ทัศนะคนทำงานกับขบวนการแรงงาน: ทำไมแรงงานไทยต้องสมานฉันท์กับแรงงานข้ามชาติ?วิทยากร บุญเรือง 09 .. 51 ประชาไท จากโศกนาฏกรรม 54 ศพ ทำให้สังคมไทยหันกลับมาตั้งคำถามกับปัญหาการขูดรีดแรงงานข้ามชาติมากขึ้น แต่ อคติ-มายาคติ เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในสังคมนี้ก็ยังไม่ได้ถูกลบเลือนไปเลยทีเดียว ทั้งประเด็นการแย่งงาน หรือการก่ออาชญากรรมโดยแรงงานข้ามชาติ ยังเป็นสิ่งที่คนไทยตระหนกตื่นกลัวอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้คนทำงานเกี่ยวกับแรงงานจริงๆ ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นแรงงาน โดยให้แง่คิดว่าปัญหาของแรงงานทั้งมวลนั้น หากใช้กรอบชาตินิยมวิเคราะห์แล้ว เราจะไม่ได้หนีไปจากวังวนเดิมๆ และการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดจะยิ่งทำให้สถานการณ์แรงงานทั้งของคนไทยเองหรือเพื่อนต่างชาติพันธุ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ นอกเหนือจากมุมมองของขบวนการสิทธิมนุษยชนกับการบรรเทาปัญหาของแรงงานข้ามชาติแล้ว ในอีกด้านหนึ่งการตื่นตัวของขบวนการแรงงานด้วยกันเองต่อปัญหาการกดขี่แรงงานข้ามชาตินี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการยอมรับและเปิดใจให้กว้างของขบวนการแรงงานไทยในสถานประกอบการณ์ที่มีแรงงานข้ามชาติ การเชิญชวนแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่ปัจจุบันแทบที่จะไม่มีเลย รวมถึงข้อกฎหมายที่ไม่ให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเองได้ ลองมาดูทัศนะคนทำงานกับแรงงาน เกี่ยวกับประเด็นสมานฉันท์แรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ โอกาส อุปสรรค และความเป็นไปได้ ***โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยชี้ ขบวนการแรงงานไทยต้องสมานฉันท์แรงงานข้ามชาติ *** จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ จากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign: TLC) ที่ในอดีตก็เคยทำงานคลุกคลีในเรื่องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานพม่า ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ในประเด็นการกีดกันแรงงานข้ามชาติของขบวนการแรงงานไทย นั้นจารุวัฒน์เห็นว่า ถ้าเป็นการกีดกันในเชิงรูปธรรมระหว่างแรงงานไทยมีต่อแรงงานข้ามโดยตรงก็คงไม่มีที่ชัดเจนนัก แต่ก็คงมีอคติเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคมไทย เช่นเดียวกับที่สื่อไทยนำเสนอ เช่นกลัวว่าแรงงานข้ามชาติจะมาก่ออาชญากรรม หรือเรื่องการแย่งงาน ซึ่งจารุวัฒน์เห็นว่าประเด็นการกีดกันจากแรงงานไทยนั้นยังเป็นประเด็นลางๆ เพราะความเป็นจริงคนไทยก็ยังมีงานทำที่ดีอยู่ ส่วนงานที่แรงงานข้ามชาติทำก็เป็นงานที่คนไทยไม่ค่อยทำแล้ว เพราะเป็นงานที่หนัก สกปรก และก็เหนื่อย เช่นประมง ก่อสร้าง หรือแม่บ้าน แต่ก็มีกรณีที่น่าสนใจคือ การที่นายจ้างเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อให้มีการแบ่งแยกกีดกันระหว่างแรงงานเสมอ เช่นมีกรณีหนึ่งที่เคยรับรู้มาโรงงานในภาคตะวันออกแห่งหนึ่ง แรงงานไทยกำลังต่อสู้เรียกร้องกับนายจ้าง และมีการนัดหยุดงานด้วย แต่นายจ้างกลับเอาแรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานแทนแรงงานไทยที่หยุดงาน สหภาพแรงงานก็เลยแจ้งตำรวจมาจับแรงงานกัมพูชาทั้งหมด นอกจากนี้ก็มีกรณีโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ อยู่แถวนิคมบางชัน นายจ้างพยายามจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ต่อรองกับแรงงานไทยเพื่อลดสวัสดิการ คือถ้าไม่ลดสวัสดิการบางอย่าง