จับเข่าคุย "ปั้น วรรณพินิจ" นำกองทุนประกันสังคมฝ่าวิกฤตอย่างไร?06 .. 51 เครือมติชน หมายเหตุ - กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยด้วยจำนวนเงินกว่า 5.5 แสนล้านบาท และกองทุนแห่งนี้ยังต้องเติบใหญ่อีกมาก เนื่องจากจำนวนผู้ประกันตนปัจจุบันมีกว่า 9 ล้านคน ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดคำถามถึงการบริหารเงินก้อนนี้อย่างมาก จึงน่าสนใจว่า นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คนใหม่ มีนโยบายอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ที่ "มติชน" นำเสนอ - เรื่องความมั่นคงของกองทุนซึ่งมีการคาดการกันว่าเมื่อกองทุนชราภาพเริ่มไหลออกในปี 2557 อนาคตเงินกองทุนนี้จะหมดเตรียมแก้ไขปัญหานี้อย่างไร กองทุนประกันสังคมแยกเป็น 3 ส่วน 1.กองทุนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ และคลอดบุตร กองทุนนี้เป็นเรื่องของเงินเข้าในปีนี้ใช้จ่ายในปีนี้ ถ้าสามารถบริหารเงินเข้า-ออกให้ใกล้เคียงกันก็ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันเงินกองนี้มีอยู่ประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท ถ้าปีนี้เข้า 100 ใช้จ่าย 100 หรือ 85 ก็ไม่มีปัญหา 2.กองทุนว่างงานซึ่งก็เป็นเงินหมุนเวียนเช่นกัน รับมาแล้วจ่ายไป แต่ที่ผ่านมารับเข้ามามาก จ่ายน้อย ก็เลยสะสมไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท แม้มีวิกฤตต้องใช้ทุกปี แต่เงินเหลือ ถือว่ามีความมั่นคง 3.กองทุนสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ขณะนี้มีประมาณกว่า 4 แสนล้าน แต่ละปีจ่ายไปบ้าง เช่น สงเคราะบุตรคนละ 300 บาททุกคน ส่วนกองทุนชราภาพแยกให้สิทธิคนงาน 2 อย่าง คือ บำเหน็จและบำนาญ กองทุนนี้เริ่มเมื่อปี 2542 และผู้ประกันตนจะได้สิทธิต้องอายุ 55 ปี ส่วนบำนาญได้เป็นรายเดือน เมื่อส่งเงินประกันสังคมครบ 15 ปี ดังนั้น กองทุนชราภาพขณะนี้มาได้แค่ 10 ปี ยังเหลืออีก 5 ปี หรือเริ่มจ่ายได้ในปี 2557 ถ้าใครอายุ 55 ปีก่อนปี 2557 ก็ได้รับบำเหน็จคือเงินที่นายจ้าง ลูกจ้างสะสม 3% ขณะนี้ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รู้ว่าตัวเองจะต้องส่งเท่าไร ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าผู้ประกันตนอายุ 55 ปีในวันนี้ เขาก็จะได้รับเงินบำเหน็จ แต่ถ้า 55 ปี ยังมีงานทำและยังเป็นผู้ประกันตนก็สะสมบำเหน็จไว้ พูดแล้วบำเหน็จก็คือเงินออมรวมกับเงินที่นายจ้างสะสมสมทบผูกกับดอกผลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่เกิดขึ้นจริง ปีหนึ่งๆ จ่ายหลายพันล้านก็ไม่มีปัญหา แต่ที่เขาว่ามีปัญหาก็คือ บำนาญ ซึ่งต้องคิดกันมาก เพราะบำนาญเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบไว้ฝ่ายละ 3% รัฐบาลสมทบ 1% รวมแล้วแต่ละปีมีเงินเข้ากองนี้ 7% ถ้าครบ 15 ปี ผู้ประกันตนก็ได้ 105% นี่คือเงินที่ออกมาไม่นับดอกผล แต่ทันทีที่ปี 2557 นาย ก. อายุ 55 ปี เขาขอรับบำนาญ เขาจะได้ 20% ของเงินเดือน 6 ปีสุดท้ายเฉลี่ยไปจนตาย ดังนั้น 105% ที่เก็บไว้จะใช้ได้ 5 ปี ถ้าเขาตายอายุ 60 ปี เงินที่ออมไว้ก็พอดีจ่าย ถ้าตายอายุ 80 ปี เราก็หาดอกผลเพื่อหาเงินมาจ่ายให้เขาอีก 20 ปี ดังนั้น ทุกคนจึงกังวลในเรื่องนี้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคำนวณว่า ในปี 2556 ก่อนที่บำนาญจะเกิดในปี 2557 สปส.จะมีเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อไปถึงปี 2566 จะมีเงินกว่า 2 ล้านล้านบาท จุดที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคำนวณ กองทุนประกันสังคมจะมีเงินมากที่สุดในปี 2581 จำนวน 6.993 ล้านล้านบาท ถ้าเผื่อปีหน้าเรายอมลดเก็บเงินสมทบส่วนนี้ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท จะทำให้ปี 2581 เงินที่จะได้ จำนวน 6.993 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ 6.978 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่านิดเดียว แต่ทำให้เราสามารถเอาไปดูแลเรื่องอื่นๆ ได้ และการคำนวณแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นการลดบำนาญ ซึ่งยังคงได้ 20+1.5+1.5 คือส่งเงินสมทบ 15 ปี อายุ 55 ปี ก็ได้บำนาญ 20% ถ้าส่ง 16 ปี ได้ 20+1.5 ถ้าส่ง 17 ปี ได้ 23% จนตาย แต่มีข้อกังวลว่า หลังจากปี 2581 มีคนชราภาพเยอะ เลยคิดว่าโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้นจะทำให้มีเงินออกมากกว่าเงินเข้า ตอนนี้เราเก็บ 3% รวมแล้วเป็น 7% แต่พอเงินบำนาญออกมาแต่ละปี จะลดจาก 6.993 เรื่อยๆ เขามองว่าเงินจะเริ่มหมดปี 2590 แต่ผมกำลังขอดูรายละเอียด เพราะปี 2581 สปส.มีเงินสูงสุด แล้วทำไม 10 กว่าปี จึงลดลงมาเหลือศูนย์ จึงน่าจะมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง เมื่อหารือเบื้องต้น เขาบอกว่าสูตรนี้คำนวณโดยใช้สูตรขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) แต่ตอนนี้ไอแอลโอกำลังปรับสูตรให้สมบูรณ์มากขึ้น ผมกำลังลงไปในรายละเอียด ด้วยวิธีการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยบอกมาตั้งแต่ต้นว่า ณ ปี 2551 เราน่าจะมีเงินกองทุนไม่ถึง 5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้เกินเส้นที่เขาคาดหมายไว้ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ผมถึงเชื่อว่าเงินประกันสังคมไม่หยุดอยู่แค่ 6.993 ล้านล้านบาทเท่านั้น มันน่าจะสูงกว่านั้น และจะทอดยาวมากกว่านี้ - มีวิธีการหารายได้เพื่อพยุงกองทุนให้ยาวอย่างไร นโยบายของรัฐมนตรีคือ ความมั่นคงต้องมาเป็นที่หนึ่ง ส่วนผลตอบแทนสูงก็สามารถดูได้ แต่ถ้าต้องทำให้ความมั่นคงเสียหาย ก็เลือกความมั่นคงดีกว่า เพราะนี่เป็นเงินของคนจนจริงๆ พวกเขาจ่ายเดือนละร้อยสองร้อย ก็หวังว่าบั้นปลายชีวิตจะสบาย ดังนั้น เราต้องทำให้มั่นคงและนโยบายที่ สปส.ตั้งไว้ในปี 2533 คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง 60% ส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40% ซึ่งขณะนี้สินทรัพย์เราลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงแค่ 17% สินทรัพย์มั่นคงมีถึง 83% คำว่าสินทรัพย์มั่นคงคือลงทุนแล้วต้นไม่หายแต่กำไรอาจน้อย แต่ถ้าเศรษฐกิจดี อาจเป็น 18-19% ก็ได้เพราะถ้ามีความเสี่ยง ดอกผลจะสูงกว่า และความเสี่ยงมีหลายชั้น มาก กลาง น้อย คงเลือกเสี่ยงน้อยไว้ก่อน และอาจได้มากกว่าพันธบัตร 3-4% - ทำอย่างไรผู้ประกันตนจะมั่นใจได้ว่าคณะผู้บริหารกองทุนประกันสังคมเป็นมืออาชีพ ระบบปัจจุบันมีการ check and balance คือ ในการปฏิบัติการตัดสินใจวันต่อวัน จะมีเจ้าหน้าที่ในสำนักบริการการลงทุนดูแล ทุกเช้ามีการประชุม และทุกสัปดาห์มีการหารือในภาพกว้าง ส่วนการตัดสินใจรายวันจะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเพิ่มหน่วย เพราะสินทรัพย์ที่จะมาลงทุนมีความหลากหลายและคนไม่พอ เราเลยต้องหาผู้ชำนาญการมากขึ้น ขณะที่บริษัทที่มาดูแลการลงทุนให้เราก็มาคุยกัน ถ้าเราเอาความแตกต่างของแต่ละฝ่ายเข้ามารวมกัน น่าจะมีความมั่นใจในการลงทุน นี่คือกระบวนการในการตัดสินใจ 2-3 วันที่ผ่านมา ช้อนไว้ในราคาที่ต่ำ ถ้าปล่อยขายได้ก็ปล่อย แต่กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่ ถ้าปล่อยไปจะทำให้ตลาดที่บางอยู่แล้วหล่นลงไป มีการทยอยขายบางส่วน ก็มีกำไรในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา นี่คือระดับเจ้าหน้าที่ ส่วนระดับคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) จะดูในภาพนโยบาย ซึ่งพวกเขาซักไซ้ลงลึก เมื่อมีการถาม-ตอบ ก็จะเป็นกระบวนการ check and balance ถ้าบอร์ดตกลงในทิศทางการลงทุนในเดือนหน้าน่าจะเป็นอย่างนี้ ส่วนปฏิบัติก็ออกมาในรูปแบบนั้น แต่ระหว่างบอร์ดกับเจ้าหน้าที่ ก็จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง เรียกคณะกรรมการบริหารการลงทุน เมื่อบอร์ดสั่งการมาคณะกรรมการก็มาแปลงกลยุทธ์ในการปฏิบัติ - ระบบการตรวจสอบใน สปส.