Thai / English

กับดักปัญหาโรฮิงญาและการจัดการแรงงานข้ามชาติ


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ คณะทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
29 .. 52
ประชาไท

ขื่อบทความเดิม “หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก่ออาชญากรรม แย่งงานคนไทย”: กับดักปัญหาโรฮิงญาและการจัดการแรงงานข้ามชาติ

ในช่วงสี่ห้าวันมานี้มีข่าวที่ไม่น่ายินดีนักเกี่ยวกับการมองปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ดูได้จากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังการประชุมสภาความมั่งคงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และการลักลอบเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายของชาวโรฮิงญา ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การนำปัญหาของชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน มารวมกันเป็นเรื่องเดียวในกระบวนการจัดการปัญหาของภาครัฐ

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า

“....ได้เร่งให้มีการศึกษา ให้มีหน่วยงานป้องกันการลักลอบเข้าเมืองทางชายฝั่งทะเล โดยให้มีการบูรนางการทั้งกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมมือกันทำงานเหมือนกับที่หลายประเทศ แต่ต้องศึกษาว่าหน่วยงานดังกล่าวควรจะเป็นรูปแบบใด การพูดคุยวันนี้ผมก็ได้พูดชัดเจนว่ากลุ่มโรฮิงญาเป็นคนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้น.....”

“.......ตอนนี้โรฮิงญาเข้ามาจำนวนมากถึงขั้นมีการตั้งชมรมต่างๆขึ้นมา วันนี้การตรวจสอบต้องดูในเรื่องของความถูกต้อง และกวดขันในเรื่องของกระบวนการที่อำนวยความสะดวกให้คนเหล่านี้เข้ามา เพื่อผลประโยชน์ในเรื่องการจัดแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งยอมรับว่าน่าจะมีกระบวนการค้ามนุษย์ จึงได้กำชับไปแล้วว่าต้องรีบจัดการตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ส่วนกรณีกระบวนการเหล่านี้ มักมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ต้องจัดการเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ถ้าไม่ทำก็จะลุกลามไปสร้างปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคง อีกทั้งกระทบกระเทือนต่อโอกาสของแรงงานไทยด้วย” (กรุงเทพธุรกิจ 23/01/52)

โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน คือ 21 มกราคม 2552 นายกรัฐมนตรียังได้ให้สัมภาษณ์ว่า

“....ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดเสรีให้คนต่างด้าว มาขึ้นทะเบียนทำงานอย่างเสรี โดยไม่มีการจำกัดจำนวน จำกัดพื้นที่ และประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งจะคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานที่ว่างงานของไทยด้วย.....” (ไทยรัฐ 21/01/52)

จากคำให้สัมภาษณ์ในวันที่ 22 มกราคม เพียงไม่กี่บรรทัด นำมาสู่การสอดรับกับภาคปฏิบัติการที่เกิดขึ้นของกระทรวงแรงงานในวันรุ่งขึ้นอย่างทันที นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกตรวจสอบ จับกุมแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายในเขตกรุงเทพมหานคร การออกตรวจในครั้งนี้มีรถปฏิบัติการทั้งหมด 8 คัน และเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน กว่า 120 คน โดยกล่าวว่า “การออกตรวจแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการแย่งงานคนไทยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และลดปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ที่ทำงานในประเทศไทยเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้จะมีการออกตรวจแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย 1 – 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เจ้าของกิจการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายให้หยุดการปฏิบัติดังกล่าว และยืนยันว่าจะมีบุคคลเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่ว่างลงอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าในทุกปีของการออกตรวจจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย จะทำให้จำนวนลดลงร้อยละ 20 -30 ต่อปี” (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 23/01/52)

จากภาคปฏิบัติการของกระทรวงแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ยังพบว่าในหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ได้มีการเข้าจับกุมแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายในพื้นที่ต่างๆมากจนผิดปกติ โดยการจับกุมทุกกรณีไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือความผิดอื่นใดเพิ่มเติม นอกจากข้อหา การหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพียงประการเดียวเท่านั้น เช่น

23 /01/52 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี ได้เข้าจับกุมแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมาย ในร้านซักอบรีดแห่งหนึ่งในซอยลาดพร้าว 18 พบแรงงานลาว 14 คน และในแค้มป์คนงานก่อสร้างหมู่บ้านนวนิช ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พบแรงงานจากพม่า 13 คน (ผู้จัดการ 24/01/52)

23 /01/52 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตำรวจและทหารกว่า 200 คน เข้าจับกุมแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่สอดโดยไม่ถูกกฎหมายจำนวน 116 คน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันอาชญากรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอแม่สอดจำนวนมาก (ข่าวสด 24 /01/52)

