นโยบายกู้วิกฤตเศรษฐกิจรัฐบาล อภิสิทธ์ 1 แรงงานนอกระบบได้อะไร ?11 .. 52 ประชาไท เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และโครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอภิปรายเรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจกับผลกระทบที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ ขึ้นที่ห้องประชุมจุมภฏพันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาฯ โดยในช่วงเ้ช้า มีการเสวนาเรื่อง แรงงานนอกระบบได้อะไรจากนโยบายกู้วิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาล ดำเนินรายการโดย สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ประธานอนุกรรมการสิทธิแรงงาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า แรงงานนอกระบบไม่ได้รับความเอาใจใส่ดูแลจากรัฐและส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ทั้งที่เป็นแรงงานกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าแรงงานที่ไม่แน่นอนทุกรูปแบบกระทบประชาชนทุกคน จึงเป็นเรื่องที่รัฐพึงสังวรณ์ให้มากและแก้ไขโดยเร็ว
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า สถิติครั้งหลังสุดของกระทรวงแรงงาน เมื่อ 2549 มีแรงงานที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 50.4 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานมั่นคง 35.5 ล้านคน ในจำนวนผู้ที่ได้รับเข้าเป็นแรงงานในระบบ 13.7 ล้านคน คงอยู่ในแรงงานนอกระบบถึง 2.8 ล้านคน ในปัจจุบันแยกแรงงานนอกระบบได้หลายประเภท ประเภทแรกที่กำลังเป็นปัญหามาก และเป็นกลุ่มใหญ่ คือลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างภาครัฐ ลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม คนงานจะทำสัญญาเป็นรายปี โดยใช้งบประมาณรายได้ของหน่วยงานนั้น ลูกจ้างชั่วคราวจะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้ช่วยพยาบาลบางคนทำงานมา 15 ปีเงินเดือนยังเท่ากับตอนที่ได้เริ่มทำงาน 2.ผู้ที่ทำกิจกรรมทางเกษตรกรรม ได้แก่ ชาวนาชาวไร่ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เป็นเกษตรกรรายย่อยที่รับจ้างทำนา ทำสวน กรีดยางพารา
3.แรงงานที่รับงานมาทำที่บ้าน หรือผู้รับจ้างทำของ ธุรกิจรายย่อยระดับครัวเรือนหรือห้องแถว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ทอผ้าเป็นต้น 4.กลุ่มที่ทำการค้าและการบริการบางประเภท เช่น แผงลอย รับซื้อของเก่า ซ่อมแซมของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือนเช่น ช่างซ่อมประปา 5.กลุ่มคนงานที่ให้บริการและการขนส่ง เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งขณะนี้มีสูงกว่าแสนคน คนขับเรือ คนขับแท็กซี่ 6.คนรับใช้ในบ้าน กลุ่มใหญ่มีปัญหามานานหลายสิบปี แม่บ้าน คนทำครัว ผู้เลี้ยงดูเด็ก ปัจจุบันมีนายทุนจัดตั้งสำนักงานจัดการให้คนรับใช้ในบ้าน เรียกเงินเดือนละ 9,000 บาทแต่จ่ายจริงเพียง 7,000 บาทนับว่าเป็นการเอาเปรียบอย่างมหาศาล รวมทั้งไม่ค่อยได้รับการดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล 7.กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งอาจมีทางตกงานถึง 30% ไม่ต่ำกว่า 500,000 คน
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวถึงคุณลักษณะของแรงงานนอกระบบว่า คือ 1.มีรายได้ที่จำกัดและไม่สม่ำเสมอ เงินเดือนไม่ขึ้น 2.ความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่ ถูกเลือกปฏิบัติ 3.ไม่ได้รับบริการการรักษาพยาบาล บริการด้านสุขภาพ หลักประกันสังคม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 ได้พยายามครอบคลุมแรงงานนอกระบบบางส่วนไปแล้ว 4.ถูกไล่ออกจากงานได้ง่าย โดยไม่มีเหตุผล 5.สิทธิในการคุ้มครองแรงงานนอกระบบยังขาด
เขากล่าวว่า ปัญหาการว่างงาน การปิดโรงงาน โรงแรม ย้ายโรงงานไปทำที่ประเทศอื่น กำลังรุนแรงมากขึ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องเผชิญปัญหานี้ทุกวันและเป็นเรื่องที่เจรจาต่อรองกันยาก เมื่อรัฐมนตรีแรงงานมาพูดที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้แนะนำว่า สิ่งแรกที่กระทรวงแรงงานพึงกระทำคือ ฝ่ายคนงานและฝ่ายนายจ้างต้องทำความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยเอาความสำนึกถึงหน้าที่ของตนเองทั้งนายจ้างและลูกจ้างว่าบ้านเมืองกำลังอยู่ในฐานะที่ประสบวิกฤตอย่างรุนแรง ควรที่จะทำความเข้าใจถึงการที่จะทำให้วิกฤตผ่านพ้นไปได้โดยเรียบร้อย
ทั้งนี้ เขาเล่าต่อว่า เมื่อวันอาทิตย์ได้รับโทรศัพท์จากโรงแรมลากูน่า ที่ภูเก็ต คนงานปิดถนนเดินทางไปมาไม่ได้ ลูกค้าที่ลดไปแล้วถึง 30% ของโรงแรมก็จะตกต่ำลงไปอีก เพราะโรงแรมต้องย้ายลูกค้าไปโรงแรมอื่น ถ้าหากว่าลูกจ้างและเจ้าของโรงแรมทำความเข้าใจอันดีต่อกัน การขอโบนัสจาก 30 วัน เป็น 45 วันนั้นก็น่าจะตกลงกันได้ง่าย ส่วนการขอเพิ่มค่าจ้างอีก 2% นั้น พึงกระทำหรือไม่ สหภาพแรงงานของโรงแรมน่าจะนำไปตริตรองดูให้ดี ว่าสถานการณ์อย่างนี้ใครจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ หากลูกค้ายังตกต่ำเช่นนี้
