Thai / English

สภาทนายฯ ลุย ตม.ระนอง แจ้งสิทธิแก่แรงงานพม่าผู้รอดชีวิตจากรถห้องเย็นมรณะ



23 .. 51
ประชาไท

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 51 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ผลัดถิ่น สภาทนายความ เดินทางมายังด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ระนอง เพื่อพบชาวพม่าและชาวมอญที่ยังรอดชีวิตจากเหตุการณ์สูญเสีย 54 ชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ที่ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา

คณะทนายความเดินทางมาเพื่อแจ้งสิทธิ และให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ยังรอดชีวิตทั้ง 64 คน แบ่งเป็นชาย 27 คน หญิง 23 คน และเด็ก 14 คน แต่เมื่อมาถึงยังด่านตรวจคนเข้าเมือง ในเวลา 9.30 น. หน่วยงานราชการ อาทิ ตำรวจ อัยการ และ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง มีความประสงค์จะขอเข้าร่วมการพบปะผู้รอดชีวิตในครั้งนี้ด้วย ท้ายที่สุด หน่วยงานทั้งหมดได้เข้าเยี่ยมและสอบถามข้อมูลในเวลาราว 10.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจัดการให้เข้าพบทีละกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นกลุ่มแรก และแบ่งเป็นกลุ่มผู้หญิง และกลุ่มผู้ชาย โดยคณะทนายความมีกำหนดการนัดสอบถามข้อมูลในระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.

กลุ่มแรกที่คณะทำงานจากหลากหน่วยงานได้เข้าพบ คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งมีอายุระหว่าง 11 – 18 ปี รวม 14 คน ประกอบด้วยเด็กหญิง 9 คน และเด็กชาย 5 คน ทั้งหมดประกอบด้วยเชื้อชาติมอญ เชื้อชาติทวาย และเชื้อชาติพม่า

นางนภา เศรษฐกร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวต่อเยาวชนชาวพม่าทั้ง 14 คนว่า รัฐบาลไทย ตำรวจ ทหาร สภาทนายความ เห็นว่าเยาวชนชาวพม่าทุกคนควรได้รับการดูแลเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา และจะพยายามดูแลให้ดีที่สุด โดยขณะนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลพม่าได้ทราบเรื่องกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งประเทศไทยกำลังดำเนินการให้เร็วที่สุด

เยาวชนชายชาวพม่าคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีอะไรแล้วทำไมจึงยังต้องกักตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง นางนภาตอบว่า ระหว่างนี้ภาครัฐกำลังพิจารณาว่าจะให้เยาวชนพม่าที่รอดชีวิตเป็นพยานเพื่อเอาผิดผู้กระทำความผิดหรือไม่ และกล่าวว่า รัฐบาลไทยเสียใจด้วยกับญาติพี่น้องที่เสียไป

“แต่ก็ไม่เป็นไร มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว และเป็นเครื่องเตือนใจของการเข้าเมืองมาโดยไม่ถูกต้อง ถ้าจะเข้ามาอย่าเข้ามาแบบนี้อีก ให้เข้ามาตามกระบวนการจัดหางานที่ถูกต้อง” รองอธิบดีกล่าว

เยาวชนชาวพม่าอีกคนถามว่า ไม่รอแล้วได้หรือไม่ เพราะอยากกลับบ้านแล้ว นางนภาตอบว่า กรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีคนนำพาเข้ามาแบบผิดกฎหมายและเราไม่อยากให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ผู้ที่รอดชีวิตจากกรณีนี้ต้องร่วมชี้เบาะแสว่า ใครนำพา ไม่เช่นนั้น ก็จะถือได้ว่าประเทศไทยไม่ได้ทำอะไรเลย และไม่มีอะไรป้องกันปัญหา

นางนภากล่าวต่อไปว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของประเทศไทยต่อกรณีนี้คือ ดูแลพวกเรา (ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว) ให้ดีที่สุด และจับผู้กระทำผิดให้ได้เพื่อไม่ให้คนทำผิดมาล่อลวงพวกหนูอีก”

