Thai / English

"เหยื่อเงียบๆ" เศรษฐกิจไทยขาลงแรงงานพม่าพลัดถิ่นหลายพันทยอยกลับ



07 .. 51
ผู้จัดการ

ผู้จัดการรายสัปดาห์ 360- ชาวพม่าพลัดถิ่นนับล้านกลายเป็นแรงงานต่างชาติกลุ่มแรกที่ตกเป็นเหยื่อเศรษฐกิจขาลงในประเทศไทย หลายพันคนเริ่มทยอยกลับภูมิลำเนาอย่างเงียบๆ ไม่ต่างกับครั้งที่ลักลอบข้ามแดนเข้ามา หลังจากนายจ้างปิดโรงงาน ลดการผลิตหรือถูกลดค่าแรงลง

ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาใน อ.แม่สอด จ.ตาก เพียงที่เดียว มีแรงงานพม่าถูกเลิกจ้างไม่ต่ำกว่า 3,000 คน สำนักข่าวอิรวดีรายงานเรื่องนี้โดยอ้างตัวเลขของคณะกรรมการร่วมปฏิบัติการกิจการพม่า หรือ JACBA (Joint Action Committee for Burmese Affairs) องค์การปฏิบัติงานภาคเอกชนในประเทศไทย

นายโมส่วย (Moe Swe) เจ้าหน้าที่สมาคมคนงานยองชิอู (Yaung Chi Oo Workers Association) กล่าวว่า เดือนที่แล้ว โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเหลียนตง (Lian Tong Knitting Co) ใน อ.แม่สอด ได้ปิดกิจการและแจ้งให้คนงานพม่าออกจากโรงงาน ในช่วงสิ้นเดือน ยังมีคนงานราว 1,500 คนอาศัยในเพิงพักที่ทำขึ้นใกล้กับสะพานแม่สอด-เมียววดี เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว

คนงานอีกนับหมื่นใน จ.สมุทรสาคร ก็มีชะตากรรมคล้ายกัน ถูกนายจ้างลดชั่วโมงทำงานลงหรือถูกตัดค่าล่วงเวลา

นายมินติ๊นหวิ่น (Min Thint Lwin) แรงงานอพยพที่มหาชัยกล่าวว่า เพื่อนๆ อย่างน้อย 30 คนที่อาศัยในเรือนพักแถวเดียวกันว่างงานมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. บริเวณดังกล่าวมีเรือนพักสำหรับแรงงานพม่าจำนวน 15 แถวด้วยกัน

ประมาณกันว่าโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและกิจการต่างๆ ทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี มีการจ้างแรงงานพลัดถิ่นราว 13,000 คน คนงานจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาถูกลดวันทำงานลงเหลือเพียง 20 วัน

แรงงานคนหนึ่งกล่าวว่าเมื่อก่อนเคยมีรายได้วันละประมาณ 200 บาท (6 ดอลลาร์) แต่ในขณะนี้ลดลงเหลือเพียงประมาณวันละ 100 บาท (3 ดอลลาร์)

ไกลออกไปยังมีคนงานพม่ากลุ่มใหญ่อีกกว่า 200,000 คนทำงานในสวนยาง สวนปาล์ม โรงงาน เรือประมง แพปลาหรือในอุตสาหกรรมห้องเย็นและงานบริการต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งทุกคนมีชะตากรรมไม่ต่างกัน

ตามรายงานของอิรวดีคนงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่ารายได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากราคายางที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

"ผมไม่สามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวได้อีก.. ผมไม่คิดว่าจะอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้อีกแล้ว" อาซอว์ (Ah Zaw) คนงานสวนยางกล่าว

เอกชนที่ให้บริการโอนเงินในรัฐมอญกล่าวว่า คนงานใน จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ได้ส่งเงินกลับบ้านเลยในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนในเดือน ต.ค. มีเงินโอนเพียง 2 ล้านจั๊ต (1,650 ดอลลาร์) ยอดโอนในแต่ละเดือนสูงถึงเดือนละ 20 ล้านจั๊ต (16,500 ดอลลาร์) ก่อนสถานการณ์จะเลวร้ายลง

