ชีวิตไร้ตัวตน ความจริงที่เจ็บปวดของแรงงานข้ามชาติ29 .. 51 ประชาไท เมื่อวันที่ 27 เม.ย. โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเปิดตัวภาพยนตร์สารคดี เรื่อง ชีวิตไร้ตัวตน Life without Identity ที่สำนักงานนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง ราชเทวี โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้สังคมเข้าใจเรื่องของแรงงานต่างชาติมากขึ้น ว่าที่พวกเขามาที่ประเทศไทยไม่ใช่เพราะพวกเขาแค่อยากจะมา แต่เพราะปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาผลักเขาออกมา รวมถึงชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มถูกละเมิดทำให้ต้องลี้ภัยเข้ามาเช่น ฉาน กะเหรี่ยง คยาและมอญ ดังนั้น หากมองแค่ว่าเป็นปัญหาด้านพรมแดน แล้วส่งพวกเขากลับ ก็จะเกิดปัญหาได้ เพราะหลายคนไม่สามารถกลับบ้านได้แล้ว เนื่องจากถูกทางการหมายหัว ต่อมาเป็นการเสวนาเรื่อง ก้าวต่อไปเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนงานต่างชาติ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท โดยสมพงค์ สระแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า แรงงานหรือคนงาน คนย้ายถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย มาเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่า พวกเขาหนีตายมาจากสงครามความขัดแย้งทางการเมือง ไม่มีที่ทำกิน ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ระหว่างพม่ากับไทย พวกเขาไม่ได้หวังจะมาโกยกอบจากประเทศไทย แต่มาสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ สมพงค์ เล่าถึงแรงงานข้ามชาติในสมุทรสาครว่า แรงงานส่วนใหญ่ผ่านขบวนการนายหน้าเข้ามาทั้งนั้น ทั้งยังถูกนายหน้าหลอกสูบเลือดในเรื่องการจัดทำเอกสารทางราชการ พอได้ทำงาน ก็มาเจอกับกฎระเบียบด้านความมั่นคงต่างๆ เช่น รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีรองผู้ว่าฯ กลายเป็นทหาร กอ.รมน. และทั้งที่แรงงานข้ามชาติ เข้ามาทำงานทดแทนส่วนที่แรงงานไทยไม่ทำ เพราะเป็นงานหนักและสกปรก รวมทั้งภาคธุรกิจเองก็ต้องการแรงงาน กว่าแสนคน แต่นโยบายรัฐกลับสวนทาง เพราะที่ไม่เปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่การจ้างงานได้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทบทวนนโยบายอย่างเร่งด่วน ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ลูเซีย จายาซีลาน ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง กล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติไปยังประเทศต่างๆ นั้น ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการชีวิตที่ดีกว่าเท่านั้น แต่เพราะที่ดินถูกรัฐบาลเอาไปบ้าง เพราะความเปราะบางทางการเมืองบ้าง ทำให้พวกเขาต้องออกจากประเทศของตัวเอง โดยบางคนไปเพื่อ ขายบริการ เป็นแรงงานเด็ก หรือถูกนายหน้าพาไปแต่งงานในประเทศที่ต้องการ
นอกจากนี้ ลูเซีย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติหญิง 80% ในเอเชีย เป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไม่ได้อยู่ใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ไม่ได้รับค่าแรงตามกฎหมายที่กำหนด ไม่มีวันหยุด และไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคมจากรัฐบาล ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง ได้เรียกร้องถึงองค์การการค้าโลก (WTO) และธนาคารโลก (World Bank) ว่า เมื่อมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี อย่าละเลยประเด็นเรื่องสิทธิของแรงงานและค่าแรงที่เป็นธรรมด้วย บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ทางภาคตะวันออกที่ค่อนข้างสูง เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานตามมาด้วย อาทิ แรงงานที่ตั้งสหภาพ หรือมีการรวมตัวกันก็จะถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้แม้กฎหมายจะมีบทลงโทษ กรณีเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง แต่เนื่องจากเป็นกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2518 จึงเป็นโทษเพียงจำคุก 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และในการดำเนินคดี หลายครั้งตำรวจไม่รับเรื่อง หรือต้องใช้เวลาในการต่อสู้คดีเป็นระยะเวลานาน ทำให้แรงงานต้องยอมความไปเอง บุญยืน กล่าวถึงการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติว่า แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพได้ เพราะในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า สมาชิกสหภาพต้องมีสัญชาติไทย แต่แรงงานข้ามชาติเป็นกรรมการสหภาพไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งนี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างก็ตาม