Thai / English

รายงาน:ห่วงคนไทยว่างงานเพิ่มขึ้นผลจากวิกฤตการเงินโลก



07 .. 51
ผู้จัดการ

ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทางกระทรวงแรงงานได้มีการประเมินแนวโน้มการว่างงานในปี 2552 ว่าน่าจะไม่เกินระดับ 7 แสนคนในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรา 3-4% และระบุว่าขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างที่พร้อมจัดสรรให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างได้ถึง 1.1 แสนตำแหน่ง

แต่เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย และปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างมากมาอยู่ในช่วง 2.5-3.5% ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขของผู้ที่เสี่ยงต่อการว่างงานสูงกว่ากรณีที่ภาครัฐมีการคาดการณ์ไว้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินแนวโน้มการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ และวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยใช้การจำแนกอุตสาหกรรมเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง ใช้เทคโนโลยีในการผลิต และเป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีการจ้างงานรวมกันประมาณ 8-9 แสนคน อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมได้เริ่มมีการชะลอตัวลง ส่งผลให้การว่างงานในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน (Labour-intensive) อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการจ้างงานโดยตรงรวมกันประมาณกว่าครึ่งของการจ้างงานในภาคการผลิตหรือประมาณ 2.6-2.7 ล้านคน อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเติบโตของมูลค่าส่งออกมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดโลกเป็นหลัก การที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้อุปสงค์และราคาไม่สามารถทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นที่ผ่านมาได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจได้รับผลกระทบกรณีเศรษฐกิจมีการชะลอตัวรุนแรง

ดังนั้นหากมีการปิดโรงงานจะไปกระทบกับแรงงานที่อยู่ในภาคครัวเรือนอีกกว่า 1 ล้านคน ส่วนในอุตสาหกรรมอาหารนั้น แม้ว่าการจ้างงานทางตรงในโรงงานจะมีจำนวน 5-6 แสนคน แต่การปิดตัวของโรงงานจะมีผลไปยังแรงงานในที่อยู่ในภาคเกษตรเป็นวงกว้าง

โดยรวม จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว และเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในอัตรา 2.5-3.5% ถ้าไม่มีมาตรการรับมือใดๆ อัตราการว่างงานของประเทศในปี 2552 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2-2.6% คิดเป็นจำนวนคนว่างงานในปีหน้าประมาณ 8.5 แสนถึง 1 ล้านคน

แต่หากรัฐบาลมีมาตรการที่จะรองรับ เร่งสร้างงานและแรงจูงใจให้กับธุรกิจให้รักษาลูกจ้าง จำนวนผู้ว่างงานในปี 2552 ก็อาจลดลงมาอยู่ที่ 7.3 แสนคน (อัตราว่างงาน 1.9%) ได้ โดยกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ แรงงานที่เพิ่งจบใหม่ แรงงานนอกระบบ และแรงงานที่เป็นพนักงานชั่วคราว แรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยว และในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการว่างงานก็คือ การใช้จ่ายในประเทศในปีหน้าซึ่งอาจหายไปเป็นมูลค่า 4-5 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1% ของการบริโภคในประเทศ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการช่วยให้บริษัทหรือโรงงานไทยที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเลิกกิจการในภาวะเศรษฐกิจชะลอควรพิจารณามาตรการอื่นๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มเติม อาทิ การจัดให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี การช่วยเปิดตลาดส่งออกอย่างจริงจัง และการดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อกันไม่ให้ต้นทุนชิ้นส่วนนำเข้าและการขายได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ควรมีกลไกที่จะติดตามสถานการณ์แรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที และควรมีมาตรการรองรับสำหรับกลุ่มคนที่จะถูกเลิกจ้าง แรงงานใหม่ที่จะไม่มีงานทำ ไม่ว่าจะเป็นโดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือเป็นเงินพิเศษให้กู้ยืม การคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม และการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม

พิจารณาโครงการที่เป็นการสร้างงานในชนบท โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคการเกษตรเพื่อเป็นการรองรับคนตกงานที่จะกลับสู่ภูมิลำเนา ทั้งนี้ในระยะยาวควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างจริงจัง

ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งทางด้านยอดขายและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานประกอบการบางแห่งอาจเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายโดยการเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าแรงงานเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในแง่ที่ว่าแรงงานที่ดีจึงจะให้ผลผลิตที่ดี ผู้ผลิตอาจควรพิจารณาการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยการปรับลด/เพิ่มชั่วโมงหรือวันในการทำงานตามสภาพธุรกิจแทนการเลิกจ้างถาวร และใช้โอกาสนี้ในการฝึกอบรมงานหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่พนักงานซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว(คุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น และการผลิตมีการสูญเสียลดลง) และเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างที่ดีให้มั่นคงอีกด้วย