Thai / English

'แจ๋ว': นางเอกตัวจริง


ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
15 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

หลายคนคงคุ้นชิน กับแก๊กคนใช้สาวสวยยั่วล้อคุณผู้ชาย จนคุณนายออกอาการหัวปั่น ในหนังสือการ์ตูนชวนหัว หรือมุกขำขันในซีรีส์พี่ไทย

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ที่ยามคุณแจ๋วออกฉากวาดลวดลาย แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าภาพความเฮฮาระหว่าง 'เจ้านาย' กับ 'คนรับใช้' กลายเป็นตลกร้ายระดับประเทศขึ้นมา เมื่อ 'แจ๋วตัวจริง' มีชีวิตที่ยิ่งกว่าละครหลังข่าว...

ถึง 'แจ๋ว' จะแปลว่าดีมาก ยอดเยี่ยม แต่ไม่ค่อยมีใครอยากถูกเรียกด้วยชื่อนี้สักเท่าไหร่ เพราะแจ๋วแบบไทยๆ ถูกใช้หมายถึง เด็กสาวบ้านนอกสวมเสื้อคอกระเช้านุ่งผ้าถุง นั่งหน้ามันอยู่หลังบ้าน คอยทำงานตามคำสั่ง 'คุณผู้หญิง' เคล้าเสียง 'เว้าซื่อๆ'

คาแรคเตอร์ชัดเจนอย่างนี้จึงถูกทีวีและแผ่นฟิล์มหยิบมาใช้สร้างสีสันอยู่บ่อยๆ ในฐานะตัวเอ็นเตอร์เทน ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงของพวกเธอไม่สนุกอย่างนั้น

***ปัญญา 'ทน' ก้นครัว ***

"งานคนใช้เป็นงานที่เราต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง" นิยามง่ายๆ ของ แวว ชัยอาคม สาวใช้คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ย่านปิ่นเกล้า เมื่อถูกถามถึงอาชีพคนใช้ หน้าที่ของเธอก็ไม่ต่างอะไรจากแจ๋วในละครทีวีที่ต้องรับผิดชอบงานบ้านงานครัว ซึ่งถือว่าค่อนข้างหนักในสายตาคนทั่วไป แต่โชคดี ที่นายจ้างของเธอให้ความดูแลค่อนข้างเหมาะสมกับงาน ในขณะที่เพื่อนๆ ของแววอีกหลายคนไม่ได้เป็นแบบนั้น

"บางบ้านก็อาจจะมีนายจ้างใจดี แต่บางบ้านนายจ้างก็โหดร้ายจริงๆ จะหยุดก็ไม่ได้ค่าแรง งานก็จะเพิ่มมากขึ้น ทำงานไม่เป็นเวลา เงินเดือนน้อย นายจ้างให้เท่าไหร่ก็ต้องเอา ไม่มีการดูแลเรื่องการเจ็บป่วย บางคนต้องทำงานในบ้านทุกอย่างได้นอนแค่วันละ 3 ชั่วโมงก็มี" เธอบอก

แค่งานปัดกวาดเช็ดถูภายในบ้าน ดูแล้วไม่น่าจะหนักหนาอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วงานของ 'แจ๋ว' ถูกแปลความหมายไปมากกว่านั้น เพราะนายจ้างของแจ๋วมาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนเจ้าของกิจการ ลักษณะงานของแจ๋วจึงอาจหมายถึงการเป็นคนงานภายในสถานประกอบการซ้อนทับกับบทบาทของคนรับใช้ภายในบ้านด้วย โดย 'แจ๋ว' มักเป็นงานแรกของหลายคน หรือยังไม่มีลู่ทางไปทำงานประเภทอื่นๆ อีกนัยหนึ่งงานบ้านอาจเป็นงานที่สามารถหาได้ก่อนเพราะมีญาติหรือคนรู้จักทำอยู่ก่อนแล้วจึงชักชวนเข้ามาทำ

พูนทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เล่าถึงภาพรวมของคนรับใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ภายในบ้านเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง จบการศึกษาแค่ระดับประถม หรือเรียนยังไม่จบต้องออกกลางคันเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ อีกทั้งมาจากภาคอีสานมากกว่าภาคอื่นๆ อาทิ จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี หนองคาย ขอนแก่น

ขณะที่ รศ.มาลี พฤกษ์พงศ์สาวลี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิแรงงานหญิง (CAW) เสริมเกี่ยวกับปัญหาที่คนรับใช้ต้องเจอก็คือ การถูกมองข้าม ถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่มีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจน

"แรงงานที่เข้าสู่งานบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงมีไม่น้อยที่ประสบปัญหานานัปการ เนื่องจากงานบ้านมักถูกมองข้ามว่าไม่ใช่งาน ทำให้ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเนื่องจากแรงงานเหล่านี้ไม่มีวันหยุด และต้องอยู่ในลักษณะโดดเดี่ยว จึงไม่ค่อยมีโอกาสที่จะมารวมตัวกัน

ลักษณะการทำงานก็จะตกลงกันเอง ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างทำให้ไม่มีมาตรฐานมารองรับ อีกทั้งบางคนมองว่าคนทำงานบ้านเป็นอาชีพที่ไม่ได้สร้างรายได้ในทางเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงนั้นข้อมูลจากศูนย์การวิจัยกสิกรไทยพบว่า ปัจจุบัน ธุรกิจคนรับใช้ในงานบ้าน ไม่ใช่ธุรกิจที่ควรจะมองข้าม มีการคาดการณ์ว่าในปี 2550 จำนวนคนที่ทำงานบริการรับใช้ในงานบ้าน น่าจะมีอยู่ถึง 400,000 คน และมีเงินสะพัดสูงถึง 27,000 ล้านบาท"

***หนูหิ่น 'อินเตอร์' ***

เพราะค่าตอบแทนกับปริมาณงานที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้หลายคนอาจมองว่าอาชีพแจ๋ว คงเป็นตัวเลือกสุดท้ายถ้าจะฝากผีฝากไข้ แต่ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่มองงานรับใช้เป็นเสมือนขุมทองเลี้ยงชีวิต

กองทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเฟม (UNIFEM) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเมื่อปี 2548 พบว่า มีผู้ย้ายถิ่นทั้งสิ้น 191 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.6) หรือเท่ากับ 94.5 ล้านคนเป็นผู้หญิง โดยช่วงปี 2543-2546 ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และศรีลังกา มีผู้หญิงกลายเป็นแรงงานอพยพถึงร้อยละ 60-80 ของแรงงานอพยพทั้งหมดโดยกระจายอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านและในตะวันออกกลาง รวมทั้งแถบยุโรป

ฟิลิปปินส์มีแรงงานอพยพกว่า 3,000 คนเดินทางไปทำงานต่างประเทศทุกวัน ซึ่งร้อยละ 65 เป็นผู้หญิง ส่วนในศรีลังกาสัดส่วนผู้ย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานระหว่างหญิงและชาย คิดเป็น 2 ต่อ 1 สำหรับอินโดนีเซียมีผู้หญิงเป็นแรงงานอพยพร้อยละ 79 ของจำนวนผู้ย้ายถิ่นทั้งหมด

ส่วนประเทศซาอุดีอาระเบียมีแรงงานต่างด้าวหญิงอย่างน้อย 1 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานรับใช้ในบ้าน ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องออกวีซ่าให้แรงงานหญิงจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ย 300 ฉบับต่อวัน และประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งนั้น เงินที่ได้จากแรงงานข้ามชาติเป็นแหล่งเงินที่ใหญ่เป็นลำดับ 2 ของแหล่งเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศเลยทีเดียว

จากการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่ามีเพียง 19 ประเทศเท่านั้นจาก 65 ประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองคนทำงานรับใช้ในบ้าน เราจึงพบข่าวเกี่ยวกับความโหดร้ายของนายจ้าง ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง

โซนู ดันวาร์ คนงานชาวเนปาลวัย 23 ปี เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง เธอจากบ้านที่เมืองจาปาเข้ามาทำงานในกรุงกาฐมาณฑุตั้งแต่อายุ 13 ปี โซนูต้องทำงานวันละ 16 - 18 ชั่วโมงเพื่อแลกค่าแรงราว 10-15 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งเธอยอมรับว่าเป็นงานที่หนักแต่ก็ไม่มีทางเลือก

"คนทำงานบ้านที่เนปาลไม่ได้การยอมรับในสังคมว่าคุณมีตัวตน ไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้เงินเท่าไหร่ อีกทั้งยังไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งมันเสี่ยงมากที่เราจะโดนนายจ้างเอาเปรียบและทำร้าย ที่นี่มีแรงงานเด็กหลายคนถูกคุกคามทางเพศ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าพูดอะไรเพราะถือว่าเป็นหนี้บุญคุณกันอยู่ที่ให้งานทำ ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าสักวันทุกอย่างจะดีขึ้น"

เช่นเดียวกับ มุย ลูกจ้างจากประเทศอินโดนีเซีย ที่มาทำงานกับครอบครัวตำรวจฮ่องกงเมื่อต้นปี 2550 เธอถูกนายจ้างทำร้ายอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้เธอออกจากบ้าน รับโทรศัพท์ หรือหยุดงาน และเธอได้นอนเพียงวันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

"คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าวันนี้จะได้ค่าจ้างเท่าไหร่ โดยเฉพาะงานพาร์ทไทม์ วันหนึ่งเราอาจจะโชคดีเจอนายจ้าง 4-5 คน ในขณะที่บางวันไม่เจอเลย อาชีพคนทำงานบ้านที่นี่จะไม่มีทางได้รับเงินประกันสังคมจากรัฐบาล ถ้าหยุดงานคุณก็จะไม่มีรายได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ถ้าคุณออกจากงานโดยไม่มีเหตุอันควร เงินชดเชยก็จะไม่ได้สักแดง"

ธนียา รุญเจริญ ผู้ประสานงานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ILO ขยายภาพรวมของตัวเลขแรงงานที่ทำงานบ้านทั่วโลกว่ามีมากกว่า 100 ล้านคนซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

"ในเอเชียเองมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานที่อื่น เช่น คนงานลาว พม่า ในประเทศไทย คนงานไทยในสิงคโปร์ ฮ่องกง คนงานฟิลิปปินส์ คนงานศรีลังกา กว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง และแรงงานเด็ก โดยเป็นกลุ่มที่ใหญ่รองจากภาคเกษตร"

***อยาก 'แจ๋ว' ให้สมชื่อ ***

นอกจากการถูกจัดระเบียบให้แรงงานในบ้านกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ทางสังคมไปแล้ว การถ่ายเทแรงงานยังทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติตามมาอีกนับไม่ถ้วน ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากแรงงาน คนไทยให้ความสนใจน้อย ทำให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาแชร์สัดส่วนเป็นจำนวนมาก และทำให้ปัญหายิ่งบานปลายขึ้นไปอีก

ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยตัวเลขของกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเข้ามาจดทะเบียนว่ามีประมาณ 70,000 คน ยังไม่นับที่ไม่ได้จดทะเบียนอีกไม่รู้กี่เท่าทำให้ยากต่อการดูแล

