Thai / English

ค่าแรง 2551 พลังเพื่อชีวิตแรงงานที่ดีขึ้น เดี๋ยวนี้!



29 .. 51
ประชาไท

วันนี้ (28 เม.ย.51) เวลา 9.30 น. มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิงแห่งเอเชีย (CAW) และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดเวทีการรณรงค์เรื่อง “ค่าแรง 2551 พลังเพื่อชีวิตแรงงานที่ดีขึ้น เดี๋ยวนี้” ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ โดยมาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การที่น้ำมันปรับราคาขึ้น ทุก 2-3 วัน ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนงานสูงขึ้นด้วย โดยยกตัวอย่างราคาข้าวที่สูงขึ้น ที่ขายหน้าโรงงาน 10-15 บาท ปัจจุบันเป็น 25 บาท หรือราคาแก๊สที่เพิ่มขึ้น จากถังละ 270 บาท เป็น 310 บาท กลายเป็นภาระที่หนักหน่วงมากสำหรับคนงาน ทั้งนี้ สำหรับแรงงานที่คิดจะมีลูก คงทำงานตามเวลาอย่างเดียวไม่พอ หากไม่ทำโอที จะซื้อนมผงเลี้ยงลูกซึ่งมีราคากล่องละ 450 บาท (700 กรัม) ก็ยังซื้อไม่ได้ ดังนั้น หากมีการปรับค่าจ้าง น้อยกว่า 15 บาท ก็เหมือนกับแรงงานไม่ได้อะไรเลยในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ เนื่องจากราคาสินค้าก็ถีบตัวสูงขึ้นตาม

กรณีที่นายจ้างมักอ้างว่า ถ้าค่าจ้างสูง บริษัทก็จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ต่างประเทศ นั้น วิไลวรรณมองว่า การปรับหรือไม่ปรับค่าจ้าง ไม่ใช่การการันตีว่านายจ้างจะไม่ย้ายฐานการผลิต

ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำ และมีมาตรการควบคุมราคาสินค้า โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาของแรงงาน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ต้องควบคุมราคาสินค้า จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกในพื้นที่ปริมณฑล กระทรวงแรงงานจะต้องพิจารณาดำเนินการเรื่องค่าจ้าง รวมทั้งทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแท้จริง ส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของคนยากจน และผู้ใช้แรงงาน

ลูเซีย จายาซีลาน ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง กล่าวถึงการรณรงค์เรื่องค่าแรงในภูมิภาคเอเชีย ว่า ในทางความเป็นจริงเอเชียไม่มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำให้ลูกจ้างใช้จ่ายได้ ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายนั้นไม่สามารถตอบสนองผู้ใช้แรงงานได้

ปัญหาในปัจจุบัน คือคนงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงค่าครองชีพ การคุ้มครองตามกฎหมาย บริการของรัฐ เช่นเดียวกับแรงงานในประเทศได้ ส่วนใหญ่ค่าจ้างขั้นต่ำของคนงาน 90% ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย การรณรงค์ของเราพูดถึงแรงงานอพยพซึ่งสำคัญไม่ต่างจากแรงงานในประเทศ โดยต้องสร้างมาตรฐานของแรงงานอพยพและแรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับแรงงานในประเทศ

ลูเซีย ให้ข้อมูลว่า คนงานหญิง 64% อยู่ในภาวะความยากจนและราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว ผู้ใช้แรงงาน 95% ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพ จึงไม่มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ และ 80% ของแรงงานในเอเชีย เป็นแรงงานนอกระบบ โดยมี 80% เป็นผู้หญิง ซึ่งไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำได้ เราจึงมารณรงค์เพื่อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งพวกเราต้องการให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

จอร์เจ็ต ฮอนชูลาดา สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ค่าจ้างในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะตลาด แต่ปัจจุบันภาวะตลาดสูงแต่ค่าจ้างลดลง โดยที่ฟิลิปปินส์จะมีคณะกรรมการที่คอยดูแลภาวะตลาด แต่ 2 ปีที่ผ่านมาความคิดนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ ทั้งนี้ แนวคิดของค่าจ้างที่สามารถทำให้แรงงานดำรงชีพอยู่ได้ คือ สำหรับการดำรงชีพของครอบครัวขนาด 6 คน ต้องเพียงพอกับการใช้จ่าย กินอยู่ การศึกษา นันทนาการ และมีเงินเก็บ

จอร์เจ็ต มองว่า ที่ผ่านมา แรงงานของฟิลิปปินส์ไม่มีอำนาจในการต่อรอง เพราะฉะนั้นการที่จะได้มาซึ่งค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม จะเกิดได้เมื่อมีการทำงานที่ดี มีรัฐบาลที่โปร่งใส มีการรวมพลังของแรงงาน ดังนั้นเราต้องแสดงพลังร่วมกันให้มีค่าจ้างที่เป็นธรรม โปร่งใสและเหมาะสม

