Thai / English

แรงงานสงขลาส่อเลิกจ้างพุ่ง แปรรูปสัตว์น้ำขาดคนนับหมื่น


วิชยันต์ บุญโชติ
12 .. 52
ประชาชาติธุรกิจ

สำนักงานสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์เลิกจ้าง จ.สงขลา ในปี 2551 ว่า มีสถานประกอบการที่เลิกจ้างรวมทั้งหมด 30 แห่ง มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 235 คน แบ่งเป็นชาย 130 คน และหญิง 105 คน โดย อ.หาดใหญ่มีสถานประกอบการเลิกจ้างมากที่สุด 15 แห่ง อ.เมืองสงขลา 5 แห่ง สาเหตุจากเจ้าของปิดกิจการ หรือหยุดกิจการชั่วคราวเพราะขาดทุน ขาดสภาพคล่อง งานน้อยลง ทำให้มี คนไทยไปทำงานในมาเลเซียมากขึ้น

ขณะที่รายงานสรุปผลการดำเนินงาน ของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแก้ไขปัญหาแรงงานจากวิกฤตเศรษฐกิจ จ.สงขลาพบว่า จำนวนสถานประกอบกิจการใน จ.สงขลามี 7,674 แห่ง มีลูกจ้างรวม 142,424 คน คาดว่าจะมีการเลิกจ้างในปีนี้อีกไม่น้อยกว่า 34 แห่ง มีลูกจ้างที่ส่อเค้าจะถูกเลิกจ้างอีก 3,693 คน

สำหรับสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างทั้ง 34 แห่งนั้น ส่วนใหญ่เป็นกิจการเลื่อยไม้ ไสไม้ การผลิตแผ่นไม้อัด แผ่นชิ้นไม้อัด โรงงานส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา และ อ.รัตภูมิ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวยืนยันว่า ปัญหาการเลิกจ้างแรงงานใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ถึงขั้นน่าเป็นห่วง โดยตัวเลขของผู้ถูกเลิกจ้างมีไม่ถึง 1,000 คน แต่เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือได้สั่งการให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้ง 5 จังหวัด ติดตามสถานประกอบการในพื้นที่ราว 30 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างประมาณ 2,300 คน ซึ่งในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมผลิตยางพารา เพราะเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่อิงกับภาวะตลาดโลก

ด้านนายธนวัน ทองสุกโชติ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำกรุง กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เปิดเผยว่า แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจบริการไม่มีปัญหาการปลดแรงงาน

ส่วนนโยบายของประเทศมาเลเซียจะมีการเลิกจ้างแรงงานต่างชาตินั้น เพราะคนมาเลเซียก็เริ่มตกงาน โดยเฉพาะคนมาเลเซียที่เข้าไปทำงานในสิงคโปร์เริ่มถูกเลิกจ้างแล้ว ขณะที่โรงงานที่ส่งสินค้าไปขายที่อเมริกาก็เริ่มมีปัญหา ฉะนั้นมาเลเซียจึงเริ่มเคร่งครัดกับแรงงานต่างชาติมากขึ้น การขอโควตา การทำเวิร์กเพอร์มิตใบอนุญาตในการทำงานก็จะต้องพิถีพิถันมากขึ้น

ขณะที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำใน จ.สงขลา ยังขาดแคลนแรงงานนับหมื่นอัตรา ซึ่งแก้ปัญหาโดยนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทน เนื่องจากแรงงานไทยยังเมินที่จะเข้าทำงานในโรงงานโดยอ้างว่าเป็นงานสกปรก และเป็นงานที่หนัก ไม่อดทนพอ ต่างจากแรงงานต่างด้าวทั้งพม่า ลาว เขมร ที่มีความอดทนสูง