ซึ่งจริงๆ มันไม่เกี่ยวกับคนงานธรรมดาเลย แต่เป็นเพราะนายจ้างที่ไม่ยอมให้สวัสดิการ และพยายามจะลดสวัสดิการเพื่อเพิ่มกำไร จึงสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนงานทะเลาะกันเอง ดังนั้นเรื่องการกีดกันแรงงานข้ามชาติ จารุวัฒน์เห็นว่ามันอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติโดยตรงเสมอไป หรือการเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือว่าถูกกฎหมาย แต่ทั้งนี้มันเกี่ยวกับนายจ้างกับคนงาน เพราะนายจ้างต้องการผลิตสินค้าโดยเสียต้นที่ต่ำที่สุด โดยเฉพาะต้นทุนที่เป็นแรงงานดังนั้นเข้าก็จะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้แรงงานมีอำนาจต่อรอง ถ้าเป็นแรงงานไทยก็จะทำทุกอย่างก็กำจัดสหภาพแรงงาน เลิกจ้างผู้นำแรงงาน ซึ่งแรงงานไทยรู้เรื่องพวกนี้ดี แต่ถ้าในโรงงานมีแรงงานข้ามชาติด้วย เขาก็ใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อที่จะไม่ให้คนงานไทยกับคนงานข้ามชาติสามัคคีกัน จะได้ไม่มีพลังต่อรองเรื่องสวัสดิการต่างๆ แต่ถ้าเป็นโรงงานก็มีแต่แรงงานข้ามชาติทั้งหมด การทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะที่ผิดกฎหมาย ก็ง่ายต่อการขูดรีด กดค่าแรง ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องการกดขี่ระหว่างนายจ้างกับคนงาน ทั้งนี้ในประเด็นการสร้างความสมานฉันท์กับแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันจารุวัฒน์เห็นว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้นแต่ก็ยังดีไม่พอ ทั้งนี้หลายองค์กรแรงงานก็ออกมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง หรือสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ แต่ปัญหาหลักๆ ยังไม่ถูกแก้ไข นั่นก็คือแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย เป็นแรงงานที่ถูกทำให้ผิดกฎหมาย เปิดช่องให้ถูกรังแกได้ง่ายมาก องค์กรที่สนใจประเด็นแรงงานข้ามชาติก็พยายามเรียกร้องให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติทุกคน แต่การจดทะเบียนที่ผ่านมามันเป็นการจดทะเบียนเพื่อควบคุมมากกว่าเพื่อเคารพสิทธิมนุษยชน มีการผูกติดแรงงานกับนายจ้างเหมือนเป็นทาสไม่มีผิด มันก็เลยมีอีกซีกของขบวนการแรงงานพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกการจดทะเบียนและให้แรงงานข้ามชาติทุกคนมีสถานะถูกกฎหมายโดยอัตโนมัติ ส่วนเรื่องแรงงานกับสหภาพแรงงานนั้นตามกฎหมายแล้ว แรงงานข้ามชาติก็สามารถเป็นสมาชิกได้ แต่ไม่สามารถก่อตั้งสหภาพของตนเองได้ ซึ่งอย่างที่เรารับรู้คืองานที่แรงงานข้ามชาติทำนั้นส่วนใหญ่แรงงานไทยไม่ทำ ดังนั้นในโรงงานที่จะมีแต่แรงงานข้ามชาติ เช่นที่แม่สอด หรือมหาชัย ก็ไม่สามารถมีองค์กรของตนเองได้ และถ้ามีแรงงานรวมกลุ่มกันเรียกร้องความเป็นธรรมในการทำงาน ก็จะถูกเบี่ยงเบนประเด็นไปที่การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไปที่ความมั่นคงฯ แต่จริงๆเป็นความมั่นคงของนายทุนมาก ตำรวจก็เข้าไปจับ แล้วก็ส่งกลับ โดยจารุวัฒน์ยังมีความหวังว่า กลุ่มก้อนขบวนการแรงงานของไทย และองค์กรต่างๆ จะเข้าไปให้ความช่วยแรงงานข้ามชาติมากขึ้นซึ่งหลายองค์กรดังที่กล่าวไว้ข้างต้นก็พยายามเรียกร้องในหลายๆ เรื่อง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ และตอนนี้ก็ยังไม่มีองค์กรแรงงานใดที่สมาชิกสหภาพแรงงานเป็นแรงงานข้ามชาติเลย ในอนาคตก็คิดว่าจะดีขึ้นว่านี้ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ สนับสนุนแนวคิดยกระดับสวัสดิการแรงงานอย่างเสมอภาค เจษฎา