Thai / English

แรงงานไทใหญ่อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนระเบียบประกันสังคม



30 .. 51
ประชาไท

วันนี้ (28 พ.ค.) นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานก่อสร้างหญิงชาวไทยใหญ่ วัย 36 ปี ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน และแรงงานชาวไทยใหญ่อีกสองรายได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเนื่องจากศาลปกครองเชียงใหม่ไม่รับพิจารณาคำฟ้องที่แรงงานข้ามชาติทั้ง 3 คนได้ยื่นในวันที่ 11 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการเพิกถอนระเบียบที่เลือกปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคมซึ่งกีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน

ศาล ปค.เชียงใหม่ไม่รับพิจารณคำฟ้องระบุไม่อยู่ในอำนาจ

โดยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับพิจารณาคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยให้เหตุผลว่ากรณีนี้เป็นข้อพิพาทภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลแรงงาน จึงไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวกับระเบียบและการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่คดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน จึงเป็นอำนาจของศาลปกครองที่จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบดังกล่าวได้

การต่อสู้ทางกฎหมายในครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. 2550 เมื่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ออกหนังสือปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนของนางหนุ่ม ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ณ เขตพื้นที่ก่อสร้างโรงแรม แชงกรี-ลา ในวันที่ 4 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นผลทำให้นางหนุ่มต้องเป็นผู้พิการอัมพาตครึ่งล่างตลอดชีพ แม้ว่าการเรียกร้องเงินทดแทนของนางหนุ่มจะประสบความสำเร็จ โดยนายจ้างได้จ่ายค่าทดแทนคราวเดียวให้แก่นางหนุ่มตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงินเดือนละ 2,418 บาท เป็นเวลา 15 ปี รวมไปถึงการตกลงประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 13 พ.ค. 2551 รวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 584,896 บาท แต่สำหรับการพัฒนาระบบคุ้มครองแรงงานข้ามชาตินั้น การที่แรงงานข้ามชาติยังไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยตรงจากกองทุนเงินทดแทน ถือว่ากรณีนี้ยังไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร

มสพ.ชี้นโยบายประกันสังคม กีดกันแรงงานข้ามชาติเข้าถึงเงินทดแทน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ผู้สนับสนุนทางกฎหมายแก่นางหนุ่มใช้ประสบการณ์การเรียกร้องเงินทดแทนจากอุบัติเหตุจากการทำงานของนางหนุ่มเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาของระบบคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ทำให้นโยบายของสำนักงานประกันสังคม (หนังสือเวียน เลขที่ รส 0711/ ว 751 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2544) ถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำหนดถึงคุณสมบัติและหลักฐานที่แรงงานข้ามชาติจะรับเงินทดแทนเนื่องจากอุบัติเหตุในการทำงานจากกองทุนเงินทดแทนได้จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้

หนึ่ง มีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ที่ทางราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทาง (Passport) หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกว่าสองล้านคนไม่มีหนังสือเดินทางและใบสำคัญคนต่างด้าว

สอง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย

กรณีแรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานไม่สามารถแสดงหลักฐานข้างต้นได้นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างเอง

‘สมชาย หอมลออ’ ชี้อุทธรณ์เพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ 2 ล้านคน

นายสมชาย หอมลออ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวว่า “การอุทธรณ์ในครั้งนี้ของนางหนุ่มและเพื่อนแรงงานอีกสองคนต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นการอุทธรณ์เพื่อต่อสู้และเรียกร้องในฐานะตัวแทนของแรงงานข้ามชาติกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทยที่ทำงานในสถานประกอบการที่สกปรกและอันตราย

ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้มีนโยบายซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและทำให้แรงงานข้ามชาติถูกทอดทิ้งกลายเป็นบุคคลชายขอบที่ไม่ได้รับความสนใจ นโยบายดังกล่าวนอกจากจะสร้างความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมากแล้ว ยังเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบของกองทุนเงินทดแทนให้แก่นายจ้างด้วย ทางมูลนิธิมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าการที่กองทุนเงินทดแทนผลักภาระการจ่ายเงินทดแทนไปให้นายจ้างแทนที่จะให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐมักปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนเมื่อแรงงานข้ามชาติบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยอ้างเหตุผลด้านสัญชาติและการขาดเอกสารยืนยันของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น ”

นายสมชายกล่าวว่า “รัฐไทยควรที่จะให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เพราะแรงงานเหล่านี้ทำคุณประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทย และการทำให้แรงงานมีความมั่งคงในชีวิตนั้น เป็นเครื่องหมายของการพัฒนาสังคม และสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้ เราหวังว่าการอุทธรณ์ครั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดจะรับพิจารณาคำฟ้องและมีความเห็นตรงกับเราว่าในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายหากต้องบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเช่นเดียวกับนางหนุ่ม สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่กระทรวงแรงงานจะละเลยแรงงานข้ามชาติทุกคนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งยังเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาเหล่านั้น”