ปี" 52 วิกฤตแห่งการเลิกจ้าง ร่วมกันฝ่าฟัน-หาทางออก? ทางออกของคนงาน ทางเลือกทางรอดของ"ทองพัด"ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com 02 .. 52 เครือมติชน ร้านอาหารอีสานเล็กๆ อยู่ติดกับถนน มีโต๊ะ-เก้าอี้ตั้งอยู่ 3-4 ชุด เจ้าของร้านกำลังมือระวิงอยู่กับการตำส้มตำสลับกับการย่างไก่และคอหมู เสียงลูกค้ารายใหม่ตะโกนสั่งอาหาร 4-5 อย่าง หนุนเนื่องต่อจากลูกค้าเก่าที่เพิ่งกินเสร็จและสั่งให้เก็บเงิน ลูกค้าทยอยเข้า-ออกไม่ขาดระยะ ทำให้เพียงบ่ายแก่ๆ ข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ขายในวันนั้นก็หมดเกลี้ยง เจ้าของร้านเป็นหญิงวัยกลางคนชื่อทองพัด เอ้กันหา อดีตลูกจ้างบริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่านอ้อมน้อย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทองพัดเป็นคนงาน 1 ใน 322 คน ที่ถูกลอยแพอย่างไร้ความปรานี เพราะนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมาย ทั้งๆ ที่เธอทำงานอยู่ในโรงงานแห่งนี้มากว่า 20 ปี ตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่นจนอายุปาเข้าไปเกือบ 50 ปี บริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด เป็นโรงงานทอผ้าเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 ในยุคบุกเบิกของอุตสาหกรรมไทยที่มีแรงงานราคาถูกเป็นตัวล่อ ผลผลิตจากฝีมือคนงานสร้างความร่ำรวยให้กับนายจ้างเรื่อยมา จนเพิ่มพูนเป็นกองมรดกแบ่งปันให้ลูกหลานล่ำซำกันถ้วนหน้า แต่เมื่อหมดยุคทองของกิจการทอผ้าในประเทศไทย นายจ้างกลับใช้วิธีซิกแซกยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแล้วปล่อยให้กิจการล้มละลาย ทองพัดและเพื่อนๆ ถูกนายจ้างเนรคุณโดยการเลิกจ้างเมื่อเดือนกันยายน 2550 ทั้งๆ ที่สู้ทำงานกันแบบถวายใจถวายกายมาทั้งชีวิต เมื่อถึงวัยปลายทางของคนใช้แรงงานก็มุ่งหวังที่จะฝากผีฝากไข้ไว้ที่นี่จนเกษียณ แต่กลับถูกทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย สุดท้ายกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ไม่สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ดั่งชื่อ ทั้งทองพัดและเพื่อนๆ ได้แค่เงินจากกองทุนการเลิกจ้างของภาครัฐเพียงคนละ 1.5 หมื่นบาท 2 ครั้ง แทนที่จะได้ค่าชดเชยที่มากกว่านี้หลายสิบเท่าตามที่เขียนไว้ในกฎหมาย น้าๆ ป้าๆ ลูกจ้างบริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืดถูกปล่อยให้ลอยคอเท้งเต้ง ขณะที่ลูกหลานของเถ้าแก่ยังสบายใจเฉิบกับการตีกอล์ฟ เป็นความแตกต่างระหว่างนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพที่ดำรงอยู่มาทุกยุคทุกสมัย หลังเหตุฆาตกรรมหมู่คนงานโรงงานแห่งนี้โดยฆาตกรยังลอยนวล กระทรวงแรงงานหาทางเยียวยาด้วยการให้ฝึกอาชีพใหม่ แต่วิถีชีวิตคนจะเปลี่ยนง่ายอย่างนั้นเชียวหรือ??? "เขาให้เราฝึกนวดแผนไทย แต่พี่รู้สึกว่าคนมันเยอะ แถวนี้ก็เป็นย่านคนงาน แถมเรายังไม่มีห้องดีๆ ไว้บริการ พี่เลยไปฝึกทำอย่างอื่น" ทองพัดเล่าถึงที่มาของอาชีพแม่ค้าส้มตำ "เราเป็นคนอีสาน ปกติทำอาหารประเภทนี้กินอยู่แล้ว แต่รสชาติเป็นไปตามที่เราชอบ พี่เลยยอมเสียเงินไปอบรมที่เทคโนโลยีชาวบ้านของมติชน ทำให้รู้ว่ารสชาติที่คนทั่วไปเขาชอบเป็นอย่างไร" แต่เพื่อนๆ ของทองพัดไม่ได้มีโอกาสเยี่ยงเธอ เพราะไม่มีทุนและไม่ได้มีนิสัยรักการทำอาหารเช่นเดียวกับเธอ "เขาบอกว่าฝึกอาชีพแล้วจะมีเงินกองทุนให้กู้ยืม แต่เอาเข้าจริงๆ ต้องให้มีข้าราชการตั้งแต่ ซี 3 ค้ำประกันให้ แล้วพวกเราจะไปหาใครล่ะ ทำงานอยู่แต่ในโรงงานกันมาทั้งชีวิต" คำถามของทองพัดเป็นคำถามเดียวกันกับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานคิด ในแต่ละปีมีตัวเลขผู้ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานภาครัฐพุ่งสูงกระฉูดจนจดสถิติแทบไม่ถูก แต่ในความเป็นจริงจะมีสักกี่คนที่นำความรู้ที่ได้ไปใช้ทำมาหากินได้ ความล้มเหลวของการฝึกอาชีพโดยภาครัฐ เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่คิดจากข้างบนลงล่าง จึง มีความแข็งตัวตามประสาราชการ ที่สำคัญคือไม่มีการคำนึงถึงภูมิชุมชนแต่ละแห่ง และการหนุนเสริมให้ครบกระบวนการ ในที่สุดการฝึกอาชีพจึงเป็นเพียงแค่การจ้างคนมานั่งฝึกอบรม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังแรงงานอย่างแท้จริง "ช่วงแรกพี่มีเงินลงทุนแค่ 4,000 บาท เท่านั้น เอามาซื้อนู่นนิดซื้อนี่หน่อยก็หมดแล้ว โชคดีที่ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ อาศัยบ้านแม่ของสามีเปิดเป็นร้าน" ร้านส้มตำของทองพัดเริ่มต้นด้วยแรงใจหนุนเอื้อของเพื่อนฝูงที่ตกงาน คนนั้นชิมนิด คนนี้ติหน่อย โดยไม่ต้องจ้างสุดยอดนักชิมมาการันตี ในที่สุดรสชาติอาหารอีสานของเธอก็พัฒนาจนเป็นที่ติดใจของลูกค้า และบอกต่อกันไปเรื่อยๆ จนลูกค้าคึกคัก "เดี๋ยวนี้มีลูกค้าประจำเยอะ ทั้งข้าราชการและคนทั่วไป ตอนนี้กำลังเริ่มรับงานข้างนอก ปีใหม่นี้ทาง อบต.เหมาไปเลี้ยง ต้นเดือนหน้าก็มีลูกค้าเหมาให้ไปงานเลี้ยงรุ่นในกรุงเทพฯ" ทองพัดผ่านช่วงความยากลำบากมาได้ และเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ลงตัว "ตอนทำงานในโรงงานได้เดือนละ 8,000 กว่าบาท ตอนนี้แม้ไม่แน่นอน แต่ก็อยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน แถมสบายใจกว่ากันเยอะ" ทุกวันนี้สถานการณ์การเลิกจ้างทวีความรุนแรงขึ้นทุกที ซึ่งทองพัดเองก็ได้ยินเสียงบ่นถึงความไม่แน่นอนจากลูกค้าที่เป็นคนงานอยู่เป็นประจำ ยิ่งย่านอ้อมน้อยมีแต่โรงงาน ทำให้ชุมชนอยู่ในอาการหวาดผวาหวั่นว่าจะตกงานจากพิษเศรษฐกิจไม่วันใดก็วันหนึ่ง "เขาถามว่า กำลังตกงานจะทำอย่างไรดี เราก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร เห็นใจเขามาก แต่บางคนเขาก็เลือกงาน เราก็ได้แต่บอกว่าต้องสู้" ทุกวันนี้ทอดพัดมีเงินพอจ่ายค่าประกันสังคมเดือนละ 432 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าลูกจ้างทั่วไป เพราะเป็นการประกันตนเองจึงต้องรับภาระในส่วนของนายจ้างด้วย ขณะที่เพื่อนๆ อดีตลูกจ้างโรงงานเดียวกัน ยังต้องเผชิญชะตากรรมลุ่มๆ ดอนๆ กว่าจะหาเงินมาจ่ายค่าประกันตนได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น เพียงหวังไว้พึ่งพากองทุนเงินชราภาพในยามแก่เฒ่า ซึ่งเป็นสวัสดิการอย่างเดียวในชีวิต ทองพัดสู้ด้วยตัวเองจนสามารถเขย่าชีวิตได้ลงตัว แต่เมื่อคิดถึงคนงานที่กำลังถูกเลิกจ้างอีกเป็นล้านคนในปีนี้แล้วรู้สึกยะเยือกใจ ภาครัฐเตรียมตัวรับมือไว้ดีแล้วจริงหรือ??? ***ทางออกระดับนโยบายของไพฑูรย์ แก้วทอง*** สถานการณ์การเลิกจ้างเริ่มต้นรุนแรงมาตั้งแต่กลางปี 2551 โดยจนถึงสิ้นปีจากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพบว่า มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างแล้ว 597 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 48,602 คน และอีก 265 แห่ง มีแนวโน้มสูงที่จะเลิกจ้าง ทำให้ลูกจ้าง 130,480 คน กำลังตกอยู่ในอาการระทึกขวัญ กระทรวงแรงงานได้รัฐมนตรีคนใหม่ชื่อนายไพฑูรย์ แก้วทอง ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งนี้เป็นหนที่ 2 หลังจากเมื่อกว่า 10 ปีก่อนเคยนั่งเก้าอี้นี้มาแล้ว ตั้งแต่ยุคเริ่มตั้งกระทรวงแรงงาน แต่เที่ยวนี้เขาต้องเจอศึกหนัก ทั้งความผันผวนทางการเมือง และการทรุดตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการเลิกจ้าง เขามองว่า วิกฤตครั้งนี้มีความคล้ายแต่ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 "ตอนปี 2540 เริ่มจากภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องค่าของเงิน เพราะเรากู้เงินจากต่างประเทศกันมาก พอค่าเงินลอยตัวประมาณ 40-50 บาท ทำให้เป็นหนี้สองเท่า เมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา ทำให้สถานประกอบการขาดสภาพคล่อง แม้จะยังมีคำสั่งซื้อและผลิตได้อยู่ ตรงนี้แก้ง่ายหน่อย โดยพยายามให้มีการปล่อยกู้และไม่ให้คนที่ลงทุนเอาเงินออก" หลังการแก้ปัญหาจนเกิดสภาพคล่อง นายไพฑูรย์บอกว่า ทำให้การส่งออกขยายตัวมากจนมีสถานประกอบการไปจดทะเบียนเพื่อการส่งออกกับกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันสูงถึง 15,000 แห่ง "แต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ครั้งนี้ ตลาดใหญ่ที่สุดของเราอยู่ที่อเมริกาและยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ต้องประหยัดเพราะเศรษฐกิจแย่ กำลังซื้อน้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราผลิตทั้งหลายจึงขายไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าอันดับหนึ่ง พวกเครื่องมือคอมพิวเตอร์ กิจการผลิตอะไหล่ประกอบรถยนต์ เมื่อกำลังซื้อไม่มี แถมธนาคารไม่ปล่อยกู้อีกเพราะกลัวหนี้เสีย ทำให้สถานประกอบการต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งทำให้คนว่างงาน จากการสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่า ขณะนี้มีอยู่ราว 4,000 ราย ที่จะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจะรุนแรง ประมาณการว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องเลิกจ้างลูกจ้าง 200 คน รวมแล้วมีคนงานได้รับผลครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 8 แสนคน นอกจากนี้ยังมีลูกจ้างในสถานประกอบการที่ไม่จดทะเบียนอีกราว 1 แสนคน รวมกับนักศึกษาที่จบใหม่ในปีนี้และที่ตกค้างอยู่อีก 6-7 แสนคน น่าจะทำให้มีคนว่างงานอยู่ที่ 1.5 ล้านคน" ดังนั้น ในทันทีที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เขาจึงได้เสนอวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาแรงงาน "วาระแห่งชาตินี้ควรมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เอากระทรวงอื่นๆ เป็นกรรมการ และกระทรวงแรงงานเป็นเลขานุการ" นอกจากนี้นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ได้ระบุเกี่ยวกับประเด็นการสร้างงานและเร่งรัดฝึกอบรมคนที่จะเข้าสู่การว่างงาน ซึ่งรวมทั้งผู้จบใหม่ด้วย "ผมจะให้นโยบายกับบอร์ดประกันสังคมว่า จะขอสักหมื่นล้าน เอามาฝากธนาคาร เอาดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าปกติ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไปปล่อยสินเชื่อประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ให้สถานประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขว่าเขาต้องไม่ปลดคนงาน นี่คือการลดหรือชะลอการว่างงาน นอกจากนี้ เราต้องลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้พวกเขาได้อยู่ภาคเกษตรต่อไปภายหลังช่วงเพาะปลูก และเราต้องพยายามลดค่าครองชีพให้เขาให้ได้" นายไพฑูรย์ได้ประกาศมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ในส่วนของลูกจ้างที่ต้องการเปลี่ยนงานหรือถูกเลิกจ้างก็สามารถเขียนโครงการเสนอธนาคารที่ทำสัญญากับสำนักงานประกันสังคมไว้ เพื่อขอกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน "จริงๆ แล้วการไปขอกู้เงิน เขาไม่สนใจเรื่องหลักทรัพย์เท่าไหร่ เขาสนใจเรื่องตัวบุคคลกับโครงการมากกว่า ตรงนี้ถ้ามันไปได้ อย่าแต่หมื่นล้านเลย สองหมื่นล้านหรือแสนล้านก็ให้ได้ เพราะการเอาเงินฝากไปใช้ในลักษณะนี้มันเข้าถึงผู้ประกันโดยตรง ถ้าแบบนี้ก็ไม่ต้องตั้งธนาคารของผู้ประกันตน ใช้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้บริหาร เราไม่ต้องเสี่ยง ดอกเบี้ยก็ได้ แต่ได้กำไรน้อยหน่อย" นอกจากปัญหาเลิกจ้างแล้ว นายไพฑูรย์ยังบอกว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนไปยังครอบครัว นอกจากนี้ในส่วนของเงินสมทบที่ลูกจ้างต้องจ่ายกันเดือนละ 5% ก็ควรมีการพิจารณาว่าตรงไหนที่สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ประกันตนได้อีกบ้าง แต่ต้องดูเสถียรภาพของเงินกองทุนเป็นหลัก **กองทุน 9 แสนล้านช่วยผู้ประกันตนอย่างไร** กองทุนประกันสังคมกว่า 9.3 แสนล้านบาท สามารถนำมาจุนเจือผู้ประกันตนที่กำลังตกงานอย่างไรได้บ้าง ซึ่งนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) บอกว่า ขณะนี้ได้เตรียมขยายเวลาการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจาก 6 เดือน เป็น 8 เดือน โดยในช่วง 8 เดือนนี้คนงานที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพหรือถูกเลิกจ้างสามารถหาช่องทางในการทำมาหากินใหม่ได้ โดย สปส.จะจับมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.ในการปล่อยกู้ "ธ.ก.ส.มีโครงการ 108 อาชีพ ซึ่งมีช่องทางให้เลือกหลากหลาย เอาความต้องการของลูกจ้างเป็นตัวตั้ง การปล่อยกู้ให้คนงานก็คงไม่ต้องใช้อะไรค้ำประกันมาก แค่มีบุคคลมาร่วมค้ำประกันก็พอ หรือบางทีลูกอาจไปรีไฟแนนอาชีพที่พ่อแม่ทำไว้ก็ได้" เลขาธิการ สปส.บอกถึงวิธีการ นายปั้นกล่าวว่า เป้าหมายของ สปส.คือ ต้องการให้สถานประกอบการเก็บคนงานไว้ให้มากที่สุด เพราะโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว โรงงานจำนวนมากยังมีศักยภาพในการผลิตอยู่ ดังนั้น หากในไตรมาส 4 ของปีนี้หรือไตรมาสแรกของปีหน้า หากสภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กิจการเหล่าก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างที่ออกจากงานไปแล้วกลับสู่ระบบได้อีก |