กลุ่มประสานงานกรรมกร ขอพื้นที่ทีวีสาธารณะ สะท้อนปัญหาถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม29 .. 52 ประชาไท เมื่อเวลาประมาณ 12.00น. กลุ่มประสานงานกรรมกร (กปก.) ประมาณ 70 คน เดินทางไปยังอาคารชินวัตรทาวเวอร์ ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ
โดย ฉัตรชัย ไพยเสน ผู้ประสานงานกลุ่มประสานงานกรรมกร กล่าวว่า ในโอกาสที่วันนี้เป็นครบรอบ 2 ปีการเสียชีวิตของคณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมากว่า 17 ปี ซึ่งได้สละชีวิตเพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการจ้างงานชั่วคราวที่ไม่ต่างจากสัญญาทาส จึงเดินทางมาขอใช้พื้นที่ของทีวีสาธารณะในการสื่อถึงสังคมว่าปัญหาของผู้ใช้แรงงานคือปัญหาสังคม รวมถึงเพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านสื่อมวลชนด้วย
ฉัตรชัย กล่าวว่า แรงงานชั่วคราวถูกจ้างในระยะสั้นๆ 3-6 เดือน ทั้งที่เป็นการทำงานต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาก็ถูกเลิกจ้าง
มาลัย กลั่นพรหม พนักงานฝ่ายผลิตบริษัท ฟูรูกาวา เม็ททัล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จากจังหวัดสระบุรี เล่าว่าที่โรงงานจะมีการจ้างพนักงานเหมาช่วงเป็นระยะๆ ครั้งละ 3-4 เดือนในช่วงที่มีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่า การจ้างงานแบบเหมาช่วงนั้นไม่เป็นธรรม เพราะคนที่มาทำงานอยู่ในช่วงทดลองงานก็หวังว่าจะได้รับการบรรจุ เพื่อให้ได้สิทธิของพนักงานประจำ แต่เมื่อทำได้ 4-6 เดือนก็ต้องออกจากงาน
มาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยคุยกันในกลุ่มของกรรมการสหภาพแรงงานว่าจะยื่นข้อเรียกร้องว่า ต้องบรรจุพนักงานชั่วคราวที่ทำงานเกิน 120 วัน แต่ไม่มีพนักงานชั่วคราวคนใดกล้าพูดเรื่องนี้ เพราะกลัวว่าจะไม่ถูกเรียกไปทำงานอีก เนื่องจากแรงงานชั่วคราวเหล่านี้เป็นคนเก่าๆ ที่เคยได้รับงานเหมาช่วงเป็นระยะๆ จากบริษัท
จอน อึ๊งภากรณ์ กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ด้านประชาสังคม ซึ่งมารับหนังสือกล่าวว่า ในเบื้องต้น รับปากว่าหากมีข่าวต้องการประชาสัมพันธ์จะส่งต่อให้ฝ่ายข่าว เนื่องจากการทำข่าวต้องทำแบบมีสมดุล คือ ถ้าเป็นมุมมองลูกจ้างต้องสัมภาษณ์นายจ้างด้วย นอกจากนี้ ในฐานะกรรมการนโยบายฯ จะไม่เข้าไปสั่งให้ฝ่ายข่าวทำอะไร ได้เพียงส่งข้อเสนอต่อไปให้เท่านั้น
จอน กล่าวด้วยว่า ช่วงนี้ รายการสถานีประชาชนมีนโยบายนำเสนอเรื่องของแรงงานอยู่แล้ว เนื่องจากมีการเลิกจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มีหลายช่องทางที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจะใช้เพื่อสื่อสารปัญหาได้ โดยอาจส่งข้อมูลเข้ามาว่า โรงงานของตนเองมีการปฎิบัติต่อลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมอย่างไร เพื่อที่ทางสถานีจะได้ติดตามต่อไป นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้สมัครเป็นนักข่าวพลเมืองสายแรงงาน เนื่องจากทีวีไทยยังไม่มีนักข่าวสายนี้ โดยการเป็นนักข่าวพลเมืองจะสามารถเสนอเรื่องราวของตนเองได้โดยตรง
ต่อมา เวลา 14.00น. รายการสถานีประชาชน ของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ อรอุมา เกษตรพืชผล ผู้ดำเินินการรายการได้สัมภาษณ์ตัวแทนจากกลุ่มประสานงานกรรมกร 4 ราย มีเนื้อหาดัีงนี้
ฉัตรชัย ไพยเสน ผู้ประสานงานกลุ่มประสานงานกรรมกร เล่าว่า กลุ่มประสานงานกรรมกรเกิดจากการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเห็นว่าเกิดปัญหาวิกฤตขึ้นแล้ว ต้องทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจุดประกายให้สังคมเห็นว่า ปัญหาของผู้ใช้แรงงานไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของผู้ใช้แรงงานอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นปัญหาของประชาชนทุกคน จึงมาขอใช้พื้นที่ของทีวีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานประสบ รวมถึงเพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล นอกจากนี้แล้ววันนี้ยังเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของคณาพันธุ์ ปานตระกูล ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของภาครัฐ ในโรงพยาบาลโพาธาราม จ.ราชบุรี ที่ทำงานมาถึง 17 ปีแต่ก็ยังเป็นพนักงานชั่วคราว ขณะเดียวกันในภาคเอกชนเองก็ถูกจ้างงานแบบชั่วคราว แบบเหมาค่าแรง
เหมือนกับว่าขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบทาสที่แท้จริง ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไปลูกหลานของเรา หรือนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็จะเข้าสู่ขบวนการค้าทาสต่อไป ฉัตรชัยกล่าว
ฉัตรชัยยังตั้งคำถามถึงกระทรวงแรงงานด้วยว่าจะัแก้ปัญหาสัญญาทาส คนงานเหมาค่าแรงได้อย่างไร ในเมื่อในกระทรวงและภาครัฐเองก็ยังใช้คนงานชั่วคราว
