Thai / English

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมตัวผละงาน เรียกร้องรับ ‘ปธ.สหภาพ’ กลับเข้าทำงาน



30 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่หน้าบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สลอคกี้ AMO คนงานได้รวมตัวผละงานเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับ นางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยกลับเข้าทำงานโดยเร็ว รวมทั้งให้บริษัทเอาผู้บริหารชุดปัจจุบันออกไป เพราะไม่สามารถสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับคนงานและสร้างความแตกแยกกับคนงาน ในโรงงาน

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากการเลิกจ้างนางสาวจิตรา คชเดช โดยบริษัทให้เหตุผลว่า การใส่เสื้อ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ออกรายการ “กรองสถานการณ์” ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ “ทำท้อง...ทำแท้ง” เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็น การทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง โดยบริษัทได้นำเรื่องไปฟ้องกับศาลแรงงานกลาง และแจ้งว่าศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้โดยบริษัทให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. เป็นต้นไป

นางสาวจิตรา แสดงความเห็นว่า สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงสิทธิที่จะใส่เสื้อ เป็นสิทธิของคนทั่วๆ ไปในสังคม สำหรับกรณีของโชติศักดิ์ อ่อนสูง ไม่ว่าเขาจะผิดหรือถูก ก็ควรเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยเธอเองต้องการปกป้องความคิดเห็นต่างของโชติศักดิ์ เนื่องจากไม่ควรมีใครออกมาบอกว่า เมื่อมีผู้คิดเห็นต่างแล้วต้องฆ่า ทำร้าย ไล่ออกนอกประเทศ เป็นสัตว์นรก หรือไม่ใช่คนไทย มันไม่ถูกต้อง เขาเป็นคน เพียงแต่อาจจะคิดต่างจากคนอื่น เขาไม่ควรต้องถูกกระทำแบบนั้น และกรณีที่ใส่เสื้อตัวนี้ ก็เห็นว่าเสื้อนี้ไม่ได้หมิ่นใคร เพียงแต่แสดงว่าคนเราควรเคารพความเห็นที่แตกต่างระดับหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่มีการพยายามเชื่อมโยงกลุ่มของเธอเข้ากับ นปก. หรือกับกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น นางสาวจิตรา ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยหลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยา กลุ่มของเธอคือ สหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย (สปท.) ได้ออกมาต้านรัฐประหาร เธอซึ่งเป็นเลขาธิการสหพันธ์ฯ ตอนนั้น รวมตัวเป็น 12 องค์กรต้านรัฐประหาร จากนั้น เมื่อ 12 องค์กรไปรวมตัวกับพีทีวี ตั้งเป็น นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) สหพันธ์สิ่งทอฯ ก็ถอนตัวทันที แล้วออกมาต้านรัฐประหารร่วมกับกลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวพันกับ นปก.เลย แต่ก็มีความพยายามเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

“เรายืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เราต้านรัฐประหารอย่างแท้จริง ไม่ได้สนับสนุนทักษิณ เพราะเราไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของทักษิณอยู่แล้ว แล้วก็ไม่เอาทักษิณ แต่เราก็ไม่เอารัฐประหาร เป็นจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอดในนามของ สปท.” นางสาวจิตรา กล่าว

ส่วนกรณีบริษัทเชื่อมโยงว่า การใส่เสื้อของเธอเท่ากับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย นางสาวจิตรา กล่าวว่า ถ้าคิดว่าเธอหมิ่นจริง บริษัทก็ต้องมาแจ้งความจับ และต่อสู้ในชั้นศาลกันว่าหมิ่นหรือไม่หมิ่น ถ้าบริษัทอ้างว่าบริษัทได้รับความเสียหายเพราะมีคนงานไปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็เหมือนบริษัทต้องการจะทำลายสหภาพแรงงาน คนทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะแสดงความเห็นทางการเมือง และการใส่เสื้อที่บริษัทบอกว่าได้รับความเสียหาย ถึงวันนี้คดีก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด

นางสาวจิตรา กล่าวเสริมว่า ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน บริษัทซึ่งส่งออกสินค้า 90% ก็ยังส่งออกได้ หากจะเป็นปัญหาก็อาจเกิดกับ 10% ในไทย และว่ากันจริงๆ ใน 10% นี้คนสักกี่คนที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากคนในเว็บไซต์ผู้จัดการเท่านั้นที่เขียนโพสต์ข้อความ ซึ่งบริษัทเองก็อาจจะเข้าไปโพสต์ร่วมด้วยก็ได้ว่าจะบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าหรืออะไรก็แล้วแต่ การกระทำแบบนี้เว็บไซต์ผู้จัดการควรจะถูกฟ้องโดยบริษัทด้วยซ้ำไป เพราะเป็นตัวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ตนเอง

