Thai / English

เนื่องในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ILO เน้นประเด็นการให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษา



12 .. 51
ประชาไท

กรุงเทพฯ – วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก 12 มิถุนายน ปีนี้เน้นประเด็นการให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กโลก

โครงการระหว่างประเทศว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก (International Programme on the Elimination of Child Labour: IPEC) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) ประมาณการว่ามีแรงงานเเด็กกว่า 218 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีหลายล้านคนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่จะช่วยให้พวกเขามีอนาคตที่ดีขึ้น หรือหลายคนต้องพยายามแบ่งเวลาในการทำงานและการศึกษา IPEC กล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่ง คือค่าใช้จ่าย เพราะครอบครัวต้อง อาศัยรายได้จากเด็ก หรือเพราะไม่มีโรงเรียนที่เพียงพอ

เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก ILO เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาสิ่งเหล่านี้

· การศึกษาแก่เด็กทุกคน อย่างน้อยจนถึงอายุขั้นต่ำในการทำงาน

· โครงการศึกษาที่พยายามเข้าถึงแรงงานเด็กและกลุ่มที่โดนกีดกันทางสังคม เพื่อช่วยให้พวกเขาได้กลับมารับการศึกษา

· งบประมาณที่เหมาะสม และการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลอดจนการฝึกทักษะโดยครูที่ผ่านการอบรม และมืออาชีพ

ในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ILO จะเปิดตัวรายงานเกี่ยวกับแรงงานเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นผลจาก การสำรวจใน 34 ประเทศทั่วโลก

เป้าหมายของ ILO คือการยุติการใช้แรงงานเด็กทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งรวมถึงงานอันตราย การค้าประเวณี การค้าเด็ก และแรงงานเยี่ยงทาส จะต้องสิ้นสุดโดยรีบด่วน

แรงงานเด็กในประเทศไทย

ตามสถิติของกระทรวงแรงงาน มีเด็กกว่า 104,253 คน อายุระหว่าง 15-17 ปีขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานเด็กเมื่อปี 2550

ตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2549 มีแรงงานผู้เยาว์อายุ 15-19 ปีจำนวน 1.5 ล้านคน สองในสามของจำนวนนี้ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ทำงานกับครอบครัวหรือประกอบอาชีพอิสระ หรือทำงานเป็นลูกจ้างในกิจการขนาดย่อม

จากการสำรวจแรงงานเด็ก 2,744 คนเพื่อเตรียมจัดทำโครงการร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศและรัฐบาลไทยพบว่าร้อยละ 35 เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี และร้อยละ 63 ต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน

พบว่ามีแรงงานเด็กต่างชาติอย่างน้อย 100,000 คนซึ่งทำงานใน 43 จังหวัดซึ่งอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติ (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)

กิจกรรมวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก

ILO ในประเทศต่างๆทั่วโลก จะจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในวันที่ 12 มิถุนายน

สำหรับประเทศไทย จะมีการจัดกิจกรรมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

จังหวัดเชียงราย: สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงรายและ ILO ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มูลนิธิกวงเม้ง อ.แม่สาย เวลา 13.00-16.00 น. โดยมีการเดินขบวนรณรงค์จากสถานีตำรวจ อ.แม่สาย ไปยังมูลนิธิกวงเม้ง มีนักเรียนจากโรงเรียนและศูนย์การศึกษาต่างๆ กว่า 10 แห่ง รวม 1 พันคน เข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “อนาคตของหนู” การแสดงดนตรีและละคร รวมทั้งการประกาศผลประกวดวาดภาพ

จังหวัดตาก: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 ร่วมกับ ILO จัดกิจกรรมตลอดทั้งวัน เวลา 8.00-16.30 น. ณ โรงเรียนบ้านท่าอาจ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด โดยมีการเดินขบวนรณรงค์จากบริเวณท่า 10 ต.ท่าสายลวด ไปยังโรงเรียนบ้านท่าอาจ มีนักเรียนจากโรงเรียนและศูนย์การศึกษาต่างๆ กว่า 10 แห่ง รวม 1 พันคน เข้าร่วม มีการนำเสนอ “แนวทางการจัดการศึกษาและป้องกันการใช้แรงงานเด็กในพื้นที่จังหวัดตาก” โดยผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม สำนักงานเขต และองค์กรพัฒนาสตรี เด็กและชุมชน ทั้งยังมีการแข่งขันประกวดทักษะความรู้ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงและการละเล่นต่างๆ และพิธีมอบเกียรติบัตรและรางวัลแก่นักเรียน ซึ่งกิจกรรมของเด็กจะดำเนินการใน 3 ภาษา คือ ภาษาไทย พม่า และอังกฤษ

ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับแรงงานเด็กในประเทศไทย

เดือนมีนาคม 2550 สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่า ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และเป็นผู้ประกันตน มีแรงงานเด็ก อายุ15-17 ปีที่ทำงานตามกฎหมาย จำนวน 104,253 คน เป็นอัตราส่วนที่ลดลงจากการสำรวจสถิติกระทรวงแรงงาน เมื่อปี 2548 ซึ่งมี แรงงานเด็กอายุระหว่าง 15-17 ปี จำนวน 300,000 คน

