Thai / English

ถอดบทเรียนแรงงาน 54 ศพ ถกอนาคตปัญหาแรงงานย้ายถิ่น



15 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาเรื่อง สรุปบทเรียนแรงงานข้ามชาติ 54 ศพ สู่นโยบายและมาตรการที่ยั่งยืน

ช่วงเช้า มีการเสวนาในหัวข้อ แนวทางการแก้ไขกรณีแรงงานข้ามชาติ 54 ศพ และข้อเสนอต่อแนวทางการคุ้มครองต่อกรณีผู้เสียหายที่เป็นแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติ โดยนายนัสเซอร์ อาจวาริน อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ผลัดถิ่น สภาทนายความ เล่าถึงผลสรุปจากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายไทย และพม่า ที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ว่า ขณะนี้ได้มีการออกหมายจับกลุ่มนายหน้าไปแล้ว 8 ราย โดยฝากขังไว้ 6 ราย ส่วนอีก 2 คน ซึ่งเป็นนายหน้าที่ส่งแรงงานระนองไปยังภูเก็ต ยังไม่สามารถคุมตัวได้ โดยคาดว่าจะส่งฟ้องทั้ง 6 คนภายในมิถุนายนนี้

อนุกรรมการฯ กล่าวว่า ผู้เสียหายชาวพม่า ที่รอดชีวิต 66 รายถูกกักตัวไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.ระนอง ตามฐานความผิดหลบหนีเข้าเมือง โดยได้คัดแยกไว้เป็นพยาน 10 ราย เป็นผู้ใหญ่ 6 คน และเด็ก 4 คน จะเหลือผู้ที่ส่งกลับประเทศพม่าจำนวน 56 ราย โดยฝ่ายพม่าต้องการให้ส่งกลับในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยจะมีผู้ว่าราชการ จ.ระนองเป็นผู้ส่งมอบ อย่างไรก็ตาม ทางไทยมีเงื่อนไขว่า จะต้องตรวจสุขภาพตามความสมัครใจของผู้เสียหาย และจะส่งกลับเมื่อผู้เสียหายยินยอมเท่านั้น

นายนัสเซอร์ กล่าวว่า ในการส่งตัวนี้ มีบันทึกข้อตกลงระหว่างพม่าและไทย ในประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ ผู้ที่จะต้องส่งตัวกลับทั้ง 56 ราย ต้องยินยอมให้ส่งตัวกลับด้วยตัวเอง รัฐบาลพม่าจะต้องลงบันทึกว่า ผู้เสียหายทั้ง 56 คนจะได้รับการดูแลตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน และจะได้รับการดูแลตามกฎหมายไทยโดยสมบูรณ์ ในฐานะผู้เสียหาย โดยรัฐบาลพม่าจะต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย รวมถึงรัฐบาลพม่าต้องยินดีรายงานความเคลื่อนไหว และความเป็นไปของผู้เสียหายทั้งหมดว่ามีชีวิตอยู่อย่างไร และยืนยันว่า จะไม่มีการดำเนินการลงโทษกับผู้เสียหายทั้งหมด เนื่องจากพวกเขาได้ถูกลงโทษในไทย ตามความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว

เขากล่าวเสริมว่า ส่วนผู้เสียหายอีก 10 คนซึ่งถูกกันไว้เป็นพยานนั้น ฝ่ายไทยจะดำเนินการสอบพยานโดยเร็ว โดยคาดว่าจะส่งกลับพม่าได้ในเดือนกรกฎาคม

พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสืบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ทางการควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติลักษณะนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากจากการสืบสวนพบว่า ระนองเป็นจุดเชื่อมที่มีการแบ่งผลประโยชน์ของเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จะนำชาวพม่ามาค้าแรงงานในประเทศ โดยการทำกันเป็นขบวนการ และมีลักษณะการทำงานข้ามชาติ โดยแบ่งจ่ายที่พม่าครั้งหนึ่งประมาณ 1 แสนจ๊าตต่อหัว และเมื่อข้ามมาแล้ว จ่ายปลายทางที่จังหวัดต่างๆ อีกประมาณหัวละ 7 - 8 พันบาท รวมแล้วประมาณ 1 หมื่นบาท ดังนั้น หากแรงงานข้ามชาติในไทยมีประมาณ 1 ล้านคน ผลประโยชน์ขององค์กรเหล่านี้ก็จะค่อนข้างสูง