มีประสิทธิภาพหรือไม่ ผมเข้าไปติดตามแบบวันต่อวัน และคงต้องหาโอกาสเข้าไปฟังคณะกรรมการบริหารการลงทุน โดยสภาพขณะนี้อาจต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิดมากกว่าปกติ เพราะเป็นช่วงผันผวน ผมบอกเขาว่าอาจต้องหาคนที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจมหภาคเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา มองว่าหุ้นเป็นอย่างนี้ พันธบัตรเป็นอย่างนี้ แต่ภาพรวมของประเทศเป็นอย่างไร ต้องชะลอหรือไม่ จ้างนักวิจัยมาพูดให้ฟังว่าเป็นอย่างไร หรือนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่มาพูดว่าในเดือนหน้าทิศทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร - ที่ผ่านมาฝ่ายการลงทุนเหมือนกับฝ่ายเล็กๆ ใน สปส. ทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้เมื่อเปรียบเทียบกับเงินอันมหาศาล ด้วยระบบ check and balance เป็นผลงานที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ ประกันสังคมตั้งมาปี 2533 จนถึงขณะนี้ประมาณ 18 ปี เรามีกำไรทั้งหมดที่เป็นตัวเงินเข้ามา 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไร โดยเงินต้นทุนจริงมีแค่ 1 แสนล้านบาท เราได้กำไรประมาณ 25% ดั้งนั้น ระบบที่ทำมาผมมีความมั่นใจ และเมื่อตลาดกว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น และมีความซับซ้อนของตลาดสินทรัพย์มากขึ้น บางครั้งต้องการความเชี่ยวชาญมากขึ้น และต้องมีการหารือการตัดสินใจร่วม - แนวคิดที่ต้องการให้ฝ่ายลงทุนเป็นอิสระเป็นอย่างไร ขณะนี้เรื่องอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะต้องแก้ไขกฎหมาย คำว่าอิสระไม่ใช่หมายความว่าบริหารงานกันได้ตามใจชอบ เพียงแต่ขอสิทธิเรื่องทรัพย์สินที่ซื้อมาให้เป็นของกองทุนประกันสังคม เพราะตอนนี้ซื้อมาแล้วเป็นของกรมธนารักษ์ แม้แต่ซื้อหุ้นก็เช่นกัน เช่น ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพอซื้อไปชนเพดาน เพราะไปบวกกับหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ หรือรัฐวิสาหกิจอื่นถือ รวมกันแล้วเกิน 51% กลายเป็นรัฐวิสาหกิจทันที แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลก็ไม่เกี่ยว - อนาคต สปส.ควรเป็นองค์กรในลักษณะใด หน้าที่ของ สปส.คือ 1.การลงทุนต้องมีความเป็นมืออาชีพหรือมีความเป็นกึ่งเอกชนมากกว่าราชการอย่างเดียว ส่วนนี้จึงน่าออกไป แต่ต้องมีระบบความเชื่อมโยงและยึดโยง 2.การบังคับใช้กฎหมาย ต้องเป็นราชการ 3.ส่วนที่เป็นบริการวันต่อวัน เช่นการเข้ามาขอให้สิทธิต่างๆ ส่วนนี้น่าเป็นกึ่งเอกชน หรือองค์กรอิสระ ดังนั้น เมื่อแบ่งซอยหน้าที่แล้วเห็นว่าแต่ละส่วนมีลักษณะงานที่ไม่เหมือนกัน ผมไม่คิดว่า สปส.จะเป็นอิสระทั้งหมด อย่างน้อยก็เรื่องกฎหมาย - ที่ผ่านมา สปส.มีภาพทุจริตคอร์รัปชั่นและมักถูกนักการเมืองล้วงลูก ผมคิดว่าประโยชน์ที่ได้ต้องเป็นประโยชน์ของผู้ประกันตนและนายจ้างก่อน ถ้าทำโครงการต่างๆ ต้องตอบสนองสองเป้าหมายหลักนี้ได้ การจะใช้โครงการต่างๆ ให้โปร่งใส ไม่มีนอกมีในนั้น มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว อย่าข้ามขั้นตอน และใช้ระเบียบราชพัสดุของราชการซึ่งจะมีการ check and balance และต้องทำให้ครบทุกขั้นตอน อย่ามองแค่ต้นคิดโครงการมาจากไหน คนคิดอาจคิดดี ถ้าผู้ประกันตนและนายจ้างรับก็โอเค หน้า 10 |