เกษแก้ว มีศรี ตัวแทนแรงงาน เล่าว่า ขณะนี้ บริษัทที่เธอทำงานอยู่ได้แจ้งให้พนักงานเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัท โดยอ้างปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้รถยนต์หยุดการผลิต ส่งผลให้ไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท
เธอตั้งคำถามว่า การที่นายจ้างใช้ข้ออ้างเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจมาเลิกจ้างแรงงานนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ทั้งนี้ เธอมองว่า มาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างใช้วิกฤตเป็นโอกาสเลิกจ้าง และว่า แค่ค่าจ้างปกติยังไม่พอกับค่าใช้จ่าย ถ้าได้แค่ 75% ของค่าจ้างก็ยิ่งลำบาก
นริศ ศรศรี ตัวแทนแรงงาน จากสหภาพแรงงานโยโรสึ เล่าว่า วานนี้ (26 ม.ค.) มีการปลดแรงงานเหมาค่าแรง รวมถึงลูกจ้างประจำ ซึ่งรวมถึงตัวเขาเองที่ทำงานเป็นลูกจ้างประจำมาเป็นเวลา 10 ปี โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการสหภาพด้วย จึงมองว่า นี่เป็นขบวนการทำลายสหภาพของบริษััท โดยนายจ้างได้ขออำนาจศาลเลิกจ้าง โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งในกรณีของแรงงานเหมาค่าแรงนั้น นอกจากละเมิดสิทธิแรงงานแ้ล้วยังไม่ปฎิบัติตามกฎหมายซึ่งกำหนดให้แจ้งล่วงหน้าหากมีการบอกเลิกจ้างด้วย
วรรณพา แดงชาด ตัวแทนแรงงาน จากสหภาพแรงงานโซนี่ กล่าวว่า มีการเลิกจ้างพนักงานจ้างเหมาช่วง โดยให้พนักงานเซ็นใบลาออก ซึ่งทำให้พวกเขาเสียสิทธิประกันสังคมที่ควรจะได้จากการเลิกจ้าง
พนักงานคนหนึ่งของโซนี่ กล่าวว่า เธอถูกเลิกจ้าง แต่บริษัทให้เซ็นใบลาออกแทนที่จะให้หนังสือเลิกจ้าง โดยต้องยอมเซ็น เพื่อให้ได้รับค่าชดเชยเป็นเงินพิเศษ 2 เดือน ค่าล่วงเวลา 1 เดือน ค่าทำขวัญ 2,000 บาท อย่างไรก็ตาม การยอมเซ็นใบลาออกทำให้เสียสิทธิไม่ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมตามที่ควรจะได้ โดยจากที่ควรได้ 50% ของเงินเดือนจากกรณีถูกเลิกจ้าง ก็จะได้รับ 30% จากกรณีการลาออก
พนักงานคนหนึ่งของบริษัทโยโรสึ กล่าวว่า เขาทำงานเกิน 120 วันแ้ล้วและได้ผ่านการประเมินจนได้บรรจุเป็นพนักงาน แต่ถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้สินไหมทดแทนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ได้รับการเสนอจากบริษัทให้รับเงินชดเชย 2,000 บาท ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือน แล้วจะไม่มีการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา อย่างไรก็ตาม เขาและเพื่อนบางส่วนไม่ได้รับเงินดังกล่าว โดยขณะนี้บางส่วนได้ฟ้องร้องต่อศาลแรงงานด้วย
อาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า กรณีเลิกจ้าง ตามกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องบอกล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการบอกเลิกจ้าง ไม่ใช่บอกกระทันหัน กรณีเช่นนี้ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องขอค่าสินจ้างจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าได้
ผู้ดำเนินรายการถามว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เลิกจ้างแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง และคนที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับอะไรบ้าง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ตามกฎหมายต้องได้เงินชดเชย หากไม่ได้ ให้ร้องเรียนไปที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ ทั้งนี้ เขาจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือในกรณีต่างๆ
อาทิตย์ กล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้วการเข้า-ออกจากการทำงานเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ขอให้เลิกจ้างอย่างเป็นธรรม เพราะนายจ้างก็มีสิทธิจะรับคนหรือเลิกจ้าง นี่เป็นหลักสากล แต่การเลิกจ้างต้องเป็นธรรม ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล ทั้งนี้ มีกฎหมายต่างๆ รองรับ เช่น ค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541 หรือหากลูกจ้างมองว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ฟ้องศาลแรงงานได้
อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างขึ้นอยู่กับภาวะหลายๆ อย่าง กระทรวงแรงงานก็มีนโยบายที่จะลดการเลิกจ้าง โดยมีการเข้าไปคุยกับนายจ้างให้ลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงแทนการเลิกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้นานที่สุด หากมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างก็ว่ากันไปตามความจำเป็น ส่วนที่อ้างสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่ได้ขาดทุนจริงก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย โดย : ประชาไท วันที่ : 27/1/2552 |