23 /01/52 กองกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษตรวจสอบการทำงานและการหลอกลวงคนงานของกรมการจัดหางาน ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว จับกุมแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมาย ขณะกำลังทำงานในสถานที่ก่อสร้างอาคารอพาร์ทเมนต์ ในซอยประชาชื่น บางซื่อ พบแรงงานชาวกัมพูชา 19 คน (สำนักข่าวไทย 23/01/52)

22/01/52 เจ้าพนักงานตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง ศรีราชาฯ เข้าจับกุมแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่ทำงานก่อสร้างและรับจ้างทั่วไปในพื้นที่อำเภอศรีราชา ชลบุรี จำนวน 7 คน (สยามรัฐ 23/01/52)

22/01/52 กองกำลังบูรพานำทหารพรานกว่า 100 นาย ออกทำการปิดล้อมหมู่บ้าน 4 แห่ง คือ บ้านภูน้ำเกลี้ยง บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านไทยสามารถ และบ้านหนองสังข์ ในพื้นที่ตำบลป่าไร่ และตำบลหนองสังข์ อำเภออรัญประเทศ สระแก้ว เพื่อจับกุมแรงงานชาวกัมพูชาที่ลักลอบเข้ามารับจ้างทำงานในพื้นที่ สามารถจับกุมแรงงานได้ทั้งสิ้น 289 คน (สำนักข่าวเนชั่น 22/01/52)

21/01/52 สำนักข่าวตรวจคนเข้าเมือง เข้าตรวจค้นบริเวณโครงการก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้น ย่านบางนา และโรงงานทำลูกชิ้น อำเภอเมืองสมุทรปราการ จับกุมแรงงานข้ามชาติจากพม่าและจากกัมพูชาได้รวม 40 คน (สยามรัฐ 22/01/52)

21/01/52 จังหวัดสตูลได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ตรวจสอบแรงงานชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะในกิจการประมงและงานก่อสร้างต่างๆ และการประสานงานกับตำรวจรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้กลุ่มโรฮิงญาลักลอบเข้ามาในอาณาจักรไทยได้ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 21/01/52)

จากสถานการณ์การจับกุม คุมขัง ส่งกลับจำนวนมากในช่วงเวลาไม่กี่วัน นำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า การมองปัญหาเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เท่ากับ “การก่ออาชญากรรม และการแย่งงานคนไทย” รวมถึงการมองเชื่อมโยงต่อเนื่องกับ “ปัญหาโรฮิงญา” ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เป็นการมองปัญหาแบบตัดตอนหรือไม่ เพราะเห็นแล้วว่าการที่ผู้นำรัฐบาลมองปัญหาโรฮิงญาเป็นเพียงเรื่องของ “คนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ ต่อไป “จะลุกลามไปสร้างปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคง อีกทั้งกระทบกระเทือนต่อโอกาสของแรงงานไทยด้วย” เพียงเท่านี้ กลับจะทำให้รากของปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ฝังรากลึกอยู่แล้วยิ่งจมดินลงไปอีก ปัญหาโรฮิงญา กับ ปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายที่ทำงานแบบหลบๆซ่อนอยู่ในปัจจุบัน เป็นคนละปัญหากัน แม้ว่ารัฐและผู้คนในสังคมไทยจะมองว่าเป็นปัญหาของ “คนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” เหมือนกันก็ตาม

การมองปัญหาทั้ง 2 เรื่อง ให้เป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ อีกหลายปัญหาที่เกี่ยวข้องจะหายไปและถูกทำให้มองไม่เห็น

กรณีปัญหาโรฮิงญา

(1) จนบัดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลไทยมีการสอบสวนอย่างโปร่งใส เปิดเผย และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ถึงกรณีที่กองทัพเรือได้ผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปกลางทะเลโดยเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ และปราศจากน้ำและอาหารในการดำรงชีวิต ตามที่มีการรายงานในเว็บไซต์ของสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 รวมทั้งยังมีการรายงานข่าวที่อ้างจากคำพูดของผู้รอดชีวิตบางคนในจำนวน 193 คน ที่ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ฐานทัพเรือบนเกาะซาบัง จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ว่าถูกทุบตีและถูกกองทัพเรือไทยนำไปปล่อยทิ้งไว้กลางทะเล จนทำให้เรือลอยมาติดที่เกาะแห่งนี้และถูกจับกุมในที่สุด (ผู้จัดการ 25/01/52)

(2) การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการชี้ขาดไม่ให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง โดยปราศจากการคำนึงถึงการนำหลักการแก้ปัญหาด้านอื่นๆมาร่วมใช้ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมาต่อเนื่อง พบว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ให้สัมภาษณ์ว่า “ระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมากที่สุด เนื่องจากปลอดจากมรสุม และพายุต่างๆ โดยเฉพาะปีนี้ทราบว่ากลุ่มโรฮิงญานับหมื่นคนจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยเข้ามาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง เพราะมีกลุ่มบุคคลนับถือศาสนาเดียวกันคอยช่วยเหลือ รวมถึงกลุ่มขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ที่มีเครือข่ายคอยช่วยเหลืออีกทาง ตนได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเข้มแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าพบจะผลักดันไม่ให้เข้ามาใกล้ฝั่ง หรือขึ้นฝั่งได้เป็นอันขาด แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม” (ประชาไท 20/01/52)

