Thai / English

ผู้ประกอบการชม.วอนไทยช่วยไทย จับตาส่งแรงงานต่างชาติกลับบ้าน



26 .. 51
ผู้จัดการ

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -ผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกในเชียงใหม่ต่างพากันกุมขมับ หลังรับรู้สภาพวิกฤตเศรษฐกิจปี 52 ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ ระบุ ต้องหันมาดูแลต้นทุนพร้อมทั้งศึกษาหาข้อมูลและกฎระเบียบของตลาดต่างประเทศ พร้อมเร่งหาตลาดใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่อเมริกาและยุโรป วอนคนไทยช่วยอุดหนุนสินค้าไทยเพื่อให้อยู่รอด ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่อาจต้องเลิกจ้างชาวต่างชาติก่อนเป็นตำแหน่งแรก ส่วนวงการโรงแรมเตรียมรับสภาพกลับมาใช้วิธีหั่นราคาเหมือนเดิม

***วอนคนไทยช่วยใช้สินค้าไทย***

นางเปรมฤดี ยามาดะ อุปนายก ฝ่ายวิชาการการลงทุนและสิทธิประโยชน์ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ เปิดเผยในงานสัมมนา เรื่องผลกระทบและการปรับตัวจากวิกฤตการณ์การเงินต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ ว่า สินค้าหัตถกรรมถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่ง ฉะนั้นจึงถือเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยปกติของทุกปีแล้วออเดอร์ของปีถัดไปจะทราบผลและคอนแทร็ก กันเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปลายปีแล้ว แต่ขณะนี้ปรากฏว่าออเดอร์ไตรมาสแรกของปี 52 แทบจะยังไม่มีรายใดที่มีออเดอร์กันเลย

นางเปรมฤดี กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่จะได้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เชื่อว่าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 52 อย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อยธุรกิจประเภทสินค้าหัตถกรรม เป็นสินค้าที่ต้องใช้แรงงานฝีมือ ฉะนั้นจะมีแรงงานอยู่ 2 ประเภทคือแรงงานหลัก คือพนักงานประจำซึ่งก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น

ส่วนแรงงานเสริมคือแรงงานประเภทที่ 2 ที่จะจ้างเป็นการชั่วคราวแต่ถือเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่มีทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2 แสนครัวเรือน แรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่จะลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อไม่มีออเดอร์ผู้ประกอบการก็ไม่มีงานให้แรงงานเหล่านี้ทำ ส่วนการปรับตัวเพื่อเตรียมรับสถานการณ์นั้นเพียงแต่ตอนนี้ต้องรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ทั้งในส่วนของการผลิต และการร่วมกันออกไปแสดงสินค้าตามประเทศต่าง ๆ ร่วมกันเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียม คือการศึกษาหาข้อมูลทั้งด้านกฎหมายและระเบียบการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้าที่จะส่งไปยังตลาดใหม่ ๆ เพราะขณะนี้ต่างประเทศมีข้อจำกัดการใช้สารเคมีที่มีความรัดกุมและเข้มงวดมาก

“หลังจากนี้ไปคนไทยอาจจะต้องหันมาใช้สินค้าของไทยกันมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการคนไทยด้วยกัน”นางเปรมฤดีกล่าว

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก กรรมการผู้จัดการบริษัทคอนเฟรดเดอร์เรด ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ของเชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ว่าสถาบันการเงินจะออกมาเตือนผู้ส่งออกหลายรายว่า การทำธุรกิจกับต่างประเทศให้เน้นในเรื่อง LC เป็นสำคัญก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ต้องการเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ยอมทำให้เมื่อไม่ทำให้ในฐานะผู้ผลิตและผู้ขายก็จำเป็นต้องทำตามที่ลูกค้าต้องการ

หลังจากนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงก็คงต้องหันมาปรับทางด้านการตลาดใหม่ คือขายในประเทศ 50 %ส่งออก 50 % จากเดิมที่ส่งออกทั้งหมด และสิ่งที่ภาครัฐได้ออกมาตรการ 6 มาตรการมาช่วยเหลือก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กับเรื่องของงบประมาณ ที่จะออกมาช่วยเหลือแรงงาน เห็นว่าควรจะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่า เพราะหากไม่มีผู้ประกอบการแรงงานก็ไม่มีงานทำอยู่ดี

“ ภาครัฐมักจะออกมาช่วยเหลือแบบปัญหาเฉพาะหน้าหรือปลายเหตุทุกครั้ง ไม่เคยแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเลย หรือบางครั้งก็แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดด้วยซ้ำไป”

***รร.วิกฤตสุดเตรียมเลิกจ้างต่างชาติ-ลดเงินเดือนผู้บริหาร***

นายอนุชา ดำรงมณี ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล ดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ถือว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมค่อนข้างได้รับผลกระทบ ที่ถือว่าหนักที่สุดบริษัทต่าง ๆ พากันตัดงบประมาณด้านการประชุมสัมมนานอกสถานที่ที่เคยจองไว้ก็ขอเลื่อนไปก่อน อย่างเช่นตลาดอเมริกา ที่มีการจองห้องพักไว้เต็มทั้ง 3 อาทิตย์ แต่ก็ติดต่อขอเลื่อนออกไปถึงปี 2010 เพราะไม่สามารถขอยกเลิกได้ เพราะส่งเงินมัดจำมาแล้ว 80 % ตามเงื่อนไขไม่สามารถคืนได้เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2552 สถานการณ์น่าจะหนักมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหดหายแล้ว สายการบินต่าง ๆ ก็ยกเลิกเที่ยวบิน ยอดการขายห้องพักเฉลี่ยไม่น่าจะถึง 50 %

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ปกติแล้วการทำงบของโรงแรมต่าง ๆ จะทำกันช่วงที่ใกล้เคียงกับงบประมาณของภาครัฐ แต่นี้ต่อไปก็คงต้องรอทำงบกันใหม่เป็นช่วง เดือนมีนาคม ปี 52 เพราะต้องปรับใหม่กันหมด โดยเฉพาะแผนการตลาดที่อาจจะต้องหันมาให้ความสนใจกับตลาดในประเทศให้มากขึ้น

จากเดิมโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไปมักจะให้ความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ตอนนี้จึงต้องหันมาให้ความสนใจลูกค้าในประเทศที่มีกำลังซื้อให้มากขึ้น เพราะเท่าที่ผ่านมามีลูกค้าที่เป็นคนไทยเข้าพักโรงแรมที่มีราคามากกว่า 2,500 บาทต่อคืน มากขึ้นประมาณ 70 % และที่ต้องปรับงบประมาณกันใหม่ เนื่องจากเกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลายมีโรงแรมระดับ 5 ดาวเกิดขึ้นจำนวนมาก และเชื่อว่าจะต้องหันกลับมาใช้กลยุทธ์การลดราคามาใช้กันอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากการปรับตัวในด้านการตลาดแล้ว ในด้านการลดต้นทุนเกี่ยวกับการลดพนักงาน คาดว่าโรงแรมระดับ 5 ดาวหรือที่เป็นเชนใหญ่ ๆ นั้นจะไม่นำเรื่องการลดพนักงานมาใช้ในระดับต้น ๆ แน่ เนื่องจากพนักงานเหล่านี้โรงแรมจะต้องเสียงบประมาณเกี่ยวกับการส่งพนักงานไปอบรมสัมมนา ทั้งในเรื่องของภาษา และการเชี่ยวชาญการบริการด้านอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นต้นทุนหมด

ฉะนั้นหากมีการลดพนักงานเหล่านี้ และเมื่อสถานการณ์กลับมาไฮซีซันอีกครั้งก็จะไม่สามารถดึงพนักงานเหล่านี้กลับมาเหมือนเดิมได้อีก จึงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเพื่อส่งชุดใหม่ไปอบรมอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองมากกว่าในระยะยาว แต่ที่สามารถทำได้คือ การลดเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคหรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นชาวต่างประเทศลง และถ้าถึงวิกฤตที่สุดก็อาจต้องขอลดค่าตอบแทนของผู้บริหารลงประมาณ 20-30 % เป็นระยะเวลา2-3 เดือนแล้วแต่สถานการณ์

“เชื่อว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้จะเป็นระยะเวลาที่สั้น ๆ ไม่น่าจะเกิน 9 เดือน และถือเป็นวงจรของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่จะเกิดทุก ๆ 6 ปีจึงเชื่อว่าปี 2009 เป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมอยู่ในกราฟที่ตกท้องช้างพอดี” นายอนุชา กล่าว

*** รง.แปรรูปอาหารแช่แข็งเบิกบาน***

นายประภาส พลพิพัฒนพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเชียงใหม่โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปทางการเกษตรประเภทแช่แข็ง รายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ธุรกิจแปรรูปอาหารทางการเกษตรถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยปีนี้มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 20 % และเมื่อตลาดอเมริกามีปัญหาบริษัทก็จะส่งไปที่อเมริกาลดลงแต่หันไปส่งออกประเทศอื่น ๆ แทน อย่างประเทศญี่ปุ่นและแถบเอเชีย เพราะสินค้าทางการเกษตรถือเป็นสินค้าที่ต้องบริโภคอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ประเทศจีนมีปัญหาเรื่องสารเคมีทำให้มียอดสั่งซื้อมาที่ประเทศไทยแทน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศคู่แข่งอย่างจีน ที่มีปัญหาเรื่องสารเคมี หรือเวียดนามเองก็ยังมีปัญหาเรื่องค่าแรงที่แพงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงกว่าไทย ตลาดส่วนใหญ่ก็ยังหันมาให้ความสนใจกับสินค้าของไทยมากกว่า ทำให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจะต้องเข้มงวดเรื่องคุณภาพให้เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีของไทยที่จะต้องรักษาไว้ให้ได้