Thai / English

คนงานไทยในมาเลย์ประท้วง เหตุถูกนายจ้างกดขี่เบี้ยวเงิน



03 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

คนงานไทยก่อหวอดประท้วงนายจ้างมาเลย์ ถูกกดขี่ เบี้ยวค่าจ้าง ตัดน้ำ-ไฟ พบขอกลับ 800 คน บางส่วนกลับมาแล้ว 121 คน ขณะที่ "ป้าอุ" เผยนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 6 พันแห่ง กังวล กฎหมายแรงงานไทย ล่าสุดตั้งกรรมการศึกษาเพื่อหาทางออก

นางจันทวรรณ ทองสมบุญ รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านกรมการจัดหางานได้รับรายงานจากนายธนวัน ทองสุกโชติ เอกอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียว่า มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในโครงการก่อสร้างสนามบิน บริษัท GLOBAL UPLINE ที่เมืองกุชิง รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ชุมนุมประท้วง

โดยให้เหตุผลว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ ส่งผลเดือดร้อน นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการทำงาน เช่น หัวหน้างานเข้มงวด กดขี่หักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม จึงขอให้เจ้าหน้าที่แรงงานเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งนี้มีแรงงานไทยจำนวนกว่า 800 คน แจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย

นางจันทวรรณ กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักแรงงานไทย ในประเทศมาเลเซียเข้าไปทำการเจรจาเพื่อยุติปัญหา โดยภายหลังการเจรจาทราบว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ซึ่งนายจ้างรับปากพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดทั้งในเรื่องการได้รับค่าจ้างและสวัสดิการครบถ้วน การหักเงินจะทำอย่างโปร่งใส และความเป็นอยู่ดีขึ้น ความปลอดภัยในการทำงาน ทำให้แรงงานไทยเกินครึ่งยินดีที่จะอยู่ต่อ

แต่ก็มีบางส่วนยืนยันที่จะเดินทางกลับประเทศ และได้ทยอยเดินทางกลับมาแล้วจำนวน 5 ชุด จำนวน 121 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมการจัดหางานได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเกลี้ยกล่อมเพื่อให้เดินทางกลับไปทำงานต่อให้ครบสัญญา และอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย

วันเดียวกันที่กระทรวงแรงงาน นายทาโร่ มูรากิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น เข้าพบนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน เพื่อหารือการจ้างแรงงานไทย โดยนางอุไรวรรณ กล่าวภายหลังการหารือว่า ได้หารือถึงสถานการณ์การจ้างแรงไทย ในสถานประกอบการที่มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะในประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับฝีมือแรงงาน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ซึ่งญี่ปุ่นชี้ว่าเป็นเรื่องดีเนื่องจากเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน

อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้ไทยศึกษากองทุนบำเหน็จบำนาญ กรณีให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการให้แก่ลูกจ้างเหมาช่วง เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย หรือแม้แต่เงินสะสม ซึ่งเรื่องดังกล่าวบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทยกว่า 6,000 แห่งกำลังกังวล และได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว ผ่านองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ (เจโท) เพื่อศึกษาหาทางในเรื่องนี้