ผู้ประสานงานกิจกรรมแรงงานข้ามชาติโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ชี้การจดทะเบียนสำหรับแรงงานที่ต้องอยู่อย่างผิดกฎหมายต้องหลบๆ ซ่อนๆ อาจจะถูกเอาเปรียบลดน้อยลง แต่เป็นการแก้ปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ระวังการปลุกกระแสชาตินิยม โดยผู้นำแรงงานหมูอ้วน
จากกรณีที่กระทรวงแรงงาน โดยนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) โดยมีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบร.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติ 2 ประการ ได้แก่ เห็นชอบให้มีการเสนอให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือที่ยังมีความต้องการอีกจำนวนหลายแสนคน โดยจะเป็นการเปิดให้แรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรประมาณ 800,000 คน ทั้งนี้จะเริ่มภายหลังการนำเสนอต่อประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 25 พ.ย. และ เห็นชอบให้มีการกำหนดสถานที่พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า จำนวน 3 แห่ง คือ เมืองท่าขี้เหล็ก จ.เชียงราย เมืองเมียวดี จ.ตาก และ เกาะสองตรงข้าม จ.ระนอง
ทั้งนี้นางอุไรวรรณ เทียนทอง กล่าวถึงจุดประสงค์หลักของนโยบายนี้ก็คือแก้ไขปัญหาวิกฤตแรงงานและต้องการทำให้แรงงานที่หลบหนีอยู่ใต้ดินเข้ามาสู่ระบบเพื่อความมั่นคงและง่ายต่อการพิสูจน์สัญชาติ โดยจะอนุญาตให้เฉพาะ 10 กิจการ เช่น ประมง เกษตรกร ปศุสัตว์ โรงสี พวกแบกหามเป็นระดับกรรมกร คนงานระดับล่าง ซึ่งเป็นงานที่ส่วนใหญ่คนไทย ไม่ทำอยู่แล้ว
***แรงงานข้ามชาติได้ประโยชน์เรื่องกฎหมาย แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหลัก***
จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ ผู้ประสานงานกิจกรรมแรงงานข้ามชาติ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เป็นนโยบายที่ดีในระดับหนึ่ง สำหรับคนงานที่ต้องอยู่อย่างผิดกฎหมายต้องหลบๆ ซ่อนๆ อาจจะถูกเอาเปรียบลดน้อยลงได้บ้าง
แต่ในส่วนตนนั้นยังไม่ทราบข้อมูลว่ารัฐจะเรียกเก็บเงินจากแรงงานข้ามชาติอีกเท่าไร ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเก็บเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจดทะเบียน เพราะแรงงานข้ามชาติได้ค่าแรงน้อยอยู่แล้ว ไม่มีสวัสดิการที่ดีเทียบเท่าแรงงานไทย ทั้งๆ ที่แรงงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย
เขาได้ค่าแรงน้อยอยู่แล้ว น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่มี และถ้ามองในแง่ของกระบวนการผลิต แรงงานเหล่านี้สร้างมูลค่าผลผลิตให้กับประเทศไทยมากอยู่แล้ว และเขายังเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ซึ่งเป็นภาษีรีดเลือดปูเพราะเก็บจากคนจนในสัดส่วนที่สูงมากๆ
ทั้งนี้ในการจดทะเบียนครั้งนี้มันเป็นการแก้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการจดทะเบียนมันมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของนายจ้าง (ขาดแคลนแรงงานราคาถูก) และรัฐเป็นสำคัญ ไม่มีการพูดถึงความมั่นคงของแรงงานข้ามชาติเลย
โดยจารุวัฒน์กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เสรีภาพในการเดินทาง รวมถึงสิทธิการในจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ผมเคยเสนอมาโดยตลอดว่าการจดทะเบียนแบบที่เป็นอยู่มันมีปัญหา มันไม่เคารพสิทธิของแรงงานเพียงพอ ผมเสนอว่าการจดเบียนต้องกระทำไปเพื่อเหตุสำคัญคือความมั่นคงของแรงงานเท่านั้น เช่นการจดทะเบียนเพื่อเข้าถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ ไม่ควรมีการจดทะเบียนเพื่อขังคน เมื่อก่อนการจดเบียนเพื่อเป็นแรงงานทาสให้กับนายจ้าง เปลี่ยนงานก็ไม่ได้ถ้านายจ้างไม่ยอม แต่เดี๋ยวนี้กฎหมายใหม่ออกมา เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวแรงงานอีก จารุวัฒน์ กล่าว
***การเคลื่อนย้ายแรงงาน***
ทั้งนี้จารุวัฒน์เห็นว่าการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ประเทศไทยนั้นคงไม่มีปริมาณมากขึ้น เพราะตำแหน่งงานในประเทศของแรงงานข้ามชาตินั้นเต็มอัตราแล้ว หากไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่ม ซึ่งนโยบายนี้คงเป็นการให้โอกาสนายจ้างนำแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้จดทะเบียนมาขึ้นทะเบียนเพิ่มเท่านั้น คงเป็นการนำแรงงานที่มีอยู่แล้วมาจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ซึ่งอาจจะช่วยลดภาระต้นทุนของนายจ้างด้วย เพราะอาจจะจ่ายส่วยน้อยลง ซึ่งจริงๆ ความต้องการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอาจจะเต็มจำนวนแล้วก็ได้
ทั้งนี้จารุวัฒน์อธิบายว่าแรงงานข้ามชาติที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย ไม่ใช่มาจากเหตุผลในประเทศต้นทางเป็นหลักเท่านั้น ถึงแม้เหตุผลในประเทศต้นทางคือแรงผลักดันที่ดี แต่เมื่อผลักมาแล้วเขาจะเดินทางไปที่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางนั้นมีงานรองรับหรือเปล่า
