Thai / English

เสวนาหลังแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ปัญหาจ้างเหมาค่าแรง "แรงงานชั้นสอง" ที่ชีวิตไม่เคยแน่นอน



06 .. 51
ประชาไท

สืบเนื่องจาก สหพันธ์แรงงานโลหะระหว่างประเทศ (IMF) จัดสัปดาห์รณรงค์ เรื่อง “การจ้างงานที่ไม่มั่นคง” ทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของความเป็น “มนุษย์” ของคนงานทั่วโลกที่ถูกเอาเปรียบจากการจ้างงานแบบไม่มั่นคง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2551 โดยเมื่อวันที่ 5 ต.ค. สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) ซึ่งเป็นสมาชิกของ IMF ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตรองค์กรแรงงานต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงได้แก่ การเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาโรงแรมรัตนโกสินทร์ในช่วงเช้า และช่วงบ่าย เป็นการเสวนาเรื่อง “การจ้างเหมาค่าแรงกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ตาม มาตรา 11 /1” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ

มาตรา 11/1 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมา

ทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการ

ผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการ

ทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการ

เป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว

ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้าง

ตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551

ผอ.กลุ่มงานคุ้มครองแรงงาน รับกำลังดำเนินการบังคับใช้ กม.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข

สถาพร จารุภา ผู้อำนวยการกลุ่มงานคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ก่อนปี 2541 ในประเทศไทยมีลูกจ้างเหมาค่าแรงอยู่แล้ว แต่อาจไม่มากเท่าปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกรณีลูกจ้างเหมาค่าแรงเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือถูกเลิกจ้าง แต่ไม่ได้เงินชดเชย เนื่องจากไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ในปี 2541จึงเริ่มบรรจุแรงงานเหมาค่าแรงในกฎหมาย ซึ่งต่อมาใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไข 2551 ได้ย้ายเรื่องลูกจ้างเหมาค่าแรง มาเป็นมาตรา 11/1 โดยหลัก แรงงานเหมาค่าแรง ต้องเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ดังนั้น ยาม แม่บ้าน หรือคนทำความสะอาด จึงไม่เข้าข่ายลูกจ้างเหมาค่าแรง เนื่องจากหน้าที่ที่ทำไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต หรือธุรกิจของบริษัท

นอกจากนี้แล้ว สถาพร กล่าวว่า อาจถือว่า มาตรา 11/1 วรรค 2 เป็นกฎหมายปิดปาก ที่สถานประกอบการต้องทำตาม เพราะสถานประกอบการจะอ้างไม่ให้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรม แก่ลูกจ้างเหมาค่าแรง ที่ทำงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้างประจำไม่ได้

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายนั้น ผอ.กลุ่มงานคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเดินหน้าบังคับใช้กฎหมาย และสำรวจว่าสถานประกอบการใดบ้างที่มีลูกจ้างเหมาค่าแรง อย่างไรก็ตาม หากมีแรงงานคนใดไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งเข้ามาที่ตนเองได้ ที่เบอร์โทร 02-2468994 และ 02-2461622 โดยพร้อมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ

ปธ.คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทย เสนอสหภาพช่วยเหลือแรงงานเหมาค่าแรง ให้ได้รับสิทธิตามข้อตกลงสภาพการจ้าง

ด้านวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ได้ผลักดันประเด็นของลูกจ้างเหมาค่าแรง ร่วมกับแรงงานในภาคตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมาแก้ไขได้สำเร็จในรัฐบาลที่มี มนัส โกศล ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานเข้าไปนั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

วิไลวรรณ เล่าว่า เคยตั้งคำถามกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไข พ.ร.บ. ว่า จะแก้กฎหมายให้ยกเลิกการเหมาค่าแรงได้หรือไม่ ได้คำตอบว่า ไม่ได้ แต่ที่ทำได้คือแก้กฎหมายให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ แต่เมื่อถามว่า จะให้ได้รับสิทธิเท่ากับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 หรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบ

ที่สำคัญ ตามที่ ผอ. เสนอว่า มีการแก้ใหม่ ซึ่งสิ่งที่มีความคืบหน้า คือ แรงงานเหมาค่าแรง ในเนื้องานเดียวกัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2551 แล้วจะได้ลาป่วย หยุดประเพณี เท่ากับลูกจ้างประจำ อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างเหมาค่าแรงจะไม่มีสิทธิได้ประโยชน์ ตามข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเกิดจากการเจรจาต่อรอง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เช่น เบี้ยขยัน หรือโบนัสประจำปี

