สหพันธ์แรงงานยานยนต์ผวา ปลด2แสนคนเริ่มวิกฤตไตรมาสแรกปีหน้า14 .. 51 เครือมติชน หวั่นแรงงานยานยนต์ 2 แสนรายทยอยตกงาน หลังยอดสั่งซื้อรถยนต์ 3 เดือนแรกปีหน้าหายจ้อย วอนนายจ้างจ่ายโบนัสไปทำทุน โรงงานปทุมฯจ่อเลิกจ้างอีกหลายพัน "บุช"โดดช่วย 3 บิ๊กรถยนต์ โยกงบฯอุ้มแบงก์มาดูแล 3 บิ๊กเอเชีย"จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี" จี้ให้เร่งตั้งกองทุนแก้วิกฤต @ รง.ปทุมเลิกจ้างอีกหลายพัน โรงงานกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตรถยนต์ ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่แรงงานจะถูกเลิกจ้าง โดยนางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ถึงสถานการณ์การเลิกจ้างขณะนี้ว่า กิจการด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลังประสบปัญหามาก ล่าสุดได้รับรายงานว่าในสัปดาห์หน้าโรงงานในย่าน จ.ปทุมธานี จะเลิกจ้างลูกจ้างอีกหลายพันคน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของ กสร.ได้เข้าไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่จ่ายค่าชดเชยต่างๆ ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ยังคงต้องมีอยู่ เห็นได้จากนายจ้างยังยอมจ่ายเงินตามกฎหมาย แตกต่างจากวิกฤตตอนปี 2540 ที่ขณะนั้นตั้งตัวกันไม่ทัน @ ชี้นายจ้างพยายามปรับตัว นางอัมพรกล่าวว่า เวลานี้นายจ้างพยายามปรับตัว เห็นได้จากในหลายแห่งที่มีการเลิกจ้าง จะมีการบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เพราะนายจ้างไปไม่ไหวจริงๆ แต่ยังคิดว่าในอนาคตอาจจะกลับมาดำเนินธุรกิจเหมือนเดิม เพราะต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ยิ่งมีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิยิ่งทำให้กลายเป็นตัวเร่งมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ แค่ขาดชิ้นส่วนที่นำเข้าเพียง 1-2 วันก็เกิดปัญหาแล้ว "บางบริษัทเคยมีออเดอร์ 8 แสน ตอนนี้ก็เหลือแค่ 8 พัน แต่เขาพยายามปรับตัว ไปหาตลาดใหม่ๆ ในลาว กัมพูชา บางบริษัทมีระบบที่ดี จริงๆ แล้วการมีสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ในทางตรงกันข้าม สหภาพแรงงานอาจช่วยเจรจากับพนักงาน และเป็นเครดิตในการกู้เงินด้วย" นางอัมพรกล่าว และว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็น 3 ระดับ คือ 1.เลิกจ้างลูกจ้าง 2.มีแนวโน้มเลิกจ้าง 3.ได้รับผลกระทบจนทำให้สภาพการจ้างเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วางแผนในการแก้ไขปัญหาให้ทันกับสถานการณ์ต่อไป @ ยานยนต์หวั่น2แสนคนถูกปลด นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีอยู่ราว 5 แสนคน โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงว่าจะถูกเลิกจ้าง คือแรงงานเหมาค่าแรงที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน ขณะนี้เริ่มทยอยถูกเลิกจ้างไปแล้ว โดยโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า ที่มีพนักงาน 1.5 หมื่นคน เป็นลูกจ้างเหมาค่าแรงกว่า 8 พันคน ตอนนี้เลิกจ้างไปแล้ว 200 คน เช่นเดียวกับลูกจ้างเหมาค่าแรงของโรงงานจีเอ็ม เลิกจ้างไปแล้ว 200 คน ล่าสุดทราบว่าโรงงานของอีซูซุ มีลูกจ้าง 3-4 พันคน ได้ลดเวลาการทำงานจากที่เคยเข้า 2 กะ เหลือเพียงกะเดียว ถามว่าแล้วคนงานเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน แถมยังมีการเปิดรับให้ลาออกโดยสมัครใจด้วย "ผมเชื่อว่าหลังไตรมาสแรก ราวเดือนมีนาคม-เมษายน สถานการณ์จะยิ่งรุนแรงเพราะออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) หมดลง และยังไม่มีคำสั่งใหม่เข้ามา ลูกจ้างส่วนใหญ่ของโรงงานประกอบรถยนต์มีเงินเดือนเพียง 7-8 พันบาท แต่ที่ได้ 2 หมื่นบาท เพราะทำงานล่วงเวลา หากไม่มีงานล่วงเวลาคงลำบากกันมาก เพราะต่างกู้หนี้ยืมสิน ผ่อนบ้านผ่อนรถกันไว้แล้ว จะไปหาเงินมาจากไหนกัน" นายยงยุทธกล่าว @ วอนนายจ้างจ่ายโบนัสเป็นทุน นายยงยุทธกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2542 กิจการด้านประกอบรถยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการลดค่าเงินบาท ผู้ประกอบการต่างมีกำไรสะสมและขยายโรงงานกันใหญ่โต และตลอด 9 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่ช่วงนี้เท่านั้นที่เกิดปัญหาซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในสหกรัฐ ทำให้คำสั่งซื้อจากตะวันออกกลาง ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ลดลง ดังนั้น จึงยังควรจ่ายโบนัสให้พนักงานเหมือนเดิม "ผมเชื่อว่าลูกจ้างเอาท์ซอร์สจะถูกเลิกจ้างกันเกือบหมดในกิจการประกอบรถยนต์ เรื่องนี้กระทรวงแรงงานควรติดตามสถานการณ์ให้ใกล้ชิดกว่านี้ ควรตั้งคณะกรรมการระดับชาติร่วมระหว่างสหภาพแรงงานและราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา เพราะตอนนี้มีหลายบริษัทที่ฉวยโอกาสเลิกจ้างระหว่างที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง" นายยงยุทธกล่าว @ "บุช"ดึงเงินอุ้มแบงก์ช่วยบิ๊กรถยนต์ วันเดียวกันนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น บีบีซี เอพี และเอเอฟพีรายงานว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐ อาจจะพิจารณานำเงินส่วนหนึ่งจากแพคเกจกู้วิกฤตเศรษฐกิจ มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ที่เตรียมไว้สำหรับช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ มาใช้ในการช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 3 แห่ง ที่กำลังประสบปัญหาใกล้ที่จะล้มละลายไปก่อน การออกมาประกาศแผนการนี้เป็นการฟื้นความหวังของอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมาหลังจากที่ข้อเสนอที่จะใช้วงเงินกู้จากรัฐมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกปฏิเสธจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากจากซีกพรรครีพับลิกันของประธานา ธิบดีบุชเอง