหาในระยะยาวแน่นอน

ต่อมาในเรื่องของตัวเลขแรงงานต่างด้าว ตอนนี้ในพื้นที่มหาชัยมีอย่างน้อยหลักแสนคนขึ้นไป แต่ตัวเลขที่เป็นทางการจะมีความแตกต่างกัน คือ เวลาให้ผู้ประกอบการมาแจ้งว่าต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวเท่าใด พบว่า การดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา นายจ้างจำนวน 5 พันกว่าคน มีความประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 แสนคน แต่ถึงเวลาดำเนินการจริง มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานจริงเพียง 8 หมื่นกว่าคนเท่านั้น ต่อมาในปี 2548-51 มีแรงงานมาต่ออายุเพียง 7 หมื่นกว่าคน ตัวเลขหายไปอย่างน้อยหลักหมื่นคน

อย่างไรก็ตามเรื่องจำนวนตัวเลขแรงงานต่างด้าวนี้ ในส่วนข้อมูลของทางกอรมน. พบว่า จากการสำรวจชุมชนแรงงานต่างด้าวในมหาชัย พบทั้งหมด 31 ชุมชน ตัวเลขเฉลี่ยแรงงานต่างด้าวแต่ละชุมชนประมาณ 5 พันคน แต่ชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่มากที่สุดถึงประมาณหนึ่งหมื่นคน คือ ที่หมู่บ้านมหาชัยนิเวศน์ รวมตัวเลขเฉลี่ยที่กอรมน.สำรวจประมาณ 1 แสนกว่าคน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะไม่ตรงกับตัวเลขการจ้างงานที่แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนไว้ ครั้งหนึ่งมีการสำรวจตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าแรงงานต่างด้าวในพื้นที่มหาชัยมีจำนวนสูงถึง 3-5 แสนคน

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอในมหาชัย คือ เรื่องการศึกษาของลูกแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนวัดศิริมงคล เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง อย่างไรก็ตามก็มีคำถามจากพ่อแม่เด็กต่างด้าวว่า ทำไมถึงไม่ยอมอนุญาตให้เด็กๆสามารถเรียนหนังสือในชุมชนหรือในเขตตัวเมืองได้ เพราะพวกเขาต้องเดินทางไปเรียนไกลมากในแต่ละวัน คำตอบก็คือ คนมหาชัยไม่ยอม “ยังไงก็ไม่ยอม”

ปัญหาหนักอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องการจัดชุมนุม เช่น มีการเขียนขึ้นป้ายว่า เป็นงานวันชาติมอญ ซึ่งผู้ว่าฯวีระยุทธบอกว่า ไม่อนุญาตเด็ดขาด เพราะถ้าทางจังหวัดปล่อยให้จัดงานเช่นนี้ทุกปีเหมือนกับว่าเราก็มีส่วนส่งเสริมคนพวกนี้ ซึ่งจะเป็นผลเสียกับประเทศพม่าที่ร่วมมือกันอยู่ ครั้งหลังสุดมีการประสานงานมาที่จัดหางานจังหวัด ว่าจะมีการจัดงานที่วัด ทางผู้ว่าฯก็ประสานมาว่าถ้ามีพม่าไม่ถูกกฎหมายก็ให้แจ้งตำรวจจับ แต่ถ้าถูกกฎหมายก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่ท่านให้ข้อคิดว่า ถ้าเราจับแรงงานต่างด้าว 2 แสนคน แล้วสามารถนำคนไทยมาทดแทนได้ 2 แสนคน ก็จัดการไปเลย แต่ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจของมหาชัยหลักพันล้านนั้นขึ้นอยู่กับแรงงานต่างด้าว ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวทั้งถูกหรือผิดกฎหมายทำงานอยู่ ตัวเลขการส่งออกของมหาชัยลดลงแน่นอน จึงเห็นได้ว่าผู้ว่าฯมองทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงร่วมกัน