เขากล่าวว่า ลักษณะการนำพาคนเข้าเมืองเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อน มีการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ข้อมูลด้านการข่าวได้ชี้ชัดว่ามีเครือข่ายเหล่านี้หลายเครือข่าย โดยหากนับจากปี 49 - 51 ได้เจอกรณีใกล้เคียงกัน 13 ครั้ง รวมแล้วตาย 69 คน บาดเจ็บ 164 คน

พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในกรณี 54 ศพ มีการนำแรงงานมา 120 คนหรือมากกว่านั้น ซึ่งมีความผิดฐานนำพาบุคคลโดยแสวงหาประโยชน์โดยไม่ควรได้ มีการทารุณต่อเด็ก ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งจะทำให้เด็กมีสภาพผู้เสียหายทันที และจะต้องได้รับการดูแลในสถานที่เหมาะสม เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสืบสวนคดีพิเศษ กล่าวเสริมว่า การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติปราบด้านเดียวไม่ได้ ต้องป้องกันด้านการฟอกเงินด้วย เนื่องจากดีเอสไอได้เคยหารือกับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว พบว่า ความผิดเหล่านี้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินด้วย

ช่วงบ่าย มีการเสวนาในหัวข้อ นโยบายการจัดการแรงงานแรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นข้ามชาติของแรงงานอย่างปลอดภัย : มุ่งสู่การนโยบายและมาตรการที่ยั่งยืน

นายวสันต์ สาธร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) กระทรวงแรงงานกล่าวถึงนโยบายของรัฐว่า นโยบายมีความชัดเจนช่วงปี 2547 คนที่หลบหนีเข้าเมืองจะให้เข้าระบบทะเบียน เพราะคนเหล่านี้ไม่มีหลักฐานประจำตัว บางคนก็มีชื่อซ้ำกัน การตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการเข้าระบบการปกครองซึ่งมีระบบการถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นหลักการตรวจสอบ เมื่อผ่านระบบการตรวจสอบแล้ว กระทรวงต่างประเทศจะต้องเป็นผู้เจรจาต่อประเทศทั้ง 3 คือ ลาว พม่า กัมพูชา ดำเนินการให้มาพิสูจน์สัญชาติ โดยผ่านการเข้าระบบทะเบียนและดำเนินการแปลงสภาพจากผู้หลบหนีเข้าเมืองให้กลายเป็นผู้เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย

เมื่อได้ดำเนินการเริ่มมีแนวนโยบายข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างแรงงาน หรือ (MOU) โดยมีวัตถุประสงค์ 4 เรื่อง 1. คู่ภาคีต้องเข้ามาทำงานอย่างมีระบบ มีกระบวนการที่ถูกต้อง 2. จะต้องมีการส่งกลับอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การจ้างงานหากคู่ภาคีมาทำงานในประเทศเราต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย คือใช้กฎหมายภายในประเทศไม่ต่างจากเราไปทำงานในประเทศอื่นๆ 4. ต้องมีข้อตกลงกันระหว่างจังหวัดชายแดนของเราและของเขา โดยมีหลักเกณฑ์ในการค้าแรงงาน

นโยบายการหลบหนีเข้าเมืองให้ถูกกฎหมายตอนนี้มีอยู่ 2 ช่องทาง ทางแรกคือการพิสูจน์สัญชาติ ให้ประเทศคู่ภาคีกับเราไม่ว่าเป็น ลาว พม่า เขมร ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วเรียกคนงานของเขาไปสัมภาษณ์จนเชื่อว่าเป็นคนลาวจริง แล้วจะมีการออกเอกสารพาสปอร์ตชั่วคราว เป็นหลักฐานแสดงตัวว่าบุคคลนั้นเป็นคนลาว เอกสารที่ออกให้ใช้แทนหนังสือเดินทาง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะประทับวีซ่าให้ สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี เมื่อครบกำหนดสามารถต่ออายุได้