ในโอกาสวันมาฆบูชาเมื่อวานนี้ ขอรัตนตรัยจงสร้างไมตรีจิตให้ทุกฝ่ายจงรู้รักสามัคคีมีความเข้าใจกันด้วยดีทุกฝ่าย ตั้งอยู่ในความถูกต้องและความงดงาม เพื่อกู้วิกฤตเศรษฐกิจกู้บ้านกู้เมืองและกู้แผ่นดิน มาให้ความเข้าใจที่จะให้คนที่พูดออกมาว่าจะให้ราชอาณาจักรนี้เป็นแดงไปทั้งแผ่นดิน อย่าได้ทำได้สำเร็จเป็นอันขาด คนที่พูดอย่างนี้คิดอย่างนี้จะประสบความเป็นอัปมงคลทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อตระกูลด้วย
คำปึก ขวัญกล้า กลุ่มแรงงานคุ้ยขยะ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านคำบอน ซึ่งเป็นพื้นที่เทขยะของเทศบาลจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้าน 60 หลังคาเรือน จำนวน 220 คน กำลังประสบปัญหา เนื่องจากของที่เก็บมาขายไม่ได้ราคาเหมือนในอดีต บางอย่างที่เคยขายได้ก็ขายไม่ได้ โดยมีรายได้ 150-120 บาทต่อวัน ขณะที่ในช่วงปี 45 ขายของได้ราคาดี ได้เงินคนละ 300-400 บาทต่ิอวัน เขายกตัวอย่างว่า ปัจจุบันขายทองแดงได้ 70 บาทต่อ ก.ก. ขณะที่อดีตขายได้ 200 บาท กระป๋องขายได้ 1 บาท จากเดิม 6 บาท กระป๋องโค้กขายได้ 20 บาทจากเดิม 45 บาท
คำปึก เล่าว่า รายได้ปัจจุบันไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ในครอบครัวหากสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งป่วยจะหาเงินไม่ได้เลย ทำให้บางครั้งลูกต้องหยุดเรียนไปด้วย โดยทางแก้เฉพาะหน้า เขาเล่าว่า เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ทำแผนของบประกอบอาชีพเสริมจากเทศบาล โดยจะเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบว่าจะได้งบหรือไม่
ทั้งนี้ เขาเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นตัวกลางในการรับซื้อของเก่า เพราะพวกเขามักถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบอยู่ตลอด หรือรัฐอาจสนับสนุนงบประมาณให้มีร้านค้ารับซื้อของเก่าในชุมชน โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
สุพรรณี เวียงคำ กลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า การที่รัฐบาลส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพ แต่ไม่ได้มีนโยบายอะไรรองรับ ทำให้้เกษตรกรยังคงใช้ปุ๋ยเคมีเนื่องจากได้ผลผลิตทันใจกว่า ทั้งนี้ ที่กลุ่มของเธอมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ โดยรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในราคา 14.50 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกจากปุ๋ยเคมีรับซื้อในราคา 14.00 บาท
สุพรรณี เล่าว่า ที่ผ่านมา มีกลุ่มอาชีพตั้งขึ้นใหม่เพื่อของบประมาณจาก อบต.หรือเทศบาลหลายกลุ่ม โดยกลุ่้มเหล่านี้เข้าถึงงบง่าย แต่จัดการไม่ได้และเป็นหนี้ในเวลาต่อมา เนื่องจากส่วนใหญ่รวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อนำงบมาปันกำไรจากการกู้ยืมเท่านั้น ขณะที่การของบจาก ธกส.จะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานเกษตร ว่าเป็นกลุ่มวิสาหกิจจริงๆ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องผ่านกระบวนการอบรมเรื่องการจัดการ เพื่อให้สามารถบริหารกลุ่มได้ด้วยความยั่งยืน
เธอวิจารณ์ว่า แม้นโยบายรัฐจะถ่ายโอนอำนาจ มีงบลงไปที่ท้องถิ่น แต่รัฐบาลไม่ไ่ด้บูรณาการเกษตร เธอเสนอว่ารัฐควรบูรณาการ โดยพัฒนาชุมชน ให้ทุกกลุ่มมีการขึ้นทะเบียนและคัดสรรเหมือนที่ ธกส. ทำเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มในอนาคต
ภพ ด้วงปาน กลุ่มรับซื้อน้ำยาง จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบัน ชาวสวนกรีดยางได้ 40 กว่าบาทต่อ ก.ก. ขณะที่ต้องได้ 50 บาทต่อ ก.ก. ถึงจะคุ้มทุน และถึงแม้จะมีช่วงที่ได้ราคายางสูงขึ้น แต่ชาวสวนยางก็ยังได้รับผลกระทบเพราะสินค้าอื่นก็ขึ้นราคาตามด้วย ซึ่งหากจะให้ได้กำไรก็ต้องกรีดยางให้ได้จำนวนวันมากขึ้น แต่การกรีดยางก็ทำไม่ได้ทุกวัน รวมถึงยังขึ้นกับธรรมชาติด้วย ถ้าเป็นหน้าแล้งหรือฝนตกก็ไม่สามารถกรีดยางได้
ภพเล่าว่า 3 เดือนหลังของปี 51 ผู้ประกอบอาชีพกรีดยางต้องเจอกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและธรรมชาติ โดยราคายางตกจากกิโลกรัมละ 100 บาทเหลือเพียง 20 กว่าบาท ขณะที่ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่วนวิกฤตทางธรรมชาติ ได้แก่ การที่ฝนตกยาวนานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาในภาคใต้ ทำให้ไม่มีรายได้
เขาเสนอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ลดลง เพื่อให้อยู่รอดได้ และเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายครอบคลุมแรงงานทั้งในและนอกระบบ เช่น มาตรการให้การช่วยเหลือเงิน 2,000 บาท ที่ให้เฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคม และข้าราชการ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 14,999 บาท แต่แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีเงินเดือนไม่ถึงกลับไม่มีโอกาสได้รับเงินส่วนนี้
ปณิศรา บุญณรงค์ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า งานเย็บเสื้อโหลอาจดูเหมือนเป็นงานที่ไม่จริงจัง แต่จริงๆ แล้วเป็นงานหลัก โดยเธอต้องทำทั้งงานบ้านและงานที่มี จากเมื่อปี 46-47 กางเกงตัวละ 12 บาท แต่ล่าสุดเมื่อ 3 เดือนสุดท้ายที่แล้วเหลือเพียงตัวละ 4 บาท ทั้งที่กางเกงยังเป็นแบบเดิม เนื่องจากมีการลดราคาลงมาเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว บางครั้งขอลด 0.50 บาท หรือช่วงที่น้ำมันขึ้นราคา ผู้ว่าจ้างก็จะให้เหตุผลว่าน้ำมันขึ้น ก็โดนลดราคาไป 3 บาท ขณะที่ราคาข้าวสารเดิม 200 บาทขึ้นเป็น 400 บาท ทำให้ตนเองต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้มากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ในช่วงหลังมานี้ ผู้ว่าจ้างงดส่งงานให้และไม่ได้แจ้งว่าจะส่งงานใหม่มาให้อีกเมื่อไหร่ 2-3 เดือนมานี้ต้องหางานเองจากข้างนอก หรือขอรับงานจากเพื่อนบ้าง บางครั้งทำเสร็จแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับเงิน โดยผู้ว่าจ้างบอกว่าโรงงานยังไม่ได้จ่ายให้ เพื่อนบางคนแยกตัวไปรับงานทำตุ๊กตา ซึ่งก็มีงานให้ทำแค่ช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่จนถึงวาเลนไทน์ พอหลังวาเลนไทน์แล้วจะไม่มีงาน ทั้งยังเป็นงานที่ทำไม่ได้ทุกคน เพราะบางคนแพ้ขนตุ๊กตา
ปณิศราเล่าว่่า มาตรการที่รัฐบาลเคยให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้า-น้ำ น้อย ได้ใช้น้ำ-ไฟฟรี นั้น พวกเธอไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับ เนื่องจากต้องใช้จักรเย็บผ้า ซึ่งต้องใช้ไฟในการทำงานมากกว่าการใช้ไฟปกติ รวมถึงในหมู่บ้านของเธอ ครอบครัวที่อยู่กันเกิน 3 คน ก็ใช้ไฟเกินที่กำหนดแล้ว ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้
ในช่วงบ่าย เป็นการอภิปราย นโยบายและมาตรการของจะรัฐกู้วิกฤติเศรษฐกิจได้จริงหรือ ดำเนินรายการโดยพูลทรัพย์ ส. ตุลาพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
นีรมล สุทธิพรรณพงศ์ กลุ่มตัดเย็บสตรี เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง กล่าวในฐานะตัวแทนแรงงานนอกระบบว่าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งระบุว่าให้เกิดสังคมอยู่เย็นเป็นสุข มีสิทธิร่วมกันของประชาชน แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่เกิดความขัดแยง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพง และการแข่งขันที่ทำให้ผู้ประกอบการหาวิธีลดต้นทุนโดยปรับลดการจ้างงาน ส่งผลให้คนตกงานจำนวนมาก เกิดการว่างงาน คนจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ส่วนมาตรการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลก็ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของผู้ใช้แรงงานนอกระบบ
แต่ละมาตรการที่ออกมา แรงงานนอกระบบตกขอบเกือบทุกเรื่อง เพราะเข้าไม่ถึงการรับผลประโยชน์จากรัฐบาล นีรมลกล่าว
เมื่อมีการถามถึงมาตรการ 25 ข้อ ของรัฐบาลปัจจุบัน ที่จะมีส่วนช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ นีระมล ยกตัวอย่างถึงโครงการเรียนฟรีที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ส่วนเรื่องค่าน้ำค่าไฟฟรี คนจนจริงๆ จะไม่ได้รับประโยชน์เพราะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้มีการใช้น้ำใช้ไฟเกินระดับที่วางไว้ ส่วนคนที่มีความสามารถในการจ่ายและยินดีจะจ่ายแต่ใช้ไม่ถึงจึงไม่ต้องจ่าย สำหรับรถเมล์ฟรีมีประโยชน์ไม่มากนัก เพราะต้องรอนานมาก กว่าจะมาถึงคนก็โหนกันเต็มคันรถ และการบริการไม่ดีเลย ถือว่า 25 ข้อตรงนี้แรงงานนอกระบบไม่ค่อยได้ประโยชน์
นีรมล บอกต่อมาถึงปัญหาในปัจจุบันที่ค่าแรงจะลดลงทุกครั้งที่มีการจ่ายงานว่า เนื่องจากมีคนตกงานซึ่งต้องการรับงานอยู่เป็นจำนวนมาก และผู้ประกอบการก็มีการแข่งขันกันโดยพยายามลดต้นทุนการผลิตแต่ไม่สามารถปรับลดวัตถุดิบ ผลกระทบจึงตกกับผู้ใช้แรงงานซึ่งต้องถูกลดค่าจ้างแรงงาน แต่ถึงได้ค่าจ้างถูกก็ต้องรับ เพราะมีงานทำราคาถูกดีกว่าไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้
ส่วนมาตรการเพื่อการแก้ปัญหา นีรมลกล่าวว่าต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบไปจัดจ้างงานในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ โดยควรให้มีการสำรวจในแต่ละพื้นที่หากลุ่มอาชีพหรือสหกรณ์ที่สามารถรับงานได้ และจ่ายงานไปให้โดยไม่ต้องสอบราคาหรือให้ค่าประมูล ส่วนการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพต้องช่วยเหลือให้สามารถประกอบอาชีพได้จริง เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการขาดเงินลงทุน และบางคนถึงแม้จะมีเงินแหล่งทุนแต่ติดเงื่อนไขที่มีอยู่เยอะมากทำให้เข้าไม่ถึง สำหรับอาชีพที่มีผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ต้องจัดตลาดให้เหมาะสม และถาวร
แรงงานนอกระบบ วิกฤติการดำรงชีวิตที่เกิดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ
ส่วน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงันกล่าวว่า ความเข้าใจเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มแรงงานนอกระบบกับรัฐอาจไม่ตรงกัน ทั้งนี้มองว่าแม้จะไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้ ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบจำนวนมากก็ประสบปัญหาที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติแบบหนึ่งของการดำรงชีวิตอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บัณฑิตย์ได้นำเสนอข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ ในปี 2550 ซึ่งเผยแพร่ก่อนการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า มีแรงงานนอกระบบ 23.3 ล้านคน ส่วนแรงงานในระบบ 23.8 ล้านคน โดยนิยามของแรงงานนอกระบบตามความเข้าใจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หมายถึงผู้มีงานทำ ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมถึงไม่มีสวัสดิการสังคมใดๆ จากหน่วยงานที่สนับสนุนอยู่
ในแรงงานนอกระบบ 23.3 ล้านคน เป็นชาย 12.4 ล้านคน เป็นหญิง 10.8 ล้นคน โดยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากสุดคือประมาณ 9.6 ล้านคน และในกรุงเทพฯ น้อยสุด ประมาณ 1.3 ล้านคน สำหรับการศึกษาพบว่าต่ำกว่าประถมศึกษาถึง 46 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 10.74 ล้านคน ซึ่งการศึกษาที่ต่ำทำให้ทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มีความมั่นคง มีสวัสดิการสูงจึงน้อยตามไปด้วย
บัณฑิตย์ กล่าวต่อมาว่ามีการจ้างแรงงานนอกระบบในภาคเกษตรกรรม เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 14.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ โดยรวมเกษตรกร และแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร รองลงมาเป็นขายส่งขายปลีกประมาณ 3.7 ล้านคน กิจการโรงแรมภัตตาคาร 1.7 ล้านคน สาขาการผลิต 1.2ล้านคน และการก่อสร้าง 9.2 แสนคน ทั้งนี้ไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติ และแรงงานในระบบครัวเรือน
ส่วนปัญหาจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ คือ อันดับ1 ค่าตอบแทนน้อย ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ อันดับ2 และ3 ใกล้เคียงกัน คืองานที่ทำไม่ต่อเนื่อง และทำงานหนัก รวมถึงชั่วโมงการทำงานมากเกินไป ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน ไม่สามารถลาพัก
เรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาล บัณฑิตย์กล่าวว่า แรงงงานส่วนใหญ่ได้รับอุบัติเหตุเล็กน้อยจากการทำงาน โดย 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาล บางส่วนซื้อยากินเองประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ แรงงานที่มีหลักประกันสุขภาพของเอกชน 4 เปอร์เซ็นต์ และมีการใช้สวัสดิการของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจโดยใช้สิทธิเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลของครอบครัว ซึ่งในแง่ตัวเลขของการประสบอันตรายจากการทำงาน หรือได้รับบาดเจ็บ สถิติปี 50 มากขึ้นกว่าปี 48 จาก 3 ล้านคนเป็น 3.7 ล้านคน
ส่วนนโยบายเกี่ยวกับแรงงานของกระทรวงแรงงาน ประมาณ 20 ข้อ มี 2 ข้อ ที่พูดถึงแรงงานนอกระบบโดยในนโยบายแรงงาน หมวดนโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ 3.2.1.จะดำเนินงานให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานไทย โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสภาพการจ้างงาน ข้อ 5.จะมีการจัดระบบดูแลสวัสดิการแรงงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ
ถือว่าเป็นรัฐบาลชุดแรกที่พูดถึงการที่จะปฏิรูปสวัสดิการสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง และจะให้มีการบริการจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน แต่ไม่ได้พูดถึงการขยายการคุ้มครองประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ แต่พูดกว่างๆ ในเรื่องสวัสดิการแรงงานที่จะดูแลแรงงานนอกระบบ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าในเรื่องอะไรและมากน้อยเพียงไหน บัณฑิตย์กล่าว
บัณฑิตย์กล่าวแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า นโยบายที่ออกมาให้ความสำคัญกับแรงงานในระบบและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อยอดกองทุนของรัฐบาลเดิมโดยเพิ่มเงินเข้าไป แต่ไม่มีการชะลอปัญหาการเลิกจ้างเป็นกรณีเฉพาะ ส่วนในเรื่องเรียนฟรี 15 ปี มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการจัดการที่กระจายอย่างทั่วถึง ความโปร่งใส ซึ่งกระทรวงศึกษาอาจมีการผลักภาระโดยให้เอกชนจัดการหรือจัดในรูปแบบคูปองต่อไป ดังนั้นผู้ที่ต้องการได้รับประโยชน์จากตรงนี้ ควรมีข้อเสนอถึงมาตรการที่มีความเป็นไปได้ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
บัณฑิตย์กล่าวถึงนโยบาย 25 ข้อ กับการตอบปัญหาของแรงงานนอกระบบว่า จากข้อแรกเรื่องปัญหาค่าตอบแทนน้อยนั้น จากวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ส่งผลต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยกระทบการจ้างงานแรงงานทั้งในและนอกระบบ ส่วนงานที่ได้รับไม่ต่อเนื่องก็จะมีโอกาสไม่ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องการทำงานหนัก