ปี 2549 มีแรงงานผู้เยาว์อายุ 15-19 ปีจำนวน 1.5 ล้านคน สองในสามในจำนวนนี้ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ทำงานกับครอบครัวหรือประกอบอาชีพอิสระ หรือทำงานเป็นลูกจ้างในกิจการขนาดย่อม

จากการสำรวจแรงงานเด็ก 2,744 คนเพื่อเตรียมจัดทำโครงการร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศและรัฐบาลไทย พบว่าร้อยละ 35 เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี และร้อยละ 63 ต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน

มีแรงงานเด็กที่อพยพข้ามชายแดนอย่างน้อย 100,000 คนทำงานใน 43 จังหวัดซึ่งอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าว (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)

ข้อมูลโดยทั่วไปของแรงงานเด็กต่างด้าวในประเทศไทย

แรงงานเด็กต่างด้าวเข้าสู่ประเทศไทยในหลายลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และมีการเข้ามาทำงานแตกต่างกันไปตามประเภทของงาน ในพื้นที่ชายแดนเด็กบางคนข้ามชายแดนไป-มาทุกวัน หรือข้ามมาทำงานตามฤดูกาล ในสถานที่ซึ่งเคยทำมาก่อน ในบางพื้นที่จำมีกลุ่มแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานเพื่อเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่เป็นเวลานาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ญาติ หรือชุมชนที่รู้จัก เด็กส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าประเทศไทยพร้อมกับพ่อแม่ พี่น้องหรือญาติ และมีเด็กจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทย เด็กต่างด้าวส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดน ในต่างจังหวัด และบางส่วนในพื้นที่รอบกรุงเทพ เด็กที่มีอายุมากมักเดินทางเข้ามาโดยลำพังมากกว่าเด็กอายุน้อย

จำนวนแรงงานเด็กย้ายถิ่น ทั้งที่ย้ายถิ่นภายในประเทศและข้ามประเทศไม่มีตัวเลขที่เชื่อถือได้ การอพยพภายในประเทศนั้นเกิดขึ้นกับเด็กทุกกลุ่มอายุ เด็กไทยส่วนใหญ่ยังคงขึ้นทะเบียนอยู่ในสถานที่ ที่เกิดแม้ว่าจะได้ย้ายถิ่นฐานไปแล้วก็ตาม ทำให้การเก็บสถิติติดตามสถานภาพเด็กของเด็กที่ย้ายถิ่นฐานแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า มีแรงงานเด็กต่างด้าว (คือผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย) อย่างน้อย 100,000 คน อาศัยอยู่ใน 43 จังหวัด (จากทั้งหมด 76 จังหวัด) ซึ่งอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าว

จากการรายงานการขึ้นทะเบียนในระบบทะเบียนบ้านของประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานบริหารแรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พบว่า มีเด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 75,275 คน และ พบว่า จำนวนเด็กต่างด้าวดังกล่าว เพิ่มขึ้น เป็น 93,082 คน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

การประมวลผลงานวิจัยต่างๆ ทำให้สามารถประเมินได้ว่า มีเด็กต่างด้าวซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 250,000 คน หลายคนในจำนวนนี้น่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอาจมีจำนวนประมาณ 100,000 คน เด็กต่างด้าวอาจต้องทำงานตั้งแต่อายุต่ำกว่า 15 ปี หรือต้องทำงานในรูปแบบที่เลวร้ายในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

เด็กต่างด้าวเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานในหลายลักษณะ ทั้งงานชั่วคราว (ข้ามชายแดนรายวัน หรือตามฤดูกาล) หรืองานประจำ เด็กที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถขึ้นทะเบียนได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่าการขึ้นทะเบียนนั้นมีการแจ้งอายุที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอยู่เสมอ เนื่องจากผู้อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นไม่มีหลักฐานแสดงสถานะบุคคล หรือ การจดทะเบียนประวัติการเกิดของเด็กจากประเทศ ต้นทาง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการแจ้งว่ามีอายุมากกว่า 15 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอายุขั้นต่ำของการจ้างงานที่ถูกกฏหมายในประเทศไทย

ผู้ทำงานด้านเด็กและแรงงานต่างด้าว ได้มีความพยายาม ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเด็กมากขึ้นไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสถานะใด เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงบริการ และการคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย หากจะต้องมีการดำเนินการเพื่อการส่งกลับสู่ถิ่นฐานเดิม เด็กทุกคนควรได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ

การเข้าถึงการศึกษา

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ให้โรงเรียนรัฐจัดการศึกษาให้แก่เด็กไร้สัญชาติและเด็กต่างด้าวทุกคนในประเทศไทย

มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2542 แก้ไขเมื่อพ.ศ. 2545) ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชนเปิดศูนย์การศึกษา มาตรานี้ทำให้ศูนย์การศึกษาดังกล่าวสามารถมอบประกาศนียบัตรที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ตลอดจนสามารถโอนหน่วยกิตจากศูนย์การศึกษาไปยังโรงเรียนต่างๆได้ ข้อกฎหมายนี้ยังให้ศูนย์การศึกษามีสิทธิตามกฎหมายที่จะรับการอุดหนุนจากรัฐบาล อย่างไรก็ตามยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ข้อกฎหมายนี้