Thai / English

สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจง การขึ้นเงินเดือนเนื่องมาจากการต่อสู้ของสหภาพ



20 .. 51
ประชาไท

20 พ.ค. 51 – สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ออกจดหมายถึงเพื่อนสมาชิกสหภาพแรงงาน พนักงาน สื่อมวลชน และประชาชน เรื่อง “เงินเฟ้อ 7% ข้าราชการปรับ 500-700 Surprise ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับให้ 600 บาท ในรอบ 10 ปี” เพื่ออธิบายประเด็นในการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงาน โดยจดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือที่ บทบ.2-510187 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 เรื่องการปรับเงินให้พนักงาน โดยระบุว่า ธนาคารได้มีการปรับเงินเดือนให้พนักงานทุกคนที่เข้าทำงานก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 คนละ 500 บาท และเนื่องจากค่าครองชีพได้ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จึงได้ปรับเงินเดือนพนักงานทุกคนขึ้นอีกคนละ 600 บาท รวมสองครั้งเป็นเงิน 1,100 บาท หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพนักงานทุกคนจะเข้าใจถึงนโยบายธนาคารที่ต้องการดูแลพนักงานให้ได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสมนั้น

เพื่อไม่ให้สมาชิกสหภาพ พนักงานธนาคาร พี่น้องสื่อมวลชน และประชาชนเข้าใจสับสน สหภาพแรงงานขอชี้แจงให้ทุกท่านได้ทราบว่า เงินจำนวน 500 บาท ที่ธนาคารปรับให้พนักงานที่เข้าทำงานก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 นั้น เกิดจากสหภาพยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งใช้เวลาในการเจราจาเป็นเวลา 10 เดือน ไม่ใช่อยู่ๆ ธนาคารจะใจดีปรับให้ ส่วนที่ธนาคารปรับเพิ่มขึ้นอีก 600 บาท เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 โดยให้มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากธนาคารได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานกับสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 และธนาคารยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับดังกล่าวอยู่ 1 ข้อ คือ การปรับเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับพนักงานเข้าใหม่ในระดับปริญญาตรี จำนวน 500 บาท และพนักงานปัจจุบันในระดับปริญญาตรีและเป็นพนักงานระดับ 2 ขึ้นไปเงินเดือนยังไม่ถึง 15,000 บาท จะได้รับการปรับเงินเดือนเนื่องจากผลกระทบการปรับเงินเดือนเริ่มต้นในจำนวนที่ลดหลั่นกันไป ซึ่งมีพนักงานที่ได้รับการปรับทั้งสิ้นประมาณ 4,900 คน เรื่องดังกล่าวสหภาพแรงงานเห็นว่าเวลาล่วงเลยมานาน และได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความคืบหน้า จึงทำจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 29 เมษายน 2551 ร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงานว่า ธนาคารฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้จดทะเบียนแล้ว และกระทรวงแรงงานเชิญทั้งสองฝ่าไปไกล่เกลี่ยเรื่องดังกล่าวในวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 แต่ยังไม่ทันได้ไปไกล่เกลี่ยธนาคารก็ประกาศปรับเงินเดือนขึ้นคนละ 600 บาท

ความจริงใจพิสูจน์กันได้ที่การกระทำ ในสภาวะค่าครองชีพรวมทั้งค่าน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้ปรับตัวสูงขึ้น หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคธนาคาร และค่าแรงขั้นต่ำ ได้มีการปรับค่าจ้างอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่งปรับให้พนักงานเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และปรับเพียง 600 บาท ทั้งที่ธนาคารมีผลกำไรต่อเนื่องมาตลอดเป็นเวลาหลายปี ธนาคารน่าจะปรับให้คนละ 1,000 บาท หรือ 1,500 บาท การที่ธนาคารปรับเงินเดือนให้พนักงานคนละ 600 บาท ยังถือว่าน้อยมาก หากเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฐานเงินเดือนพนักงานธนาคารหลักหมื่นขึ้น ขณะที่ลูกจ้างค่าแรงขั้นต่ำฐานเงินเดือนหลักพัน และการที่ธนาคารนำเงินจำนวน 500 บาท ที่สหภาพเรียกร้องมารวมกับเงินจำนวน 600 บาทที่ธนาคารปรับให้ แล้วอ้างว่าธนาคารปรับสองครั้งเป็นเงิน 1,100 บาท เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่ผู้บริหารธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ธนาคารเป็นธนาคารที่สังคมเลือก แต่กลับสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับสังคมเสียเอง โดยการให้ข่าวกับสื่อมวลชนเรื่องการปรับเงินเดือนไม่ตรงกับความเป็นจริง สหภาพแรงงานจึงต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทุกท่านได้ทราบ ในอนาคตสหภาพหวังเป็นอย่างยิ่งว่าธนาคารจะดูแลพนักงานให้ได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์ที่เหมาะสมตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ด้วยความจริงใจ เพื่อให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจปฏิบัติงานนำชื่อเสียงมาสู่ธนาคารต่อไป