Thai / English

สมานฉันท์ผู้หญิงทำงานในภูมิภาคเอเชีย: นับถอยหลังสู่ 100 ปีวันสตรีสากล (1)



21 .. 52
ประชาไท

20 ม.ค. 51 – ที่โรงแรมบางกอกรามา (บ้านสิริ) มีการจัดเสวนา “สมานฉันท์ผู้หญิงทำงานในภูมิภาคเอเซีย: นับถอยหลังสู่ 100 ปีวันสตรีสากล” ซึ่งจัดโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและ Action Aid โดยมีนักกิจกรรมหญิงจำนวน 25 คน จากเอเชียใต้และภูมิภาคอินโดจีนเข้าร่วมเสวนา

โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักเคลื่อนไหว นักจัดตั้ง นักฝึกอบรม ระหว่างคนงานหญิง คนจากชนบท และคนทำอาชีพอิสระ คนงานต่างชาติ คนงานสิ่งทอ เพื่อทำการศึกษาและทำความเข้าใจในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงผ่านการค้าและการเปิดเสรีทุกอย่างตามแนวทางเสรีนิยม เพื่อชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ส่งผลต่อประเด็นเพศและแรงงานอย่างไร รวมถึงเพื่อสร้างความสมานฉันท์ เพื่อผลักดันให้เกิดการเฉลิมฉลองครอบรอบ 100 ปี วันสตรีสากลในปี พ.ศ. 2554

ในหัวข้อ Sex & Gender / Gender Socialization จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง “เพศ” และ “ฐานะทางเพศ” รวมถึง “ผู้หญิง” และ “ผู้ชาย” ถูกสังคมกำหนดบทบาทอย่างไร นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประสบการณ์และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “ฐานะทางเพศ” ในสังคมของผู้เข้าร่วมเสวนา โดยเฉพาะค่านิยมเกี่ยวกับการจัดวางผู้หญิงให้อยู่ในกฎระเบียบและการกดขี่เอาเปรียบผู้หญิงในแต่ละที่

ในหัวข้อ “tea plantation from Sri Lanka” ตัวแทนหญิงจากศรีลังกา Krishnan Yogeshwari และ Aqsa Khan ได้บรรยายถึงสภาพการทำงานและการต่อสู้ของแรงงานหญิงในศรีลังกา

ทั้งนี้ในไร่ชาของศรีลังกา มีแรงงานหญิงมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งอุตสาหกรรมชาของศรีลังกามีมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 13 ของการค้ากับต่างประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมภาคสิ่งทอซึ่งมีแรงงานหญิงอยู่มากด้วยเช่นกันก็มีมูลค่าถึง 2.5 ล้านดอลลาร์ แต่รายได้ต่อวันของแรงงานศรีลังกายังต่ำกว่า 2 ดอลลาร์

ผู้หญิงในศรีลังกาเริ่มทำงานตั้งแต่ตีห้าถึงสี่ทุ่ม เริ่มจากการทำงานในไร่ชาก่อน โดยเก็บชาจะเริ่มตั้งแต่ 7.30 น. ถึง 17.30 น. ส่วนแรงงานชายส่วนใหญ่ทำงาน 7.30 น. – 12.00 น. แต่ยังได้เงินค่าแรงเท่ากับแรงงานหญิง แรงงานหญิงจะเริ่มทำงานบ้านหลัง 17.30 น. ทั้งทำกับข้าว, ผ่าฟืน, ตักน้ำ, ดูแลสวนผัก, ดูแลลูกๆ และญาติพี่น้องที่เจ็บไข้ได้ป่วย

รวมถึงผู้หญิงยังไม่มีพลังต่อรองในสังคม ไม่มีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการในกลุ่มย่าน สหภาพแรงงาน รวมถึงพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ชายจะมีอำนาจควบคุมเพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้กลุ่มแรงงานหญิงในไร่ชาซึ่งเป็นแรงงานที่ขาดทักษะยังโดนคุกคามและเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสังคมบ่อยครั้ง

แต่กระนั้นในศรีลังกาเองก็ยังมีก้าวเล็กๆ แห่งความหวังอยู่ โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงผ่านเครือข่ายคณะกรรมการโบสถ์ (temple committee) ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยปลุกปลอบใจให้กับคนในสังคม และรวมถึงการที่ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแต่ละที่

และในหัวข้อ Story of NAT Migration and trafficking of labour: domestic, regional & international ได้มีการบรรยายถึงเรื่องราวของกลุ่ม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการการไปทำงานต่างประเทศ (Net Work against Exploitation & Trafficking of Migrant Workers: NAT) อันเป็นเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ที่ดำเนินการให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ที่ถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและหรือถูกส่งกำหนดโดยไม่ได้รับค่าเสียหาย

ชุติมา ไชยหงส์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการการไปทำงานต่างประเทศ ได้เล่าถึงประสบการที่เคยไปทำงานต่างประเทศ (ประเทศไต้หวัน) ที่ได้รับการเอาเปรียบจากทั้งเอเย่นแลนายจ้างเอาเปรียบ และเมื่อกลับมายังประเทศไทยยังต้องประสบกับปัญหาหนี้สิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาเดียวกันนี้ ส่วนจรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้อธิบายให้เห็นโครงสร้างการค้าแรงงานข้ามชาติซึ่งนอกจากจะมีการจัดส่งกันตามระเบียบของรัฐต่อรัฐแล้ว (ที่มีการเซ็นสัญญา IOM และ MOU) บริษัทจัดหางานยังมีเทคนิคที่จะนำแรงงานไปทำงานต่างประเทศในอีกหลายวิธี เช่น การใช้พาสปอร์ตนักท่องเที่ยว, การส่งไปฝึกงาน, การแต่งงานกับชาวต่างชาติ หรือแม้แต่การพาลักลอบผ่านแดนโดยผิดกฎหมาย