จากนั้น ทีมทนายความจากสภาทนายความ ได้เข้าพูดคุย ขอข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับคดี อาทิ ชื่อ ชื่อของญาติพี่น้องที่อยู่ในเหตุการณ์ ฯลฯ แต่กลุ่มเยาวชนมีอาการเครียด โดยเฉพาะเยาวชนที่พ่อแม่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้

ในช่วงพักการพูดคุย มีอาสาสมัครจากองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้าพูดคุยกับเยาวชนพม่า พบว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งมาเมืองไทยเพราะติดตามพ่อแม่พี่น้องเข้ามา ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งตอบว่าเข้ามาเพื่อหางานทำ และเมื่อถามว่าสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดในเวลานี้คืออะไร เยาวชนส่วนใหญ่ตอบว่าอยากกลับบ้าน เยาวชนหญิงชาวพม่าคนหนึ่งบอกว่า อยู่ที่นี่เธอยังมีข้าวให้กิน แต่พ่อแม่ที่พม่าไม่รู้จะมีอะไรกินหรือไม่ ขณะที่เยาวชนบางคนมีอาการซึมเศร้าเนื่องจากสูญเสียบุพการีในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว

ทนายความจากสภาทนายความระบุว่า นับจากวันเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 51 มาจนถึงวันนี้ ผู้ที่รอดขีวิตทุกคนได้พ้นสภาพข้อกล่าวหาแล้ว เพราะทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในเรือนจำจนครบเงินค่าปรับฐานหลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวน 2,000 บาทแล้ว และขณะนี้ทั้งหมดถูกกักตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง

ในช่วงบ่าย ทีมทนายจากสภาทนายความมีโอกาสได้เข้าพูดเก็บข้อมูลกับกลุ่มผู้หญิง โดยพูดคุยในลักษณะรายบุคคล ขอข้อมูลได้ราว 6 คน โดยนายนัสเซอร์ อาจวาริน หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ จากสภาทนายความกล่าวว่า ทีมทนายได้แจ้งถึงสิทธิของพวกเขาในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งสามารถขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในการฟ้องคดีอาญาเรียกร้องค่าเสียหายต่อผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังมีสิทธิในการเรียกเงินตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา จากกระทรวงยุติธรรมได้ด้วย ซึ่งมีวงเงิน 100,000 บาท ครอบคลุมค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดผู้อุปการะ รวมถึงสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัทประกันด้วย

นายนัสเซอร์กล่าวด้วยว่า ระหว่างการพูดคุย ในเบื้องต้นแทบทุกคนมีความต้องการที่จะอยากกลับบ้าน แต่เมื่อทุกคนที่ได้รับรู้สิทธิเบื้องต้นของเขาก็ทำให้อยากจะเรียกร้องต่อไป

นายวิโรจน์ ช่างสาร หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวว่า ความยากของคดีนี้ในเวลานี้คือ เรื่องเอกสาร การสืบค้นทะเบียนประวัติ เพราะการเรียกร้องสิทธิต้องมีการพิสูจน์สถานะความเกี่ยงดองกัน โดยกระบวนการอาจจะต้องใช้เวลานาน ซึ่งพวกเขาสามารถจะกลับบ้านได้เมื่อสอบประวัติเสร็จ แล้วมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการแทนในนามของกลุ่มได้ต่อไป

ทนายทั้งสองทิ้งท้ายไว้ว่า คดีนี้ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และทุกคนต้องได้รับความยุติธรรม หลังจากนั้นตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนได้มอบของใช้จำเป็นแก่ผู้ถูกคุมตัวทั้งหมด

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 เม.ย. ทางผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางนำเด็กและผู้หญิงออกสถานกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองไปไว้ในสถานพักฟื้นต่างหากเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น