สำหรับทางออก บัณฑิตย์กล่าวว่า มีมาตรการรัฐมากมายที่พยายามอักฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบและกลุ่มอาชีพชุมชน ต้องเข้าถึงและมีส่วนร่วมชัดเจน เพราะอาจเป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจบางส่วนเข้าไปได้ประโยชน์ ทั้งนี้มาตรการหลายอย่างของรัฐบาลเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการเพิ่มรายได้หรือเพิ่มการมีงานทำ แต่ไม่ชัดเจนว่าจะทำได้อย่างต่อเนื่องเพียงใด ส่วนการอัดฉีดเงินจะไปถึงแรงงานนอกระบบและสอดคล้องกับความต้องการหรือไม่เพียงใด
นโยบาย ปชป. ยากล่อมประสาท ที่กล่อมให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ได้
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมาตรการการแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบว่า เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ซึ่งมองเห็นปัญหาเรื่องฐานคิดและการจัดการ โดยเรื่องฐานคิด ปัญหาใหญ่ของแรงงานนอกระบบหรือเกษตรกร คือการอยู่ภายในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบ แรงงานนอกระบบวิกฤติมานานามาก ไม่ต้องวิกฤติเศรษฐกิจก็ต้องแก้ปัญหาที่หนักหนาอยู่แล้ว
การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น กระตุ้นอยู่ในเพดานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้คิดออกไปจากกรอบเหล่านี้เลย แม้ว่าจะพูดถึงกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง แต่จะออกไปจากระบบที่ไม่เป็นธรรมในกระบวนการผลิตตรงนี้ได้อย่างไร บางทีมองได้เป็นมาตรการแบบยากล่อมประสาท มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้คนรู้สึกเหมือนว่ามีการแก้ปัญหาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ออกไปจากระบบที่ไม่เป็นธรรม
บางทีมันเป็นแค่อุดมการณ์อะไรบางอย่าง ที่ทำให้ความขัดแย้งทางสังคมมันดำรงอยู่ได้ ดร.ประภาสกล่าว
ในเชิงปัญหาเรื่องการจัดการ ยกตัวอย่างในส่วนภาคเกษตร โครงการเอสเอ็มแอลเดิมที่เปลี่ยนเป็นกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาคล้ายกับโครงการอื่นๆ คือ สิ่งที่ทำมีข้อจำกัด เช่น กองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 ของจังหวัด ในรายละเอียดการกู้ในปี 44-45 มีคนกู้เพียง 60 รายวนกันอยู่ โดยมีการแต่งบัญชี ซึ่งปัญหาของเอสเอ็มแอล ก็มีข้อจำกัดในกิจกรรมที่มีไม่หลากหลายมากนัก เช่น ซื้อรถไถ เครื่องสูบน้ำ เครื่องโต๊ะจีน หรือโรงศพติดแอร์ มาให้เช่า เป็นส่วนหนึ่งของลการจัดการเงินที่เป็นปัญหา โดยไม่ได้มีการกระจายเงิน หรือสร้างเงิน สร้างรายได้อย่างจริงๆ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งแม้ว่าจะบังคับให้ทำประชาคม 70 เปอร์เซ็นต์ แต่รูปแบบวิธีการคือเอารายชื่อไปให้เซ็นลงชื่อ โดยที่ประชาคมไม่ได้เกิดขึ้นจริง ได้แต่ในเรื่องอุดมการณ์
มาตรการเหล่านี้พังพินาศในการจัดการมาแทบทั้งสิ้น ถามว่าเราเคยสรุปบทเรียนกับการบริหารจัดการเรื่องพวกนี้มากน้อยแค่ไหน การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน การกระจายปัจจัยที่ลงไปอย่างถ้วนหน้าผู้คนเกิดขึ้นได้ไหม ดร.ประภาสกล่าวแสดงความคิดเห็น
ดร.ประภาสกล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาการกระจายปัจจัยลงไปถึงโครงที่สร้างในระดับหมู่บ้านแต่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเดิมๆ แรงงานนอกระบบเข้าไปถึงประโยชน์ตรงนี้ได้ไม่มากนัก และเกิดคำถามถึงการจะไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร ทั้งนี้แม้จะมีการเติมเงินลงไปอีกก็ได้ไม่เท่าไหร่ และโดยส่วนตัวเท่าที่ติดตาม เงินไม่ได้ขาดในระดับของการกูยืม แต่ปัญหาคือจะเอาไปผลิตอะไร
ดร.ประภาส ยกตัวอย่างของเบี้ยชรา 500 บาทต่อเดือนว่า เป็นสิ่งที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต.และอบจ.อยากทำมานานมากเพราะสามารถนำงบมาแจกเพื่อการหาเสียงได้ ซึ่งในส่วนนี้ควรมีการบริหารจัดการดูแลที่ดีในแง่ของการส่งเสริมให้เกิดการจัดการกันเองแทนการแจกเงิน น่าจะมีการคิดถึงฐานคิดในการสร้างสวัสดิการที่ให้คนเข้ามาจัดการชีวิตกันเองแล้วรัฐเข้าไปสนับสนุนกองทุนที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการคิดทำ
นอกจากนั้นเรื่องเบี้ยชรานี้ยังมีการตั้งคำถามถึงทรัพยากรที่จะมาใช้ น่าจะคิดถึงระบบว่าเงินจะมาจากไหน เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องคิดทั้งโครงสร้าง ให้เพียงพอและเท่าเทียม ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ไม่ใช่การกระตุ้นเฉพาะหน้า
ในส่วนของแรงงานนอกระบบที่มีการพูดถึงหลักประกันสุขภาพ ที่ต้องแก้ในมาตรา 40 เพื่อให้คุ้มครองเกษตรครบวงจรและแรงงานนอกระบบอื่นๆ ตรงนี้เป็นการคิดออกแบบสวัสดิการในเชิงระบบที่จะมีความถาวรมากกว่าการกระตุ้นเฉพาะหน้า ที่เกิดเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปเสียเยอะ ส่วนการอบรมอาชีพ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคนิคการผลิต แต่ต้องอบรมว่าทำอย่างไรจึงจะหลุดออกไปจากระบบดักกินกำไรทุกขั้นตอนได้ รวมทังขยายสวัสดิการที่เกษตรกรไม่เคยได้ปัจจัยอะไรเลย อยากเห็นข้อเสนอในเชิงที่ออกแบบระบบอย่างนี้
ชี้ปัญหาแรงงาน ต้องแก้ด้วยความเข้าใจและทำด้วยตัวเองก่อน
ด้าน ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุกคนในสังคมต้องมองภาพรวมร่วมกันและมองว่าในภาพรวมตัวเองยืนอยู่ตรงไหน เหมือนว่าต้องมองเห็นป่าทั้งป่าให้ได้ก่อน แล้วมารู้ตัวเองว่าในป่าอันกว่างใหญ่ เราเป็นต้นไม้ที่อยู่ตรงไหนของป่า เวลาที่ต้องการให้ใครมาหาเราเขาจะได้รู้ว่าเรายู่ตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร ถ้ามองจากตัวเองไปก่อนเรื่อยๆ เราจะไม่เห็นปัญหาทั้งหมด ต้องมองจากสาเหตุ ไม่ใช่มองแต่เรื่องใกล้ตัวเพียงอย่างเดียว
สิ่งแรงที่ต้องเขาใจ คือแรงงานนอกระบบเป็นใคร จะนำเสนอตัวเองให้สังคมรู้จักว่าเป็นใคร เกษตรก็เป็นเป็นแรงงานนอกระบบที่ทุกคนมักอ้างถึง แต่เราเป็นเกษตรกรหรือเปล่าถ้าไม่ใช่แล้วเป็นใคร ตรงนี้เป็นภาพรวมของวิกฤติที่เรียกว่าวิกฤติความคิดและยุทธศาสตร์ ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับใหญ่สุดถึงระดับเล็กสุด
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อมาว่าภาพใหญ่ของวิกฤติ เกิดจาการที่เศรษฐกิจไทยพึงการส่งออกมากเกินไป ซึ่งหากจะพึ่งการส่งออกลดลงสิ่งที่จะมาทดแทนคือการพึงพาตลาดภายใน ทังนี้ มูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 70-75 ของจีดีพี (รายได้รวมของทั้งประเทศ) แต่ยิ่งมีการส่งออกมากก็ยิ่งนำเข้ามาก และบางครั้งราคาการนำเข้าแพงกว่าการส่งออก อย่างไรก็ตามในส่วนของคนผลิตเล็กผลิตน้อย ไม่สามารถแข่งขันในตลาดส่งออก ต้องพึ่งพาตลาดภายในเป็นหลัก
โดยเงิน 100 บาท ที่ใช้ในตลาดภายในนั้น มาจากค้าจ้าง 40 บาท และบำนาญคนปลดเกษียรแล้วอีก 10 บาท แสดงว่าตลาดภายในต้องพึ่งค่าจ้าง 50 บาทใน 100 บาท ดังนั้น ถ้าลูกจ้ารายได้ลดตลาดภายในลด รายได้ที่สำคัญของตลาดภายในคือรายได้ของลูกจ้าง ส่วนรายได้จากเกษตรมีความสำคัญเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะภาคเกษตรพึ่งรายได้จากการทำงานนอกไร่นา จากการออกไปทำงานเป็นลูกจ้างของสมาชิกในครอบครัว
เพราะฉะนั้นถ้าพวกเรา ณ ที่นี้เป็นคนผลิตเล็กผลิตน้อยต้องพึ่งพาตลาดภายใน ท่านต้องไม่ลืมนะครับลมหายใจของพวกท่านคือลูกจ้าง รายได้ของลูกจ้างจึงเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งสำหรับสังคมไทยปัจจุบัน สำหรับตลาดภายใน ดร.ณรงค์กล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า นายจ้าง นักธุรกิจมีส่วนในตลาดภายในเพียงร้อยละ 17 เท่านี้
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อภาพรวมเป็นเช่นนี้จึงต้องมาดูว่า นโยบายของรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับเงินในกระเป๋าลูกจ้างมากน้อยแค่ไหน และรัฐยอมรับหรือไม่ว่าครึ่งหนึ่งของลูกจ้างต้องส่งเงินไปให้ครอบครัวในชนบท
หากมองภาพรวมอย่างนี้อนาคตของพวกเราอย่าไปหวังพึ่งรัฐบาลมากเลยครับ ดร.ณรงค์กล่าว
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า มาตรการของรัฐบาลสำหรับตลาดภายในที่ทำอยู่ในทุกวันนี้เป็นเรื่องชั่วคราว เหมือนการกินยาแก้ปวด เมื่อปวดหัวจัดๆ พอฤทธิ์ยาหมดก็ต้องกลับมาปวดเหมือนเดิม เพราะไม่เคยมีการคิดยุทธ์ศาสตร์ในการสร้างตลาดภายในที่อาศัยค่าจ้างของลูกจ้าง อาศัยรายได้ของเกษตรกร ถือเป็นวิกฤติความคิดจาการหลงใหลได้ปลื้มกับการส่งออกมากเกินไป
ทั้งนี้ การขยายตลาดภายใน โดยอาศัยกำลังซื้อชาวนา สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การประกันราคาแต่เป็นการลดต้นทุน เพราะในส่วนข้อเสนอที่ให้ขึ้นราคาสินค้าเกษตร แต่สิ่งที่ขึ้นก่อนคือราคาปุ๋ยและยา เมื่อราคาข้าวเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ราคาประกันไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คนได้ประโยชน์คือคนขายปุ๋ยและยาไม่ใช่ชาวนา นอกจากนี้ยังส่งผลให้อาหารแพง จากสินค้าเกษตรที่แพงขึ้น และกระทบไปถึงรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของแรงงาน
การลดต้นทุนมีหลักประกันมากกว่าแม้จะทำได้ยากกว่า หากลดต้นทุนแม้ราคาข้าวไม่ขึ้นแต่ยังมีกำไรได้ และราคาอาหารจะไม่แพงมา ส่วนลูกจ้างก็อยู่ได้ หากอาหารมีราคาแพงจนลูกจ้างอยู่ไม่ได้ต้องมีการเพิ่มค่าจ้าง แต่ไม่มีใครสามารถไปกำหนดการเพิ่มไม่เพิ่มค่าแรงของนายจ้างได้ ในส่วนนายจ้างรายเล็กๆ หากจะต้องขึ้นค่าจ้างก็จะลำบาก นายจ้างอยู่ไม่ได้ ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องขึ้นค่าจ้างจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือลูกจ้างให้สูงขึ้นด้วย
เพิ่มรายได้ชาวนา เพิ่มรายได้ลูกจ้าง เพิ่มศักยภาพแรงงาน ดร.ณรงค์กล่าวถึงแนวคิด 3 เพิ่ม