โชติกิจภิวาทย์จากกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ซึ่งเป็นผู้คลุกคลีกับขบวนการแรงงานในภาคเหนือ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการสมานฉันท์กับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการผลักดันสวัสดิการให้กับแรงงานทั้งหมดอย่างเสมอภาค อันเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการ โดยเจษฎามองว่า ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติว่า แม้แต่ในรัฐไทยเองก็ยังมีปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์ภายในของสังคมไทยเอง ตัวอย่างเช่น การดูถูกแรงงานอีสานหรือการดูถูกแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ รวมถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดคือทัศนะคติลบของคนในสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มต่างชาติพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือตกใต้มายาคติโดยไม่รู้ตัว ปัญหานี้ในภาคเหนือพบว่ามีการนำแรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ มาใช้งานในอุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะช่วงเก็บเกี่ยวลำไย ซึ่งมักจะมีการให้ค่าแรงแรงงานเหล่านี้ต่ำ ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุในการทำงาน มีการโกงค่าแรง เนื่องจากไม่มีการทำสัญญาจ้างงานใดๆ เพราะแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานตามฤดูกาล สำหรับภาคเหนือ ถือว่าการรื้อฟื้นขบวนการแรงงานกำลังพึ่งเริ่มต้น ดังนั้นการประสานของทั้งแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานชาติพันธุ์ยังคงดูไม่เข้มแข็งนักเพราะยังเป็นการเริ่มต้นใหม่ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีที่ เพราะเริ่มมีการพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันบ้างแล้ว ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในภาคเหนือก็ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งก็มีแรงงานในภาคเหนือที่เป็นแรงงานนอกระบบมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสัญชาติไทยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ จุดนี้เองถ้าหากมีการเคลื่อนร่วมกันต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยกันจะมีพลังขับเคลื่อนมาก เจษฎาเห็นว่า การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และจากที่แล้วมาก็ได้พิสูจน์ถึงคุณภาพของแรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่างภาคการเกษตร ประมง หรือการก่อสร้าง ว่าพวกเขาสามารถทำได้ดีขนาดไหน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่รออยู่ในอนาคตก็คือ การพยายามที่จะกดแรงงานเหล่านี้ให้ไม่มีสิทธิมีเสียง รวมถึงสวัสดิการที่ต่ำมากหรือแทบจะไม่มีเลย ไปเรื่อยๆ นั้น ยิ่งจะทำให้พวกเขาเกิดความกดดันมากขึ้น ซึ่งหากมองในกรณีเดียวกันกับเรื่องค่าแรงและสวัสดิการของแรงงานในภาคคอปกน้ำเงิน แรงงานเหมาค่าแรงของไทยเอง ก็จะเป็นในทำนองเดียวกันก็คือการเพิ่มแรงกดดันให้กับแรงงานทั้งหมด ซึ่งอาจจะนำไปสู่ เหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ในอนาคต ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาด้วยมุมมองวิธีคิดคลายความกดดันทางชนชั้นแล้ว ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุน อำมาตย์จากระบบราชการ และอำนาจเก่าแล้ว การขึ้นค่าแรงไม่กี่บาทอาจจึงเป็นเพียงเกมจิตวิทยา