ในประเด็นดังกล่าว ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอว่า หากมีสหภาพอยู่แล้วก็ให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ แล้วสหภาพก็ยื่นข้อเรียกร้องให้แรงงานเหมาค่าแรงต้องได้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ด้วย หรืออีกช่องทางหนึ่ง คือ สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท ให้บรรจุลูกจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งมีอายุงาน 1 ปี เป็นลูกจ้างประจำ เพื่อที่จะได้รับสิทธิจากข้อตกลงสภาพการจ้างด้วย เนื่องจากการทำงาน 1 ปีก็ถือว่าได้ทดลองงานมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่พูดมาฟังดูง่าย แต่ปฎิบัติคงไม่ง่าย เพราะหากนายจ้างไม่ส่งเสริมการรวมตัวและการมีสหภาพแรงงาน เมื่อแรงงานรวมตัวกันก็อาจถูกเลิกจ้างได้

อย่างไรก็ตาม วิไลวรรณเชื่อว่า หากแรงงานเหมาค่าแรง เข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง มีการจัดตั้ง การรวมตัวที่เข้มแข็งแล้ว ก็เชื่อว่าการจัดตั้ง รวมตัว จะเป็นเกราะที่นำไปสู่การเข้าถึงสิทธิ และสร้างความมั่นคงในการทำงานให้แก่แรงงานเหมาค่าแรงได้

นักวิชาการ กมธ. แรงงาน เตือนอย่าหลงประเด็น จะแก้ปัญหาเหมาค่าแรง ต้องแก้ที่สัญญาจ้างทำของระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมา

ปณิธิ ศิริเขต นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจ้างงานที่ไม่มั่นคง เกิดจากการที่ฝ่ายการผลิต หรือแรงงาน เติบโตไม่ทัน ฝ่ายทุนที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและเติบโตต่อเนื่อง เมื่อทุนพยายามหากำไร จึงใช้กระบวนการจ้างงานแบบยืดหยุ่น โดยเน้นแรงงานราคาถูก ไม่พูดถึงความรับผิดชอบทางสังคม ขณะที่แรงงานเองไม่สามารถต่อรองได้

ทั้งนี้ แม้จะมี IFA (International framework agreements) คือ กรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ ของขบวนการสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การแรงงานประเภทต่างๆ 10 องค์การผนึกกำลังกันทำข้อตกลงกับบริษัทข้ามชาติ ว่าการจ้างงานที่ไปลงทุนในประเทศใดก็ตาม แรงงานต้องได้สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทุกประเทศทั่วโลก เช่น การจ้างงานในโรงงานอะไหล่ไปละเมิดสิทธิแรงงาน ก็ถือว่าผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ แรงงานก็ฟ้องไปที่สหพันธ์ยานยนตร์ สหพันธ์ยานยนตร์ก็แจ้งสหพันธ์แรงงานโลหะระหว่างประเทศ (IMF) IMF ก็คุยกับบริษัทแม่ที่ว่าจ้างโรงงานนี้ โดยหากโรงงานยังไม่ให้สิทธิเท่ากัน ก็ปรับออร์เดอร์ หรือหากไม่ทำตามข้อตกลง โรงงานก็จะถูกปิดทันที ซึ่งตรงนี้เข้ามาแบ่งเบาภาระสหภาพแรงงานได้มาก ทั่วโลกก็ทำกัน อย่างไรก็ตาม ทุนส่วนใหญ่ที่มาลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นทุนจากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งไม่อยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงนี้ ทำให้การกดดันดังกล่าวไม่สามารถทำได้

ปณิธิ กล่าวว่า หลายคนอาจดีใจที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2551 โดยเห็นว่า คุ้มครองแรงงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปณิธิมองว่า ความมั่นคงของแรงงานเหมาค่าแรงไม่ได้อยู่ที่ได้สิทธิเท่ากับแรงงานประจำหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับสัญญาจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมา เพราะทันทีที่สัญญาจ้างทำสินค้าสิ้นสุด แรงงานก็จบด้วย ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาอยู่ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมา ซึ่งทำสัญญาจ้างทำของ แทนการทำสัญญาจ้างแรงงาน นี่คือการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ตามกระบวนการของโลกาภิวัตน์ หากแก้ตรงนี้ได้ก็แก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการจ้างงานได้ ดังนั้น จึงไม่ควรหลงประเด็นไปแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้สหภาพจะหมดอำนาจต่อรอง หากปล่อยให้จำนวนแรงงานเหมาค่าแรงเพิ่มมากกว่าแรงงานประจำ

ขณะที่ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จะมีมาตรา 11/1 แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า แรงงานเหมาค่าแรงจะได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม มีความปลอดภัยในการทำงานและไม่ถูกไล่ออกง่ายๆ เพราะกฎหมายข้อนี้บังคับเพียงมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น แต่คนงานไม่ได้ต้องการแค่นี้ เขาต้องการชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนลูกจ้างประจำคนอื่น ดังนั้น ถ้าต้องการชีวิตที่มั่นคง กฎหมายนี้ช่วยไม่ได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นายทุนที่เอาทุนตัวเองไปลงทุนทั่วโลกใช้หลักการว่า ทำอย่างไรถึงจ้างแรงงานอย่าง “ยืดหยุ่น” ได้ แปลว่า เลิกจ้างเมื่อไหร่ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ยึดตามอำเภอใจของนายจ้าง ซึ่งการกระทำนี้ทำได้เฉพาะกับลูกจ้างแบบเหมาช่วง เพราะมีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างประจำอยู่

สมัยหนึ่ง เมื่อมีการตั้งสหภาพแรงงานในประเทศด้อยพัฒนา รวมถึงในประเทศไทย นักลงทุนบอกว่า ถ้ามีสหภาพ เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้น จะไม่ลงทุนในบ้านเรา ก่อนปี 2545 เราจึงไม่มีกฎหมายแรงงาน วันนี้เรามีสหภาพแรงงาน เพราะลูกจ้างเรียกร้อง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เรามีเกือบ 1,300 สหภาพ คำถามคือเราได้สิ่งที่ควรได้ไหม เพราะต่อมา นายจ้างปล่อยให้มีสหภาพได้ แต่ก็พยายามสร้างคนอีกพวก คือ แรงงานเหมาค่าแรง แล้วกันไม่ให้เข้าเป็นสมาชิก เพื่อลดความเข้มแข็งของคนงาน ในการต่อรองเรียกร้องจากนายจ้าง เพราะฉะนั้นแล้วไม่ใช่เราทำกฎหมายมาตราเดียว วงเล็บเดียว แล้วจะจบ

ถึงวันนี้เราก็เห็นว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ทำอย่างไรที่คนออกจากงานได้ยากกว่านี้ ไม่ใช่ปลดตามอำเภอใจของนายจ้าง สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การจ้างแรงงานเหมาช่วงที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อปี 2540 ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นายจ้างได้โอกาสทอง อ้างว่า เศรษฐกิจยังไม่ดี จึงต้องจ้างเหมาช่วงไปก่อน แต่นับแต่วันนั้น 11 ปีแล้ว นายจ้างยังบอกว่าเศรษฐกิจไม่นิ่ง ต้องจ้างเหมาช่วง ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ขณะนี้จำนวนของแรงงานเหมาช่วง ได้เพิ่มเลยจำนวนลูกจ้างประจำไปแล้ว

หากปล่อยให้มีแรงงานเหมาช่วงในประเทศเพิ่มขึ้น คงต้องตั้งคำถามว่า กฎหมายแรงงาน รวมถึงคนที่บังคับใช้ กฎหมายแรงงาน กระทรวงแรงงงาน รัฐบาลมีไว้ทำไม เพราะไม่สามารถคุ้มครองคนของตัวเองได้ ปล่อยให้ประเทศอื่นเข้ามาดึงเอาความคุ้มครองออกไปจากมือของรัฐบาล โดยการจ้างแรงงานเหมาช่วง

รศ.แล กล่าวว่า สิทธิต่างๆ ที่แรงงานได้ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม เกิดจากการเรียกร้องของแรงงานเอง ไม่ใช่รัฐบาลหรือนายจ้างเป็นผู้ให้ ดังนั้นวันนี้ จึงไม่ได้สนใจตัวกฎหมาย แต่สนใจว่าขบวนการแรงงาน มองปัญหาบรรลุหรือยัง ยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้างหรือยัง เพราะความหายนะจะมาเยือนถ้าจำนวนลูกจ้างเหมาช่วงมากกว่าจำนวนลูกจ้างประจำ

“ที่ผ่านมา เวลายื่นข้อเรียกร้อง ไม้ตายของสหภาพคือ ถ้าไม่ให้ตามที่เรียกร้อง ไม่ทำงาน แต่วันนี้ถ้าโรงงานมีแรงงานเหมาค่าแรงจำนวนมากแล้ว สหภาพไม่ทำงาน งานก็ยังเดินต่อไปได้ สหภาพก็จะหมดอำนาจต่อรอง” รศ.แล กล่าว