ดร.ณรงค์กล่าวถึง การมองภาพรวมอีกอันหนึ่ง คือการบ้าเสรีมากเกินไป โดยยกตัวอย่างการค้าเสรีไม่รู้เหนือรู้ใต้ ทำให้สินค้าจีนตีตลาดโดยผู้ผลิตไทยสู้ไม่ได้ ทำให้คนที่ได้ประโยชน์คือพ่อค้า แต่คนผลิตเสียหาย หรือการให้ตั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าได้ทุกชนิด เปิดได้ทุกหัวมุมถนนมีแต่เมืองไทย โชว์ห่วยไม่สามารถขายสู้ได้ โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพของผู้บริโภค แต่การที่รถหน้าห้างติดเพราะคนขับรถเข้าห้างก็ถือได้ว่าเป็นการทำลายสิทธิผู้บริโภคท้องถนนเช่นกัน
ตลาดภายในคนเล็กคนน้อยรัฐบาลทำอะไรบ้าง มัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นวิกฤติไปหมดแล้ว ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าเจ็บปวดกว่าไม่มีใครคิด แม้แต่พวกเราก็ไม่ได้คิด ดร.ณรงค์กล่าว
ดร.ณรงค์กล่าวต่อมาถึงการแก้ปัญหาระยะยาวในเรื่องกำลังซื้อของตลาดภายในว่า ได้เคยเสนอรัฐบาลชุดที่แล้วให้มีการนำเงินประกันสังคมไปฝากธนาคารรัฐเพื่อเอาให้แรงงานกู้ แต่ข้อเสนอไม่ได้ถูกตอบรับ โดยให้เหตุผลว่าเงินประกันสังคมลูกจ้างกู้ไม่ได้ เพราะมีความเสียงมาก แต่รัฐบาลกลับมีโครงการนำเงินมหาศาลไปซื้อหุ้นที่ราคาต่ำติดดิน เอาเงินหลายแสนล้านไปให้ครูกู้ และเอาเงินหลายพันล้านไปใส่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้ข้าราชการกระทรวงการคลังกู้ ทั้งที่ข้อเสนอดังกล่าว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการลงทุนเพราะลูกจ้างยินดีจ่ายร้อยละ 10 ต่อปีดีกว่ากูนอกระบบร้อยละ 20 ต่อเดือน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว
นโยบายต่างๆ ทั้งรัฐและกระทรวงแรงงานถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเจตนาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขาดการมองระยะยาว โรคที่เป็นขณะนี้ไม่ใช่โรคปวดหัว แต่เป็นโรคเนื้องอก ต้องมีการผ่าตัด ซึ่งปัญหาเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ นโยบายแห่งรัฐ และอำนาจต่อรอง ที่แรงงานไม่เคยได้รับการส่งเสริมของรัฐหรือนายจ้าง ดังนั้นทางออกผู้ใช้แรงงานคือเลิกพึ่้งผู้อื่นต้องมีการเชื่อมโยงแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบหรือแรงงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำไมต้องหวังพึ่งนักการเมือง หรือรัฐบาล
25 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลอภิสิทธิ์ 1
การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2552 รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 มาตรการ ด้วยงบประมาณกลางปี 115,000 ล้านบาท ภายใต้ 4 แผนงานคือ แผนงานฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ แผนงานส่งเสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และความมั่นคงด้านสังคม แผนงานรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายจ่ายชดเชยเงินคงคลัง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2552 คณะมนตรียังมีมติ 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เกือบ 40,000 ล้านบาท รวมเป็น 25 มาตรการ ประกอบด้วย
1. โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยจัดสรรเงินให้ผู้ประกันตน และข้าราชการที่มีรายได้ประจำต่ำกว่า 14,000 บาทต่อเดือน ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาทครั้งเดียวเมื่องบประมาณผ่านสภา เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 8 ล้านคน และข้าราชการ 1.45 ล้านคน วงเงินรวม 18,970.4 ล้านบาท
2. โครงการช่วยเหลือคนตกงาน โดยการจัดอบรมผู้ว่างงานเพื่อเพิ่มศักยภาพ เป็นเวลา 6 เดือน ขณะ อบรมได้เงินช่วยเหลือยังชีพเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือน วงเงินงบประมาณ 6,900 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ว่างงาน 240,000 คน ก่อนขยายเพิ่มในงบประมาณปี 2553 ให้ครบ 500,000 คน
3. โครงการเรียนฟรีจริง 15 ปีตั้งแต่อนุบาล-ม.6 ฟรีค่าเทอม เสื้อผ้า ตำราเรียน และอุปกรณ์การศึกษา ใช้งบประมาณ 19,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียน
4. โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน สานต่อกองทุนเอสเอ็มแอล เพื่อสร้างงานและวางรากฐานในชนบท
5. ต่ออายุโครงการ 6 เดือน 5 มาตรการ ทั้งน้ำ-ไฟ-รถเมล์-รถไฟ ที่จะต่ออายุออกไปอีก 6 เดือน แต่ปรับลดการใช้นำประปาฟรี เหลือเดือนละ 30 ลบ. เมตร และใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกินเดือนละ 90 หน่วย ใช้งบ 11,409.2 ล้านบาท
6. โครงการช่วยเหลือเงินยังชีพคนชรา โดยช่วยเหลือคนชราอายุเกิน 60 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการ คนละ 500 บาทต่อเดือน จำนวน 3 ล้านคน รวมเป็นทั้งระบบช่วยเหลือ 5 ล้านคน ใช้งบ ประมาณ 9,000 ล้านบาท
7. ช่วยเหลือค่าครองชีพอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คนละ 600 บาทต่อเดือน ครอบคลุม 834,075 คน งบประมาณ 3,000 ล้านบาท
8. โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 2,000 ล้านบาท
9. โครงการถนนปลอดฝุ่น ลาดยางทางในชนบท ระยะทาง 490 กม. 1,500 ล้านบาท