บุญลือ ศาตรเพ็ชร สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สำหรับการทำงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร ในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ จะเน้นไปที่การตรวจแรงงานและการร้องทุกข์ของแรงงานในพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เป็นลักษณะของการประสานงานร่วมกันในการช่วยเหลือแรงงาน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ภารกิจหลักของสำนักงาน คือ การตรวจแรงงาน การร้องทุกข์ของแรงงาน นอกจากนั้นยังมีภารกิจส่วนอื่นๆอีก เช่น การดูแล การคุ้มครองเฉกเช่นแรงงานไทย

นอกจากนั้นยังทำงานเรื่องต่างๆต่อไปนี้ เช่น การพัฒนามาตรฐานแรงงาน รวมทั้งการส่งเสริม กำกับ ดูแล ให้การรับรองสถานประกอบการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การคุ้มครองดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมและดำเนินการให้มีการจัดสวัสดิการแรงงาน และการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงาน ความไม่สงบด้านแรงงาน

ต่อมาในเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 เป็นเครื่องมือกำกับไว้อยู่แล้ว ในทางปฏิบัติจะยึดหลักกฎหมายฉบับนี้เป็นแนวทาง โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าแรงงานต่างด้าวเป็นลูกจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับนี้ ถือว่าต้องคุ้มครองทุกคนเท่ากันหมด

อย่างไรก็ตามพบว่าแรงงานข้ามชาติมักจะไม่ค่อยมาร้องทุกข์ บางครั้งก็มีแรงงานไทยมาช่วยร้องแทน เพื่อให้ไปดำเนินคดีกับนายจ้างที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เรื่องที่ร้องทุกข์ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ในแต่ละปีตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่มาร้องทุกข์จะเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็ยังคงอยู่ในหลักร้อยเพียงเท่านั้น ส่วนข้อหาที่นายจ้างถูกดำเนินคดี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก การไม่จัดวันหยุดประจำสัปดาห์ การไม่จัดวันหยุดตามประเพณี การไม่จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปี การจ่ายค่าจ้างไม่ครบ ไม่ตรงตามอัตราที่กำหนดไว้ การไม่แจ้งการจ้างลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

ในสมุทรสาครจะมี NGOs ที่เกี่ยวข้องและทำงานร่วมกับเราในเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ 3 องค์กร คือ มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติเป็นสำคัญ

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM) กล่าวว่า ในทางสังคมศาสตร์ได้ชี้ให้เราตระหนักอย่างหนึ่งว่า เวลามองเรื่องการแก้ปัญหาหนึ่งๆ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติ จะมีวิธีคิดสองแบบที่ถูกนำมาใช้ คือ ประการแรกเป็นการมองปัญหาแบบซอยย่อยลงไปอย่างละเอียด และเลือกแก้เพียงส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องเพียงเท่านั้น ประการที่สอง คือ การพยายามมองหาวิธีคิดแบบใหม่ในการจัดการปัญหานั้น ไม่ผูกติดกับมุมมองแบบเดิม มีจินตนาการใหม่ๆ

สำหรับการอภิปรายในวันนี้จะพูดทั้งหมด 5 ประเด็น คือ สถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิ บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน รูปแบบการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ และข้อเสนอต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

ประเด็นที่หนึ่ง สถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ จากการทำงานมาสิบปี พอจะประมวลผลได้อย่างน้อย 12 ประเด็นที่แรงงานถูกละเมิดสิทธิ

ประการที่หนึ่ง สิทธิในการมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม และได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม พบว่าแรงงานข้ามชาติต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและอันตราย ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา การกักขัง กักบริเวณ และการบังคับใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติยังได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับค่าแรงจากการทำงานล่วงเวลา

ประการที่สอง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ ให้รอดพ้นจากความรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกาย พบว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการถูกแสวงประโยชน์ และละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ มากมายทั้งทางร่างกาย วาจา และจิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ

ประการที่สาม เสรีภาพในการโยกย้ายและการพำนักอาศัยในเขตแดนของรัฐ พบว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางได้เพียงภายในเขตจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น มีบางกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบจับกุมและข่มขู่แรงงานข้ามชาติ ที่เดินทางระหว่างอำเภอซึ่งยังอยู่ภายในจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน

ประการที่สี่ สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน พบว่า ในจังหวัดเชียงใหม่แรงงานไม่สามารถขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และหนังสือเดินทาง จึงถูกปฏิเสธสิทธิในการขอมีใบอนุญาตขับรถ เมื่อไม่มีใบอนุญาตขับรถ จึงไม่สามารถขับขี่ได้อย่างถูกกฎหมาย

ประการที่ห้า สิทธิในการจัดการศึกษาแก่แรงงานข้ามชาติ เด็กแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน จากทัศนคติของครูและบุคลากรในโรงเรียนที่ยังคงแบ่งแยกความเป็นเด็กด้วย เรื่องสัญชาติ เช่น ในจังหวัดสมุทรสาคร

ประการที่หก สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมาย การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะเกรงว่าตัวเองจะถูกส่งกลับ

ประการที่เจ็ด สิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ มีแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนและมีบัตรสุขภาพเท่านั้นถึงจะสามารถเข้าถึงการบริการได้ การไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาโรค ความกลัวจากการถูกจับ ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นเหตุผลที่ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

ประการที่แปด สิทธิทางวัฒนธรรม ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีการควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเคร่งครัด และไม่สนับสนุนให้เผยแพร่วัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติ

ประการที่เก้า สิทธิของการไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ พบว่ามีการออกประกาศจังหวัดระนอง ระยอง พังงา ภูเก็ต เรื่องกำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ เช่น ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามออกนอกที่พักในเวลากลางคืน ห้ามรวมกลุ่ม

ประการที่สิบ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการทำงาน แรงงานข้ามชาติจำนวนมากมักจะทำงานในกิจการจ้างงานที่เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ก่อสร้าง ประมงทะเล กิจการเยือกแข็ง ภาคเกษตรที่ใช้สารเคมีสูง และกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ได้

ประการที่สิบเอ็ด สิทธิทางภาษา แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการบริการต่างๆของภาครัฐได้ เช่น สาธารณสุข การจดทะเบียนแรงงาน เนื่องจากไม่เข้าใจภาษา ไม่สามารถสื่อสารภาษาเดียวกับที่รัฐใช้ได้ ขาดล่ามหรืออาสาสมัครที่คอยแปลภาษา

และสุดท้าย สิทธิในการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย พบว่าในรอบปี 2551 มีอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติอย่างน้อยหกครั้ง มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตถึงเก้าสิบเอ็ดคนเท่าที่สำรวจได้ เหตุการณ์ใหญ่ๆเช่น กรณีโศกนาฏกรรมห้าสิบสี่ศพที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง ปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิ พบว่ามีปัจจัยหลักอยู่หกประเด็น คือ เรื่องอคติทางเชื้อชาติ ที่คนความหวาดกลัวต่อกัน คนไทยกลัวแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากพม่า ส่วนแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทย เมื่อคนหวาดกลัวต่อกันก็ไม่สื่อสารกัน ไม่เข้าใจกัน ต่อมาเป็นเรื่องของการขาดช่องทางการสื่อสาร ไม่มีภาษาที่ทำให้คนในสังคมสามารถสื่อสารร่วมกันหรือให้เข้าใจตรงกันได้ แรงงานจำนวนมากไม่เข้าใจภาษาไทย ทำให้ไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ นอกจากนั้นแรงงานยังขาดอำนาจต่อรองกับนายจ้าง เพราะไม่สามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานได้ ประการที่สี่ พบว่าการนำเสนอภาพของสื่อมวลชนบางส่วนยังมีทัศนคติที่เป็นลบ มองแรงงานข้ามชาติเป็นคนอื่น เป็นคนที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนไทยได้ ประการที่ห้า เป็นเรื่องของการไม่เข้าใจความซับซ้อนของคนข้ามชาติ ที่มีทั้งผู้ลี้ภัยในค่าย ผู้ลี้ภัยนอกค่าย กลุ่ม POC และกลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยตรง ดูตัวอย่างได้จากกรณีโรฮิงญาที่ยังพบความสับสนมาจนทุกวันนี้ว่าเขาคือใคร และจะจัดการอย่างไรต่อไป ประการสุดท้าย คือ ตัวกฎหมายเองที่มีปัญหา เช่น ในพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กองทุนเงินทดแทนประกันสังคม กฎกระทรวงฉบับที่ 10 ไม่มีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานรับใช้ในบ้าน