จอร์เจ็ต ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของค่าจ้างที่เป็นจริงตั้งแต่ปี 2000 ลดลง 30% ในฟิลิปปินส์มีคนที่คอยควบคุมดูแลค่าจ้างขั้นต่ำโดยตรง แต่คนฟิลิปปินส์ไม่เข้มแข็งพอไม่มีอำนาจในการต่อรองในการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ที่จะใช้ต้องมีการพูดคุยร่วมกันและจะมีองค์กรที่จะมาต่อสู้ ดังนั้นเราต้องมีการรณรงค์ที่เหมาะสม

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขานุการ คสรท.และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ประเทศไทยควรเลิกพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วหันมาสนใจเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยจากการสำรวจรายจ่าย และความต้องการของแรงงานในจังหวัดสระบุรีและกรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมที่สุด ควรจะเป็น 268 บาทต่อวัน ดังนั้นที่มีการพูดคุยกันว่าจะปรับค่าจ้างเพิ่ม 9 บาทนั้น จึงไม่สอดคล้องกับสภานการณ์ปัจจุบันซึ่งอัตราเงินเฟ้อขึ้นไป 5% แล้ว

สาวิทย์ เล่าถึงความไม่สมดุลของค่าจ้างขั้นต่ำว่า ในไทยมีการแบ่งเขตค่าจ้างขั้นต่ำ 24 เขต โดยภาคตะวันออก มีถนนตัดผ่านแบ่งเขตระยอง ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำ 165 บาท ขณะที่ชลบุรีค่าจ้างขั้นต่ำ 175 บาท เพียงถนนสายหนึ่งแบ่งเขตเท่านั้น แต่ปัญหาคือคนงานซื้อของจากร้านค้าเดียวกัน ขณะที่มาม่า ขึ้นซองละ 1 บาททั่วประเทศ ทำให้เห็นว่า การปฎิบัติของกลุ่มทุนกับข้อเรียกร้องของแรงงานไม่สมดุลกัน นี่เป็นความท้าทายของเรา ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าจะต้องทบทวนกันมากกว่าเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ

เขาแสดงความเห็นว่า ปัญหาที่สำคัญคือระบบคิดที่กดขี่ขูดรีด โดยตัวอย่างการผลิตรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าที่ใช้เวลาเพียง 1.17 นาที ผลิตรถยนต์ได้หนึ่งคัน ราคา 700,000 กว่าบาท ในหนึ่งวันผลิตรถได้กี่คัน มูลค่าส่วนเกินเหล่านี้มากมายมหาศาล เมื่อเทียบกับค่าแรงที่แรงงานได้

รัฐบาลไทยทุกยุคที่ผ่านมา ใช้ค่าจ้างขั้นต่ำดึงดูดนักลงทุนและลดภาษีเงินได้ ขณะเดียวกันในเขตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รัฐบาลประกาศว่าเป็นเขตปลอดสหภาพแรงงาน ทำให้การรวมตัวของแรงงานอยู่ในภาวะถดถอย ดังนั้นแล้ว ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ต้องอย่าหวังว่ารัฐบาลจะหยิบยื่นให้

สาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า การปรับค่าจ้างในทางสากล จะทำให้มาตรฐานค่าจ้างในภูมิภาคเท่ากัน เพื่อไม่ให้นายทุนอ้างเรื่องย้ายฐานระบบการผลิตและสั่งสมความมั่งคั่งได้อีก เพราะฉะนั้นการต่อสู้เรื่องค่าจ้าง ต้องนำเสนอเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม และยกระดับเรื่องความสมานฉันท์ สร้างพันธมิตรทั่วเอเชีย ดังนั้นคนไทยต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้เป็นจริง

ไอรีน ซาเวีย TIE Asia และกลุ่มเพื่อนหญิงในมาเลเซีย กล่าวว่า การรณรงค์ของเขามีข้อจำกัด ในประเทศมาเลเซียทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งทำกันหลายประเทศ 2 ศตวรรษที่ผ่านมาการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานอยู่ในระบบเป็นนอกระบบ มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่จ่ายค่าแรง แรงงานชั่วคราว และคนงานไม่ใช่คนงานประจำ แต่ละประเทศไม่มีกฎหมายที่มาควบคุมคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ นายทุนแต่ละประเทศจะเคลื่อนย้ายฐานการผลิต ย้ายไปเรื่อยๆ เป็นทุนนิยมเคลื่อนที่และไม่มีอะไรควบคุม คนงานจะต้องเจอการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในเรื่องการผลิตแบบเหมาช่วง สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้แรงงานได้ค่าจ้างน้อยและชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยดูเหมือนกับว่าไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองแรงงานเหล่านี้เลย

ไอรีน กล่าวถึงมุมมองต่อประเทศไทยว่า10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสิ่งจูงใจนายทุนเข้ามา แต่ตอนนี้นายทุนย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นเราต้องสร้างมาตรฐานร่วมกันในเอเชีย โดยอาจจะเริ่มจากการเจรจากับบริษัทต่างๆ แต่ละประเทศให้มีค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน การเพิ่มค่าจ้างไม่ได้ทำให้ผลผลิตหรือรายได้ลดลง ทุกคนต้องร่วมกันรณรงค์เรื่องค่าจ้าง เริ่มจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าก่อน ด้วยเหตุผลเพราะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่จะเชื่อมโยงคนงานเข้าด้วยกัน