รายงานเสวนา: ทิศทางและข้อเสนอทางเลือกจากผู้ใช้แรงงานในเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติ08 .. 51 ประชาไท เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ราชเทวี โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและ เครือข่ายแรงงานไทยในต่างประเทศ, เครือข่ายแรงงานต่างชาติในไทย ได้จัดการเสวนาเรื่อง ทิศทางและข้อเสนอทางเลือกจากผู้ใช้แรงงานในเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติ โดยมีตัวแทนแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศและตัวแทนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ เข้าร่วมเสวนา 0 0 0 1. แรงงานไทยในต่างชาติ ในหัวข้อ สถานการณ์ของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ และประสบการณ์การรวมกลุ่มของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ได้พูดถึงปัญหาของแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้ สมาคมรวมไทยในฮ่องกง การรวมตัวของแรงงานแม่บ้านไทยในฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2544 แรงงานแม่บ้านไทยรวมตัวกับแม่บ้านต่างชาติฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินโดนีเซีย เนปาล คัดค้านนโยบายรัฐบาลฮ่องกงลดเงินเดือน 20% จนได้รับชัยชนะ เงินเดือนเท่าเดิม คือ 3,860 เหรียญฮ่องกง จากนั้นจึงมีการตระหนักถึงความสำคัญของการรวมพลัง จึงจัดตั้งเป็นสมาคมอย่างถูกต้องตามกฎหมายฮ่องกงในปี 2544 เรียกว่า สมาคมรวมไทยในฮ่องกง (Thai Regional Alliance in Hong Kong) โดยมีพี่น้องผองเพื่อนร่วมแรงร่วมใจทำงานในลักษณะ จิตอาสา โดยจุดประสงค์ของสมาคมรวมไทยในฮ่องกง มีเป้าหมายในการรวมกลุ่มเพื่อ เสริมสร้างความสามัคคี, ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน, ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ, ปกป้องสิทธิของแรงงาน, เผยแพร่วัฒนธรรมไทย และประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้คาดการณ์กันว่ามีแรงงานไทยในฮ่องกงทั้งหมด 20,000 คน โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ (1) ผู้ที่อาศัยอยู่อย่างถาวร เช่น กุ๊ก กิจการร้านค้าไทย มี 75 % (2) ผู้ที่อาศัยอยู่ชั่วคราว เช่น ผู้ช่วยแม่บ้านฮ่องกง มีทั้งหมด 5,100 คน สำหรับช่องทางการเข้าไปทำงานในฮ่องกงนั้นต้องบริษัทจัดหางาน ประมาณ 90 % ซึ่งต้องเสียค่าบริการ 55,000-90,000 บาท ส่วนแรงงานที่หานายจ้างเองได้โดยผ่านเพื่อนหรือญาติ มีประมาณ 10 % ทั้งนี้แรงงานต้องประสบกับปัญหาก่อนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้เพื่อเข้าฮ่องกง (ประมาณ 66.84%) โดยค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปทำงานในฮ่องกง เฉลี่ย 50,000 - 80,000 บาท ในระหว่างทำงานนั้น มักจะมีปัญหาคือ ถูกข่มขู่จากนายจ้างหรือคนภายในครอบครัวนายจ้าง, ทำงานนอกเหนือหน้าที่ที่ระบุในสัญญาจ้าง, ทำงานผิดสถานที่จากที่อยู่ในสัญญาจ้าง, ทำงานมากกว่าบ้านของนายจ้าง เช่น บ้านเพื่อน บ้านญาติ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ และถูกลวนลามจากนายจ้างชาย หรือผู้ที่อยู่ในบ้าน รวมถึง บริษัทจัดหางานยึดหนังสือเดินทางและสัญญาจ้าง, นายจ้างยึดหนังเดินทางและสัญญาจ้าง, มีที่พักให้ไม่เหมาะสม (ไม่มีห้องให้), อาหารไม่เพียงพอ, ทำงานไม่มีกำหนดเวลา นายจ้างสามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลา เฉลี่ย 12 16 ชั่วโมงต่อวัน, ไม่ได้หยุดประจำสัปดาห์, นายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงเวลา และนายจ้างจ่ายเงินเดือนต่ำกว่า (ค่าจ้างขั้นต่ำของฮ่องกงปัจจุบัน คือ 3,580 เหรียญฮ่องกง ประมาณ15,750 บาท) สำหรับปัญหาเมื่อกลับเมืองไทยแล้วก็คือไม่มีงานรองรับที่เมืองไทย ทำให้ต้องกลับไปทำงานต่างประเทศอีก นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากนโยบายรัฐบาลฮ่องกง คือ 1. ความพยายามลดเงินเดือน - ตั้งแต่ปี 1998 ลดเงินเดือนของแรงงานแม่บ้านจาก 3,860 เหรียญฯ เหลือ 3,760 เหรียญฯ ปี 2003 มีนโยบายเก็บภาษีจากแม่บ้านต่างชาติ แต่แรงงานรวมตัวกันหลายชาติ คัดค้าน ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเป็นลดเงินเดือนแรงงาน 400 เหรียญ และประกาศเก็บภาษีจากนายจ้าง 400 เหรียญ จากเงินเดือน 3,760 เหลือเพียง 3,270 เหรียญฯ (ในทางปฏิบัติเก็บภาษีจากนายจ้าง แต่ในความเป็นจริงหักจากแรงงานจำนวนเท่ากันคือ 400) 2. เลือกปฎิบัติ ละเมิดสิทธิ - โดยกำหนดกฎหมายให้แรงงานแม่บ้านต่างชาติ อยู่ต่อได้อีก 14 วันเท่านั้น ในขณะที่แรงงานข้ามชาติประเภทอื่น สามารถอยู่ต่อได้ 30 วันเงื่อนไขในการเปลี่ยนนายจ้างอย่างเข้มงวด หากไม่เข้าเงื่อนไขต้องกลับภูมิลำเนาสถานเดียวเท่านั้น (เงื่อนไขคือ นายตาย นายไม่มีเงินจ้าง นายย้ายออกจากฮ่องก จบสัญญาจากนายจ้าง) ในขณะที่แรงงานข้ามชาติประเภทอื่นไม่มีเงื่อนไขในการเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งแรงงานไทยในฮ่องกงก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหา ได้มีการรวมพลังกับแรงงานข้ามชาติอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, อินโดนีเซีย, เนปาล และไทย จัดตั้งกลุ่มร่วมกันชื่อ กลุ่มปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติอาเซียน (Asian Migrants Coordinating Body / AMCB) เดินขบวน ให้รัฐบาล ยกเลิกภาษีนายจ้าง และขึ้นเงินเดือน สมานฉันท์กับแรงงานฮ่องกง ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยผลของการต่อสู้ที่ยาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เรื่องหลักคือ การยกเลิกภาษีนายจ้าง และขึ้นเงินเดือน แรงงานแม่บ้านต่างชาติ โดยรัฐบาลงดเก็บภาษี 5 ปี ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2008 ถึงปี 2013 สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย สมาคมรวมไทยในฮ่องกง มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ · รัฐต้องกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าบริการของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยให้ชัดเจน และมีการควบคุมการเก็บค่าบริการอย่างเข้มงวด มีกฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง หากพบว่ามีการเก็บค่าบริการเกินกว่าที่กำหนด · รัฐควรจัดให้มีอาชีพรองรับแรงงานที่กลับมาประเทศไทย · รัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนแรงงานที่ออกไปทำงานต่างประเทศอย่างชัดเจน · รัฐต้องนำเงินที่แรงงานส่งเข้ามาในประเทศมาใช้เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในรูปแบบของสวัสดิการต่อครอบครัวของแรงงาน แรงงานไทยในไร่ดอกไม้ที่ประเทศอิสราเอล แรงงานที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล งานส่วนใหญ่ คือ ทำงานในไร่ดอกไม้ ตัดดอกไม้ เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ (ความเป็นจริงบริษัทแจ้งกับคนงานว่า ให้ไปทำงานในฟาร์มวัวนม) งานจะเริ่มตั้งแต่ตีสามเป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกงาน มีค่าโอทีให้ แต่อย่างไรก็ตามเวลามีหน่วยงานในประเทศมาตรวจ นายจ้างจะให้คนงานตอบเจ้าหน้าที่ว่าทำงานเพียงวันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้น