รายงาน: นโยบายแรงงานข้ามชาติ: บทบาทสมาชิกรัฐสภาและประชาสังคม08 .. 51 ประชาไท คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาเรื่องนโยบายแรงงานข้ามชาติ: บทบาทสมาชิกรัฐสภาและประชาสังคม ณ โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ต.ค.51 การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาหลักการสำคัญในปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่ควรนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของประเทศ การวิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติในประเทศ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการนำปฏิญญาอาเซียนมาปฏิบัติ ตลอดจนการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทสมาชิกรัฐสภาและประชาสังคมในการส่งเสริมการกำหนดนโยบายตามหลักการปฏิญญาอาเซียน และการปรับปรุงนโยบายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับหลักการ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะตัวแทนองค์กรจัดงานกล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่แรงงานไทยให้ความสำคัญกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ เพราะปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่ได้พูดกันแค่วันสองวันเท่านั้น พวกเราต่างได้มีการร่วมมือกันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอรูปธรรมของปัญหาต่างๆ การละเมิดสิทธิ การต่อรอง เพื่อหาแนวทางการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ มีเหตุการณ์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าแม้สังคมไทยจะมีกฎหมายแรงงาน แต่แรงงานข้ามชาติก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองได้จริง เช่น มีแรงงานข้ามชาติบางคนเดินทางออกจากที่ทำงานเพื่อกลับบ้านและไม่ได้พกบัตร เนื่องจากนายจ้างเก็บไว้ที่โรงงาน ก็มักจะถูกตำรวจจับเป็นประจำ หรือบางครั้งแรงงานบางคนที่มีบัตรก็ยังถูกข่มขู่เช่นเดียวกัน เหตุการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ที่ไม่มีสหภาพแรงงานไทยตั้งอยู่ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องจัดเวทีเพื่อสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้วอีกประการหนึ่ง คือ ในเวลาอันใกล้นี้ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติก็จะต้องเจอกับสถานการณ์การเลิกจ้างเหมือนกัน การเลิกจ้างจะนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกะเราต้องเชื่อมโยงเข้าหากันให้ได้ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการผลักดันนโยบายการคุ้มครองให้เป็นจริงขึ้นมาในอนาคต สุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติเป็นประจำ เป็นปัญหาที่จัดการยาก เพราะคาบเกี่ยวกันในหลายภาคส่วน เช่น กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาแรงงานข้ามชาติจึงมีนัยยะทางนโยบาย ไม่สามารถแก้ได้โดดๆเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สังคมไทยจะเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติได้ง่ายขึ้น คือ การนึกถึงแรงงานไทยเมื่อไปทำงานต่างประเทศ พวกเขาต่างเป็นแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกัน เมื่อปัญหาแรงงานข้ามชาติคาบเกี่ยวกับสังคมไทย การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติจึงหมายถึงปัญหาแรงงานไทยได้คลี่คลายไปด้วย ในส่วนการสัมมนาได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ภาคเช้าและภาคบ่าย โดยภาคเช้า เป็นการเสวนาเรื่องความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนหลังปฏิญญาเซบู ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ กับการกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และภาคบ่าย เป็นการเสวนาเรื่องความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะและความร่วมมือระหว่างสมาชิกรัฐสภาและประชาสังคม รายงานฉบับนี้จึงเป็นการสรุปเนื้อหาจากการนำเสนอของวิทยากรกับการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมใน 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้ (1) ความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนหลังปฏิญญาเซบู ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ (2) การกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย (3) ความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะและความร่วมมือระหว่างสมาชิกรัฐสภาและประชาสังคม ความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนหลังปฏิญญาเซบู ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ หัวข้อนี้นำเสวนาโดยคุณฟิลลิป โรเบิร์ตสัน SEARCH คุณสุภัท กุขุน ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และดร. ผุสดี ตามไท รองประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรีฯ ดำเนินรายการโดย คุณอดิศร เกิดมงคล อดิศร เกิดมงคล ได้เกริ่นนำให้เห็นที่มาที่ไปการเกิดขึ้นมาของปฏิญญาเซบูว่า ในภูมิภาคอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกจากประเทศตนเองเพื่อไปทำงานประเทศอื่น หรือกรณีที่มีแรงงานจากประเทศอื่นมาทำงานในประเทศของเรา สถานการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ปกติของโลก เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไป-มา จึงเกิดปัญหาต่อประเทศทั้งที่รับแรงงานและส่งแรงงานซึ่งเข้าใจไม่ตรงกัน จึงทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีข้อตกลงร่วมกันในการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้อาเซียนได้ร่างปฏิญญาฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อแสวงหามาตรการในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชาชนในภูมิภาคนี้ สุภัท กุขุน เริ่มต้นให้ภาพของปฏิญญาเซบูและการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงประเทศไทยจะมีบทบาทอย่างไรต่อการเกิดขึ้นมาของปฏิญญาฉบับนี้ ในเรื่องแรงงานข้ามชาติได้มีความพยายามพูดกันทั้งในเวทีระดับประเทศและเวทีระหว่างประเทศว่า การที่จะดูแลคนไม่ว่าจะมีถิ่นกำเนิดที่ไหน เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ต้องให้เกียรติเขา ส่วนเขาจะเป็นใครนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป การเกิดขึ้นของปฏิญญาเซบูในกรอบอาเซียนที่รวมตัวกันมากว่า 40 ปี จะใช้หลักฉันทามติในการทำงานร่วมกัน มีการใช้กฎบัตรอาเซียนเป็นกลไกความร่วมมือ สำหรับเรื่องปฏิญญาเซบู โดยส่วนตัวมองเห็นความสำคัญใน 3-4 ประเด็น กล่าวคือ หนึ่ง บทบาทของประเทศเจ้าบ้าน ว่าเมื่อบ้านของเรามีคนมาอยู่อาศัย เราต้องทำให้เขาอยู่ได้อย่างปกติสุข เขามีชีวิตจิตใจ อาจเจ็บป่วย มีความรู้สึกทั้งบวกและลบ ฉะนั้นต้องดูแลและสร้างทัศนคติให้ดี เพราะมนุษย์ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว สอง บทบาทของประเทศผู้ส่ง เป็นหน้าที่ของผู้ส่ง ที่เมื่อคนกำลังจะจากบ้านไป รัฐจะต้องจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้พร้อม เวลาเขาเผชิญปัญหา เขาจะได้อยู่ในสังคมนั้นๆได้ ผู้ส่งมีหน้าที่บอกว่าสังคมภายนอกมีข้อจำกัดอย่างไร มีความเป็นอยู่ มีเงื่อนไขอย่างไร เพราะในอดีตรัฐผู้ส่งมีบทบาทน้อย เพราะฝากความหวังไว้กับรัฐผู้รับเท่านั้น สาม เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกัน ที่ต้องผลักดันให้ทั้งรัฐผู้รับและรัฐผู้ส่งต้องรับผิดชอบและเคารพหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ สี่ ปฏิญญาเซบูเป็นกลไกเหนือรัฐ อย่างไรก็ตามกรอบอาเซียน คือ จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ทำให้แต่ละประเทศต้องเคารพหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา เป็นความผูกพันและสำนึกร่วมที่มีต่อกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนที่กรุงเทพฯ และหยิบปฏิญญาเซบูขึ้นมาหารือ ในที่สุดจึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อกำกับ ผลักดัน ขยายกรอบความคิดที่ดำรงอยู่ให้เกิดการขับเคลื่อนได้จริง พยายามทำให้แต่ละประเทศมีกลไกรองรับการปฏิบัติตามปฏิญญา เห็นได้ว่าการพูดถึงคำว่า แรงงานข้ามชาติมีเอกสารหรือไม่มีเอกสารในปฏิญญาเซบูนั้น เป็นคำที่มีนัยยะสำคัญ พวกเขาต่างเป็นคนย้ายถิ่นเหมือนกัน การพูดว่ามีเอกสาร ไม่มีเอกสารจึงเป็นการแบ่งแยกรวมถึงลิดรอนคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่รู้ตัว การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในอาเซียนยังไม่มีกฎหมายอื่นๆรองรับ เหมือนกับกรณีผู้ลี้ภัยสงคราม ฉะนั้นการมีปฏิญญาจึงหมายถึงการส่งสารถึงรัฐบาล ถึงประชาชน ถึงผู้เกี่ยวข้องว่าให้เขารู้ว่าคนต่างๆเหล่านี้เป็นคนเช่นเดียวกัน ฉะนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรู้ถึงข้อปฏิบัติต่างๆในปฏิญญา คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีหน้าที่ในการประมวล สำรวจ ค้นหาปัจจัย สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเคลื่อนย้าย ส่งเสริมในระดับทวิภาคีเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกก็ตาม นอกจากนั้นกรรมการยังมีหน้าที่ในการดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน มีการให้ความรู้ต่อภาคส่วนต่างๆมากขึ้น ผมเห็นว่าความมั่นคงต้องเกิดจากความเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจ เราจะอยู่ร่วมกันได้ สำหรับบทบาทประเทศไทย คือ ไทยเป็นประธานอาเซียน และกระทรวงแรงงานเป็นกรรมการรับผิดชอบ เราจะไม่ทำงานเพียงแค่การคุ้มครองแต่ต้องให้ความรู้ต่อแรงงานร่วมด้วย โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่มีมากถึง 80 % ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือทางสังคม ทั้งการศึกษานอกระบบ สาธารณสุข สภาพแวดล้อม การครองชีวิต เพื่อทำให้แรงงานอยู่ให้ได้ เป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ กระทรวงที่ไม่ใช่แค่เพียงกระทรวงแรงงานเท่านั้น นอกจากนั้นไทยยังมีการจัดทำฐานข้อมูล การพัฒนากลไกอาเซียนในระดับรัฐบาลดูว่ามีกลไกอะไรบ้างที่จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามปฏิญญาฉบับนี้ในประเทศไทยต้องเกิดจากสภารับรอง ไม่ใช่แค่รัฐไปลงนามเพียงเท่านั้น รวมถึงการมีกลไกภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือผลักดันร่วมด้วย สิ่งที่เป็นกติกาเรื่องการไม่แทรกแซงภายในนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ยุ่งกันจริงๆ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องเข้าใจเขา และเมื่อเห็นผลกระทบก็ต้องบอกเขาและหาวิธีการในการจัดการดูแลร่วมกันด้วยความสงบสุขมากกว่าการใช้วิธีการขัดแย้ง ทำอย่างไรให้คนต่างๆมีความคิดในเชิงบวกให้ได้ อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรามองเห็นถึงข้อจำกัดเห็นปัญหาของกลไกอาเซียน แต่ต้องมองต่อว่าจะทำอะไรได้บ้างมากกว่าการอยู่กับปัญหานั้นๆ ต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครอง ทั้งในเชิงนโยบายและการทำงานภาคปฏิบัติของรัฐที่ต้องหารูปแบบ (Good governance) ที่ดีขึ้นมาในการจัดการ ใช้กลไกภาคประชาสังคมเป็นแรงผลักให้เกิดการขับเคลื่อน มีกฎหมายหลายๆฉบับที่เป็นเครื่องมือที่ทันสมัยทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้จริง เช่น กฎหมายการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ วันนี้ลำพังการชี้ปัญหาอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว เราต้องแสวงหาทางแก้ หารูปแบบที่ดีขึ้นมาน่าจะสำคัญกว่า ทั้งรูปแบบในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ฟิลลิป โรเบิร์ตสัน ได้พูดต่อมาในส่วนของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ว่า ในอาเซียนมีประชากรกว่า 500 ล้านคน จึงเห็นแรงงานย้ายถิ่นถึง 15.3 ล้านคนในอาเซียน ทั้งปัจจัยผลักดันจากประเทศต้นทางและปัจจัยดึงดูดจากประเทศปลายทาง เช่น ในภาคอุตสาหกรรมไทยต้องการแรงงานในการผลิต แต่แรงงานไทยก็เลือกไม่ทำในงานสกปรก ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องรับแรงงานจากประเทศอื่นๆ เข้ามา หรือกรณีของประเทศสิงค์โปร์ ในส่วนงานไร้ฝีมือระดับล่างคนท้องถิ่นก็ไม่ทำ ในอาเซียนมี 3 ประเทศ ที่รับแรงงานย้ายถิ่น คือ ไทย (35%) มาเลเซีย (35%) และสิงค์โปร์ (21 %) แต่ในไทยก็มีทั้งเอเชียใต้และแอฟริกาด้วย ส่วนประเทศที่ส่งแรงงานออกจะมีการส่งเงินกลับประเทศและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เช่น กรณีของประเทศฟิลิปปินส์ ที่เงินจากการพัฒนาประเทศมาจากแรงงานข้ามชาติ ฉะนั้นจึงทำให้เห็นว่าในอาเซียนมีช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนในภูมิภาคเดียวกันต่างกันมาก รวมถึงเรื่องของรายได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงในระดับนโยบาย อาเซียนมีเป้าหมายในการที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจเดียวกันให้ได้ เหมือนกับ EU เป็นตลาดเดียวแบบไร้พรมแดน มีการเคลื่อนที่เรื่องการลงทุนในสินค้าและบริการ โดยเฉพาะต้องทำให้ได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า การมีตลาดเดียวในอาเซียนจำเป็นต้องมีข้อตกลงเรื่องการย้ายถิ่นแรงงาน ในปฏิญญาเวียงจันทร์มีการพูดถึงการสร้างเครื่องมือบางอย่างขึ้นมาแต่ก็ยังไม่ชัดเจน เหมือนกับว่าจะมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องแรงงาน เช่น เรื่องกฎหมายแรงงาน แรงงานที่มีทักษะ ไม่มีทักษะ คนมีบัตร ไม่มีบัตร สิทธิแตกต่างกันอย่างไร ทำอย่างไรให้มีข้อตกลงเพื่อปกป้องแรงงานย้ายถิ่น ต่อมาการประชุมที่สิงค์โปร์ ทางภาคประชาสังคมในอาเซียน เช่น NGOs และสหภาพแรงงานต่างๆ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเรื่องแรงงานข้ามชาติขึ้นมา มีการปรึกหารือเรื่องนโยบาย ให้ประชาสังคมเข้ามีบทบาทในอาเซียน แสวงหาวิธีการแนวทางที่จะร่วมมือกับอาเซียน ทำอย่างไรที่จะร่างข้อตกลงขึ้นมาเพื่อเสนอให้อาเซียนนำไปเป็นกรอบใช้งาน กรรมการชุดนี้ทำหน้าที่เป็นเวทีของภาคประชาสังคมเพื่อปรึกษาหารือเรื่องแรงงานข้ามชาติ ส่งข้อมูลให้เลขาธิการอาเซียน และรัฐบาลใน 10 ประเทศ คณะกรรมการได้จัดประชุมไปหลายครั้งแล้ว เช่น ใน กรุงเทพฯ ฮานอย เขมร ลาว มีแถลงการณ์ออกมาร่วมกัน มีการจัดทำร่างข้อตกลงให้อาเซียนเพื่อให้อาเซียนปฏิบัติได้จริงตามกรอบกฎหมาย เราไม่รู้ว่าอาเซียนจะทำตามหรือไม่ แต่คณะกรรมการจะทำหน้าที่ตรวจสอบอาเซียนต่อไป สำหรับปฏิญญาเซบูนั้นถือว่ามีความสำคัญ แต่ไม่ชัดเจนว่าคืออะไร ปฏิบัติได้หรือไม่ได้ แต่หลายคนก็มองว่าเป็นก้าวแรกของอาเซียนในการกำหนดทิศทางนโยบายของแต่ละประเทศ ในปฏิญญาไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติช่วงไหน มีเพียงแต่ในข้อ 22 เท่านั้น ที่ระบุว่าต้องสร้างกรอบช่องทางในการปฏิบัติขึ้นมา แต่รายละเอียดก็ยังไม่ชัด ผุสดี ตามไท ได้อภิปรายต่อมาในฐานะของผู้มีประสบการณ์โดยตรง คือ ในประเทศไทยมีระบบรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องทำงานอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลนั้นๆ หลังจากที่มีปฏิญญาเซบู พบว่ามีภาคประชาสังคมไทย เช่น FES ได้จัดงาน จัดเสวนาเพื่อให้เกิดการพูดคุยเพื่อเชื่อมโยงการทำงานของรัฐสภากับภาคประชาสังคมให้เป็นจริง สำหรับในส่วนของรัฐบาลนั้น พบว่าหลังจากมีปฏิญญานี้ ในไทยได้มีการจัดประชุมพูดคุยกันว่าบทบาทสมาชิกรัฐสภาจะเป็นอย่างไรต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านนี้ เพื่อจะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ปฏิญญาเซบูได้รับการปฏิบัติจริง โครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการที่เกิดขึ้นมา คือ ความท้าทายของสมาชิกรัฐสภาว่าจะทำอะไรได้บ้าง ในที่ประชุมสภาได้พูดถึงบทบาทผู้หญิงที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติในหลายประเด็น รวมถึงการแสวงหาบทบาทของรัฐสภาทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสภากับภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกันให้ได้ เวลาพูดถึงการส่งเสริมบทบาทสภา อยากเห็นการปฏิบัติที่เป็นจริง เช่น อยากให้สมาชิกรัฐสภาลุกขึ้นมาทำบทบาทเหมือนนกที่เห็นภาพกว้างใหญ่ เห็นภาพรวมแรงงานข้ามชาติ รวมถึงรัฐบาลทำหน้าที่ดีพอหรือยัง ต่อมาไปดูว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่ผ่านสภานั้นสอดคล้องกับปฏิญญาและอนุสัญญาต่างๆที่ไทยไปลงนามมาแล้วหรือไม่ มีบทบาทในการกดดันให้รัฐบาลไทยไปลงนามอนุสัญญาต่างๆที่ไทยยังไม่ลงนาม ส่งเสริมให้มีกลไกข้ามพรรค เช่น คณะกรรมาธิการแรงงานที่ลุกขึ้นมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ในระดับรัฐสภาอาเซียน ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์เรื่องแรงงานข้ามชาติที่ยังมีทัศนคติไม่ดีอยู่ มีกฎหมายจำนวนมากที่มีการแยกส่วนว่าแรงงานไทยกฎหมายหนึ่ง แรงงานข้ามชาติกฎหมายหนึ่ง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกรัฐสภากับภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ค่อยมีเวทีแบบสม่ำเสมอ ควรสร้างขึ้นมาให้ได้ คนเราถ้าได้มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน พูดถึงปัญหาที่มีอยู่ ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นของสภา ภาคประชาสังคมจะช่วยรัฐสภาได้อย่างไรบ้าง ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในปัญหาที่พบอยู่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย สามารถเสนอสภาได้เลยและประชาชนสามารถเสนอร่างแก้ไขขึ้นมาหรือใช้สส.ให้เป็นประโยชน์ รวมถึงสภาจำเป็นต้องมีกลไกบางอย่างขึ้นมาที่เชื่อมโยงสภากับภาคประชาสังคม ไม่ใช่รู้ข้อมูลเพียงแค่รัฐบาลฝ่ายเดียว อาจใช้คณะกรรมาธิการที่มีอยู่ สร้างการเสวนาระหว่างภาคส่วนต่างๆ และการเชื่อมโยงกฎหมายกับอนุสัญญาต่างๆ นอกจากนั้นกระทรวงศึกษาต้องสร้างคนพันธุ์ใหม่ในการมีกระบวนทัศน์ชุดใหม่ที่มองโลกไร้วีซ่า ไร้พรมแดนต้องมีการเคารพซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข การกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย หัวข้อนี้นำเสวนาโดยรศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัย มหิดล และคุณสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย คุณอดิศร เกิดมงคล สุรีย์พร พันพึ่ง ได้เริ่มต้นเสวนาด้วยการทบทวนเนื้อหาในปฏิญญาเซบูว่าประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง ทั้งข้อตกลงของประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ 22 ข้อ ต่อมาพูดถึงเนื้อหาที่ปรากฏใน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เพื่อดูว่ารัฐไทยใช้กรอบความคิดอะไรในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการอภิปรายถึงความไม่สอดคล้องของนโยบายกับการพัฒนาประเทศ ปฏิญญาเซบูได้ประกาศเมื่อต้นปี 2550 แต่ปฏิญญาไม่ใช่กฎหมาย รัฐแต่ละประเทศจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ เหมือนเป็นศักดิ์ศรีของแต่ละประเทศที่ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่การบังคับ ต่อมารัฐบาลไทยก็ได้แถลงนโยบายที่รัฐสภาในเรื่องความมั่นคงว่า จะต้องมีการเร่งรัดพัฒนาระบบการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิ ภายใต้ความสมดุลระหว่างความมั่นคงของชาติและสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องมีการเร่งดำเนินการให้มีการจัดจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย เหล่านี้คือนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เห็นผลทั้งหมด ต่อมาในประเด็น พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 นั้น พบว่าไม่มีการกำหนดอาชีพต้องห้าม จึงทำให้อาชีพที่แรงงานข้ามชาติสามารถทำได้ไปขึ้นอยู่กับการอนุญาตจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายการเมือง ทำให้อาชีพสงวนหายไป มีบัญชีชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่แน่นอนว่าวิธีการนี้จะดีขึ้นหรือเลวลง ต่อมามีการกำหนดว่าแรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่ช่างฝีมือต้องมีการส่งเงินเข้ากองทุนส่งกลับ ซึ่งปกติแรงงานได้รับค่าแรงต่ำอยู่แล้ว จึงไม่มั่นใจว่านายจ้างจะมีการนำส่งเงินจริง นี้คือความกังวล ส่วนเรื่องการละเมิดสิทธินั้นพบว่า มีการเพิ่มอำนาจให้อธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาลในตอนกลางวัน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการจับกุมแรงงานข้ามชาติได้โดยตรง ต่อกรณีนี้เห็นว่าแง่หนึ่งจากงานวิจัยของนักวิชาการมีผลบางส่วนต่อการกำหนดนโยบาย เช่น จากการทำวิจัยเรื่องคนรับใช้ในบ้าน พบว่าอาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพที่ไม่มีการตรวจสอบจากรัฐ เมื่องานวิจัยนำเสนอประเด็นนี้ขึ้นมา จึงทำให้มีกฎหมายเพื่อตรวจสอบ แต่ก็เป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้านเช่นกัน ต่อมาในประเด็นเรื่องสินบนนำจับนั้น ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ความแตกแยกในชุมชน เพิ่มอคติเรื่องชาตินิยม จึงเห็นได้ว่าการกำหนดนโยบายจึงเกิดขึ้นมาจากอคติ/มายาคติที่ว่า แรงงานต่างชาติทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ความมั่นคงประเทศ การค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทย ผลกระทบต่อแรงงานไทย การไม่มีเอกสารถือเป็นความผิดร้ายแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความต้องการแรงงานราคาถูก ผลของนโยบายที่ผ่านมาพบว่ามีการสกัดกั้น ส่งกลับ จับกุม ควบคุมจำนวนแรงงานไม่ให้มีการกระจายตัว มีการกำหนดอาชีพ มีการเปลี่ยนสถานะแรงงานจากผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมาย จากนโยบายที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพูดเรื่องการจดทะเบียน การควบคุมจำนวน แต่สถานการณ์ในประเทศจริง กลับพบว่าประเทศไทยต้องการการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการใช้แรงงานไร้ฝีมือ ถือเป็นความขัดแย้งที่สวนทางกัน ต่อมาการเปลี่ยนแปลงประชากรพบต่อว่า กำลังแรงงานไทยเริ่มลดลง คนมีลูกลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้มีการไหลเข้ามาของแรงงานจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคมากขึ้น ปี 2550 รัฐบาลไทยมีการสนับสนุนให้ตั้งเขตอุตสาหกรรมแนวชายแดน แต่ปีเดียวกันก็มีนโยบายเรื่องการสร้างรายได้ให้คนอีสานขึ้นมา สงสัยว่าทำไมไม่ตั้งในอีสานขึ้นมาโดยตรง และรัฐบาลต้องการแรงงานข้ามชาติจริงหรือไม่ ต่อมาเรื่องการจดทะเบียนแรงงาน มีการทำ MOU แต่กลับพบว่าการจดทะเบียนไม่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงของแรงงาน ทั้งค่าใช้จ่ายและการเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย นโยบายไม่มีความแน่นอนในแต่ละปี ความไม่แน่นอนนำมาซึ่งความไม่เสถียรภาพในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นนโยบายไทยจึงไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในภาพรวม นโยบายแรงงานข้ามชาติควรมีการบูรณาการกับนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ควรมีการลบเลือนมายาคติด้านต่างๆ ที่เอาเข้าจริงแล้วการอพยพย้ายถิ่นเป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่ในอดีต และคนเหล่านี้ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่งเรามักติดกรอบอยู่กับเรื่อง ชาติเราดีที่สุด ซึ่งนโยบายควรปล่อยวางตัวตนแบบนี้ และแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆขึ้นมา เพราะเรารู้ปัญหา รู้บทเรียนมาตลอด นโยบายแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ทำอย่างไรความเท่าเทียมระหว่างความเป็นมนุษย์กับความเป็นแรงงานต้องดำเนินควบคู่กันไป รวมถึงความหวาดระแวงระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติต้องทำให้ความคิดนี้หมดไปด้วย เพราะต่างเป็นแรงงานเหมือนกัน นโยบายแรงงานต้องรวมถึงผู้ติดตาม การศึกษา อนามัยเจริญพันธุ์ และเรื่องอื่นๆ และควรมีการเปิดเวทีสาธารณะของภาคประชาชนในกระบวนการร่างนโยบายของภาครัฐร่วมด้วย สุนีย์ ไชยรส กล่าวว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ด้านการจัดการแรงงานอย่างมาก กรณีนี้อาจจะดูได้จากการที่แรงงานข้ามชาติมาร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิน้อยมาก ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วมีเหตุการณ์จำนวนมากที่สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิ แต่แรงงานก็ไม่กล้ามาร้องเรียน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จริง เพราะเมื่อมีการร้องเรียน แรงงานก็จะถูกส่งกลับ ทำให้แรงงานเกิดความไม่กล้า นอกจากนั้นยังพบอีกว่าแรงงานในหลายภาคส่วนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้ เช่น สิทธิเรื่องกองทุนเงินทดแทน ถ้าแรงงานไม่มีพาสปอร์ต เขาก็จะไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ หรือกรณีการเหมาช่วงในงานก่อสร้าง นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีแรงงานกัมพูชาแขนขาด นายจ้างได้จ่ายเงินชดเชยให้แรงงานคนนี้เพียง 4,000 บาทเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือ มีแรงงานจำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นมาร้องเรียนในเรื่องต่างๆ เช่น จ่ายค่าแรงไม่ครบ ถูกทำร้าย แต่ก็พบว่านายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้ช่องโหว่เรื่องการส่งกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จริง หรือถ้าเข้าถึงได้ก็เป็นส่วนน้อยมาก กฎหมายฉบับใหม่ เช่น พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ก็พบว่ามีการเลือกปฏิบัติมาก มีนายจ้างที่ดีอยากช่วยเหลือแรงงานก็ทำไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าไปดู เข้าไปหาทางจัดการช่องโหว่เหล่านี้ให้ได้ นโยบายหลายเรื่องได้ขยับตัวไปจากเดิมมาก แต่ปัญหาใหญ่ที่ยังคงอยู่ คือ เรื่องแนวคิดที่มองปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาความมั่นคง แนวคิดนี้มีการสั่งสมมายาวนาน ทั้งๆ ที่ความจริงภาคเศรษฐกิจต้องการแรงงานข้ามชาติ นี้คือความลักลั่นในกระบวนการปฏิบัติงานที่คลี่คลายยาก ประเทศไทยมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมเสรี เน้นการส่งออก ทำให้มีการใช้แรงงานราคาถูกเพื่อกำไรสูงสุด นี้จึงส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยด้วย เพราะนายจ้างก็จะจ้างแต่แรงงานข้ามชาติเท่านั้น ประเทศไทยเองก็ไม่มีทิศทางการคุ้มครองแรงงานทั้งระบบในการจ้างงาน วันนี้แม้แรงงานไทยมีสหภาพแรงงานก็ยังถูกเลิกจ้างอยู่ คนงานข้ามชาติยิ่งไม่มีสิทธิตั้งสหภาพ ต่อมาการไม่เปิดโอกาสให้ร้องทุกข์อย่างปลอดภัย ทำให้คนงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองได้ นอกจากนั้นยังมีคนงานไทยถูกหลอกเวลาไปทำงานต่างประเทศอยู่ตลอดและจัดการไม่ได้ แม้ว่าเรามีกฎหมาย แต่กฎหมายก็ยังไม่คุ้มครองแรงงานผิดกฎหมายอยู่ดี ขณะนี้รัฐบาลไทยโฆษณาเรื่อง MOU มาก แต่ความจริงมีแรงงานน้อยมากที่เข้า MOU และ MOU ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิได้จริง บางครั้งกฎหมายไทยเองก็ไม่คุ้มครองไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาติใดก็ตาม เช่น กฎหมายเกี่ยวกับอาชีพประมงที่คุ้มครองแรงงานเพียง 1 ปีเท่านั้น ฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหา คือ ต้องมองการย้ายถิ่นเป็นเรื่องปกติที่คนทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง กฎกระทรวงจำนวนมากที่มีปัญหา แรงงานเข้าไม่ถึง ต้องยกเลิกให้ได้ สำคัญเราต้องส่งเสียงให้ดังเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะและความร่วมมือระหว่างสมาชิกรัฐสภาและประชาสังคม หัวข้อนี้นำเสวนาโดย คุณรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท คณะกรรมาธิการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คุณเจะอะมิง โตะตาหยง ประธานคณะกรรมาธิการความมั่งคงของรัฐ คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคุณเสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ดำเนินรายการโดย คุณระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การเสวนาในภาคบ่ายเริ่มต้นจากเสถียร ทันพรม นำเสนอข้อเสนอแนะจากเวทีในภาคเช้าที่ผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็นใน 3 ประเด็น คือ (1) ประเด็นสำคัญในปฏิญญาที่เห็นว่าควรนำไปเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายระดับชาติ (2) นโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ (3) กลไกรัฐสภาที่จะช่วยส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีรายละเอียดแต่ละประเด็น ดังนี้ (1) ประเด็นสำคัญในปฏิญญาที่เห็นว่าควรนำไปเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายระดับชาติ · การละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ · การเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของคนทุกคน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ · การเข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร สวัสดิการทางสังคม บริการของรัฐอย่างเท่าเทียม · การเจรจาระดับทวิภาคี · การเป็นสมาชิกสหภาพ การแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การทบทวนกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา · การยกเลิกการจดทะเบียน และข้อปฏิบัติที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิด้านต่างๆ · เสรีภาพในการเดินทางและทำงาน (2) นโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ · การขึ้นทะเบียนแรงงานที่สอดคล้องกับการย้ายถิ่น เช่น ระยะเวลาการอยู่ในประเทศนั้นๆ · การยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน · การคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ และแรงงานที่ย้ายถิ่นเข้ามา ทั้งเรื่องสุขภาพและอื่นๆ · การคุ้มครองความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน · การให้ความสำคัญ/คุ้มครองต่อผู้หญิงมากขึ้น · ทำให้เรื่องแรงงานข้ามชาติมีการบูรณาการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ · การให้ความสำคัญกับเรื่อง งานที่มีคุณค่า · การมีบทลงโทษที่จริงจังสำหรับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในทุกฝ่าย · ให้มีกฎหมายฉบับเดียวที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เพื่อง่ายต่อการจัดการ · มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิแรงงานต่อแรงงานข้ามชาติ · การเข้าถึงสิทธิทางวัฒนธรรม (3) กลไกรัฐสภาที่จะช่วยส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ · การเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่รัฐ · การมีกลไกที่แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการร้องเรียนได้จริง · การมีกฎหมายที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน · การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย · มีหน่วยงานที่ดูแลแรงงานข้ามชาติโดยตรง · คณะกรรมาธิการแรงงานต้องมีส่วนร่วมกับ ภาคประชาสังคมมากขึ้น · มีการจัดตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ นายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมาย · เปิดโอกาสให้คนงานทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย · กระทรวงแรงงานต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการคุ้มครองแรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร · กลไกที่รัฐกำหนดต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นจริง · การยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากประเด็นข้อสรุปข้างต้น เสถียรยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าประเทศไทยต้องเป็นต้นแบบในการดูแลสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในฐานะประเทศต้นทางและปลาย ต้องหาวิธีทำอย่างไรให้มีทูตแรงงานว่าด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากประเด็นที่เสถียรนำเสนอ ระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ ได้ฉายภาพให้เห็นเพิ่มเติมว่า บทสรุปดังกล่าวนั้นมี 4 ประเด็นหลักสำคัญ คือ (1) สิทธิการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในฐานะความเป็นมนุษย์ (2) การจัดการต่างๆ เช่น การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การพิสูจน์สัญชาติ (3) การมีส่วนร่วมและมีบทบาทขององค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย และ (4) บทบาทของประเทศไทยในอาเซียนในการเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในฐานะประเทศต้นทางและปลายทาง รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นำเสนอว่าประเด็นเรื่องของภาคประชาชน โดยเฉพาะคนจน คนงาน เป็นเรื่องที่สามารถคุยกันได้ตลอดเวลา สำหรับในเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้นอาจต้องถามสังคมไทยว่าคิดอย่างไร ทำอย่างไรจะสร้างทัศนคติใหม่ในเรื่องแรงงานข้ามชาติไม่ให้คิดในแง่ลบ การเปลี่ยนวิธีคิดต้องเริ่มจากคนระดับผู้นำให้มีแนวคิดทางสังคมมากขึ้น ต้องสอดคล้องกับแนวคิดของภาคประชาสังคม เนื่องจากรัฐบาลไทยปัจจุบันเป็นตัวแทนของทุนนิยมที่เห็นใจเฉพาะนายจ้าง กลัวนายจ้างเสียหาย แต่ไม่กลัวลูกจ้างและเกษตรกรเดือดร้อน สิ่งสำคัญต้องเปลี่ยนแนวคิดของภาครัฐ จากนโยบายเรื่องแรงงานข้ามชาติที่เห็นเป็นเพียงเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิมนุษยชน ต้องทำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิมนุษยชน ดังนั้นปัจจุบันการจดทะเบียนแรงงานจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการขึ้นทะเบียนปัจจุบันไม่ได้เพิ่มสิทธิให้แก่แรงงานข้ามชาติ จะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในเรื่องวิธีคิดของภาครัฐที่แก้ไขได้ยาก ประเด็นต่อมา คือ รัฐมีการออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิและจำกัดสิทธิแรงงานข้ามชาติต่างๆ ต้องดูว่าเอาหลักเกณฑ์ใดมาออกระเบียบเหล่านั้น เพราะกฎหมายหลายฉบับขัดแย้งกับกฎหมายหลัก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นกฎระเบียบเหล่านั้นก็ไม่ควรจะออกมาได้ นอกจากนี้ต้องคิดต่อว่าสาเหตุที่คนไทยไม่ทำงานที่แรงงานข้ามชาติทำ เป็นผลมาจากการเลือกจ้างแรงงานของนายจ้างที่ต้องการเพียงแรงงานราคาถูก ไม่ใช่เพราะว่าแรงงานไทยไม่ต้องการทำงานเหล่านั้นจริง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กล่าวต่อว่า การจัดการด้านแรงงานเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานผ่านการใช้อำนาจของรัฐไทยและประเทศในอาเซียนนั้น พบว่าจากปฏิญญาเซบูทุกประเทศสมาชิกของอาเซียนได้เป็นภาคีร่วมอยู่แล้ว รวมถึงภาคีที่เกี่ยวกับอนุสัญญาต่างๆที่ไปลงนามไว้ด้วย ดังนั้นจึงเป็นหลักบังคับตามกฎหมายพื้นฐานว่าแต่ละประเทศควรต้องปฏิบัติตามให้ได้ อนุสัญญาเหล่านั้นเปิดกว้างมากและสามารถอ้างอิงได้ในการร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดการปกป้องผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่ว่ารัฐแต่ละประเทศจะทำตามหรือไม่ สำหรับกรณีที่บางประเทศไม่ปฏิบัติตามนั้น คิดว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบการใช้แรงงานต่างกันออกไป เช่น สิงค์โปรอาศัยแรงงานข้ามชาติแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่อยากให้สิทธิแรงงานเหล่านั้นในการต่อรอง เพราะจะก่อให้เกิดการเพิ่มต้นทุนทางการผลิต อินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาในเรื่อง GDP จึงต้องส่งแรงงานออกเป็นหลัก ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกดดันทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลแต่ละประเทศคุ้มครองคนงานที่ไปทำงานประเทศอื่นให้ได้ หากกล่าวถึงการปกป้องแรงงานและสิทธิในภูมิภาคที่โดดเด่น คิดว่าคงเป็นอินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ ในขณะที่พม่าไม่มีนโยบายใดๆในการปกป้องเรื่องสิทธิของคนในประเทศเลย มีแต่การละเมิดเป็นหลัก ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงทั้งภูมิภาค เพราะมีการผลักดันชนกลุ่มน้อยออกจากประเทศพม่าอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งพม่าก็ไม่มีการรับรองสัญชาติคนเหล่านั้นว่าเป็นชาวพม่าด้วย ดังนั้นการเคลื่อนตัวของอาเซียนในอนาคตจะมีปัญหาเพราะนโยบายของพม่า จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะรณรงค์ให้มีการโค่นล้มเผด็จการในพม่าและโค่นล้มรัฐบาลที่สนับสนุนเผด็จการพม่าลง เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย พบว่าเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งในตนเอง คือ มีความต้องการแรงงานต่างชาติสูง แต่รัฐบาลก็ผลักดันให้คนงานไทยออกไปทำงานต่างประเทศอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นเรื่องที่ว่าคนงานไทยไม่อยากทำงานที่แรงงานข้ามชาติทำนั้น เพราะอาชีพเหล่านั้นมีการกำหนดค่าจ้างต่ำมาก จึงเป็นโอกาสของแรงงานข้ามชาติที่ต้องการทำงานอยู่แล้ว และยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างกดขี่ค่าจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น นี้เป็นรูปแบบหนึ่งในการดึงดูดการลงทุนจากนายทุน และเมื่อแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นมาอยู่ในประเทศเรา คนเหล่านั้นยิ่งจะไม่มีสิทธิใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และสิทธิแรงงาน เราต้องหาทางร่วมมือกันในการจัดการให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ เจะอะมิง โตะตาหยง กล่าวต่อว่า ตราบใดที่อาเซียนยังมีความแตกต่างในเรื่องเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายแรงงานก็จะเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเสมอ แต่หากว่าภาพรวมของเศรษฐกิจอาเซียนเป็นทิศทางเดียวกัน การเคลื่อนย้ายแรงงานก็จะลดน้อยลง นอกจากนี้การขับเคลื่อนภาคประชาชนต้องเข้มแข็งจึงจะแก้ไขเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ เนื่องจากปัจจุบันพรรคการเมือง คือ รัฐบาลจะเป็นคนดูแลนโยบายทั้งหมด เมื่อนโยบายพรรคการเมืองนำไปสู่นโยบายรัฐบาล เมื่อพรรคการเมืองไม่มีนโยบายด้านแรงงาน รัฐบาลก็จะไม่มีนโยบายแรงงานเช่นกัน การที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาประเทศกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการหารายได้ของรัฐ มีการคอร์รัปชั่นภายในกลไกของรัฐ เช่น การหักค่าหัวคิวของแรงงาน ซึ่งถ้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในระบบทำให้ถูกกฎหมาย การหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติก็จะทำได้น้อยลง จากเหตุนี้จึงทำให้ผู้ได้รับประโยชน์พยายามทำให้แรงงานข้ามชาติไม่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย สิ่งที่จะร่วมผลักดันได้ คือ ความร่วมมือในส่วนของผู้นำแรงงาน องค์กรแรงงานและ NGOs ในการคิดค้นกรอบกฎหมายในการคุ้มครองและเสนอผ่านพรรคการเมืองเพื่อนำเสนอต่อเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกที่จะผลักดันร่วมกันได้ในระดับหนึ่ง สำหรับในเรื่องของความมั่นคงในประเด็นของแรงงานข้ามชาติ คิดว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า แต่เราต้องมองกลับกัน ความมั่นคงนั้นต้องมองในเรื่องของความมั่นคงของสิทธิแรงงานเป็นสำคัญมากกว่า ไม่ใช่การเอาความมั่นคงของรัฐเป็นที่ตั้งและนำมาใช้ในด้านลบเพื่อหาผลประโยชน์จากแรงงาน จึงทำให้เห็นว่ากลไกของรัฐแทบทุกกลไกพยายามเอื้อประโยชน์ต่อการคอร์รัปชั่น ดังนั้นพวกเราต้องช่วยกันตรวจสอบและแสดงให้สังคมรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ให้ได้ ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้ง 3 เวที (1) ประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมาย ปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาใหญ่มากมีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่พบว่าค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแรงงานสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้แรงงานบางคนไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนั้นกฎหมายบางอย่าง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เกิดผลที่ไม่คาดคิดในทางปฏิบัติ มีการควบคุมชายแดนมากขึ้น ซึ่งทำให้แรงงานต้องหันไปพึ่งพิงระบบนายหน้าแทน ข้อเสนอต่อกรณีนี้ คือ เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ และสหภาพแรงงานต้องเป็นอิสระจากรัฐ, ต้องทำให้แรงงานถูกกฎหมายทุกคน มีสิทธิถือเอกสารใบเดียวและเดินทางไปทำงานที่ไหนก็ได้, มีการแก้ปัญหาที่ประเทศต้นทาง ที่ทำให้รัฐทุกรัฐในอาเซียนต้องคุ้มครองคนทุกคน และควรยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายคนเข้าเมือง เพราะได้สร้างปัญหาต่อแรงงานข้ามชาติมากที่สุด (2) ความคาบเกี่ยวระหว่างแรงงานข้ามชาติกับผู้ลี้ภัย ปัจจุบันรัฐบาลไทยปฏิเสธการมีอยู่จริงของผู้ลี้ภัย มองผู้ลี้ภัยสงครามในฐานะแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นต้องทบทวนนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างผู้ที่เข้ามาด้วยความจูงใจทางเศรษฐกิจ กับการเข้ามาในรูปแบบการลี้ภัย ซึ่งหากไม่มีการจัดการปัญหาอย่างถูกต้องก็จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังไม่สิ้นสุด การแก้ไขปัญหาควรนำเรื่องการละเมิดสิทธิจากประเทศต้นทางมาจัดการร่วมด้วย (3) บทบาทรัฐสภาและภาคประชาสังคม ปัญหาแรงงานข้ามชาติกลายเป็นปัญหาถาวรของอาเซียน สิ่งที่รัฐสภาต้องสนใจคือ ความไม่เป็นเอกภาพในการมองเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ เช่น ผลประโยชน์ แรงงานผิดกฎหมาย ประเด็นต่อมา คือ ไม่สามารถให้รัฐสภาแก้ปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว ในคณะกรรมาธิการควรต้องมีผู้แทนฝ่ายต่างๆเข้าไป เช่น ผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ปัญหาแรงงานได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ภาคประชาชนฝ่ายต่างๆต้องสะท้อนปัญหาให้รัฐสภาทราบ ต้องให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่อรัฐสภาร่วมด้วย เพราะภาคประชาสังคมต่างๆสามารถพัฒนานโยบายที่ดีได้ บางครั้งก็พบว่าพรรคการเมืองก็ไม่มีความจริงใจต่อผู้ใช้แรงงาน ไม่มีนโยบายด้านแรงงานที่เป็นรูปธรรมเช่นกัน (4) มุมมองต่อเรื่องแรงงานข้ามชาติ เราควรจะต้องมองเรื่องการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องการทำมาหากิน การเลี้ยงชีพ มองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ ดังนั้นต้องไม่ใช้มาตรการในการควบคุม ต้องมีมาตรการในการส่งเสริมการทำมาหากิน มีค่าจ้างและสวัสดิการในการดูแลต่างๆตามมาตรฐานเดียวกับแรงงานในประเทศ ข้อเสนอหนึ่งจากเวที คือ น่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดเศรษฐกิจโดยให้รัฐรับภาระด้านเศรษฐกิจในการลงทุน ให้มีการจ้างงานต่อเนื่อง มีการแทรกแซงเศรษฐกิจ สนับสนุนการสร้างสวัสดิการประชาชน (รัฐสวัสดิการ) ปฏิรูประบบภาษีเป็นภาษีก้าวหน้า มีการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน นอกจากนั้นแล้วแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง สะท้อนถึงกลไกที่มีอยู่ซึ่งเป็นปัญหาแต่ก็ยังเลือกใช้ เลือกนำมาปฏิบัติอยู่ มองแรงงานเป็นเครื่องจักร เพราะถ้าเห็นความสำคัญ การวางนโยบายจะไม่เป็นแบบนี้ ควรยอมรับความจริงว่าเราปฏิเสธแรงงานข้ามชาติไม่ได้ รวมถึงการจดทะเบียนให้ถูกกฎหมายทุกคนก็ไม่เป็นจริงแน่นอน ต้องพยายามมองภาพรวมให้ได้ทั้งระบบ ดูว่าอะไรเป็นปัญหา นโยบายหรือการปฏิบัติ เพื่อจะแก้ปัญหาได้ถูกต้อง สรุปการสัมมนาโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี ขวัญสกุล เชาว์พานนท์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 7 พฤศจิกายน 2551 |