ในการลงมติก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง โดยแผนการดังกล่าวนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและได้รับการสนับสนุนจากทำเนียบขาว การตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นการต่อชีวิตให้กับเจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) และไครส์เลอร์ ที่ระบุว่าพวกเขาเหลือเงินสดที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ รวมทั้งฟอร์ด มอเตอร์ที่สถานะดีขึ้นมาหน่อย แต่กำลังขาดสภาพคล่องและต้องการแหล่งเงินกู้โดยเร็ว นับเป็นการกลับลำจากจุดยืนเดิมของฝ่ายบริหารของบุช ที่เคยประกาศถึงวิธีการที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะไม่แตะต้องเงินจำนวน 7 แสนล้านดอลลาร์ ของกองทุนโครงการฟื้นฟูสินทรัพย์ที่มีปัญหา (ทีเออาร์พี) ที่ได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่การที่ร่างกฎหมายช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์วงเงิน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ถูกคว่ำในวุฒิสภาเมื่อคืนวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาทำให้เหลือทางเลือกไม่มากนัก @ คลังประสานเสียงพร้อมช่วย แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า "จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอลงในปัจจุบัน เราจะพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ถ้าหากจำเป็น รวมทั้งการใช้เงินจากเงินกองทุนทีเออาร์พีด้วย เพื่อป้องกันการพังทลายของบริษัทรถยนต์ที่กำลังประสบปัญหา การพังลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมรถยนต์จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของเรา และจะเป็นการไม่รับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจของเราอ่อนแอลงและไร้เสถียรภาพมากไปกว่านี้อีกในเวลานี้" นางดานา เพอริโน โฆษกของทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีบุชได้พบกับคณะที่ปรึกษาเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 ธันวาคมเพื่อหารือถึงทางเลือกต่างๆ แล้ว ด้านกระทรวงการคลังของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลเงินกองทุนทีเออาร์พี ออกแถลงการณ์ ระบุว่า พวกเขากำลังหาหนทางให้เงินช่วยเหลือชั่วคราวกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "เนื่องจากสภาคองเกรสล้มเหลวในการแก้ปัญหา เราจึงเตรียมพร้อมที่จะป้องกันความล้มเหลวที่กำลังจะเกิดขึ้นจนกว่าคองเกรสจะสามารถหาทางออกได้" นายรอน เก็ตเทิลฟิงเกอร์ ประธานสหภาพแรงงานรถยนต์ออกมาแสดงความยินดีกับคำประกาศของทำเนียบขาวและกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า เป็นข่าวดีมากแต่ยังคงกังวลกับเรื่องรายละเอียดต่างๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผย แต่เรียกร้องให้มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือดังกล่าวอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ @ แคนาดาเจียดเงินอุ้ม3บริษัทด้วย ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า หลังจากที่จีเอ็มประกาศว่า จะลดกำลังการผลิตในไตรมาสแรก ปี 2552 ลงจำนวน 250,000 คัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมดตามปกติ และจะปิดโรงงานในทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งในสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา ลงจำนวน 21 แห่ง รัฐบาลแคนาดาได้ออกมาประกาศว่า จะให้เงินช่วยเหลือบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 แห่ง ราว 20 เปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนของจำนวนเงินที่สหรัฐจะให้ความช่วยเหลือและหลังจากที่สหรัฐสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ความช่วยเหลือทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวอย่างไร หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ว่า ฝ่ายบริหารของบุชยังคงตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้เงินช่วยเหลือจำนวนเท่าไหร่แก่บริษัทรถยนต์และด้วยวิธีไหน @ โตโยต้าจ่อขาดทุน3.74แสนล. เอเอฟพียังรายงานด้วยว่า โตโยต้า บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจะขาดทุนในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณคือนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2551 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2552 ทั้งสิ้น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.74 แสนล้านบาท จากสาเหตุที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นและอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก @ บิ๊กเอเชียจี้เร่งตั้งกองทุนแก้วิกฤต เอเอฟพีรายงานว่า การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก 3 ชาติเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมนั้น ผู้นำทั้ง 3 ชาติได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในการจัดตั้งกองทุนกู้วิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคขึ้น โดยแต่เดิมทั้ง 3 ชาติได้ตกลงกับชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ชาติ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาให้มีการจัดตั้งกองทุนร่วมมูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในเดือนมิถุนายน 2552 เพื่อกู้วิกฤตการเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยกองทุนดังกล่าวจะเป็นการขยายผลจากโครงการความริเริ่มเชียงใหม่เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้นำทั้ง 3 ชาติยังเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนให้แก่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเพื่อใช้ในการช่วยเหลือประเทศเศรษฐกิจใหม่ในการรับมือกับปัญหาวิกฤตการเงินด้วย |