คสรท.นัดชุมนุมใหญ่ ดึงคนจน-เกษตรกร ร่วมจี้ทบทวนค่าจ้าง06 .. 51 เครือมติชน คสรท.ขู่ดึงเครือข่ายคนจน องค์กรภาคเกษตรกรร่วมชุมนุมใหญ่ เรียกร้องทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ นักวิชาการชี้ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้างเป็นแค่ระบบต่อรอง ไม่สะท้อนกลไกตลาดและภาพรวม @ คสรท.ผนึกแนวร่วมจี้ทบทวนค่าจ้าง นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ถึงการนัดชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลทบทวนค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 20 พฤษภาคม ว่า คสรท.ยืนยันข้อเรียกร้องเดิมคือ รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 233 บาท มติคณะกรรมการค่าจ้างที่ให้ปรับเพิ่มวันละ 2-11 บาทนั้นไม่เพียงพอ และไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงของชีวิตคนงาน จริงๆ แล้วมีการสำรวจลูกจ้างกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่อยู่ได้ควรอยู่ที่วันละ 268 บาท แต่เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยไปผูกติดอยู่กับต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จึงมักอ้างเรื่องการลงทุน แทนที่รัฐบาลจะช่วยส่งเสริมคนในประเทศให้มีรายได้อยู่ได้เพื่อสร้างความเติบโตภายใน ทั้งนี้ จะนัดหารือรายละเอียดถึงการรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทบทวนวันที่ 13 พฤษภาคม "การเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะมีเครือข่ายคนจน เช่น สลัม 4 ภาค และองค์กรเครือข่ายภาคเกษตรกรเข้าร่วมด้วย เพราะในรัฐบาลไม่สามารถดูแลได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน @ นักวิชาการชี้น่าห่วงใช้ระบบต่อรอง นายนิพนธ์ พัวพงศธร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้มีปัจจัยมาก เพราะอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงมาก แตกต่างจากสมัยก่อนค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 4% แต่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 6% ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับมารอบหนึ่งแล้วเมื่อต้นปีจึงไม่เพียงพอ ที่น่าห่วงคือเวลานี้การปรับค่าจ้างไม่รู้ว่าสูงหรือต่ำเกินไปเพราะไม่ได้ใช้กลไกตลาด แต่ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นระบบการต่อรอง จึงไม่ทราบว่าคณะกรรมการค่าจ้างได้มองถึงภาพรวมกันแค่ไหน ปัญหาระยะยาวคือจำนวนแรงงานในวัยหนุ่มสาวน้อยลดลง ดังนั้น จึงต้องผลักดันให้พึ่งงานมีฝีมือ เพราะจริงๆ ถ้าเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่น่าห่วง เพราะอนาคตของประเทศไม่ใช่แรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่ต้องมีคนที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเป้าหมายนี้ ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ และยิ่งไม่มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่แน่นอนก็ยิ่งเป็นห่วง เพราะการปรับค่าจ้างครั้งต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งน่าห่วงเรื่องเกิดเงินเฟ้อรอบสอง "ผมมองว่า การที่รัฐบาลไม่มีระบบการจัดแรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดผลเสียกับไทยมาก ทำให้อัตราค่าจ้างในระบบเพิ่มขึ้นช้า เนื่องจากงานหลายอย่างควรพัฒนาก็ไม่ต้องทำเพราะสถานประกอบการจำนวนมากยังผลิตสินค้าราคาต่ำ ระบบแบบนี้อาจมีประโยชน์สำหรับผู้บริโภคสินค้าราคาถูก แต่จะเป็นผลเสียทางสังคม เราต้องมีมาตรการชัดเจนเพราะไม่คุ้มที่ปล่อยให้มีแรงงานเถื่อนอยู่ตลอดเวลา" นายนิพนธ์กล่าว @ เลขาฯหอการค้าสงสัยโคราชได้น้อย นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ เลขาธิการหอการค้า 19 จังหวัด ภาคอีสาน กล่าวว่า การปรับค่าแรงงาน จ.