Thai / English

ผลกระทบต่อแรงงานอพยพจากเอเชีย อันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลก


วิทยากร บุญเรือง
15 .. 51
ประชาไท

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี ไม่ใช่แค่นักลงทุนเท่านั้นที่ต้องรับผลกระทบ จากการคาดการณ์พบว่าวิกฤตการเงินครั้งนี้จะทำให้แรงงานอพยพจากเอเชียต้องตกงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานอพยพในภาคบริการจากฟิลิปปินส์

วิกฤตภาคการเงินโลกที่ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์เอเชีย ใครจะไปคาดคิดว่ามันได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการตัวเล็กๆ โดยเฉพาะแรงงานอพยพชาวเอเชีย

ทั้งนี้มีแรงงานอพยพจากเอเชียกว่า 53 ล้านคนออกไปทำงานทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตตะวันออกกลางที่แรงงานไร้ฝีมือมักจะเข้าไปทำงานในภาคบริการและภาคก่อสร้าง ซึ่งผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานอพยพในภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงงานจากบังคลาเทศ, อินเดีย, พม่า, ไทย และจีน

และสำหรับประเทศผู้ส่งออกแรงงานที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คงจะเป็นประเทศฟิลิปปินส์ที่มีแรงงานอยู่ในประเทศต่างๆ ถึง 8 ล้านคนใน 202 ประเทศทั่วโลก

โดยแรงงานฟิลิปปินส์นั้น ควบคุมดูแลการเดินเรือสินค้าทั่วโลกราวหนึ่งในสาม, ขับรถบรรทุกในประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม อย่างอิรัก และทำงานอยู่ตามไซต์งานก่อสร้างในอ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลางโรงพยาบาลในออสเตรเลีย แคนาดาและสหรัฐ ต่างก็ว่าจ้างพยาบาลและแพทย์ชาวฟิลิปปินส์ไว้เป็นจำนวนมาก

รวมถึงมีชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยและทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวมากกว่า 1 ล้านคน โดยทำงานตั้งแต่เป็นหมอ วิศวกร ไปจนถึงเป็นแรงงานพยาบาลฟิลิปปินส์หลายหมื่นคนทำงานให้กับระบบสาธารณสุขในอังกฤษ หลายคนได้สถานะผู้อาศัยถาวรหรือเป็นพลเรือนอังกฤษไปแล้วที่ฮ่องกงและสิงคโปร์

เมื่อปีที่ 2007 แรงงานอพยพชาวฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับบ้าน 14.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราวร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

ส่วนในปีนี้ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ตั้งเป้าไว้ว่ายอดเงินส่งกลับบ้านของแรงงานอพยพจะสูงถึง 15.9 พันล้านดอลลาร์ โดยในเจ็ดเดือนแรกของปีนี้แรงงานอพยพชาวฟิลิปปินส์สามารถทำเงินได้ 9.6 พันล้านดอลลาร์แล้ว แต่ผลกระทบจากวิกฤตการเงินการโลกอาจทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้ได้

ทั้งนี้หน่วยงานด้านแรงงานของฟิลิปปินส์ได้ทำการประเมินแล้วว่า แรงงานฟิลิปปินส์ราว 50,000 คนอาจตกงานที่พวกเขาทำอยู่ในสหรัฐ เฉพาะในสหรัฐประเทศเดียวมีชาวฟิลิปปินส์ทำงานส่วนใหญ่ในภาคการเงิน มากกว่า 2 ล้านคน และมียอดเงินที่ส่งกลับบ้านราวร้อยละ 30 ของยอดรวมทั้งหมด

และแรงงานที่ขึ้นชื่อของฟิลิปปินส์คงจะหนีไม่พ้น “แรงงานแม่บ้าน” ที่จะหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในวิกฤตการเงินครั้งนี้

ในฮ่องกงมีแรงงานฟิลิปปินส์ 150,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานแม่บ้าน แรงงานในบาร์ และแรงงานในร้านอาหาร ส่วนในสิงคโปร์แรงงานฟิลิปปินส์โดยเฉพาะแม่บ้านสามารถส่งเงินกลับบ้านได้อย่างน้อยที่สุดถึง 407 ดอลลาร์ ต่อเดือน

แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ ‘คริสตี อาร์เซียกา’ (Christy Arciaga) วัย 46 ปี เผยถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเธอ จากปัญหาวิกฤตภาคการเงินโลกครั้งนี้

“นายจ้างของฉันดูการรายงานจากตลาดหลักทรัพย์ทุกเช้า บ่อยครั้งที่เขารู้สึกเกรี้ยวกราด และเขามักจะบอกฉันว่าจะส่งฉันกลับบ้านเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุด” อาร์เซียกา กล่าว “มันทำให้ฉันผวาจนนอนไม่หลับ สำหรับความคิดที่ว่าฉันจะถูกส่งกลับบ้าน อะไรจะเกิดขึ้นกับครอบครัวฉันบ้าง ลูกฉันสองคนกำลังเรียนในวิทยาลัยอยู่ด้วย”

แรงงานอพยพนับพันกำลังทำงานภาคบริการในเมืองที่มั่งคั่งของเอเชียอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านหรือพนักงานร้านอาหาร และผลจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้นายจ้างพยายามประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้แรงงานอพยพเหล่านี้ต้องเสียงานที่พวกเขากำลังทำอยู่

แม่บ้านอีกคน ‘ไมรา คาตาคูตาน’ (Myra Catacutan) เล่าว่าเธอได้ยินนายจ้างพูดคุยโทรศัพท์อย่างไม่สบอารมกับใครคนหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินของนายจ้าง “นายจ้างของฉันพูดคุยกับคนในสายว่า ‘เอาเงินของฉันกลับคืนมา’ และเมื่อเธอหันกลับมาพูดคุยกับฉัน เธอปาดน้ำตาพร้อมบอกว่าเธอสูญเสียรายได้ก้อนใหญ่ไป และบอกว่าเธอกังวลใจเป็นอย่างยิ่งว่าฉันอาจจะต้องเสียงานที่ทำอยู่นี้”

นอกจากนี้สถานการณ์วิกฤตการเงินครั้งนี้ ยังจะส่งผลให้แรงงานอพยพส่งเงินกลับประเทศได้น้อยกว่าเดิมด้วย รวมทั้งยังอาจต้องจ่ายเงินซื้ออาหาร เสื้อผ้า เองด้วย

ทั้งนี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่น่าจับตามอง ก็คือรัฐบาลในประเทศต่างๆ อาจจะใช้โอกาสนี้ในการเป็นข้ออ้างปราบปรามแรงงานอพยพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ที่คาดว่าจะมีขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤตการเงิน ทั้งนี้มีแรงงานอพยพจำนวนมากที่เข้าประเทศมั่งคั่งต่างๆ ในเอเชีย เช่น ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

…….

ที่มา:

Asia's migrant workers fear losing jobs in global crisis (AFP, 12-10-2008)

50,000 Filipino workers feared to lose jobs in U.S. (People's Daily, 14-10-2008)

คอลัมน์ สังคมโลก : ทัพแรงงานแตก (เดลินิวส์, 15-10-2008)