ประเด็นที่สาม บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน หลักๆจะมี 5 เรื่อง คือ การช่วยเหลือรายกรณี การสร้างกลไกผลักดันเชิงนโยบายให้เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงาน การสื่อสารสาธารณะ เป็นการเผยแพร่ความรู้ รณรงค์ ปรับทัศนคติคนในสังคม การสร้างความรู้ มีการทำงานวิจัย การทำรายงานสถานการณ์ประจำปี และงานเชิงประเด็น เช่น ด้านสุขภาพ การศึกษา สื่อ เด็ก ผู้หญิง

ประเด็นที่สี่ พบว่าแรงงานข้ามชาติมีการสร้างเครือข่ายทางสังคมในสองรูปแบบ คือ การสร้างด้วยตนเอง กับการสร้างเครือข่ายผ่านคนอื่น การสร้างด้วยตนเองนั้นจะพบว่าแรงงานข้ามชาติจะมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติเพื่อช่วยเหลือเรื่องต่างๆด้วยกันเองในกลุ่ม เช่นในกลุ่มของ MKLU PA-O กลุ่มแรงงานสามัคคี บางครั้งยังพบว่าแรงงานจะมีการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มแม่บ้านที่ไม่สามารถออกมาพบปะเพื่อนนอกบ้านได้ มีการชูวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง มีการอธิบายตนเองผ่านคุณค่าทางเศรษฐกิจ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น ในพื้นที่มหาชัย แม่สอด ระนอง เป็นต้น ส่วนการสร้างเครือข่ายทางสังคมผ่านคนอื่นนั้น จะเป็นลักษณะของการที่องค์กรหรือสถาบันอื่นๆนำเสนอประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม เช่น กรณีของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สหภาพแรงงาน เครือข่ายแรงงานไทย-ระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ITF สรส. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ สถาบันวิชาการ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ILO ด้วยเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย ข้อเสนอต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อที่จะเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิได้จริง คือ ข้อที่หนึ่ง ต้องมีการสร้างกลไกที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมาย เช่น มีล่ามหรืออาสาสมัครคอยแปลภาษา ข้อที่สอง ต้องมีการแก้ไขระเบียบเพื่ออนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกละเมิดสิทธิ สามารถผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว ข้อที่สาม ต้องพิจารณายกเลิกการปิดกั้นสิทธิการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงาน ข้อที่สี่ ต้องพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 10 เรื่องการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลที่ออกนอกน่านน้ำเกิน 1 ปี และการออกกฎกระทรวง เพื่อคุ้มครองงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งการจ้างงานในกิจการสองประเภทนี้ถูกยกเว้นในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพศ. 2541 ข้อที่ห้า ต้องเชื่อมโยงการคุ้มครองแรงงานเข้ากับกระบวนการจ้างแรงงาน เช่น มีบทลงโทษต่อนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยตัดสิทธิในการจ้างแรงงานข้ามชาติในปีต่อไปลง ข้อที่หก ต้องมองมิติเรื่องการคุ้มครองให้กว้างไปถึงการคุ้มครองสภาพความเป็นอยู่หลังการทำงาน ซึ่งจะมีผลกระทบความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติด้วย ข้อที่เจ็ด ในแง่ของการมีส่วนร่วมในโรงงาน จะต้องผลักดันแรงงานข้ามชาติได้รับรู้และมีโอกาสเลือกหรือได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการ และคณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน และข้อสุดท้าย จะต้องมีบริการการให้คำปรึกษาแก่แรงงานข้ามชาติที่เป็นภาษาของแรงงานเองในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการทำงาน และการคุ้มครองสิทธิ

เพ้ง ลืมเสียว แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR)อยู่เมืองไทยมานานกว่า 8 ปี มาทำงานเป็นลูกเรือประมง ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครของศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

