Thai / English

สีสันวันแรงงาน (ตอน 1) ความหมาย ‘วันเมย์เดย์’ มุมมองทางชนชั้นของสมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550


ศรายุธ ตั้งประเสริฐ รายงาน
02 .. 51
ประชาไท

แม้ว่าบรรยากาศในงาน ‘วันกรรมกรสากล’ ปีนี้ จะครึ้มฟ้าครึ้มฝน แสงแดดอาจดูขมุกขมัวไม่แรงกล้า อาจไม่ร้อนแรงเท่ากับระดับดีกรีอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้ใช้แรงงานทั้งบนเวทีปราศรัยและบนพื้นถนนลาดยางสีดำ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลหน้าสำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) ที่แรงร้อน ทั้งด้วยสีเสื้อแดงแรงเร้า และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้แรงงานที่มีต่อปัญหาปากท้องค่าครองชีพของตนและปัญหาการเมืองไทยที่สร้างบรรยากาศอึดอัดและอบอ้าวต่อพวกเขา ผู้ที่ถูกสังคมเรียกว่า ‘กรรมกร’

กลุ่มคนประมาณ 2,000 คน อาจเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้แรงงานนับหมื่นที่มาร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติที่จัดโดยกระทรวงแรงงานได้จัดขึ้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ข้อความที่สกรีนติดอยู่บริเวณด้านหลัง ป้ายผ้ารณรงค์ หรือโลงศพจำลองที่มีข้อความเขียนว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ติดอยู่ช่างดูน่าสนใจและชวนตั้งคำถามกับข้อเรียกร้องและทิศทางการต่อสู้ของพวกเขา

สมัชชาแรงงาน 1550 เป็นชื่อที่มีความน่าสนใจ เมื่อผู้เขียนได้ถามถึงที่มาของตัวเลข ก็ได้รับคำบอกเล่าจากผู้นำแรงงานอาวุโสท่านหนึ่งในบริเวณนั้น ได้รับคำอธิบายจนกระจ่างแจ้งว่า ตัวเลข 1550 หมายถึงวันเวลาที่ก่อตั้งองค์กรขึ้น ในวันที่ 1 พฤษภาคม (เดือน 5 ) พ.ศ.2550 นั่นเอง เมื่อได้สอบถามต่อถึงประเด็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เนื่องในวันกรรมกรสากล พวกเขาปฏิเสธการที่รัฐไทยหรือเพื่อนผู้ใช้แรงงานองค์กรอื่นที่จะเรียกวันที่ 1 พฤษภาคม ว่าเป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ด้วยเหตุว่า เป็นคำจำกัดความที่คับแคบ แยกส่วน ทำลายลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นลง

หลังการเคลื่อนขบวนมาตั้งเวทีปราศรัยบริเวณทำเนียบรัฐบาล สุกานตา สุขไผ่ตา ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้ยกประเด็นรูปธรรมว่า กรณีการเสียชีวิตในรถคอนเทนเนอร์ ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานพม่าจำนวนถึง 54 คน รัฐบาลไทยบอกกับสังคมว่าเป็นเพียงปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่โดยเนื้อแท้แล้วนี่เป็นปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกเผชิญอยู่

“มันเป็นการค้ามนุษย์” ผู้นำแรงงานหญิงท่านนี้กล่าวด้วยน้ำเสียงสูงที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก การกล่าวปราศรัยบนเวทีของเธอได้ช่วยอธิบายให้เราได้เข้าใจว่าการที่ ‘รัฐไทย’ จำกัดความหมายวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นเพียงวันแรงงานแห่งชาติ และสร้างคำขวัญหวานหูยกย่องผู้ใช้แรงงานจนเลิศลอย ได้ปิดบังสายตาของผู้ใช้แรงงานไทยไม่ให้มองเห็นหรือรู้สึกเจ็บปวดไปกับสภาพความเป็นจริงของเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่เป็นอยู่ใกล้ตัวของพวกเขาเอง