ผมคิดว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจะไม่มากไปกว่านี้ ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงพอสมควร ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่สนับสนุนรัฐมักจะมองว่า ถ้าเราไม่มีกฎเกณฑ์ในการควบคุมคนในการเดินทางเข้าประเทศจะทำให้เกิดการแห่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างมหาศาล อย่างกรณีพายุนาร์กีส ก็มีคนคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานจากพม่าอพยพมาไทยมากขึ้น แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่ามีประมาณแรงงานที่เข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นเท่าไร ในกรณีพายุนาร์กีส
ทั้งนี้ในวงการนักกิจกรรมเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติกำลังมีการพูดคุยในประเด็นการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานกันอยู่
ที่พูดประเด็นนี้ขึ้นมาผมมีความคิดว่าในประเทศกลุ่มอาเซียน น่าจะให้มีการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อเพิ่มความอยู่ดีกินดีของแรงงานอาเซียน และช่วยกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมในกลุ่มอาเซียน ซึ่งตอนนี้ผมกำลังศึกษาข้อถกเถียงในประเด็นนี้อยู่ แต่ขอเปิดประเด็นไว้ก่อนแล้วกัน จารุวัฒน์ กล่าว
***แย่งงานคนไทยหรือไม่?***
ในประเด็นการเข้ามาแย่งงานของคนไทย จารุวัฒน์เห็นว่าเป็นมุมมองที่มักจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการพูดถึงเรื่องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นมายาคติที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างหนักเลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้นำขบวนการแรงงานกลายพันธุ์ที่เน้นแนวทางชาตินิยมอาจจะเบี่ยงเบนประเด็นปลุกกระแสชาตินิยมได้
คำถามนี้มันเป็นคำถามเก่าที่ไม่เคยมีข้อมูลเลยว่าแรงงานข้ามชาติมาแย้งงานคนไทย แต่ผมกังวลกับคำถามนี้มากในตอนนี้ ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกแบบนี้ เพราะผมเกรงว่าเมื่อรัฐและผู้นำแรงงานหมูอ้วน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานได้ ก็จะพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่าปัญหามาจากแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานคนไทย ปลุกกระแสชาตินิยม
ซึ่งประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อยุค 2540 มาแล้ว
ถ้าพอจำได้หลังวิกฤตปี 40 ในวันแรงงานข้ามชาติสากล สภาแรงงานหลายสภาติดป้ายรณรงค์ว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานคนไทย ซึ่งผมคิดว่าผู้ที่รักความเป็นธรรมทุกท่านต้องกล้าที่ลุกขึ้นเถียงในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ อย่าให้รัฐบาลนายทุนและผู้สนับสนุนออกมาเบี่ยงเบนประเด็น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้มันมาจากระบบทุนนิยมเอง ไม่เกี่ยวกับตัวแรงงานหรือคนจนไม่ว่าจะเชื้อชาติใดทำงานอยู่ที่ไหน
ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการว่างงานจารุวัฒน์เห็นว่าปัญหามันไม่ได้มาจากคนจนที่เป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้เราต้องเถียงต้องเรียกร้องให้คนรวยในสังคมเสียสละทรัพย์สินเพื่อมาช่วยจัดสวัสดิการให้กับคนจนในสังคม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับวิกฤตให้กับแรงงานทุกเชื้อชาติที่อยู่ในไทย
เราต้องหยุดเบี่ยงเบนประเด็น การเรียกร้องเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการขอเศษอาหารจากคนรวยหรือว่าขอความช่วยเหลือ แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิของคนงานที่ได้สร้างความร่ำรวยให้คนรวยพวกนั้น คนพวกนั้นจะไม่มีทางร่ำรวยขึ้นมา ถ้าไม่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่ามูลค่าที่คนงานผลิต ไอ้มูลส่วนเกินนั่นแหละที่เรียกว่ากำไร ที่สร้างความร่ำรวย แต่มันมาจากคนงานแต่แรก ทุกเชื้อชาติ จารุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่งจากข้อมูลจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว พบว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบมีแรงงานข้ามชาติรวมทั่วราชอาณาจักร 792,117 คน เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย 232,363 คน เป็นแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย 559,754 คน
ทั้งนี้มีแรงงานข้ามอยู่ในระบบผ่อนผันทั้งสิ้น 501,570 คน และมีแรงงานพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 75,234 คน แยกเป็นลาว 41,378 คน กัมพูชา 33,856 คน โดยการเปิดจดทะเบียนรอบใหม่นั้นจะมีเวลาให้แรงงาน 3 สัญชาติทำงานในประเทศไทยไปถึงวันที่ 23 ก.พ.2553