จะขอเล่าประสบการณ์การทำงานของตนเองที่ทำงานอยู่ที่ FAR มา 5 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ปัญหาที่เจอจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ เวลาลงตามชุมชนเพื่อนๆแรงงาน พบปัญหาสุขภาพมาก เพราะเขาไปหาหมอไม่ถูก ไปสถานีอนามัยไม่ถูก หรือเวลาไปหาหมอก็ปรึกษาหมอไม่ได้ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง คุยคนละภาษา สื่อสารกันไม่ได้ ทำให้หมอไม่เข้าใจ เมื่อสื่อสารไม่ได้ หมอก็จ่ายยาไม่ถูก รักษาโรคไม่ได้ หรือโรคก็ไม่หายเสียที

ในจังหวัดระยอง มี drop in center คอยช่วยเหลือแรงงาน มีแรงงานมาขอคำปรึกษาจำนวนมาก แต่ที่ระยองมีปัญหาเรื่องประกาศจังหวัด ที่ห้ามแรงงานใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามเดินทางตอนกลางคืน ทำให้ส่งผลต่อการเจ็บป่วยของแรงงานอย่างมาก เพราะเวลาแรงงานเจ็บป่วยตอนกลางคืนก็บอกใครไม่ได้ ไม่กล้าใช้โทรศัพท์โทรหาญาติพี่น้องที่อยู่ไกลกัน หรือจะเดินทางไปหาหมอก็ไม่กล้าไป ทำให้เป็นปัญหามาก นอกจากนั้นที่ศูนย์ฯนี้ยังมีแรงงานมาขอคำปรึกษาเรื่องอื่นๆด้วย เช่น นายจ้างจ่ายค่าแรงไม่ครบ ไม่จ่ายค่าแรง หรือบางครั้งเมื่อแรงงานประท้วง ก็จะถูกนายจ้างแจ้งตำรวจมาจับ พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จะมาปรึกษาที่ศูนย์ฯเสมอ

เพียะ จวนจันทร์ แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) เมื่อก่อนทำงานคัดแยกปลา แต่มีปัญหากับนายจ้าง ต่อมามีเจ้าหน้าที่ FAR เข้าไปช่วยเหลือ ตอนนี้ฉันมาทำงานมูลนิธิได้ 3 ปีแล้ว อยากจะเล่าให้ทุกคนฟังว่า ทำไมแรงงานข้ามชาติถึงมาอยู่ในเมืองไทยมาก อยากบอกว่าเป็นเพราะเราจน และที่ประเทศของเรา ที่เขมร มีงานทำแต่ค่าแรงน้อย คนไม่มีงานทำเยอะมาก เราต้องหาเช้ากินค่ำ เราอยากให้ครอบครัวกินอิ่ม มีความสุขเหมือนกับคนอื่นๆ เราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราถึงต้องดิ้นรนมาหางานทำที่ประเทศไทย แม้การเดินทางมาประเทศไทยจะลำบาก เสียเงินเยอะ เงินสามพันสี่พันเยอะมากสำหรับเรา เราต้องเอาวัวเอาควายไปขาย ไปจำนอง ต้องห่างไกลลูกเมียพ่อแม่ เสี่ยงต่อการถูกจับ ถูกยิง

เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย งานที่เราทำ นายจ้างจ่ายค่าแรงเท่าไหร่ เราก็เอาเท่านั้น เราเรียกร้องไม่ได้ เพราะเราเป็นคนผิดกฎหมาย เราต้องหลบๆซ่อนๆ ไม่รู้จะถูกส่งกลับเมื่อไหร่ เราถูกข่มขู่ ถูกรีดไถ และเมื่อเราเจอปัญหา ทำไมเราไม่แจ้งความ เราอยากแจ้งความ แต่เรากลัวถูกจับ เพราะเราเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งกลัวถูกทำร้ายจากคนไทยซ้ำอีกด้วย สองวันที่ผ่านมา มีเรือประมงเข้ามาฝั่ง แรงงานขึ้จากเรือมาหาข้าวกิน ขณะเขาเดินทางจากท่าเรือไปร้ายขายข้าว เขาก็ถูกวัยรุ่นคนไทยทำร้ายร่างกาย เอาเงินไป 4,000 บาท โทรศัพท์ 1 เครื่อง แรงงานคนนี้มาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ฯ เราก็ได้แต่รับฟัง แต่เราช่วยอะไรเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นแรงงานผิดกฎหมาย