หวั่นพิษศก.ต่างด้าวแย่งงานคนไทย รัฐบาลเก่าไม่กล้ารับจดทะเบียนใหม่05 .. 52 เครือมติชน เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายพิชัย เอกพิทักษ์ดำรง อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่เห็นชอบให้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้เกิดวิกฤตการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวอาจแย่งงานของแรงงานไทยได้ ดังนั้นคณะบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) จึงมีมติให้ระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน โดยแรงงานที่เคยขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานไว้แล้วสามารถต่อสัญญาเพื่อประกอบอาชีพภายในประเทศไทยต่อไปได้ นายวสันต์ สาทร ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (สบต.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่นั้น กบร.ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เนื่องจากต้องรอให้มีรองนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาดูแล กบร. ก่อน จากนั้น กบร.จึงดำเนินการต่อไปได้ สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทำงานเมื่อปี 2551 ที่จะหมดอายุลงต้นปีนี้นั้น ได้ประกาศให้แรงงานดังกล่าวมาขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานเขต โดยต้องจดทะเบียนกับนายจ้างเดิม หากเปลี่ยนนายจ้างใหม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานก่อน นายวสันต์กล่าวว่า สำหรับการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวจะแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ 1.แรงงานที่ใบอนุญาตและหมดอายุในวันที่ 20 มกราคม สามารถต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 5-20 มกราคม 2.หมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เริ่มจดทะเบียนวันที่ 10-28 กุมภาพันธ์ 3.หมดอายุวันที่ 14 มีนาคม เฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสงขลา ต่ออายุตั้งแต่วันที่ 13-24 มีนาคม 4.แรงงานที่ใบอนุญาตหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน ต่อใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวว่า การที่รัฐคิดว่าแรงงานต่างด้าวจะแย่งอาชีพแรงงานไทย ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากงานที่แรงงานต่างด้าวทำส่วนใหญ่เป็นงานคนไทยไม่นิยมทำ เช่นแรงงานด้านประมง ดังนั้น รัฐบาลควรออกนโยบายที่ชัดเจนในการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ "ผลดีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่ จะช่วยป้องกันระบบส่วยของเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าว และช่วยป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ซึ่งมีผลต่อการส่งออก" นายสมพงศ์กล่าว |