Thai / English

300 รง.ชายแดนตากส่อเจ๊งระนาว-“แฮมเบอร์เกอร์ไครซีส”ทำออเดอร์ใหม่หาย



31 .. 51
ผู้จัดการ

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – อุตสาหกรรมส่งออกชายแดนตากที่เคยทำเงินเข้ากว่า 20,000 ล้านบาท/ปี ส่อเจ๊งระนาวรับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หลังออเดอร์ใหม่จากยุโรป-อเมริกา หายกว่า 30-50% ขณะที่ตลาดใหม่แถบเอเชียยังลูกผี ลูกคน ชี้กลุ่ม “อัญมณี-เจียระไน” อาจถึงขั้นปิดกิจการ โละทิ้งแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าวด้วย

นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยถึงผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่กำลังลุกลามจากอเมริกา ยุโรป รวมถึงเอเชียหลายประเทศในขณะนี้ ว่า จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมใน 5 อำเภอชายแดนตาก ที่มีมากกว่า 300 โรงงานแน่นอน เนื่องจากกว่า 90% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งสิ้น และพึ่งพิงตลาดอเมริกา – ยุโรป มากกว่า 30-50% เมื่อกลุ่มประเทศเหล่านี้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็จะกระทบออเดอร์สินค้าที่เคยมีเข้ามาด้วยแน่นอน

ล่าสุดแทบทุกโรงงานไม่มีออเดอร์ใหม่เข้ามาเลย ที่เดินเครื่องกันตอนนี้ล้วนแต่เป็นออเดอร์เก่าที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นหมายถึงปีหน้าบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งกลุ่มการ์เมนต์ – เจียระไนเพช พลอย หรืออัญมณีต่าง ๆ จะไม่มีออเดอร์ในมือ บางรายอาจจะถึงขั้นปิดกิจการกันเลย โดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตเสื้อผ้าไหมพรม เย็บผ้า ฯลฯ ที่กล่าวได้ว่า ไม่มีออเดอร์ใหม่เข้ามาเลย 100%

ขณะที่แนวทางการหาตลาดใหม่แถบเอเชีย ก็ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งตลาดจีน ที่แท้จริงเป็นคู่แข่งการ์เมนต์ของไทยโดยตรง ถ้าทำได้ก็น่าจะออกมาในรูปของการร่วมมือกันผลิตของแต่ละราย ขณะที่ญี่ปุ่น ก็ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่

“จะเหลือก็แต่กลุ่มที่ผลิตสินค้าที่จำเป็น เช่น เย็บเสื้อชั้นในสตรี ที่ยังมีออเดอร์ต่อเนื่อง เพียงแต่อาจจะไม่สามารถปรับราคาขึ้นสูงได้เท่านั้น”

แน่นอนว่า หากโรงงานเหล่านี้ต้องหยุด หรือลดกำลังการผลิต ก็ต้องลดการจ้างงาน ที่ส่วนใหญ่กว่า 70% ใช้แรงงานต่างด้าวลงด้วย ก็อาจจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าพื้นที่ชั้นใน หรือปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการแต่ละราย ก็พยายามลดเวลาทำงานของแรงงานในสายการผลิตลงอย่างต่อเนื่องอยู่

นายชัยยุทธ บอกว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมชายแดนตากกว่า 300 โรงแห่งนี้ สามารถสร้างรายได้เข้าจังหวัดมากกว่า 20,000 ล้านบาท/ปี เป็นกลุ่มที่ทำรายได้เข้าจังหวัดเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคการเกษตร

ส่วนกลุ่มภาคการเกษตร – การค้าชายแดน ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ที่มีตลาดในประเทศรองรับ หากราคาตกต่ำมาก รัฐบาลก็ต้องเข้ามาการันตี – แทรกแซงตลาดอยู่แล้ว