แรงงานข้ามชาติก็รวมตัวได้ลำบาก หากนายจ้างรู้ว่า ใครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ ก็จะถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ บุญยืน กล่าวถึงปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้นว่า ต่อไปการจ้างงานในระบบ จะเป็นสัญญาจ้างระยะสั้นมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยอาจเลิกจ้างคนงานที่ทำงานน้อยกว่า 120 วันแล้วรับกลับเข้ามาใหม่ ก็จะไม่เสียค่าชดเชย หรือหากทำสัญญาระยะสั้น ทำงานไม่ถึง 1 ปี แรงงานก็ได้ค่าชดเชยเพียง 1 เดือน ซึ่งแรงงานนั้นเคลื่อนไหวต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ได้ลำบาก เพราะต้องกินต้องใช้ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ต้องรวมตัวกัน และเข้าใจถึงปัญหาของแรงงานด้วยกัน ไม่เช่นนั้น ขบวนการแรงงานก็จะยังคงถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป สะอ่อง จากองค์กรนักศึกษาพม่า เล่าถึงสถานการณ์ในพม่าซึ่งเป็นประเทศที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาในไทยจำนวนมากว่า คนจากพม่าที่เข้ามาในไทย หลายคนมาเพราะเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากการเข้ามามีอำนาจปกครองประเทศของเผด็จการทหาร โดยล่าสุด ทหารได้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ปรึกษาใคร และจะมีการลงประชามติในเดือนหน้า โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภา 25% มาจากทหาร ประธานาธิบดีต้องเป็นทหาร คนที่จะลงสมัคร ส.ส. ห้ามแต่งงานกับคนต่างชาติ ซึ่งหมายถึงการกีดกันอองซานซูจีออกไป ผู้บัญชาการทหารสามารถประกาศกฎอัยการศึกเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ 25%ของสมาชิกรัฐสภาที่เป็นทหารนั้นมีบทบาทในตุลาการด้วย ทั้งนี้ ถ้าจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญต้องมีคน 20% ทั้งสองสภาจึงจะเสนอได้ การแก้จะผ่านได้ต้องได้รับการสนับสนุนจาก 75%ของผู้แทนสองสภา หลังจากนั้นต้องผ่านการลงประชามติของประชาชนเกิน 50% ถึงแก้ไขได้ ซึ่งไม่มีทางแก้เพราะ 25% ของสองสภาเป็นคนของทหารทั้งหมด เขากล่าวว่า หากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานในพม่า ก็จะเห็นโศกนาฎกรรมเกิดขึ้นต่อไป ทั้งยังเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ คนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ตั้งคำถามกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ถึงเรื่องของประชาธิปไตยในพม่าด้วย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวายอิ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานข้ามชาติมีความซับซ้อน โดยเกิดจากการบรรจบกันของสถานะของแรงงานข้ามชาติสองแบบ คือ หนึ่ง ไม่ได้มีสัญชาติไทย จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ มีสภาพการจ้างงานที่ไม่ยุติธรรม สอง ถูกผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงานแรงงานนอกระบบ ทำให้ไม่รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่มีสิทธิตั้งสหภาพแรงงาน หรือได้รับบริการทางสังคม นอกจากนี้ เนื่องจากสังคมทุนนิยมไทยนั้นกดขี่แรงงานและใช้แรงงานแบบเข้มข้นอยู่แล้ว ทำให้แรงงานข้ามชาติ ถูกกดขี่สองเด้ง คือ ถูกกดขี่เช่นเดียวกับกรรมกรไทยทั่วไป และถูกกดขี่ขูดรีดแบบพิเศษ เพราะเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอยู่นอกระบบอีก อย่างไรก็ตาม ศิโรตม์ แสดงความเห็นว่า คนจำนวนมากในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ไม่ค่อยสนใจปัญหาของแรงงานข้ามชาติ อาจเพราะเห็นว่าไม่ใช่คนไทย หรือเพราะระบบของแรงงานไทยเองก็อ่อนแออยู่แล้ว ผู้นำแรงงานจำนวนมากคิดว่าปัญหาของแรงงานข้ามชาติไม่เกี่ยวกับแรงงานไทย โดยเชื่อว่า หากแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น คนงานไทยจะตกงาน อย่างไรก็ตาม เขามองว่า หากปล่อยให้นายจ้างกดขี่แรงงานข้ามชาติต่อไป ในที่สุด คนไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะยิ่งแรงงานข้ามชาติถูกเอาเปรียบมากเท่าไหร่ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างมีอำนาจต่อรองในการจ้างงานมากขึ้น ทำให้มีสิทธิเด็ดขาดในการกำหนดค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ต่อต้านการรวมตัวของสหภาพได้ และต่อไปแรงงานไทยก็จะถูกกระทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศิโรตม์เสนอว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควรต้องสร้างมาตรฐานแรงงาน โดยไม่เลือกปฎิบัติ ยกเลิกการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมดทั้งคนงานไทยและต่างชาติ ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิจากประกันสังคม |