พนง.ไทรอัมพ์-ทีไอจี ร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ร้องช่วยปราม บ.เคารพสิทธิแรงงาน06 .. 51 ประชาไท 6 ส.ค.51 เวลา 9.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนี ถนนสาทร พนักงานจากสหภาพแรงงานไทยอัมพ์ และสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สกว่า 1,000 คน ชุมนุมและยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูตเยอรมนี เพื่อนำเสนอต่อ ออฑ.เยอรมัน โดยขอให้รัฐบาลเยอรมันประสานติดต่อกับผู้ประกอบการ ผู้บริหารที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งสองบริษัทให้เคารพในสิทธิการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ขอให้ยอมรับในสิทธิการรวมตัว โดยต้องไม่ทำลายสหภาพแรงงาน ซึ่งถือเป็นองค์กรของคนงาน โดยการกลั่นแกล้ง เลิกจ้างผู้นำแรงงาน การเลือกปฏิบัติ หรือสร้างความแตกแยกในองค์กร ขณะที่เยอรมนีเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และส่งเสริมสันติภาพและการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางสังคม แต่เราเสียใจที่จะต้องเรียนว่า การปฎิบัติต่อแรงงานของบริษัทข้ามชาติสัญชาติเยอรมัน โดยเฉพาะไทรอัมพ์และลินเด้นั้นต่ำกว่ามาตรฐานที่จะรับได้ เราไม่เพียงแต่ผิดหวังกับคำสัญญาที่ไม่ได้รับการปฎิบัติ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองมิวนิค เยอรมนีเท่านั้น แต่การปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานและการไม่ตระหนักถึงสิทธิของสหภาพแรงงานของบริษัทเหล่านี้ ยังนำมาซึ่งความทุกข์ยากของแรงงานหลายพันคนในประเทศไทยด้วย จดหมายเปิดผนึกระบุ ทั้งนี้ ได้มีการอภิปรายโดยหยิบยกสถานการณ์ด้านแรงงาน ทั้งสองสหภาพแรงงาน ต่างมีนายจ้างเป็นบริษัทเยอรมัน และกำลังมีปัญหากับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ โดยพนักงานทั้งสองตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริหารพยายามทำลายการรวมกลุ่มของคนงานและไม่ยอมรับในเรื่องการเจรจาต่อรอง นายฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (THAI INDUSTRIAL GASES LABOUR UNION) กล่าวว่าสหภาพแรงงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้มีการปรับสภาพการจ้าง ในวันที่ 21 กค.ที่ผ่านมา เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมใกล้หมดวาระที่จะใช้บังคับ ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่าสหภาพแรงงานก่อตั้งในช่วงปี 2547 ที่ผ่านมาระบบแรงงานสัมพันธ์ไม่ดีนัก โดยเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าลักทรัพย์ (กระดาษถ่ายเอกสาร) นายจ้างขออำนาจศาลเลิกจ้าง แต่ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษายกฟ้องไม่ให้เลิกจ้าง ทั้งนี้ มองเชื่อมโยงได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้มีผลต่อความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมได้ปิดถนนสาทร บริเวณหน้าสถานทูตเยอรมันทั้ง 4 เลน ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ผู้ชุมนุมเปิดทาง ซึ่งผู้ชุมนุมได้เปิดทางให้รถวิ่ง 1 เลน โดยมีการปราศรัยชี้แจงเหตุผลที่มาปิดถนนให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย ผู้ชุมนุมทั้งหมดได้เคลื่อนขบวนจากหน้าสถานทูตเยอรมัน เพื่อไปชุมนุมต่อที่หน้าอาคารบางนาทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ บ.ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) โดยจากนั้นจะไปชุมนุมต่อยังหน้าบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ ด้านนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน หนึ่งในอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาข้อร้องเรียนที่เข้าสู่อนุกรรมการสิทธิด้านแรงงาน 2/3 เป็นประเด็นการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน เช่นการเลิกจ้างแกนนำ กรรมการสหภาพ โดยนายจ้างมักอ้างเหตุผลต่างๆ บ้างหยิบยกเหตุผลเหวี่ยงแห ตั้งข้อกล่าวหารุนแรง เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว บ้างให้มีการไกล่เกลี่ยที่จะจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้าง แนวคิดสหภาพแรงงานเพื่อเป็นองค์กรลูกจ้างในการพูดคุย แก้ไขปัญหา โดยมองลูกจ้างว่าเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในความอยู่รอดของธุรกิจ ไม่เกิดขึ้น เพราะค่านิยมที่ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของลูกจ้าง