ให้ชนชั้นแรงงานรู้สึกว่าปัญหาของเขาถูกผ่อนคลายไปได้ระยะเวลาหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ขบวนการแรงงานจะต้องติดอาวุธในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อยกระดับการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมมีระบบสวัสดิการที่ถ้วนหน้าและมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งจำเป็นสูงสุด ควรมีการรวมตัวทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับสวัสดิการของแรงงานควบคู่กันไป ทั้งนี้กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการได้เสนอว่า สวัสดิการของแรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติและชาติพันธุ์ไหนที่ทำงานในประเทศไทยจะต้องถูกยกระดับให้เสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน, การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและปันผลหน่วยผลิตอย่างเป็นธรรม, สวัสดิการในการรักษาพยาบาล, สวัสดิการในการพัฒนาตนเองทั้งในด้านทักษะงานและการศึกษา ซึ่งเจษฎาเห็นว่าการยกระดับสวัสดิการของแรงงานนั้นคือก้าวแรกและก้าวสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริง แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเคลื่อนไหวในทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งพรรคการเมืองเข้าไปเสนอนโยบาย หรือกดดันให้พรรคการเมืองต่างๆ นำนโยบายสร้างรัฐสวัสดิการไปใช้ในระบบการเมืองประชาธิปไตย ***พรรคแนวร่วมภาคประชาชนระบุ แรงงานพม่าเป็นมิตรของเรา*** ส่วนพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมุมมองปัญหาแรงงานที่ก้าวข้ามเรื่องเชื้อชาติ แต่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นชนชั้น โดยแรงงานไทยควรสมานฉันท์กับแรงงานพม่า ในแถลงการณ์ แรงงานพม่าเป็นมิตรของเรา ได้ระบุว่าข้ออ้างที่มีแนวทางเหยียดเชื้อชาติของฝ่ายรัฐไทยที่ให้มีการควบคุมแรงงานข้ามชาติฟังไม่ขึ้น เพราะในปัจจุบันพบว่านายจ้างไทยขาดแคลนแรงงานและต้องการแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก แรงงานอพยพทำงานประเภทที่คนไทยไม่อยากทำ เช่นในการประมง โรงสี งานบ้าน และโรงงานอุตสาหกรรมที่ไร้ฝีมือ ใครๆก็ทราบดีว่าในความเป็นจริงไม่มีใครสมารถควบคุมการข้ามพรมแดนได้ ดังนั้นการมีกฎหมายควบคุมแรงงานข้ามชาติ เป็นเพียงกลอุบายของรัฐและนายจ้างที่จะ หลอกและแบ่งแยกกรรมาชีพไทยออกจากกรรมาชีพเพื่อนบ้าน เพื่อกดขี่แรงงานทุกส่วน และรักษาสถานะผิดกฎหมายของแรงงานอพยพเพื่อให้มีการกดขี่ขูดรีดอย่างหนักเป็นพิเศษ รวมถึงจำเป็นจะต้องมีการรณรงค์ให้แรงงานอพยพเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพของเราโดยเร่งด่วน ขบวนการแรงงานจะต้องไม่ติดกับดักของแนวคิดชาตินิยมที่รัฐโฆษณาชวนเชื่อ สังคมไทยต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาแรงงานอพยพ ไม่ว่าเชื้อชาติจีน อีสาน หรือพม่า ทั้งในอดีตและปัจจุบันร่วมสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่ประเทศ เขาจึงต้องมีสิทธิ ค่าแรงและสวัสดิการเทียบเท่ากับแรงงานไทย โดยพรรคแนวร่วมได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายทุกฉบับที่ควบคุมการเข้าเมืองของแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกันนั้นได้เสนอว่าไม่ต้องมีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเลย เพราะเป็นแค่กลไกในการรีดไถโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเปิดช่องกอบโกยกับขบวนการค้ามนุษย์อีกด้วย ทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทยควรได้บัตรประกันสังคมโดยอัตโนมัติ และลูกหลานผัว/เมียควรได้รับการบริการสาธารณสุขและการศึกษาเหมือนพลเมืองไทย (อ่านแถลงการณ์พรรคแนวร่วมภาคประชาชน: แรงงานพม่าเป็นมิตรของเรา) |