10. โครงการจำหน่วยสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนรายได้น้อย โดยกระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนไม่ เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งโครงการธงฟ้าลดค่าครอง ชีพวงเงิน 1,000 ล้านบาท 11. โครงการปรับปรุงสถานีอนามัยในชนบท วงเงิน 1,095.8 ล้านบาท
12. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้กับช้าราชการตำรวจชั้นประทวน 532 แห่ง แห่งละ 3.4 ล้านบาท เป็นเงิน 1,808.8 ล้านบาท
13. โครงการลดผลกระทบธุรกิจท่องเที่ยว โดยจะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในประเทศ การสนับสนุนส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดสัมมนาต่างจังหวัด รวมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท
14. โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร และธุรกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (เอสเอ็มอี) 500 ล้านบาท
15. โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ความมั่นใจกับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 325 ล้านบาท
16. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขุดลอกคูคลอง 760 ล้านบาท
17. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2,391.3 ล้านบาท สุดท้าย
18. เป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 19,139.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ที่เมื่อง่ายเงินคงคลังไปก่อนจะต้องตั้งงบชดเชยคืน ซึ่งกรณีนี้เป็นรายการแถมที่ไม่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
19. มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านใหม่ และโอนกรรมสิทธิ์ภายในปี 2552 นำเงินต้นลดหย่อนภาษีไม่เกิน 300,000 บาท และนำดอกเบี้ยเงินกู้หักลดหย่อนอีก 100,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท และต่ออายุค่าธรรมเนียมการโอนธุรกิจเฉพาะและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถึงเดือนมีนาคม 2553 เนื่องจากต้องการให้มีการตัดสินใจซื้อบ้านในปี 2552 เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบมากขึ้น และจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการซื้อขายบ้านใหม่ 100,000 หน่วย โดยรัฐสูญรายได้จากมาตรการนี้ ค่าธรรมเนียมการโอน ธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 30,000 ล้านบาท และภาษีอากรรายได้บุคคลธรรมดา 6,500 ล้านบาท
20. ภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีร้อยละ0.5 จากเดิม 60,000 บาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนและเอสเอ็มอี เท่ากับเป็นการยกเว้นภาษีจาก 300 บาท/ปี เป็นกว่า 5,000 บาท/ปี ครอบคลุมเอสเอ็มอี 97,000 ราย โดยคาดรัฐสูญเสียรายได้ 1,400 ล้านบาท
21. การช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน ด้วยการเพิ่มวงเงินรายได้ยกเว้นภาษีจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท/ปี ให้เฉพาะปีภาษี 52-53 เท่านั้น เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชน และสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 58,000 แห่ง คาดว่ารัฐสูญรายได้ 200 ล้านบาท
22. มาตรการช่วยเหลือการท่องเที่ยว โดยให้บริษัทห้างหุ้นส่วนต่าง ๆ สามารถนำรายได้จากการสัมมนาค่าฝึกอบรมไปคำนวณหักภาษี 2 เท่าของที่จ่ายจริง ใช้สำหรับรอบบัญชีปี 52 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับโรงแรมร้านค้า บริษัททัวร์ โดยคาดว่าภาครัฐสูญรายได้ 1,800 ล้านบาท
23. มาตรการเงินร่วมลงทุน เพื่อเป็นการช่วยเหลือกองทุนร่วมลงทุน (เวนเจอร์แคปปิตอล ฟันด์) สำหรับนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียน เพื่อประโยชน์ด้านภาษี จากกำหนดเวลาได้ประโยชน์ในสิ้นปี 51 ขยายเป็นสิ้นปี 54 โดยยกเลิกเงื่อนไขที่บริษัทร่วมลงทุนต้องลงทุนร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนในปีแรก และยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผลประโยชน์ของการโอนหุ้นของเอสเอ็มอี เพื่อให้เป็นแหล่งทุนระยะยาวของเอสเอ็มอี และสนับสนุนให้กระจายหุ้นในตลาดหลัดทรัพย์เอ็ม เอ ไอ
24. มาตรการทางภาษีสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น โดยเจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าวมาลดหย่อน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนสินทรัพย์การขายสินค้า และผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกหนี้ต้องนำเงินที่ได้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ จากการโอนสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนอง เป็นหลักประกันการกู้ให้แก่ผู้อื่น ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้รองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ
25. มาตรการเกี่ยวกับการโอนกิจการบางส่วนด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ์ และนิติกรรม กรมที่ดินที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชนหรือบริษัทจำกัด โดยต้องโอนให้เสร็จภายในสิ้นปี 52 ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย
|