นางสาวจิตรา กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ไปศาลแรงงานจังหวัด เพื่อคัดสำเนาดูว่าบริษัทดำเนินการทางกฎหมายถูกต้องไหม เพราะไม่เคยได้รับหมายศาลจากบริษัท หรือจากศาลแรงงานกลางเลย ซึ่งวันนี้หลังจากไปดูสำนวนทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่าหมายศาลถูกเรียกไปที่บ้านเช่า ที่ไม่ได้อยู่มานานแล้ว ทำให้เห็นชัดว่าบริษัทต้องการโค่นล้มสหภาพ กลั่นแกล้งประธานสหภาพ เพราะเธอไปบริษัททุกวัน แต่บริษัทไม่เคยแจ้งเรื่องนี้เลย

ด้านนางวันเพ็ญ วงษ์สมบัติ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายเคนเน็ท มาร์แชล ผู้บริหารฯ ได้เรียกนางสาวจิตรา ไปแจ้งว่าไม่ได้ติดใจในประเด็นที่มีการสวมสื้อไม่ยืนฯ ต่อมาเมื่อสหภาพมีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องสภาพการทำงานกับบริษัทก็ไม่มี การพูดถึงเรื่องนี้ แต่หลังจากเจรจาเสร็จสิ้นกลับมีการเอาเรื่องนี้มาพูดอีก ทำให้คนงานมองว่ากรณีนี้บริษัทกำลังเล่นเกมกับสหภาพ หรืออาจต้องการทำลายสหภาพ

“ถ้าไม่ใช่กรรมการสหภาพมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา ถ้าเป็นคนธรรมดาใส่ก็จะไม่เป็นประเด็น บริษัทพยายามโยงว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสีย แต่ก่อนหน้านี้บริษัทก็บอกเองว่าไม่ติดใจเอาความ สำหรับคนงานของบริษัทมี 4,000 – 5,000 คน โดยเป็นสมาชิกสหภาพเกือบ 4,000 คน ”

นอกจากนี้ นางวันเพ็ญ ยังมีข้อกังวลว่า ประธานสหภาพอยู่ในฐานะตัวแทนผู้เจรจาแทนแรงงาน ถ้ามีการเลิกจ้างในลักษณะนี้ อาจทำให้ต่อไปมื่อใครมาเป็นประธานสหภาพก็ต้องโดนเลิกจ้างเหมือนกัน ส่วนกรณีที่นายจ้างนำเรื่องไปฟ้องศาลแรงงานนั้น ถ้านายจ้างบริสุทธิ์ใจจริงทำไมไม่แจ้งให้จำเลยรู้ เพื่อมีโอกาสไปแก้ข้อกล่าวหาหรือชี้แจง ซึ่งจำเลยยืนยันว่าไม่เคยได้รับหมายศาลเลย

นางวันเพ็ญ กล่าวอีกว่า สำหรับคนงานที่ผละงานในวันนี้มีทั้งหมดเกือบ 3,000 คน อยู่ทั้งในและนอกโรงงาน ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 9.40 น. ตัวแทนกรรมการสหภาพ 5 คน ได้เข้าไปเจรจากับทางบริษัทโดยมีเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดเป็นคนกลาง ทั้งนี้ การผละงานได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 7.00 น.

อนึ่ง การผละงานเป็นการนัดกันเพื่อไม่ทำงาน ขณะที่การนัดหยุดงาน (สไตรค์) จะทำได้ต้องนัดหมายและแจ้งบริษัทล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

0000

ความคืบหน้าล่าสุดนางสาวจิตรา ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากกรรมการสหภาพฯ ได้เข้าเจรจากับผู้บริหารของบริษัท โดยมีข้อเสนอ ให้บริษัทรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และให้บริษัทไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและอาญาในกรณีการผละงานในวันนี้ ต่อมา ปรากฎว่า ผู้บริหารได้ยืนยันเลิกจ้างเธอ ทั้งยังอยู่ระหว่างขออำนาจศาลลงโทษทางวินัยกรรมการลูกจ้าง 20 คน ซึ่งมีโทษสูงสุดคือเลิกจ้าง และพักงานแกนนำ 25 คน เป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยไม่จ่ายเงิน โดยอ้างว่า แกนนำไปปิดประตูทางเข้าไม่ให้พนักงานเข้าทำงาน ทั้งที่ไม่ได้ปิด ส่วนหัวหน้าแรงงานจังหวัดสมุทรปราการก็ได้เข้ามาพูดคุย เพื่อขอเปิดการเจรจากับนายจ้างอีกครั้งในคืนนี้