Thai / English

การลุกขึ้นสู้ของกลุ่มสหภาพแรงงานตะวันออกจากปัญหาเร่งด่วนสู่รัฐสวัสดิการ


สันติ ธรรมประชา
23 .. 52
ประชาไท

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากศูนย์กลางทุนนิยมอเมริกาได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีการคาดการณ์กันว่าอีกไม่นานจะมีคนตกงานหนึ่งล้านห้าแสนคน เนื่องจากโรงงานปิดกิจการ

ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ผู้ขึ้นครองอำนาจที่มีกองทัพหนุนหลัง หรือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย มักจะมีความคิดความเชื่อในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามระบบราชการ หรือให้ปลัดกรมกองต่างๆ ชี้แนะก็ ได้เสนอทางแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 2000 บาท แต่ละเลยผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ประกันตน ผู้ใช้แรงงานนอกระบบและคนยากจนส่วนอื่นๆที่ไม่มีประกันตนนับเกือบ 30 ล้านคน จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง และเงินคนละ 2000 บาทก็น้อยนิดมากสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มีประกันตนที่ได้รับ

สำหรับนโยบายที่จะเก็บภาษีที่ก้าวหน้า ก็เป็นเพียงสำนวนโวหารสร้างภาพเท่านั้น มิได้มุ่งมั่นจะกระทำจริง แต่กลับมีมาตรการที่จะเก็บภาษีเหล้าบุหรี่เพิ่มขึ้นอีก เพราะเนื่องมาจากถ้าเก็บภาษีก้าวหน้าจริง พวกเขาส่วนหนึ่งคงต้องถูกเก็บภาษีด้วย จึงขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเอง

การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

คำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” มักเป็นจริงเสมอสำหรับประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบที่ได้รวมกลุ่มกันแสวงหาข้อมูลความรู้หาเพื่อนมิตร เพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรองกับรัฐและทุน

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นปัจจุบัน สื่อกระแสหลัก(ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ) และนักวิชาการฝ่ายทุน มักอ้างความชอบธรรมเพื่อให้รัฐช่วยเหลือนายทุน ต้องการเสนอให้ผู้ใช้แรงงานเห็นใจนายทุน ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานและการฉวยโอกาสของนายทุนในการกดขี่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานแต่อย่างใดเลย

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นผู้ใช้แรงงานแถบตะวันออก หลายโรงงานได้ลุกขึ้นสู้เพื่อทวงถามความเป็นธรรมและเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา โดยพวกเขามีหลักการและเหตุผลที่สำคัญอาทิเช่น

*เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากนายจ้างโดยอาศัยสถานการวิกฤติเศรษฐกิจลดต้นทุนการผลิตโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบและไม่คำนึงถึงหลักจริยธรรม โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นของแต่ละพื้นที่ และเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานประกอบการว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เพียงใด เพื่อการหาทางออกร่วมกันในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและให้ผู้แทนลูกจ้าง มีส่วนร่วมในการเสนอแนะทางออกและเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอารยะประเทศ

ดังนั้น ห้ามไม่ให้นายจ้างประกาศใช้มาตรา ๗๕ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับที่ ๒ ตามอำเภอใจ ในกรณีที่นายจ้างต้องการใช้ มาตรา ๗๕ ให้นายจ้างทำเป็นหนังสือขออนุญาตไปยังคณะกรรมการของแต่ละพื้นที่พิจารณาเป็นคราวๆ ไปโดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมาตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ โดยมีตัวแทนจาก รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และนักวิชาการ เข้ามาตรวจ ว่าเห็นควรต้องใช้มาตรา ๗๕ หรือไม่

*เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากนายจ้างโดยอาศัยสถานการวิกฤติเศรษฐกิจลดต้นทุนการผลิตโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบและไม่คำนึงถึงหลักจริยธรรม โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นของแต่ละพื้นที่ และเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานประกอบการว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เพียงใด เพื่อการหาทางออกร่วมกันในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสภาวะการว่างงานขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ทั้งต่อแรงงานในปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้หุ้นส่วนทางสังคม (Social Partner) ทุกกลุ่ม: สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน ลูกจ้างฝ่ายผลิต ลูกจ้างฝ่ายสำนักงาน ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐและเอกชน พนักงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงทุกภาคส่วน คนงานนอกระบบ คนงานข้ามชาติ และชุมชน มีส่วนร่วมในการเสนอแนะทางออกและเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอารยะประเทศ

ดังนั้น เมื่อมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นโดยอ้างว่าบริษัทประสบภาวะวิกฤติ ในกรณีที่นายจ้างต้องมีการเลิกจ้างจริงให้นายจ้างทำเป็นหนังสือขออนุญาตไปยังคณะกรรมการของแต่ละพื้นที่พิจารณาเป็นคราวๆ ไปโดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมาตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ โดยมีตัวแทนจาก รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และนักวิชาการ เข้ามาตรวจ สอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และถ้านายจ้างประสบปัญหาจริงรัฐต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ

*เนื่องจากผู้ประกันตนทุกคนต่างก็ถูกหักเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน จึงควรได้รับสิทธิ์ประโยชน์กรณีว่างงานในสัดส่วนที่เท่ากัน และปัญหาที่ผ่านมาลูกจ้างมักถูกข่มขู่ให้ลาออก เพื่อที่นายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย และสำนักงานประกันสังคมก็ปฏิเสธการรับผิดชอบในการจ่ายเงินทดแทน และขบวนการในการพิสูตรสิทธิ์ตามขั้นตอนระหว่างการอุธรท์ล่าช้าทำให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิ์ได้ยาก

ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ๕๐% ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นเวลาหนึ่งปี

*รัฐบาลต้องส่งเสริมมาตรการสนับสนุนสถานประกอบการที่บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกจ้างประจำ เพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องการจ้างงานที่ดี (Decent Work) และความรับผิดชอบทางสังคมของภาคธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) ตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล เนื่องจากแรงงานไทยถูกเอาเปรียบจากนายจ้างประเภทกิจการเหมาค่าแรงโดยการละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานทุกรูปแบบ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ดังนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมาย เรื่อง “การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง” เนื่องจากทำให้ผู้ใช้แรงงานขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

จากปัญหาเร่งด่วนสู่รัฐสวัสดิการ

นอกจากข้อเรียกร้องปัญหาเร่งด่วนแล้ว ชนชั้นผู้ใช้แรงงานสหภาพตะวันออก ยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่ออนาคตคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังไร้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ เหมือนเช่นในหลายประเทศทั่วโลกที่เกิดขึ้น

รัฐสวัสดิการจึงเป็นระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น หลักประกันด้านสุขภาพ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรคฟรี หลักประกันด้านการศึกษา ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีจนทำงานได้ตามความสามารถในการเรียน หลักประกันด้านการว่างงาน รัฐต้องช่วยให้ทุกคนได้งานทำ ใครยังหางานไม่ได้รัฐต้องให้เงินเดือนขั้นต่ำไปพลางก่อน หลักประกันด้านชราภาพ รัฐให้หลักประกันด้านบำนาญสำหรับผู้สูงอายุทุกคน หลักประกันด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เป็นต้น

ดังนั้น รัฐต้องมีการการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยผู้ที่ผู้มีรายได้มากต้องจ่ายมากส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยต้องจ่ายน้อย เพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน เพื่อเป็นรายได้ของประเทศในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนผู้ยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

กล่าวได้ว่า การเรียกร้องของพวกเขา จึงเป็นไปเพื่อการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมให้กับสังคม เป็นการรองรับสิทธิและหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานจาก “ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” ให้กับผู้ใช้แรงงานและประชุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ

ดังนั้น การลุกขึ้นสู้ของพวกเขา จึงมิใช่เพียงแต่ผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น แต่เพื่อคนส่วนใหญ่ที่ไร้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานจำนวนนับหลายสิบล้านในสังคมไทย