(3) การเชื่อมโยงปัญหาโรฮิงญาเป็นเพียงเรื่องของคนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ยิ่งเป็นการทำให้ความรุนแรงของปัญหาที่ชาวโรฮิงญาเผชิญในประเทศพม่า และจำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นไปประเทศที่สาม ถูกลดทอนลงให้กลายเป็นเพียงเรื่องเทคนิคทางกฎหมายเพียงเท่านั้น ที่ใช้มุมมองในการจัดการเพียงนำพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย พ.ศ. 2522 มาแก้ปัญหา โดยปราศจากการเข้าใจและยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญาก็ไม่สามารถเข้าประเทศไทยและประเทศใดๆได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะไม่มีรัฐใดๆในโลกให้การยอมรับว่าชาวโรฮิงญา คือ พลเมืองของรัฐนั้นๆ การไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง นำไปสู่การปราศจากเอกสารรับรองสถานะจากประเทศต้นทาง และทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างถูกกฎหมาย

(4) รัฐบาลไทยหลงลืมที่จะตระหนักว่า เอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยก็ไม่มีนโยบายให้สถานะผู้ลี้ภัยกับผู้พลัดถิ่นจากประเทศต่างๆ จนบัดนี้ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) จากการไม่ลงนามในอนุสัญญาทำให้รัฐบาลไทยไม่มีผลผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องรับผิดชอบและดูแลผู้ลี้ภัยที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาแสวงหาที่พักพิงอย่างปลอดภัย รัฐบาลไทยสามารถสงวนสิทธิในการตัดสินใจได้เองว่าผู้ใดเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่เป็นผู้ลี้ภัยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย พ.ศ. 2522 หรือขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงเท่านั้น รวมถึงรัฐบาลไทยก็ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ.1990 เช่นเดียวกัน

กรณีปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายที่ทำงานอยู่แล้วในประเทศไทย

(1) แรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย ต้องพบกับสถานการณ์ที่แย่กว่าเดิม เพราะจะเผชิญกับปัญหา 2 ระดับ คือทั้งการเป็น “คนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” กับ การตกอยู่ภายใต้คำอธิบายเรื่อง “ก่ออาชญากรรม แย่งงานคนไทย” การเผชิญกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างของปัญหา นำมาสู่การถูกปราบปรามอย่างหนัก และยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ การหลบซ่อนยิ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิแรงงาน และความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2552 มีเหตุก๊าซแอมโมเนียภายในโรงงานของบริษัทแกรมเปี้ยนฟู้ด สยาม จำกัด อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานชำแหละไก่สด ทำให้แรงงานข้ามชาติกว่า 500 คนหนีตาย มีแรงงานจากพม่า ลาว และกัมพูชา ประมาณ 12 คนได้สูดดมก๊าซแอมโมเนียเข้าไปจนหมดสติ ในข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของโรงงานสั่งห้ามเจ้าหน้าที่มูลนิธิ เข้าไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับสูดดมก๊าซแอมโมเนียเข้าไป โดยอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบเพียงเท่านั้น ทาง รปภ.ของโรงงานอ้างว่ามีเพื่อนคนงานนำคนงานที่บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลแล้ว ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้ได้เกิดอุบัติเหตุแบบนี้ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว ทำให้มีแรงงานได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แล้วมาเกิดซ้ำขึ้นอีก แต่โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิต (ข่าวสด 19/01/52)

(2) ในช่วงนี้พบว่ามีแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายในกิจการก่อสร้างจำนวนมาก เช่น ในพื้นที่แม่สอด ชลบุรี สระแก้ว ที่ถูกนายจ้างใช้ข้ออ้างเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาเป็นข้ออ้างในการจ่ายค่าแรงที่น้อยลง และใช้ทำงานเกินเวลาตามที่ตกลงไว้ ที่ทำงานบางแห่งรู้ว่าช่วงนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามแรงงานอย่างหนัก ยิ่งกักขังแรงงานไว้ในสถานที่ทำงานไม่ให้ออกไปไหน บางแห่งก็มีการขึงลวดไฟฟ้าล้อมไว้ป้องกันแรงงานหนีไปทำงานที่อื่น