เมื่อได้เอกสารจากตรงนี้แล้ว หลังจากนั้นไปตรวจสุขภาพก็จะได้ใบอนุญาติทำงานได้อย่างถูกต้องและถ้าผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วจะสามารถเข้าเมืองได้อย่างถูกกฎหมาย นี่เป็นกระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างถูกกฎหมาย ทางลาวกับกัมพูชาตอนนี้ทำได้ไป 40,000 กว่าคน

อีกช่องทางหนึ่งคือ ใช้สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาใหม่โดยให้นายจ้างมาขอที่สำนักงานจัดหางานจากนั้นจะส่งความต้องการของนายจ้างแจ้งไปยังที่กระทรวงแรงงานของประเทศ ลาว กัมพูชาให้หาคนให้ หาได้แล้วก็จะขอวีซ่า หนังสือเดินทางเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายทั้ง 2 ประเทศนี้ทำได้หมื่นกว่าคนแล้ว

ทำนองเดียวกันได้เจรจากับทางฝ่ายพม่า แต่ทางพม่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม คือ การพิสูจน์สัญชาติจะให้พาแรงงานพม่าไปพิสูจน์ในประเทศพม่า 3 แห่ง คือ เกาะสอง เรวดี ท่าขี้เหล็ก ที่จะตั้งรองรับไว้ ถ้าลูกจ้างพม่ารายใดต้องการที่จะพิสูจน์สัญชาติ เมื่อตกลงมีความชัดเจนขึ้นคือฝ่ายไทยยอมรับในพม่าก็จะมีแนวปฏิบัติ ถ้าไม่ยอมดำเนิน พม่าก็จะไม่มีการดำเนินการ ทางฝ่ายไทยเห็นว่าในอดีตพม่าไม่เคยยอมรับคนพม่าที่มาทำงานฝั่งไทยเลยและไม่ยอมรับใดๆทั้งสิ้น เราเห็นว่าที่พม่าได้เปิด 3 เมืองนี้เป็นการเริ่มต้นที่พม่าเข้ามายอมรับและทำงานร่วมกันกับฝ่ายไทย การพิสูจน์สัญชาติทางพม่าจะมีแนวปฏิบัติโดยการส่งคนที่สมัครใจเท่านั้น โดยส่งชื่อไปกระทรวงแรงงานและส่งไปที่พม่า 3 เมืองนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วจะแจ้งชื่อกลับมา

ค่าธรรมเนียมการเข้าเมืองเก็บ 1,800 บาททุกประเทศ เรื่องของค่าธรรมเนียมได้รับการเรียกร้องหลายอย่างให้ปรับปรุงลดราคาลง ในปี 2551 ได้ออกกฎกระทรวงให้คำนึงถึงอาชีพและพื้นที่ประกอบการพิจารณา ซึ่งในประเทศไทยมีกิจการที่ขาดแคลนแรงงานอย่างมาก 4 กิจการ ได้แก่ กิจการประมง กิจการต่อเนื่องประมง กิจการเกษตร และปศุสัตว์ คนต่างด้าวที่จะทำงานนี้เราจะลดค่าธรรมเนียมจาก 1,800 บาท เก็บแค่ 900 บาท

อีกอย่างคือนำพื้นที่เป็นที่ตั้ง ปัจจุบันมีอยู่ 4 อย่าง คือ พื้นที่จังหวัดชายแดนลด 50% เช่นกัน มีทั้งหมด 30 จังหวัด พื้นที่ที่ 2 คือ ติดกับพื้นที่จังหวัดชายแดนลดหลั่นลงมา จังหวัดที่ไม่อยากให้เข้ามาคือ กรุงเทพ ปริมณฑล ซึ่ง 6 จังหวัดนี้จะมีค่าธรรมเนียมแพงปีละ 1,800 บาท

