พนักงาน รง.ตัดผ้าลูกไม้ศรีสะเกษประท้วง-ชิงปิดกิจการลอยแพกว่า 200 คนโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 04 .. 52 ผู้จัดการ ศรีสะเกษ - เศรษฐกิจตกต่ำพ่นพิษ โรงงานจัสมิน แมนูแฟคเจอริ่ง ศรีสะเกษ ผลิตผ้าฉลุ-ผ้าลูกไม้ส่งออก ชิงปิดกิจการลอยแพพนักงานกว่า 200 คน แบบไม่แจ้งล่วงหน้าและไม่ยอมจ่ายเงินชดเชย ด้านลูกจ้างชุมนุมประท้วงหน้าโรงงานก่อนบุกร้องสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฯช่วยเหลือ ด้านเจ้าของโรงงานเผยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศษฐกิจโลก เผยช่วงปิดสนามบินส่งสินค้าออกต่างประเทศไม่ทัน
วันนี้ (3 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้า โรงงานจัสมิน แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หลักกิโลเมตรที่ 10 ถ.สายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย หมู่ 10 ต.ขะยุง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บผลิตผ้าฉลุ-ผ้าลูกไม้ ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ได้มีพนักงานชาย- หญิงของโรงงานดังกล่าวกว่า 200 คน ชุมนุมประท้วง พร้อมนำรถยนต์มาปิดบริเวณหน้าโรงงาน ก่อนเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 10 คัน มุ่งหน้าไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เพื่อขอความเหลือกรณีไม่ได้รับเงินค่าชดเชยถูกเลิกจ้างจากโรงงานดังกล่าวที่ได้ปิดกิจการลง
ทั้งนี้ โรงงานจัสมิน แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้ประกาศปิดกิจการในเช้าวันนี้ (3 ก.พ.) อ้างว่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ โดยไม่ได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า จึงพากันเดินทางมาทำงานตามปกติเหมือนทุกวัน แต่ทุกคนต้องผิดหวังเมื่อโรงงานได้ปิดกิจการไปแล้ว
นายสมศรี สุจิต อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ 10 ต.บ้านยาง อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา พนักงาน แผนกช่างเครื่อง โรงงานจัสมิน แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และแกนนำในการชุมนุม กล่าวว่า พนักงานทุกคนกว่า 200 ชีวิต ต้องการเรียกร้องสิทธิค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานกับทางโรงงาน 75% แต่ทางโรงงานไม่สามารถจ่ายให้ได้ กลับบอกว่า หากอยากได้ให้ไปฟ้องศาลเอา ซึ่งทางโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตผ้าลูกไม้ ได้ปิดกิจการลงโดยไม่แจ้งให้ทางพนักงานทราบล่วงหน้า อ้างว่า ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ และไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงาน
พวกเราจึงพากันมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดศรีสะเกษ และผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งหากไม่มีหน่วยงานใดสามารถช่วยเหลือได้ ก็ต้องพากันไปฟ้องศาลตามที่โรงงานได้บอกไว้ เพราะขณะนี้พนักงานทุกคนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ทางด้าน นายประเสริฐ ธิมา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้เข้ามาพบปะชี้แจง และให้กำลังใจกับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานปิดกิจการ กล่าวว่า ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง แต่ต้องมีการเขียนคำร้องให้เป็นไปตามขั้นตอน และทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะดำเนินการต่อไป ซึ่งจากการได้พูดคุยกับนายจ้างของโรงงานแห่งนี้ ทราบว่าทางโรงงานมีความจำเป็นต้องปิดกิจการจริงๆ เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตผ้าลูกไม้ ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาหรับและลูกค้าได้ลดการสั่งซื้อลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถอยู่ได้
ตนได้เน้นย้ำกับผู้ประกอบการแล้วว่า หากโรงงานปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน โดยไม่มีความผิดใดๆ จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานทุกคนตามกฏหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ซึ่งในช่วงแรกนี้จะให้พนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้าง เขียนคำร้องทุกข์ ในกรณีตกงาน และทางเจ้าหน้าที่จะหาข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นกับทางตัวแทนเจ้าของกิจการ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือพนักงาน
แต่หากทางเจ้าของกิจการไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ทางเจ้าหน้าที่ก็จะส่งสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีต่อไป นายประเสริฐ กล่าว |