มือมืดกุข่าวหวังสกัดม็อบแรงงานภาคตะวันออก23 .. 52 ประชาไท เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายบุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แจ้งว่า ได้มีบุคคลลึกลับ อ้างชื่อนายบุญยืน โทรศัพท์ไปตามแกนนำสหภาพต่างๆ ในภาคตะวันออก โดยอ้างว่ากำหนดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้างของแรงงานในภาคตะวันออก ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 23 ก.พ. 2552 นั้นได้ถูกยกเลิก
ทั้งนี้นายบุญยืน กล่าวว่าข่าวดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กลุ่มสหภาพแรงงานยังคงมีกำหนดการนำสมาชิกกว่าพันคน มายืนข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลตามกำหนดการเดิม และได้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนงานที่ได้รับความเดือดร้อน และการกระทำเช่นนี้ไม่ว่าจะโดยฝีมือใคร ไม่สามารถปิดปากคนงานได้ เพราะความเดือดร้อนยังมีอยู่ แต่กลับจะทำให้คนงานมีความโกรธเคืองมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ (18 ก.พ.) กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกได้ออกจดหมายเชิญชวนเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน นักศึกษา ประชาชนและสื่อมวลชน ร่วมเดินรณรงค์เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ในจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 โดยนัดรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 9.00 น. และเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ คือ
1. ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างให้ถึงที่สุดกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมี การละเมิดกฎหมายแรงงานโดยเจตนาในกรณีเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานและกรรมการ ลูกจ้าง
2. ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือเลิกจ้างคนงาน และให้ทุกบริษัทต้องจัดทำแผนงานเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างคนงานโดยกำหนดนโยบายและจัดทำแผนงานให้ชัดเจน หรือให้รัฐเข้าแทรกแซง โดยการเข้าไปถือหุ้น และบริหารในสถานประกอบการ
3. เมื่อมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นโดยอ้างว่าบริษัทประสบภาวะวิกฤติ ขอให้รัฐเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และถ้านายจ้างประสบปัญหาจริงรัฐต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ
4. สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ๕๐% ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นเวลาหนึ่งปี และกรณีลูกจ้างใช้สิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในพระราชบัญญัติปี พ.ศ. 2533 ให้จ่ายเงินสมทบเฉพาะส่วนลูกจ้างเท่านั้น
5. ประเทศไทย ต้องก้าวไปสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ซึ่งรายได้ต้องมาจากการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยผู้ที่ผู้มีรายได้มากต้องจ่ายมากส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยต้องจ่ายน้อย เพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนโดยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม
6. รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมาย เรื่อง "การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง" เนื่อง จากทำให้ผู้ใช้แรงงานขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และถูกเอาเปรียบจากนายจ้างประเภทกิจการเหมาค่าแรงโดยการละเมิดสิทธิ์ขั้น พื้นฐานตามกฎหมายแรงงานทุกรูปแบบ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
7. ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่นายจ้างประกาศให้ ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวเนื่องจากผลประโยชน์ของนายจ้าง หรือเนื่องจาการประกาศใช้มาตรา ๗๕ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ ๒ โดยมิชอบ
8. รัฐบาลต้องนำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ............ (ฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วน |