นครราชสีมา วันละ 5 บาท มีผลกระทบสองด้าน คือผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่วนของผู้ใช้แรงงาน หากปรับขึ้นค่าแรงไม่สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ ก็ส่อปัญหาเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน หรือหากเดือดร้อนรายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ก็อาจคิดสั้นกระทำผิดกฎหมายได้ จึงต้องดูความสำคัญถึงการปรับขึ้นค่าแรงว่านายจ้างจะยอมขาดทุนกำไรแค่ไหน ส่วนของลูกจ้างเดือดร้อนแน่เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่รายล้อมกว่า 500 แห่ง มีผู้ใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ค่าครองชีพไม่ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆในพื้นที่ภาคกลางเลย หรือแม้แต่ กทม. การประเมินเบื้องต้น ลูกจ้างในพื้นที่ควรได้รับการปรับค่าแรงเพิ่มวันละไม่ต่ำกว่า 8 บาท จะพอดีกับค่าครองชีพ ทำให้เกิดความสมดุลกับภาวะเงินเฟ้อ "ทำอย่างไรให้คนอีสานกลับมาบ้านพัฒนาถิ่นฐาน ไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานที่อื่น คือต้องรีบสร้างงานให้คนท้องถิ่นทำ และมีอัตราจ้างสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ" นายทวิสันต์กล่าว @ อุตรดิตถ์แบะท่าพร้อมทบทวนใหม่ นายสมชาย รัตนไทย แรงงานจังหวัดอุตรดิตถ์ เลขานุการ และอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า การปรับค่าแรงอุตรดิตถ์เพิ่มขึ้นวันละ 2 บาทนั้น ไม่ขอแสดงความเห็นว่ามากหรือน้อย แต่การประชุม 3 ฝ่ายประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และส่วนราชการ มีมติเอกฉันท์เสนอคณะกรรมการส่วนกลางขอปรับ 2 บาท แต่ลูกจ้างอาจมีความเห็นว่าน้อย ดังนั้นจะสอบถามความคิดเห็นจากฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างใหม่ หากฝ่ายลูกจ้างเห็นว่าน้อย และอยากขอให้ประชุมเพื่อพิจารณาค่าแรงใหม่ ก็ยื่นคำร้องมา พร้อมเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธาน เพื่อขอเปิดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างใหม่ "การประชุมพิจารณาค่าจ้างใหม่ อย่างน้อยอุตรดิตถ์จะต้องปรับอัตราค่าจ้างให้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 152 บาท เพื่อให้เท่ากับกลุ่ม 5 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ซึ่งฝ่ายนายจ้างอุตรดิตถ์ก็ไม่มีทีท่าขัดข้อง" นายสมชายกล่าว รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอุตรดิตถ์ก่อนปรับขึ้น 2 บาท อยู่ที่ 147 บาท เป็นอันดับที่ 5 ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ แต่หลังจากปรับ 2 บาท มาเป็น 149 บาทแล้ว ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของอุตรดิตถ์อยู่อันดับท้ายสุดในกลุ่ม 17 จังหวัดภาคเหนือ และรองอันดับสุดท้ายของประเทศ @ ปชป.ยุรบ.เปิดหารือสกัดการชุมนุม นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในคณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนเหตุการณ์ชุมนุมจะเกิดขึ้น อยากให้ฝ่ายรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หารือร่วมกับผู้นำแรงงานหรือ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อเจรจาทำความเข้าใจ และตกลงในเรื่องค่าแรงให้เป็นที่พอใจให้เรียบร้อย เพราะหากรัฐบาลละเลย ปล่อยให้มีการชุมนุม หรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย การชุมนุมที่ไม่เป็นผลดีกับประเทศ และซ้ำร้ายอาจจะทำให้สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจของประเทศ ย่ำแย่ลงกว่าเดิมและหากให้การชุมนุมบานปลายอาจเกิดการปฏิรูปการเมืองในประเทศได้อีกครั้ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ควรปรับเพิ่มไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยปรับเพิ่มอีกร้อยละ 6 น่าจะเหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ" นายไพฑูรย์กล่าว |