ส่วนนายจ้างในอดีตจะไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆเลย แต่ปัจจุบันกฎหมายใหม่บังคับให้นายจ้างเสียค่าธรรมเนียม โดยเก็บเฉพาะแรงงานระดับล่าง ต่ำสุด 400-700 บาท มีไว้เพื่อจำกัดจำนวนลูกจ้างระดับล่าง ขณะนี้เรากำลังเจรจา พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อกำหนดเอกสารชนิดหนึ่งไว้ใช้เพื่อเข้ามาทำงาน แทนหนังสือเดินทาง และค่าธรรมเนียมไม่แพงจนเกินไป โดยมีการรับรองทั้ง 2 ฝ่าย สามารถเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 54 ศพที่ระนองไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่เกิด เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้เราจะหาทางออกอย่างไร การมองปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยคนไทยมักจะมองว่ามาแย่งงานคนไทยทำและปัญหาทางประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์เหล่านี้นโยบายไม่บรรลุผลไม่มีการดำเนินงานของภาครัฐ กรณีแรกคือ ระบบลงทะเบียน เรารู้ดีว่าการลงทะเบียนนี้มีปัญหา ได้บัตรก็ถูกยึดบัตรและตำรวจก็จับนี่คือความเป็นจริง

ประเด็นที่ 2 การรวมตัวของคนงานพม่ายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการเจรจาต่อรองถึงสิทธิเสรีภาพของแรงงานพม่าและประเทศอื่นๆด้วยนำไปสู่การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ 3 คือ เราเคยเสนอตั้งศูนย์ฮอตไลน์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีเรื่องราวใดให้โทรเข้ามา โดยขอเสนอกับรัฐบาลสร้างงบประมาณ ให้มีล่ามพูดคุยรู้เรื่องเจรจาถึงปัญหา เจ็บป่วยเข้ามา และกฎหมายไทยต้องมีการคุ้มครองทุกคนทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ความจริงไม่มีค่าจ้างไทยกับแรงงานต่างชาติในแม่สอดยังอยู่ 60 บาท สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกปฏิบัติในกระบวนการทั้งหลาย ถ้าทั้งหมดนี้ทำได้จะแก้ปัญหา One stop service ดังนั้น น่าจะมีองค์กรชุดหนึ่งพิจารณาภายในองค์กรเดียวโดยไม่ต้องส่งต่อไปที่อื่น

นายสมพงศ์ สระแก้ว เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมีจำนวนมากที่เข้ามาในประเทศไทย นายทุนมักจะมองแรงงานข้ามชาติเป็นสินค้าและปัจจัยต้นทุนที่ถูกที่สุดมีค่าแรงขั้นต่ำที่ต่างจากความเป็นจริง อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการบริหารการจัดการแรงงานข้ามชาติหรือขบวนการนายหน้ายังมีให้เห็นอยู่เยอะแยะในเรื่องการทำเอกสาร โดยพื้นฐานแล้วคนที่มีบัตรแรงงาน ส่วนใหญ่ใช้ขบวนการนายหน้าทั้งหลาย ทุกครั้งที่มีการเสียค่าใช้จ่ายจะตกที่ลูกจ้างเป็นผู้จ่าย ซึ่งเงินที่จะได้ในแต่ละเดือนไม่สามารถรู้ได้ไม่สามารถเรียกร้องได้ ซึ่งอยากให้รัฐมองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย

เลขาฝ่ายดูแลแรงงานข้ามชาติชาวพม่า กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติพม่าอยากทำงานที่ประเทศไทย แรงงานส่วนมากอยากได้บัตรแรงงาน บางคนนายจ้างไม่ให้ทำ บางคนก็ไม่รู้จะทำได้ยังไง ซึ่งส่วนมากจะผ่านนายหน้า ต้องเสียทุกๆปี แรงงานทุกคนอยากมีโอกาสได้บัตรแรงงาน ถ้าประเทศพม่าดีขึ้นเชื่อว่าแรงงานทุกคนจะกลับไปอยู่กับครอบครัวอย่างเดิม