รศ.มาลี ขยายรายละเอียดประเด็นนี้ว่า ทัศนคติแบบเก่าเป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ก็คือ แรงงานต่างด้าวอาทิ พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งส่วนหนึ่งถูกแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์ มีเรื่องของการถูกเอารัดเอาเปรียบสูง ประกอบกับประเทศไทยยังมีหลายคนที่มองคนทำงานบ้านในแนวคิดแบบดั้งเดิม คือ มองว่าเป็นเรื่องของ ระบบอุปถัมภ์ มองว่าเขาเป็นทาสรับใช้ที่ต่ำ ไม่มีศักดิ์ศรี และต้องอยู่ภายใต้ความพึงพอใจของนายจ้าง ลูกจ้างในงานบ้านจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งที่ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นแรงงานไม่ต่างจากแรงงานประเภทอื่นๆ"

เธอวิเคราะห์ต่อว่า การไม่กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานนี้เองถือเป็นมูลเหตุสำคัญทำให้กลุ่มลูกจ้างไม่ทราบถึงสิทธิที่ควรได้รับ และเป็นช่องว่างที่ทำให้ลูกจ้างทำงานบ้านถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ

"คนทำงานบ้านต้องได้รับค่าตอบแทนขั้นต่ำ เหมือนคนงานทั่วไป ถือเป็นงานที่มีคุณค่าเช่นเดียวกับงานอื่นๆ ..."

เสียงประกาศหนึ่งในข้อเรียกร้อง ของกลุ่มคนทำงานบ้านจาก ดร.โคทม อารียา ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด) ในโครงการ รวมพลังคนทำงานบ้านระดับนานาชาติ เรื่อง สิทธิแรงงานของคนทำงานบ้าน : งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ที่หยิบเอาสารพัดปัญหาเกี่ยวกับคนรับใช้มาเผยแพร่ให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ของกฎหมายที่เว้นวรรคไป ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นการส่งคำถามขึ้นไปยังผู้ที่รับผิดชอบ อย่างกระทรวงแรงงานให้เร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

คำตอบของเรื่องดังกล่าวคนวงในอย่าง ผดุงศักดิ์ อธิบายว่า เป็นเพราะตัวกฎหมายกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขจึงทำให้การแก้ปัญหาแรงงานภายในบ้านยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

"จริงๆ กฎหมายคุ้มครองแรงงานเรามีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองคนทำงานบ้านแล้ว แต่เป็นกฏกระทรวงที่ออกเมื่อปี 2541 ซึ่งก็ยังให้ความคุ้มครองได้ไม่ทั่วถึง เพราะยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองในหลายๆ เรื่อง ซึ่งขณะนี้ทางภาครัฐเองก็กำลังพยายามที่จะยกร่างปรับเป็นกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้ความคุ้มครองดูแลผู้ที่ทำงานบ้านมากยิ่งขึ้น"

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น คงจะเป็นอีกความหวังหนึ่งในอีกหลายๆ ความหวังของคนในวงการแจ๋วมืออาชีพ ที่ไม่น่าจะถูกมองข้ามอีกต่อไป

.............................

ข้อเรียกร้องเพื่อการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย

1) การพิจารณาให้มีค่าตอบแทนขั้นต่ำที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

2) การคุ้มครองสิทธิลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นผู้เยาว์ ได้แก่ การห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ห้ามมิให้ทำงานเกินความสามารถหรืองานที่อันตราย และการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลลูกจ้างเด็ก ตามมาตรฐานของพระราชาบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

3) การส่งเสริมและพัฒนาทักษะ ได้แก่ การให้โอกาสในการศึกษาต่อ การพัฒนาทักษะความสามารถ

4) ความปลอดภัยชีวอนามัย สภาพแวดล้อมและสวัสดิการ ได้แก่ การกำหนดบทบาทของนายจ้างในการให้ความรู้และจัดเตรียมอุปกรณ์ การจัดให้มีบัตรประกันสังคม การดูแลเมื่อเจ็บป่วย การมีวันหยุดประจำสัปดาห์ การปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

5) การคุ้มครองทะเบียน ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนลูกจ้างทำงานบ้านและแจ้งแก่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่