(3) การนำคำอธิบายเรื่อง “ก่ออาชญากรรม แย่งงานคนไทย” มาใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ กลับยิ่งเป็นการหลอกตนเองให้หลงอยู่ในวังวนของปัญหาที่แก้ไม่ได้เสียที เพราะในเรื่อง “ก่ออาชญากรรม” นั้น ข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล รายงานเรื่องการกวาดล้างอาชญากรรม ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เฉพาะในวันที่ 23 มกราคม 2552 พบว่าในส่วนของคนไทยและแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย พบข้อหายาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ผิดกฎหมายจำนวน 87 คน เป็นข้อหาที่เกิดขึ้นมากที่สุด ตามด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น 4 ราย ข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา 2 ราย ส่วนข้อหา คือ แรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมาย มีเพียงข้อหาเดียว คือ เป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวน 128 ราย เท่านั้น (สยามรัฐ 23/01/52) ฉะนั้นจากข้อมูลที่เกิดขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่า คนไทยและแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย มีโอกาสก่ออาชญากรรมมากกว่าแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมาย

(4) ในเรื่องของ “แย่งงานคนไทย” กลับพบความแตกต่าง เช่น รูปธรรมในพื้นที่สงขลาที่ปัจจุบันยังคงประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง และแรงงานในภาคการก่อสร้าง ที่ยังคงมีความต้องการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะตัวเลขความต้องการจ้างแรงงานที่นายจ้างแจ้งความต้องการไว้มีจำนวน ถึง 31,450 คน ทั้งนี้เนื่องจากงานที่ขาดแคลนส่วนใหญ่คนไทยไม่ทำ เพราะเป็นงานระดับล่างและรายได้ต่ำ จึงจำเป็นต้องนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทน (แนวหน้า 17/01/52)

การบิดเบือนประเด็นการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างด้วยข้ออ้างวิกฤติเศรษฐกิจและแย่งงานคนไทย ด้วยการทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นแพะรับบาปนั้น ไม่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาแม้แต่น้อย กลับแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่มองปัญหาของผู้ใช้แรงงานเป็นเพียงแค่เครื่องมือการสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง และผลักปัญหาภาระให้พ้นตัวเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องตระหนักและเร่งดำเนินการให้มากขึ้น คือการสร้างกลไกป้องกันการเลิกจ้าง และกลไกประกันการว่างงานที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกำลังความสามารถของผู้ใช้แรงงานทุกคน รวมถึงการสร้างอำนาจการต่อรองให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อป้องกันมิให้นายจ้างทั้งหลายที่แอบอ้างการใช้วิกฤตเศรษฐกิจมาทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและปลดคนงานเก่า เพื่อลดต้นทุนการผลิตของตนเอง

(5) รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานในรอบใหม่ ด้วยข้ออ้างดังที่กล่าวมา ยิ่งเป็นการทำให้แรงงานที่อยู่ในกระบวนการจ้างงานเดิมอยู่แล้ว อย่างน้อย 1 ล้าน 5 แสนคน แต่ยังไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกิจการอุตสาหกรรมการส่งออก เช่น ประมงทะเล หรือในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการจัดทำใบอนุญาตทำงาน หรือสามารถไปต่อใบอนุญาตทำงานได้ทุกปี ยิ่งจะเป็นการทำให้การจ้างงานในกิจการเหล่านั้นยังต้องวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ คือ มีการลักลอบจ้างแรงงานผิดกฎหมาย มีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขาดกลไกคุ้มครองในเรื่องสิทธิแรงงานต่างๆ

(6) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาระบบที่จะผลักดันให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์สัญชาติ การนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทุกสมัย ขาดความตระหนักมากขึ้น ก็คือ การย้ายถิ่นข้ามชาติที่เกี่ยวพันกับประเด็นภายในประเทศต้นทาง เช่น กรณีความขัดแย้งทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งกลไกที่ดำเนินการอยู่ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การดึงดันที่จะดำเนินการด้วยระบบนี้เพียงประการเดียวเท่านั้น จะยิ่งผลักให้คนข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีทางออกอื่น นอกจากการกลับไปเป็นแรงงานลักลอบทำงานไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรจะต้องเร่งดำเนินการคือ การทบทวนและการแสวงหาแนวทางอื่นในการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยตั้งบนพื้นฐานของการมองการย้ายถิ่นที่มีปัจจัยอื่นๆมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้ง 10 ข้อ และหยิบยกมาพูดถึงในครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลง หรือก้าวไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาและการจัดการแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เป็นการพิสูจน์ศักยภาพของรัฐบาลไทยที่จะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน ว่าจะสามารถนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นตัวอย่างแก่กลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหลายได้หรือไม่ด้วยเช่นกัน หรือเอาเข้าจริงแล้ว ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจสามารถสรุปได้สั้นๆว่า “รัฐบาลรูปหล่อ ใจร้าย"

โดย : ประชาไท วันที่ : 28/1/2552