ปัญหาหลักที่พบ คือ มีการจ่ายค่าหัวคิวให้บริษัทจัดหางานเป็นจำนวนเงินสูงมาก ถึง 330,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินสูงขนาดนี้ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนไป เช่น ต้องไปกู้เงินมาด้วยการยอมจ่ายค่าดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 3 แต่ปัญหาจำนวนเงินที่สูงนี้ ทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก็ทราบ แต่ไม่สามารถจัดการหรือดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะพอถึงเวลาที่แรงงานจะต้องมาอบรมเพื่อเตรียมตัวก่อนเดินทาง ให้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของประเทศอิสราเอล มีหนังสือเตรียมตัวให้อ่านก่อนไป (อบรมไม่มาก ให้กลับไปศึกษาเองมากกว่า) แรงงานก็จะตอบว่าจ่ายค่านายหน้าเพียง 100,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากทางบริษัทบอกคนงานก่อนไปว่า ถ้าตอบด้วยจำนวนเงินที่เป็นจริง แรงงานจะอดเดินทางไปทำงาน อย่างไรก็ตามแรงงานให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้จำนวนเงินที่จ่ายก่อนเดินทางจะสูงมาก แต่พอทำงานไปอย่างน้อย 2 ปี ก็สามารถปลดหนี้ได้เช่นกัน มีบางคนที่ต้องเผชิญกับการทำงานหนักพอพบว่าสามารถใช้หนี้ที่ทางบ้านมีอยู่ได้หมด คนงานก็จะตัดสินใจกลับก่อน สาเหตุที่นายจ้างอิสราเอลชอบแรงงานไทย เนื่องจากนายจ้างชอบคนขยัน อ่อนน้อม อดทน สู้งาน แม้แต่คนฟิลิปปินส์ก็ยังอดทนไม่เท่าคนไทย เศรษฐกิจอิสราเอลก็เหมือนประเทศอื่นๆ มีการขายคนงานให้นายจ้างคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะเนื้อที่ในการทำไร่ดอกไม้มีจำนวนสูงมาก ข้อเสนอของคนงานไทยในอิสราเอล ดังนี้ · อยากจะให้มีการตรวจเลือด · อยากให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้น เพราะเดิมปีแค่ 4 วันเท่านั้น คือ ปีใหม่ วันสงกรานต์ วันพ่อ วันแม่ 0 0 0 2. แรงงานต่างชาติในไทย ในหัวข้อ สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และประสบการณ์การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ได้พูดถึงปัญหาของแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้ แรงงานต่างชาติจากพม่า ตัวแทนแรงงานต่างชาติกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ กล่าวว่าพบว่าชนกลุ่มน้อยที่มาจากประเทศพม่าที่มาทำงานในไทยก็พบความยากลำบากไม่แตกต่างจากแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยปัญหาที่พบคือนายหน้าที่จะพามาทำงานหลอกลวงคนงาน นายหน้าบางคนพาไปหาตำรวจแทนมาทำงาน ซึ่งตำรวจนั้นจริงหรือไม่จริง ไม่มีใครทราบ, เวลามีคนไทยที่รู้จักกันมายืมเงิน บอกว่าจะให้ดอกเบี้ยสูง เวลาจ่ายคืนจริง ไม่ยอมจ่ายตามที่บอก, เวลาไปโรงพยาบาล ไม่สามารถใช้บัตร 30 บาทได้จริง แม้ว่าจะมีบัตรก็ตาม, ไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ หรือถึงเวลาจ่าย ก็ไม่จ่าย ไปส่งตำรวจแทน, ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้เวลาขึ้น TAXI คนขับบางคนพาไปหาตำรวจ และงานแม่บ้านมักโดนข่มขืน ซึ่งมักมีการทำแท้งตามมา ทั้งนี้เมื่อเวลาเจอปัญหา มักช่วยไม่ได้หรือญาติพี่น้องช่วยกันเอง หรือบางครั้งอาจจะใช้วิธีการแจ้งมูลนิธิหรือองค์กรช่วยเหลือคนปะโอ โดยส่วนใหญ่แรงงานปะโอมักทำงานก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ ผู้หญิงทำงานแม่บ้านหรือในโรงงาน ส่วน ตัวแทนจาก Seafarers Union of Burma ได้กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานจากพม่าในไทยว่า สถานการณ์ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งจำนวนตัวเลข