ตามรายงานของหน่วยงานสิทธิมนุษยชน ชาวพม่าเป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มใหญ่ที่สุดจากทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย และเกือบทั้งหมดลักลอบข้ามแดนโดยผ่านขบวนการค้ามนุษย์ที่ใหญ่โต

ในนั้นจำนวนมากไม่ได้เป็นแรงงานพลัดถิ่นธรรมดา หากยังเป็นผู้อพยพหลบหนีภัยสงครามหรือภัยจากการปราบปรามทางการเมือง นอกจากแรงงานอพยพจะมีจำนวนขึ้นๆ ลงๆ ตามฤดูกาลแล้วยังเป็นไปตามสถานการณ์ในประเทศนั้นอีกด้วย

หลายปีมานี้เจ้าของกิจการในประเทศไทยจำนวนมาก มีความสุขกับการใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านที่ส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการให้นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนเพื่อนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบ แต่เจ้าของกิจการต่างๆ ยังเลือกใช้วิธีหลบเลี่ยงเนื่องจากการขึ้นทะเบียนแรงงานมีค่าใช้จ่ายดำเนินการหัวละ 3,000-4,000 บาท

ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานฯ ในเดือน ก.ย.2544 มีแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนประมาณ 560,000 เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยนิดหากเทียบกับแรงงานอพยพทั้งหมด

ในปีต่อๆ มาก็ยังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่สามารถไปขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากไม่มีเงินพอ หรือไม่มีนายจ้างที่ถาวร ต้องเป็นแรงงานนอกกฎหมายลักลอบทำงานตามแหล่งก่อสร้าง โรงงาน และ เทือกไร่นาสวนต่อไป

การปราบปรามแรงงานลักลอบข้ามแดนยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีการทำอย่างเป็นขบวนการตลอดแนวชายแดน ตั้งแต่เหนือสุดจนถึงชายแดนทางทะเลด้าน จ.ระนอง และบางครั้งได้ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม

ในเดือน เม.ย.ปีนี้ มีแรงงานชาวพม่าเสียชีวิต 54 คน อีก 21 คนถูกนำส่งโรงพยาบาล ที่เหลืออีก 44 คนถูกควบคุมตัว ทั้งหมดหลบหนีเข้าเมืองไปจาก จ.เกาะสอง (Kawtaung) หรือวิคตอเรียพอยท์ (Victoria Point) เมื่อก่อน

ตำรวจจังหวัดระนอง กล่าวว่าชาวพม่าชายหญิงทั้ง 119 คน ถูกจับยัดเข้ายืนอย่างแออัดในตู้คอนเทนเนอร์บนรถบรรทุก 10 ล้อ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ขณะนำไปส่งนายจ้างในภูเก็ต จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเพราะขาดอากาศหายใจ

แรงงานพม่าในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อเงียบๆ ที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงมาโดยตลอด

ตามรายงานขององค์การพัฒนาเอกชน ตอนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในปลายเดือน ธ.ค.2547 มีแรงงานพม่าถูกกฎหมายอย่างน้อย 120,000 คน ทำงานตามแหล่งต่างๆ ในหกจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดอัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล

แต่หากนับรวมพวกที่ทำงานไม่ถูกกฎหมายด้วย จำนวนก็อาจจะเพิ่มเป็นกว่าสองเท่าตัว

รายงานระบุว่าใน จ.พังงาเพียงแห่งเดียวมีแรงงานพม่าไม่ต่ำกว่า 2,000 คนเสียชีวิตสังเวยคลื่นสึนามิ อีก 4,000 คนหายสูญ อีก 300 คนเสียชีวิตใน จ.ภูเก็ต 3,000 คนต้องอพยพออกจากแหล่งก่อสร้างที่ถูกทิ้งให้รกร้าง และมีอีก 2,000 คนสูญหาย

มีข่าวคราวเกี่ยวกับชะตากรรมของแรงงานพม่ากลุ่มนี้น้อยมาก นับแต่นั้นมา.