นายจ้างบางคนจึงยอมรับไม่ได้ที่จะให้ลูกจ้างเสนอข้อเรียกร้อง หรือต้องนั่งเจรจากับลูกจ้าง นายบัณฑิตย์กล่าวและว่าการพูดคุยเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เน้นการสร้างความเข้าใจ และทำให้บรรยากาศดีขึ้น อย่างไรก็ตามมักพบว่าปัญหาบานปลายเพราะต่างฝ่ายต่างมีท่าทีอคติต่อกัน บ้างกระทำ พูดจารุนแรง โดยไม่ได้มองเป้าหมายในการยุติปัญหา หรือการอยู่ร่วมกันที่จะสร้างผลผลิต แข่งขันกับคู่แข่งในตลาด นายบัณฑิตย์กล่าวอีกว่าอนุกรรมการสิทธิแรงงาน ได้ศึกษากรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน ได้เสนอต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหานี้เชิงนโยบายโดยรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องสิทธิการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง โดยเห็นว่าจะเป็นหลักการที่จะเป็นพื้นฐานของกฎหมายและการปฏิบัติให้สอดคล้อง ส่งเสริมองค์กรลูกจ้างให้เกิดความเข้มแข็ง ปกป้อง ยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานและทำงานร่วมในการสร้างผลผลิตที่ดี สามารถแข่งขันได้ นายบัญฑิตย์ กล่าวถึงกรณีนายจ้างเลิกจ้าง น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่าเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นปัญหาในเรื่องท่าที เพราะเหตุผลในการเลิกจ้างของบริษัทฯ ไม่ได้มีหยิบยก หรือมีเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ น.ส.จิตราในเรื่องของการทำงาน ผลงานไม่ดี ผลผลิตเสียหาย โดยเหตุผลที่กล่าวอ้างเป็นเรื่องการแสดงออก แนวคิด การแสดงออกเกี่ยวกับแนวคิด จึงไม่น่าที่จะหยิบยกเป็นประเด็นเลิกจ้าง ***แถลงการณ์ร่วมฉบับที่ 1*** สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส เรื่อง สิทธิแรงงานที่ถูกละเมิดโดยบรรษัทข้ามชาติ เรียน ผองเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน, ประชาชน และสื่อมวลชน ที่เคารพทุกท่าน เราสหภาพแรงงาน 2 แห่ง คือ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ 1.เรามีนายจ้างเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากเยอรมัน คือ ไทรอัมพ์ และลินเด้กรุ๊ป 2.เราถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เพื่อนำไปสู่การทำลายล้างการรวมกลุ่มของคนงานและสหภาพแรงงาน ประเทศเยอรมัน นับว่าเป็นชาติหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งและนายจ้างต่างเคารพในสิทธิด้านแรงงาน แต่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมันที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย กลับกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม กล่าวคือนอกจากจะไม่เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานอันได้แก่ สิทธิการรวมตัวของคนงาน สิทธิการเจรจาต่อรองร่วมแล้ว ยังมุ่งหวังทำลายล้างองค์กรของคนงานคือสหภาพแรงงานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งผู้นำแรงงาน การเลือกปฎิบัติ การสร้างความแตกแยกในหมู่คนงาน การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ที่ล้วนมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การทำลายล้างขบวนการสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชน เราขอเรียกร้องให้บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากประเทศเยอรมันทั้ง 2 แห่ง คือ ไทรอัมพ์และลินเด้กรุ๊ป หรือ TIG ได้โปรดดำเนินการดังนี้ : 1.ยุติการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของคนงาน ในการรวมตัวเป็นองค์กรของคนงาน 2.ยุติการคุกคามหรือกลั่นแกล้งสหภาพแรงงานในทุกรูปแบบ และเคารพในสิทธิของสหภาพแรงงาน 3.ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์และหาทางยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็ฯผลมาจากการมุ่งทำลายล้างสหภาพแรงงานเป็นการด่วนที่สุด เช่น การเลิกจ้างผู้นำแรงงาน, การชุมนุมของคนงาน, การเจรจาต่อรองร่วม และในโอกาสนี้เราขอให้ลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นบรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมัน ที่ถูกละเมิดสิทธิด้านแรงงานเช่นเดียวกับเรา โปรดออกมาร่วมรณรงค์กับเรา หรือแจ้งข่าวสารข้อมูลมาที่เรา เพื่อที่จะได้ร่วมกิจกรรมกับเราในโอกาสต่อไป เพราะไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ลูกจ้างจะต้องถูกนายจ้างจากบรรษัทข้ามชาติมาละเมิดสิทธิแรงงานของเรา |