ในพม่าระบบขนส่งมีคนพม่าได้กำไรในการรับส่งคน มีรูปแบบการเดินทาง 2 ประเภทที่ถูกใช้ เวลาคนจะมาไทย คือ (1) มีเพื่อน ญาติพี่น้องที่ทำงานในไทยอยู่แล้ว เป็นคนพามาหรือมีเครือข่ายแนะนำให้นำพามา (2) ผ่านนายหน้าที่เป็นคนจากพม่า เช่น บางคนมาจากรัฐอาระกัน ก็จะต้องมีการจ่ายเงินรายทางเป็นค่าผ่านทาง พอมาถึงชายแดน นายหน้าฝั่งพม่าจะร่วมมือกับฝั่งไทยในการเดินทางข้ามฝั่ง และมีการจ่ายเงินให้ฝั่งไทยด้วย อุบล ร่มโพธิ์ทอง จากมูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึงช่วยเหลือการคัดแยกผู้เสียหายจาการค้ามนุษย์ที่สวนพลู พบปัญหา คือ ในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในผู้หญิงและเด็กหญิงข้ามชาติ พวกเธอไม่รู้เรื่องสิทธิ ปกป้องตนเองไม่ได้ ตำรวจเองก็ไม่เข้าใจพรบ. การค้ามนุษย์ปี 51 เกิดการเมินเฉย เช่น กรณีตัวอย่างที่บ้านแพ้ว ตำรวจรับแจ้งว่าเด็กถูกข่มขืน แต่ในที่สุดเด็กก็อยู่ที่สถานีตำรวจ 14 วันก็ถูกผลักดันกลับ เด็กไม่ได้รับการคุ้มครอง ในความเป็นแรงงาน เขากลัวอยู่แล้ว แม้มีบัตรก็ยังต้องมีการจ่ายเงินให้ตำรวจ เพื่อเป็นค่าคุ้มครอง 300-500 บาท นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเข้าใจผิดเรื่องการข้ามเขต คือไปตีความเขตเท่ากับจังหวัด กลายเป็น เขตหนึ่งไม่เท่ากับจังหวัด กลายเป็นเขตแบบเขตในกรุงเทพฯ ทั้งนี้การแจ้งความไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะมีการส่งกลับตามมา ในบางกรณีสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็จะมีนายหน้าที่เป็นคนจากพม่ามารอรับแรงงานจากพม่าอยู่โดยตรงด้วยเช่นกัน มีการเรียกเก็บเงิน เสมือนเป็นคนรับหน้าที่ไกล่เกลี่ยก่อนส่งกลับ เช่นกรณีที่แม่สอด พบว่ามีการเรียกเก็บเงินที่ด่านให้นายหน้าจากพม่า ก่อนข้ามไปฝั่งพม่าประมาณ 5,000 บาท นอกจากนั้นเมื่อข้ามไปแล้วก็ยังมีนายหน้าพากลับด้วย ค่ารถก็แพง อยากให้อิทธิพลในฝั่งพม่าน้อยลง เพราะเวลาที่ถูกส่งกลับ มีค่าใช้จ่ายสูง โดยปัญหาที่พบในกกระบวนการช่วยเหลือ มีดังนี้ · ปัญหาในการขึ้นศาล คือ สื่อสารภาษาท้องถิ่นจากพม่าไม่ได้ หาล่ามไม่ได้ เช่น ล่ามทวาย ล่ามกะเหรี่ยง · ผู้หญิงถูกข่มขืน ไปคลอดที่โรงพยาบาล คือ สื่อสารกับหมอไม่ได้ว่าต้องการอะไร · ไม่สามารถหาล่ามได้ เมื่อไปร้องกับองค์กรพม่า สมพงษ์ สระแก้ว จากเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวถึงปัญหาของแรงงานต่างชาติในมหาชัย โดยเห็นว่าปัญหาเกิดจากคนไทย เจ้าหน้าที่รัฐไทย และนายหน้าจากพม่าร่วมมือกัน เช่น นายหน้ารูปแบบต่างๆ นอกจากนั้นยังพบการขัดขากันเองในหมู่นายหน้า ปัญหาที่ตามมา คือ การค้ายาบ้า ยาเสพติด ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ตัวเลขแรงงานต่างชาติในมหาชัยมีถึง 2-3 แสนคน ทั้งนี้มีโรงงานขนาดเล็กเกิดขึ้นมาก และมีการบังคับใช้แรงงานเด็ก ไม่ให้ออกจากโรงงาน มีค่าแรงน้อย เวลาเจ็บป่วยก็รักษากันไปตามมีตามเกิด อย่างไรก็ตามก็พบว่ามีการตรวจสอบจากองค์กรระหว่างประเทศมาตรวจสอบมาตรฐานการจ้างงาน ทำให้มีการรวมตัวเป็นสมาคมห้องเย็น และสร้างภาพที่แตกต่างจากความเป็นจริง ซึ่งทำให้ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ รวมถึงอีกปัญหาหนึ่งก็คือ แรงงานถูกข่มขืนทั้งจากคนไทยและคนจากพม่าด้วยกันเอง เช่น ออกจากที่ทำงานตี 3 ก็ถูกข่มขืน เวลาไปแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ 90 % หาคนร้ายไม่ได้ ทั้งนี้ค่าแรงของแรงงานต่างชาติในมหาชัยจะไม่เท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำ โดยจะคิดเป็นผลงานที่แรงงานทำได้ โดย 80% คิดเป็นกิโลกรัมแทน ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอยู่กับนายจ้าง อดิสร เกิดมงคล จาก Migrant Working Group กล่าวถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติในไทย คือ สถานะทางกฎหมาย เนื่องจากแรงงานจากพม่าที่มา มาเพราะสงคราม การถูกตามฆ่าจากรัฐบาลพม่า ทำให้สถานะเขาผิดกฎหมาย เมื่อผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยแก้โดยให้จดทะเบียนให้หมด แต่ก็พบปัญหา เดินทางไม่ได้ เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ การได้รับคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานมีน้อย เช่น ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำมากๆ ต่อมาคือการถูกขูดรีดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะการต่อรองมีน้อย มีความกลัวโดยพื้นฐาน ถึงมีบัตรก็กลัวอยู่ เพราะต่อรองไม่ได้ โดยกรณีล่าสุดที่พบ คือ มีแรงงานกัมพูชามีพาสปอร์ตจากระยอง มาเยี่ยมเพื่อนใน กทม. ถูกตำรวจเรียกเงิน คนงานไม่จ่าย ตำรวจก็ไม่ยอม รวมถึงปัญหาเมื่อแรงงานต่างชาติที่เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ โรงงานไม่ให้ทำงานต่อหรือไล่ออก (ไล่ออกไม่ได้ตามกฎหมาย แต่ท้องใหญ่นายจ้างต้องเปลี่ยนงาน เราเรียกร้อง ฟ้องร้องได้ เกิดความยุ่งยากขึ้น) ท้อง มี 2 กรณี คือ ท้องระหว่างทำงาน กับท้องก่อนทำงาน พบว่ากระบวนการต่อสู้ไม่เอื้อให้เกิดการต่อสู้ เช่น ส่งไปบ้านพัก กับก่อนทำงานมีการตรวจตั้งครรภ์ นายจ้างทราบก็ไม่เอา ไม่จ้างงาน สะท้อนเรื่องความเปราะบางของผู้หญิง เนื้อตัวร่างกาย เป็นความรุนแรงไม่จบสิ้น การเข้าไม่ถึงกลไกคุ้มครองสิทธิ นอกจานี้ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทั้งการติดต่อกับโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยซึ่งส่วนใหญ่จะบอกไม่ได้ว่าเจ็บป่วยอะไร และเจ้าหน้าที่ไทยก็ร้องเรียนไม่ได้ มีการกรอกคำร้องภาษาไทย 7 วันส่งกลับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องทัศนคติ คือมองว่าแรงงานต่างชาติ เป็นภัยความมั่นคง มองเป็นปัญหา 0 0 0 3. บทสรุปร่วม ทั้งนี้ในวงเสวนาได้มีข้อสรุปร่วมถึงนโยบายและข้อเรียกร้องระดับชาติดังนี้ · การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ · ขยายจาก 1 ปี เป็น 3 ปี · เคารพกติกาสิทธิมนุษยชนสากลเรื่องเสรีภาพในการเดินทาง · ยกเลิกระบบสร้างแรงจูงใจ 20% ของค่าปรับในกรณีตรวจจับแรงงานผิดกฎหมาย · การลงโทษนายจ้าง และข้าราชการที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎหมาย · มีการแก้กฎหมายที่คุ้มครองคนงานในภาประมง และการเกษตร · ควบคุม ขจัดพวกบริษัทนายหน้าค้ามนุษย์ · ILO 87 98 และสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน · แรงงานขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านกลไกนายหน้าหรือนายจ้าง · อยากให้ดูแลแรงงานทุกประเทศ และอยากให้รัฐต่อรัฐจัดส่ง ยุติการให้อนุญาตบริษัทจัดหางานทั้งประเทศต้นทาง และประเทศปลายทาง · จัดหาล่ามและผู้ช่วยในกลไกการบริการภาครัฐ · ให้รัฐควบคุมบริษัทจัดหางาน · ให้ภาครัฐบริการงานรองรับ ที่ได้มาตรฐานและได้รับการคุ้มครอง พร้อมทั้งส่งเสริมเข้าสู่ระบบประกันสังคมและสวัสดิการต่างๆ · มีนโยบายจะเปิดลงทะเบียนแรงงานใหม่อีกครั้งหนึ่งภายปลายปี หรือต้นปีหน้า · ประเภทอาชีพต่างๆ กรรมกร และผู้รับใช้ตามบ้าน และอื่นๆ (เยอะมาก) จะต้องมีการติดตามว่ารัฐจะเปิดเรื่อง อาชีพอื่นๆ อย่างไร จะให้ระบุไปให้หมด · แรงงานข้ามชาติจะเข้าสู่ระบบประกันสังคม · การเรียกร้องเรื่องการให้สัตยาบันสิทธิแรงงาน และมนุษยชนสากล โดย : ประชาไท วันที่ : 1/12/2551 |