อนิจจาคำว่าชาติได้บดบังสายตาของคนในสังคมไทยบางส่วน มันได้ทำให้ประสาทการรับรู้ภาพความเหลื่อมล้ำที่อยู่เบื้องหน้าพวกเขาบิดเบือนไปจากความเป็นจริง โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกลายเป็นเพียงหมึกที่เปื้อนอยู่บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีใครในสังคมจะสนใจจรดจำ

ข้อเรียกร้องเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 1 ใน 5 ข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ได้ยื่นเสนอต่อรัฐบาล และนี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลซึ่งเป็นที่มาของข้อเรียกร้องของพวกเขา

การเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 233 บาทเท่ากันทั่วประเทศของ สมัชชาแรงงาน 1550 ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อเสนอกลุ่มอื่น ที่เสนอขอขึ้นเพียงวันละ 9 บาท ซึ่งในกรุงเทพจะขึ้นจาก 194 บาทเป็น 203 บาทเท่านั้น แน่นอนว่าการขอขึ้นค่าแรงเพียงแค่ 9 บาท (ใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถเมล์เพียงเที่ยวเดียว) น่าจะดูอะลุ่มอะล่วย เป็นความเห็นอกเห็นใจกันของผู้นำแรงงานบางท่านที่มีต่อเจ้าของสถานประกอบการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนองตอบจากฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลด้วยดี

แต่เมื่อผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับ สุวรรณา ตาลเหล็ก เพื่อนผู้ใช้แรงงานหญิงท่านหนึ่งที่เป็นสมาชิกของสมัชชาถึงเหตุผลในการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่สูงถึง 233 บาท เธอได้ให้คำอธิบายที่น่าสนใจว่า ตัวเลข 233 บาท เป็นการคิดจากฐานของเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการ เพราะเป็นการยืนยันว่า คุณค่าของผู้ ใช้แรงงานกับข้าราชการที่มีต่อชาติบ้านเมือง ไม่น่าจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวัน การยกย่องให้เกียรติผู้ใช้แรงงานเสียจนเลิศลอยเพียงคำพูดไม่พอเพียงที่จะยืนยันถึงความจริงใจที่นายทุน ข้าราชการชั้นสูงหรือนักการเมือง ที่มีต่อผู้ใช้แรงงาน

ในส่วนของการเรียกร้องให้มีการประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำในเกณฑ์เดียวทั่วประเทศ เธอให้เหตุผลว่า การคำนวณความแตกต่างเรื่องค่าครองชีพโดยแบ่งเป็นพื้นที่เป็นการคำนวณที่หยาบและไม่เป็นจริง ทุกคนอาจมองว่าค่าครองชีพในชนบทต่ำกว่าในเมือง ซึ่งไม่เป็นความจริง ปัจจัยที่ใช้ในการการครองชีพบางอย่างในชนบทก็สูงกว่าในเมืองซึ่งไม่ได้ถูกนำมาคิดร่วมด้วย และในขณะที่รัฐและสังคมมองว่าการอพยพแรงงานเป็นปัญหา เป็นการทำให้ครอบครัว พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน และที่สำคัญก็คือเป็นการสร้างความแออัดไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตาให้กับคนชั้นกลางในเมือง การใช้มาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเดียวน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาข้างต้นได้

เหตุผลของเธอดูมีความจริงจัง น่าฟัง แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาที่น่าสนใจว่า มันจะทะลุผ่านเข้าไปสู่สมองหรือหัวใจของนายทุนผู้ประกอบการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองได้อย่างไร เพราะผู้เขียนมีสมมติฐานอยู่ว่า ในเนื้อที่จำกัดที่สมองของพวกเขามีอยู่นั้นคงคิดอยู่แค่เพียง การลดต้นทุน การแข่งขัน และผลกำไรเท่านั้น ในส่วนของหัวใจของพวกเขาคงมีหน้าที่เป็นเพียงปั๊มน้ำตัวหนึ่งที่ใช้สูบฉีดโลหิตและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายที่อ้วนพีสมบูรณ์ของพวกเขาและเครือญาติเท่านั้นเอง

(โปรดติดตามตอนต่อไป สีสันวันแรงงาน ตอน 2: ผู้ใช้แรงงานกับรัฐธรรมนูญ การจ้างเหมาค่าแรง และรัฐสวัสดิการ)