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เราได้ยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งอนุคณะกรรมการที่จะดูแลในเรื่องของนโยบายแรงงานข้ามชาติในระยะยาว ในแง่ของผู้แทนจากนายจ้างและผู้แทนนักวิชาการ ผู้แทนลูกจ้าง ซึ่งข้อเสนอนี้สามารถเป็นจริงขึ้นได้ถ้ากระทรวงแรงงานให้ความสำคัญและตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติทุกภาคส่วนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนการจดทะเบียนควรจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ที่จะสามารถจดทะเบียนได้ตลอดเวลาเพราะว่าใน 2 ปีที่ผ่านมามีการจดทะเบียนมากขึ้น แต่เดือนที่ผ่านมามีจำนวนลดลง สิ่งที่สำคัญและน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือยิ่งไม่มีการจดทะเบียนมากขึ้นเท่าไหร่ผู้ใช้แรงงานก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น เพราะการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติจะเสียค่าใช้จ่ายมากที่สุดแตกต่างกับนายจ้างที่ไม่เสียอะไรเลย

นายฉัตรชัย บางชวด ตัวแทนสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเราไม่ใช้แรงงานข้ามชาติเพราะอาชีพบางอาชีพคนไทยไม่ทำ เรามีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานจาก ลาว กัมพูชา พม่า และแรงงานข้ามชาติมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ขณะนี้ทางภาครัฐกำลังคิดหาทางแก้ปัญหาแรงงานที่ผ่านมามีข้อจำกัดอย่างที่พม่าไม่ยอมรับการพิสูจน์สัญชาติ แต่ตอนนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่

ต้องมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ

นายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า ข้อเสนอหลายๆครั้งที่ผ่านมาให้ตั้งองค์กรคณะกรรมการทั้งหลายที่ผ่านมาในเชิงรูปธรรมไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงๆหรือไม่ การตั้งคำถามท้าทายแบบนี้เพื่อให้คิดถึงกลไกลอื่นๆที่เป็นไปได้มากกว่า และกลไกลที่สำคัญในการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติคือ การต่อรองโดยตรงระหว่างแรงงานกับนายจ้าง หลายสหภาพแรงงานที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการนี้ เราน่าจะไปสนับสนุนสภาแรงงานข้ามชาติมากกว่า

ที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาประเทศไทยเพราะประเทศไทยมีงานถ้าไม่มีงานแรงงานข้ามชาติคงไม่เยอะขนาดนี้ พิสูจน์ได้ชัดว่าแรงงานเข้ามาทำงาน เข้ามาสร้างผลผลิต เข้ามาทำประโยชน์ เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ไม่ใช่อาชญากรไม่ใช่ปัญหา การแก้ปัญหาเราสามารถแก้ในประเทศของเราได้โดยตรง และการขยายการจดทะเบียนที่ผ่านมาเป็นการเน้นเพื่อควบคุมแรงงานผูกติดแรงงานกับนายจ้าง ผูกติดแรงงานกับอาชีพ อื่นๆ ที่ผ่านมาเราต้องเปลี่ยนในเมื่อประเทศไทยขาดแรงงาน เราก็ต้องการแรงงานคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร คนเหล่านี้ต้องได้รับสถานะอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้นการจดทะเบียนที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย การจดทะเบียนต้องเป็นการจดเพื่อคุ้มครองสิทธิ เช่น การจดทะเบียนการเข้าถึงประกันสังคม ทั้งนี้ อยากจะชวนให้มองอีกด้านหนึ่งในการเสนอนโยบายในการรณรงค์

..........................

หมายเหตุ

การเสวนาร่วมจัดโดย คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group – MWG) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrant - ANM) เครือข่ายสามพรานต้านการค้ามนุษย์ เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (TLSC) สมาพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี มูลนิธิรักษ์ไทย ศูนย์ช่วยเหลือสิทธิและกฎหมายแก่ผู้ประสบภัยสึนามิ ศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (ACILS) Federation Trade Union of Burma (FTUB) และโครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคประทีป