องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องเรือประมงไทย ชดเชยค่าเสียหายให้แรงงานพม่า10 .. 51 ประชาไท เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของไทย เรียกร้องให้เรือประมงไทยชดเชยค่าเสียหายจำนวน 15 ล้านบาทแก่ครอบครัวของแรงงานพม่าจำนวน 39 คนที่เสียชีวิตเนื่องจากขาดอาหารในระหว่างเดินทางออกหาปลาในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2549 และเรียกร้องให้จ่ายเงินค่าเสียหายให้กับลูกเรือชาวพม่าอีก 38 คนที่รอดชีวิต การเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นหลังศาลแรงงานมีคำสั่งให้เจ้าของเรือประภาสนาวีจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้รอดชีวิต แต่ไม่มีการจ่ายค่าเสียหายใดๆ ให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต การเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากพม่าครั้งนี้ สืบเนื่องจากเรือประภาสนาวีออกเดินเรือหาปลาในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย แต่ในระหว่างนั้นกลุ่มเรือประมงประภาสนาวีลำที่ 1-6 ประสบกับปัญหาการต่อใบอนุญาตไม่สามารถหาปลาได้ จึงตัดสินใจที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งๆที่ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้มีแรงงานชาวพม่าทยอยเสียชีวิตจำนวน 39 คนในเวลาต่อมา ร่างของผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คนถูกฝังไว้ในเกาะวานัม ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ร่างของผู้เสียชีวิตอีก 37 คนถูกโยนทิ้งในทะเล ส่วนลูกเรือที่รอดชีวิตหลังกลับขึ้นฝั่งไทย พบว่ามีอาการป่วยอย่างหนัก ทั้งอาการตัวบวม คลื่นไส้อาเจียน ทรงตัวไม่ได้ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งขาดแคลนสารอาหารอย่างหนัก ทั้งนี้ ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ศาลแรงงานจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งให้เจ้าของเรือจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับแรงงานชาวพม่าที่รอดชีวิตทั้ง 38 คน คนละ 128, 947 บาท ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวยังนับรวมกับเงินเดือนของแรงงานชาวพม่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 1 2 ปี ขณะที่พบว่า แรงงานที่ทำงานให้กับเรือประภาสนาวีมีจำนวนกว่า 100 คน ในจำนวนนั้น 77 เป็นแรงงานงานข้ามชาติจากประเทศพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเชื้อสายมอญ ส่วนจำนวนที่เหลือเป็นแรงงานไทย นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า ศาลได้ให้ความเห็นว่า เหตุที่เจ้าของเรือประภาสนาวีไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่เสียชีวิต เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีหลักฐานรูปถ่ายมายืนยันได้ว่า มีผู้เสียชีวิตในระหว่างออกเดินเรือหาปลา แต่เราก็จะสู้ต่อไป ขณะนี้ทนายความกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี นายสมพงศ์เปิดเผยถึงปัญหาว่า ที่ผ่านมาสามารถเรียกร้องเงินค่าเสียหายให้กับแรงงานได้เล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากแรงงานที่เป็นผู้เสียหายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนี้แรงงานเหล่านั้นยังอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอน นายอ่องจายนัด ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเปิดเผยว่า เขาได้เดินทางไปศาลหลายครั้ง แต่ศาลก็เลื่อนพิจารณาคดีดังกล่าวออกไป และเจ้าของเรือประภาสนาวีปฏิเสธที่จะจ่ายค่าเสียหาย ถึงศาลจะออกคำสั่งให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็มีข้อแม้ว่า ผู้รอดชีวิต 20 คนจะต้องมารายงานตัวเพื่อรับเงิน แต่ก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะแรงงานทั้งหมดต่างแยกย้ายไปอยู่กันคนละที่ นายโกโกอ่อง สมาชิกเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานกล่าวว่า ศาลได้พิจารณาคดีดังกล่าวล่าช้า อันที่จริงแล้วกฎหมายไทยควรให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ แต่ดูเหมือนว่า กฎหมายไทยจะคุ้มครองแต่ผู้ประกอบการธุรกิจไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า แรงงานจากพม่าที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวกลับถูกปฏิบัติเหมือนเป็นอาชญากรเสียเอง เพราะต้องหลบซ่อนตัวในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี เนื่องจากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย |