Thai / English

วัดกำลังกรรมกรต่อรองวันเมย์เดย์ แยกสามก๊กเรียกร้องปรับค่าจ้าง


ดำรงพันธ์ ใจห้าว
28 .. 51
กรุงเทพธุรกิจ

1 พ.ค. หรือ "วันแรงงานแห่งชาติ" ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะใช้โอกาสนี้แสดงพลังเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการของตัวเอง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตามข้อเรียกร้องที่เสนอ ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงขั้นต่ำ การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ขาดความจริงจังในการรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหา แม้รัฐบาลรับฟังปัญหาบ้างแต่ก็กลายเป็นเพียงประเพณี ที่ทำได้เพียงรับฟัง ในฐานะประธานในพิธีเปิดงานเท่านั้น

กระนั้นก็ตามในส่วนของผู้ใช้แรงงานเอง การรวมพลังก็แผ่วเบาจนไม่สามารถกดดันให้รัฐปฏิบัติตามข้อเสนอได้ โดยเฉพาะในปีนี้ (2551) พบว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่สามารถรวมตัวกันติด แบ่งฝั่งแบ่งพวกอย่างชัดเจน แม้ข้อเรียกร้องจะไม่แตกต่างกันมากนักในเรื่อง 'ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' ที่ไม่เคยวิ่งไล่ทันค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ถีบตัวหนีห่างออกเรื่อยๆ

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มแรก ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง 12 สภาและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย โดยมี อุดมศักดิ์ บุพนิมิต ประธานสภาองค์กรลูกจ้างองค์การแรงงาน เป็นประธานในการจัดงาน และมีนาย มานิตย์ พรหมการีย์กุล เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เป็นเลขานุการจัดงาน

กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า เป็นองค์กรแรงงานที่ถูกกฎหมาย ร่วมกับรัฐจัดงาน "วันแรงงาน" โดยได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 1.6 ล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในการจัดงานและสำนักงานประกันสังคม จะอนุมัติงบประมาณอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำเสื้อแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมงานจำนวน 20,000 ตัว

นายอุดมศักดิ์ ประธานคณะกรรมการการจัดงาน กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ค.สภาองค์กรลูกจ้าง 12 สภาและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยจะมีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจะไปเป็นประธาน จะมีคนงานเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

นอกจากนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลได้พิจารณาแก้ไขเร่งด่วน 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นวันละ 9 บาทและให้ปรับในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ 2.ขอให้ประกาศใช้พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอานามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยเร็ว

3.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในประเด็นการรวมตัว ขยายสิทธิในการฟ้องร้อง 4.ให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 5.ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบ 6.ขอให้สำนักงานประกันสังคมรักษาฟรีแก่ผู้เกษียณอายุ 7.ขอให้เร่งรัดประกาศใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านและ 8.ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน

"ถ้าไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เราไม่ยอมแน่ เราตกลงกันแล้วว่าจะไม่กลับ จะนอนที่นี่ หรือไม่ก็ไปนอนที่ทำเนียบ หรือถ้ายังไม่ได้อีกไปนอนที่หน้าบ้านนายกฯ ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย" นั่นคือคำยืนยันของอุดมศักดิ์

ส่วนผู้ใช้แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ยอมร่วมจัดงานวันแรงงานกับภาครัฐ ประกอบด้วย องค์กรพันธมิตร 27 องค์กร กลุ่มย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เครือข่ายแรงงานภาคตะวันออก เครือข่ายแรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เป็นต้น และจะเพิ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติเข้ารวมกลุ่มด้วยนำ โดยน.ส. วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

วิไลวรรณ กล่าวว่า ปีนี้เครือข่ายองค์กรแรงงานจะรวมตัวกันที่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากนั้นจะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลได้นำไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน

"จะมีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมขบวนไม่น้อยกว่า 5,000 พันคน สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 2551 จะมีทั้งหมด 8 ข้อเช่นกัน" วิไลวรรณ โดยข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1. รัฐต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 233 บาทเท่ากันทั่วประเทศ 2. รัฐต้องควบคุมราคาสินค้า 3. ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องประกาศบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ต้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกฉบับ แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ

4.ต้องประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ....(ฉบับผู้ใช้แรงงาน) 5.ต้องประกาศใช้ร่างพ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอานามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการ ที่ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม) 6. ต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 7. ต้องปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม ในประเด็น ขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ปรับโครงสร้างประกันสังคมให้ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง และ 8. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98

"เราเห็นว่าการไปเอาเงินรัฐมาใช้จัดงานและขอเงินสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมนั้น คิดว่าเป็นการไม่เหมาะสม เพราะเงินตรงนี้ไม่ได้เอามาใช้จ่ายได้มันเป็นเงินของผู้ใช้แรงงาน 9 ล้านคน อีกทั้ง พวกเราแสดงออกไม่ได้เต็มที่หรอก มันเหมือนมีชนักติดหลังอยู่ และรัฐบาลเองก็พยายามสร้างความชอบธรรม" วิไลวรรณ บอกเหตุผลที่องค์กรของเธอไม่เคยเข้าร่วมการจัดงานกับภาครัฐ

ส่วนกลุ่มสุดท้ายเคยมีบทบาทเป็นประธานและคณะกรรมการจัดงานวันแรงงาน รวมถึงเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และมีผู้นำที่เป็นที่รู้จัก เช่น นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย นายประเทือง แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย แต่ปีนี้ผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้ค่อนข้างเงียบไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวมากนัก

พนัส บอกว่า เราไม่เคยที่จะหยุดนิ่งที่จะเรียกร้อง ช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยจะเรียกร้องเสนอปัญหาผู้ใช้แรงงานให้รัฐบาลได้แก้ไขเช่นกัน ซึ่งจะทำในนามส่วนเฉพาะกลุ่มไม่ได้ไม่รวมตัวเอิกเกริกมากมายนัก เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ

แม้ว่าทั้งสามกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาลไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งเรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำรวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาล ภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะจริงใจในการแก้ไขปัญหามากน้อยเพียงใด